|
คลังโอ่ค่าบาทแข็งไม่กระทบ ขึ้น 1 บาทฉุดจีดีพีแค่0.29%
ผู้จัดการรายวัน(20 เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
สศค.มิงโลกในแง่ดี มองค่าเงินบาทยังอยู่ในกรอบที่ปนะเมินไว้ 38.8-40.4 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ยังไม่กระทบส่งออก เตรียมลุยศึกษาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรายตัว เผยผลศึกษากรณีค่าเงินแข็งค่าหลุดกรอบที่ตั้งไว้ ถ้าแข็งเกินกรอบ 1 บาท ฉุดจีดีพีลด 0.29% ส่งออกฮวบ0.2% ดันนำเข้าพุ่ง0.38%แต่เงินเฟ้อลดลง0.5% ครึ่งปีหลังคาดอัตราเฟ้อลดลง
นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอยู่ในขณะนี้นั้น ยังอยู่ในกรอบที่กระทรวงการคลังได้ประเมินไว้ที่ 38.8-40.4 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จึงยังคงเชื่อมั่นว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในขณะนี้ อย่างไรก็ดี สศค. อยู่ระหว่างการศึกษาถึงผลกระทบค่าเงินบาทที่ปรับค่าแข็งขึ้น ว่ามีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมใดบ้าง โดยอาจจะศึกษาเป็นรายตัว เพื่อให้ทราบได้ว่าควรจะดูแลอุตสาหกรรมใดเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ จากผลการศึกษาในเบื้องต้นเกี่ยวกับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท โดยพบว่าหากเงินบาทปรับตัวแข็งค่ากว่าที่ได้วางสมมติฐานไว้ จะมีผลกระทบทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปรับตัวลดลง ซึ่งพบว่าหากเงินบาทแข็งค่าขึ้นทุก 1 บาท จะทำให้จีดีพี ลดลง 0.29% และทำให้อัตราการส่งออกขยายตัวลดลงประมาณ 0.2% แต่จะส่งผลให้อัตราการนำเข้าเพิ่มขึ้นประมาณ 0.38% และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงประมาณ 0.5%
นายนริศ กล่าวว่า สำหรับการปรับประมาณการจีดีพีปี 2549 ใหม่ที่จะมีอีกครั้งในเดือน พ.ค.นี้นั้น สศค. ไม่ได้มีการปรับตัวเลขสมมติฐานราคาน้ำมันใหม่ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม โดยจะใช้สมมติฐานเดิมที่เคยตั้งไว้ คือ น้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 56.4-60.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพราะเห็นว่าราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่ในขณะนี้ ยังคงอยู่ในช่วงของสมมติฐานที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2549 เป็นต้นมากระทั่งปัจจุบัน ราคาน้ำมันโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 58.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งยังอยู่ในสมมติฐานที่ สศค.คาดการณ์ไว้
ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปีนี้นั้น เชื่อว่าในครึ่งปีหลังของปี 2549 อัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงจากครึ่งปีแรก แม้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้นอยู่ในขณะนี้ แต่ยังอยู่ในสมมติฐานที่คาดการณ์ไว้ รวมทั้งราคาน้ำมันที่แม้ว่าจะสูงขึ้น แต่ก็ยังสูงขึ้นในระดับที่ต่ำกว่าปี 2548 ที่ผ่านมา
“เรามองว่าอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงนั้น เป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้การใช้จ่ายของประชาชนลดลง และจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อภายในประเทศลดลงตามไปด้วย ประกอบกับฐานอัตราเงินเฟ้อของปีที่แล้ว อยู่ในระดับที่สูงแล้วเพราะฉะนั้นครึ่งปีหลังนี้ เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อก็จะลดลงได้" นายนริศกล่าว
พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น รวมทั้งอัตราดอกเบี้ย ก็มีการหารือในที่ประชุม ครม.เมื่อในที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าขณะนี้เงินตราต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศค่อนข้างมาก ทำให้ค่าเงินแข็งขึ้น โดยเฉพาะ 3 ประเทศในแถบเอเชีย คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ซึ่งทาง รมว.คลังและ ธปท.มองว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากเงินที่ไหลเข้ามาในลักษณะการหากำไร หากอัตราดอกเบี้ยนิ่งไม่สูงขึ้นไปกว่านี้ เงินบาทก็คงจะไม่แข็งค่าไปมากกว่านี้เช่นกัน
**ชี้ธปท.ปล่อยบาทแข็งช่วยสกัดเงินเฟ้อ**
ด้านนายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น เมื่อพิจารณาปัจจัยแวดล้อมจะพบว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)มีเหตุผลที่จะปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าตามกลไกตลาด เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว อัตราเงินเฟ้อของไทยกับประเทศคู่ค้ารวมทั้งสิ้น 21 ประเทศ เงินเฟ้อเฉลี่ยของไทยสูงกว่า ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่ ธปท.จะปล่อยให้เงินบาทแข็งไปตามเงินสกุลภูมิภาค แม้จะกระทบต่อการส่งออกบ้าง แต่ก็ไม่น่าวิตกกังวล เพราะในช่วงที่ผ่านมาการส่งออกมีอัตราการเติบโตที่สูงอยู่แล้ว
"หาก ธปท.สามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อไว้ในระดับที่เหมาะสมได้ ธปท. ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตราสูง ขณะที่เงินทุนที่ไหลเข้าในประเทศเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งเป็นไปได้ที่อาจจะเป็นเงินลงทุนระยะสั้นในตลาดหลักทรัพย์ และอาจมีการเทขายทำกำไรเพื่อเก็บส่วนต่างราคาหุ้น"นายศุภวุฒิกล่าว
ส่วนแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยปีนี้นั้น เชื่อว่าแรงส่งสำคัญในช่วงครึ่งหลังของปีจะมาจากการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งก็จะอยู่กับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเป็นสำคัญด้วย ดังนั้น หากการส่งออกขยายตัวลดลง เศรษฐกิจก็อาจจะไม่เติบโตได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากปัจจัยภายในประเทศทั้งอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง จะทำให้ประชาชน ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายและหันมาออมเงินมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การบริโภคลดลงตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ตาม บล.ภัทรยังคงอัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทยไว้ที่ 4.5%
สำหรับแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐที่มีการประเมินว่าจะอยู่ในจุดสูงสุดที่ 6% นั้น นายศุภวุฒิ กล่าวว่า ยังไม่เป็นที่ชัดเจน เนื่องจากยังต้องรอดูตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐว่า จะยังมีแรงกดดันต่อเงินเฟ้อของสหรัฐอยู่หรือไม่ ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยไทยในขณะนี้ ไม่ได้ผูกติดไปกับแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแล้ว
ด้านนักค้าเงินจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า ค่าเงินบาทยังมีโอกาสที่จะแข็งค่าได้ เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐยังมีทิศทางอ่อนค่า เพราะนักลงทุนกำลังรอผลการหารือระหว่างประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐ กับประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ของจีน ในวันที่ 20 เมษายนนี้ โดยเงินบาทมีแนวต้านสำคัญที่ 37.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าเงินบาทในตลาดต่างประเทศวันนี้ (19 เม.ย.) เงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้น ซื้อขายกันที่ระดับ 37.82 - 37.74 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|