"ธีรพล สุวรรณประทีป ระวังให้ดี บริษัทของคุณอยู่ในแบล็คลิสต์ของเขาหรือเปล่า?"


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

…บ่ายวันศุกร์ของวันที่ 24 พฤษภาคม พนักงานของบริษัทแอ๊ดวานซ์ เจ็ม แอนด์ จิวเวลลี่ จำกัด จำนวน 1,500 คน กำลังคร่ำเคร่งอยู่กับภารกิจบนโต๊ะทำงานเพื่อให้ทันกับออร์เดอร์ของลูกค้า

แต่สำหรับวันนี้ไม่เหมือนกับทุกวัน

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการสืบสวนคดีเศรษฐกิจหรือ สศก. จำนวนยี่สิบกว่านาย ตั้งแต่ผู้กำกับและรองผู้กำกับ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอีก 10 กว่าคน ได้บุกเข้าตรวจค้นภายในบริษัท และบริษัทในเครืออีก 4 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่บนอาคารโทปาซ ถนนกรุงธนบุรี

เป้าหมายของปฏิบัติการในครั้งนี้ คือ ซอฟต์แวร์ก๊อบปี้ หรือ ซอฟต์แวร์เถื่อน

เหตุการณ์วุ่นวายเริ่มขึ้นทันที เมื่อเจอการต่อต้านจากเจ้าของบริษัท และการหยุดชะงักของพนักงาน ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและเทคนิคต้องทำงานปฏิบัติการตามหน้าที่ ซึ่งต้องแข่งกับเวลา เพราะหากผู้ต้องสงสัยลบซอฟต์แวร์ทิ้งซึ่งใช้เวลาเพียง 3-4 วินาที เท่ากับว่าคดีการจับกุมผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ประเภทผู้ใช้เป็นครั้งแรกในไทยต้องคว้าน้ำเหลว

เจ้าหน้าที่เทคนิคทั้งหมด ซึ่งถูกฝึกฝนมาเพื่องานชิ้นนี้ลงมือเข้ามาตรวจค้นเครื่องพีซีคอมพิวเตอร์ 53 เครื่อง และเซิร์ฟเวอร์อีก 3 เครื่อง ผลปรากฎว่าบริษัทแห่งนี้มีซอฟต์แวร์ชื่อดังใช้งานอยู่แทบทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น ไมโครซอฟต์ โลตัส โนเวลล์ ฯลฯ แต่ล้วนเป็นซอฟต์แวร์ก๊อบปี้ทั้งสิ้น

หลังจาก 6 ชั่วโมงผ่านไป หลักฐานที่ผิดกฎหมายจำนวนกว่าร้อยรายการถูกรวบรวมลงแผ่นดิสเกต โดยมีลายเซ็นชื่อพนักงานเซ็นชื่อกำกับเป็นพยานหลักฐานปฏิบัติการในการสืบหาหลักฐานเสร็จสิ้นลง

เกียรติชัย ตันติกิจมณี กรรมการของบริษัทแอ๊ดวานซ์ เจ็ม แอนด์ จิวเวรี่ ถูกควบคุมตัว และได้รับประกันตัวไปด้วยวงเงิน 2 แสนบาท ขณะที่กลุ่มพันธมิตรซอฟต์แวร์ หรือบีเอสเอ ซึ่งเป็นผู้เสียหายจะฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายต่อไป

ธีรพล สุวรรณประทีป ทนายความ หุ้นส่วนของประจำสำนักกฎหมายเบเคอร์ แอนด์ แมคเคนซี่ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายของกลุ่มบีเอสเอ เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า ขั้นตอนต่อจากนี้จะต้องรอการตีความจาก สศก. ว่าแอ๊ดวานซ์ เจ็ม ก๊อบปี้ซอฟต์แวร์ไปเพื่อใช้ประโยชน์ทางธุรกิจหรือไม่

ทั้งนี้หากทำไปเพื่อการค้าจะต้องส่งฟ้องศาลอาญา ซึ่งจะมีโทษทั้งปรับทั้งจำคุก แต่หากตีความแล้วได้ผลในทางตรงกันข้าม หรือ ผู้ต้องหารับสารภาพจะดำเนินการส่งฟ้องศาลแพ่ง ซึ่งจะมีโทษปรับเพียงอย่างเดียว ด้วยอัตรา 20,000-200,000 บาท

ธีรพลเล่าว่า นับเป็นคดีที่มีความยากลำบากมากเมื่อเทียบกับการจับกุมผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อื่น ๆ ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเรื่องการรวบรวมหลักฐานซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างรัดกุมมากที่สุด

"หากเป็นคดีจับกุมผู้ค้าซอฟต์แวร์ก๊อบปี้ เราจะได้หลักฐานเป็นซอฟต์แวร์ปลอมที่วางขายอยู่ได้เลย แต่คดีที่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์เป็นผู้ใช้ประเภทคอร์ปอเรทแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องเข้าไปตรวจค้นถึงในเครื่อง ในฮาร์ดดิสก์ ในเน็ตเวิร์คเพื่อหาหลักฐาน ซึ่งต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญที่รู้เรื่องคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ" ธีรพลกล่าว

