"สิงห์ ตังทัตสวัสดิ์ จะ 'คำราม'ได้ดังขนาดไหน?"


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

"คุณสิงห์เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการเป็นผู้บริหารบริษัทในเครือปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงและยังเข้าใจระบบตลาดทุนของไทยเป็นอย่างดี เชื่อว่าหากได้รับการคัดเลือกจะนำพาตลาดหุ้นไทยไปสู่จุดหมายปลายทางที่ดีได้"

นั่นคือคำกล่าวอย่างมั่นใจของโกวิทย์ โปษยานนท์ ประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยผู้ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดสรรผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งกรรมการ และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แทนเสรี จินตนเสรี ที่หมดวาระลงในวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา

ที่ผ่านมาการทาบทามผู้ที่มีความสามารถเข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยของเขาเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากผู้ที่ถูกทำการทาบทามหวั่นเกรงต่อภาวะการเมืองที่จะเข้ามาครอบงำตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้การสรรหาผู้จัดการตลาดยากกว่าที่แล้ว ๆ มา

โกวิทย์เล่าว่า "คณะกรรมการสรรหาบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งได้มีความพยายามที่จะทาบทามบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งดังกล่าว แต่เนื่องจากตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นตำแหน่งที่ผู้เข้ามารับผิดชอบจะต้องเสียสละและเป็นงานที่หนัก เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นแหล่งผลประโยชน์ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับเกรงว่าจะมีอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาครอบงำ ดังนั้นการสรรหาบุคคลจึงค่อนข้างลำบาก ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับการปฏิเสธจากผู้ที่ได้รับการทาบทามหลายราย"

แต่แล้วโกวิทย์ก็ได้สิงห์ ตังทัตสวัสดิ์ ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทสยามเซลลูโลสและรองกรรมการผู้จัดการบริษัทเยื่อกระดาษสยาม จำกัด (มหาชน) โดยทั้งสองบริษัทเป็นบริษัทในเครือปูนซิเมนต์ไทย มาดำรงตำแหน่งดังกล่าว หลังจากที่ใช้เวลาในการทาบทามมาเกือบเดือน ทางด้านของสิงห์เองนั้น ก็ใช้เวลาตัดสินใจในการรับตำแหน่งนานกว่า 20 วันเช่นกันในการตอบรับ

สิงห์ บอกเล่าถึงการตัดสินใจของตัวเองในวันเปิดตัววันแรกกับสื่อมวลชน ที่บริษัทเยื่อกระดาษสยามเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า "คุณโกวิทย์ โปษยานนท์ ประธานคณะกรรมการสรรหาได้ทาบทามผมโดยบอกว่าได้รับการเสนอชื่อ หลังจากนั้นประมาณ 20 วันจึงตอบรับ เพราะเห็นว่าเป็นตำแหน่งที่ท้าทาย บวกกับความรู้และประสบการณ์ รวมทั้งสายสัมพันธ์ที่เคยร่วมงานและรู้จักส่วนตัวกับคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังเห็นว่าจะทำงานกันได้อย่างราบรื่น"

สิงห์ มีแนวความคิดและมุมมองที่เชื่อว่าตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการการตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ใช่ผู้ประสานประโยชน์ของทุกฝ่ายอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะทุกอย่างมีกติกาที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้ว ในการซื้อขายที่เกิดขึ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้ลงทุนได้ประโยชน์จากกำไรที่ไม่ต้องเสียภาษี ส่วนโบรกเกอร์ได้รับค่าธรรมเนียมจากการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ สำหรับตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ได้รับค่าธรรมเนียมจากสมาชิก แต่ว่าตลาดก็ต้องมีหน้าที่ดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีวินัยและจริยธรรมในการทำธุรกิจให้มากที่สุด ส่วนตัวเขาเองก็มีหลักปรัชญาในการบริหารที่เปิดเผยและจริงใจ

สำหรับหลักการในการบริหารงานในตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้นสิงห์ ระบุชัดแจ้งว่าจะเน้นการปรับปรุงคุณภาพของข้อมูลและเน้นการเปิดเผยข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งความพยายามที่จะให้ผู้ลงทุนสนใจใช้ข้อมูลพื้นฐานในการตัดสินใจลงทุนให้มากขึ้น

อีกทั้งเขายังให้ความเห็นถึงบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อบริษัทจดทะเบียนว่าตลาดไม่มีอำนาจมากมายถึงขั้นจะปลดผู้บริหารได้ "ในบ้านเราบริษัทจดทะเบียน ในตลาดมักจะถูกครอบงำโดยระบบครอบครัว หลายองค์กรยังไม่เปิดให้มืออาชีพเข้าไปบริหาร ขณะที่ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว สมัยนี้ต้องการมืออาชีพ บริษัทที่พัฒนาแล้ว กำไรต้องจ่ายปันผล 50% ที่เหลือนำมาขยายงาน"

นอกจากนั้นมุมมองของสิงห์ ยังแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับเสรี จินตนเสรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนก่อน ที่เน้นการทำโรดโชว์เพื่อไปประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศ "ไม่ใช่หน้าที่ของตลาดที่จะต้องชี้แจงข้อมูล ตลาดมีหน้าที่หาข้อมูลมาเปิดเผยให้ผู้ลงทุนรับทราบอย่างเท่าเทียมกัน ผมมั่นใจว่าถ้าหากเศรษฐกิจดีก็ไม่จำเป็นต้องไปทำโรดโชว์ที่ต่างประเทศ"

สิงห์ จบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากนั้นบินไปศึกษาต่อปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทางด้านการบริหารธุรกิจสาขาการเงินการธนาคารที่ WHARTON SCHOOL OF FINANCE AND COMMERCE UNIVERSITY OF PENNSYLVANIA

ทางด้านประวัติการทำงานนั้น สิงห์ก็ผ่านการทำงานมาไม่น้อยและเป็นที่ยอมรับในวงกว้างแถมมีสายสัมพันธ์อันดีกับผู้บริหารทางด้านการเงินอย่างมากมาย ด้วยวัย 54 ปี เขาเริ่มชีวิตการทำงานครั้งแรกเมื่อปี 2511 โดยรับราชการในตำแหน่งเศาษฐกรโท ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นเวลากว่า 12 ปี จนมีตำแหน่งสุดท้ายเป็นถึงผู้อำนวยการกองวางแผนการคลัง กระทรวงการคลัง ในระหว่างที่ใช้ชีวิตราชการที่กระทรวงการคลังนี้ เคยร่วมงานกับ บดี จุณณานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งขณะนั้นอยู่ที่สำนักงบประมาณ เช่นกัน อีกทั้งยังเคยร่วมงานกับ ปกรณ์ มาลากุล เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. โดยในตอนนั้นเป็นผู้บริหารขางธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อออกจากราชการเมื่อปี 2523 ก็ถูกชักชวนไปอยู่ที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทยในตำแหน่งผู้อำนวยการ ฝ่ายการเงินและวางแผน จนกระทั่งปี 2529 ก็ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการบริษัทเยื่อกระดาษสยาม และเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทสยาม เซลลูโลส ควบอีกตำแหน่ง

คนที่เคยทำงานกับสิงห์เล่าว่า สิงห์เป็นคนที่ใจเย็นในการทำงานและไม่ใช้อารมณ์ จึงเป็นที่รักของลูกน้องอย่างมาก

คุณสมบัติเด่นอีกข้อหนึ่งที่คนในปูนซิเมนต์ไทยรู้ดี ก็คือเขาเป็นคนที่ประสานงานง่าย มีคอนเน็คชั่นที่ดีกับทุก ๆ ฝ่าย ไม่มีปัญหาในเรื่องของการติดต่อกับผู้คนไม่ว่าจะเป็นระดับผู้บริหาร หรือพนักงาน แถมยังเป็นคนที่ละเอียดรอบคอบ บางคนอาจจะแลดูว่าช้าเกินไป แต่นั่นอาจจะเป็นคุณสมบัติของนักการเงินทั่วไปก็ได้ และเป็นข้อดีเด่นจนเข้าตากรรมการจึงได้รับเลือก

โดยชีวิตส่วนตัวแล้วว่ากันว่า สิงห์เป็นคนที่ติดดินมาก ไม่มีพิธีรีตองใด ๆ ทั้งสิ้น ส่วนครอบครัวนั้นมีพื้นเพดั้งเดิมอยู่แถวเยาวราช จัดว่ามีฐานะดีทีเดียวเพราะเป็นลูกชายร้านทองเก่าแก่ย่านเยาวราช แถมยังมีกิจการโรงแรมขนาด 3 ดาวอยู่บริเวณเดียวกันด้วย งานอดิเรกอย่างเดียวที่สิงห์ชอบคือการร้องเพลง

สำหรับตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างเป็นทางการนั้นจะเริ่มในวันที่ 2 ก.ค. และสิงห์ จะต้องลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารในเครือปูนซิเมนต์ไทยทั้งสองตำแหน่ง ซึ่งถือว่าเป็นผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ คนแรกที่มาจากบริษัทที่จดทะเบียนในตลาด วันนี้เวลาของเขาเพิ่งเริ่มต้นกับบทบาทใหม่ ส่วนจะผ่านพ้นไปได้อย่างดีหรือไม่ เวลา 4 ปีคงเป็นบทพิสูจน์ได้เป็นอย่างดี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.