ผลของการจับกุมบริษัทแอ๊ดวานซ์ เจ็ม แอนด์ จิวเวลรี่นั้น เป็นผลพวงมาจากโครงการสายด่วน หรือฮอทไลน์ ที่กลุ่มบีเอสเอได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว โดยให้ผู้ที่ทราบเบาะแสโทรมาแจ้งข้อมูลว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ใด และเมื่อข้อมูลที่แจ้งมานำไปสู่ความสำเร็จในการดำเนินคดี หรือตกลงยอมความทางด้านกฎหมาย ผู้ที่แจ้งเบาะแสมาจะได้รางวัลถึง 1 แสนบาท

"มีคนโทรเข้ามาตลอด ยิ่งมีข่าวการจับกุมแอ๊ดวานซ์ เจ็มออกไป ก็ยิ่งมีคนโทรเข้ามา แต่เราต้องดูข้อมูลก่อน ประเภทที่ว่าโทรมาแล้วไม่บอกชื่อ นามสกุล หรือที่อยู่เพื่อให้ติดต่อกลับ เราจะไม่รับเลย" ธีรพล เล่า

ดังนั้นเมื่อได้รับแจ้งข้อมูลมาแล้ว ก็จะต้องนำมาตรวจสอบก่อนว่าเป็นจริงหรือไม่ วิธีการตรวจสอบจะใช้ทั้งนักสืบหรือสืบเสาะด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ จนกว่าข้อมูลที่ได้จะมีมากเพียงพอจะนำไปสู่การแจ้งความเพื่อจับกุม

ธีรพลเล่าว่า ได้รับเบาะแสของบริษัทแอ๊ดวานซ์เจ็มจากทางโทรสายด่วนมาตั้งแต่ต้นปี แต่กว่าจะแจ้งความดำเนินคดีได้ ก็ต้องใช้เวลาสืบเสาะหาข้อมูลเพิ่มเติม 4-5 เดือน

ในเวลานี้ กลุ่มบีเอสเอมีรายชื่อผู้ใช้ประเภทคอร์ปอเรท ที่ได้โทรมาจากโทรสายด่วนอยู่ในแบล็กลิสต์จำนวน 7 บริษัท จ่อคิวรอเข้าจับกุม

นอกจากนี้ในลำดับต่อไป การกวาดจับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ คงจะขยายผลไปยังกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ และวิธีการใหม่ ๆ ซึ่งคงไม่ใช่แค่ห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า หรือ ตามงานแสดงสินค้าคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็น 2 แหล่งสำคัญที่ถูกกวาดจับมาแล้วหลายครั้งหลายหน แต่อาจขยายผลไปถึงแหล่งอื่น ๆ เช่น การรับก๊อบปี้ซอฟต์แวร์ทางไปรษณีย์ เป็นต้น

ผลจากการกวาดล้างผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ หลังจากกฎหมายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ฉบับใหม่ถูกประกาศใช้มาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่แล้ว ธีรพลเล่าว่า กลุ่มบีเอสเอได้ประเมินการอย่างไม่เป็นทางการคาดว่าการละเมิดในปีที่ผ่านมาลดลงประมาณ 10% จากในปี 2537 ซึ่งเคยมีมากถึง 98%

ในทำนองเดียวกัน เบเคอร์ แอนด์ แมคเคนซี่ สำนักงานกฎหมายข้ามชาติ ซึ่งเป็นตัวแทนทางกฎหมายให้กับกลุ่มบีเอสเอมาไม่ต่ำกว่า 3 ปีก็มีงานมากขึ้น เพราะนอกจาก ขณะนี้กลุ่มบีเอสเอ และ เซก้า เอ็นเตอร์ไพร์ซแล้ว กลุ่ม AACT (ALLIANCE AGAINT CD-ROM THIEFT) อันเป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมกลุ่มของบรรดาผู้ผลิตซอฟต์แวร์เกมต่าง ๆ ได้กลายเป็นลูกความอีกรายของเบเคอร์ แอนด์ แมคเคนซี่

"วิธีการดำเนินคดีของ AACT อาจแตกต่างไปจากกลุ่มบีเอสเอบ้าง เพราะกลุ่มผู้ใช้เป็นคนละประเภทกัน แต่การจับกุมคงต้องมีขึ้นเหมือนกัน" ธีรพลเล่า

แม้ว่ากลุ่ม AACT ยังไม่ได้ดำเนินคดีกับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เกมกับใคร และแม้ว่าตัวเลขของการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ยังไม่ได้ลดลงฮวบฮาบแต่ที่แน่ ๆ ผู้ที่ชื่นชอบใช้ซอฟต์แวร์แต่ไม่ชอบซื้อ คงต้องร้อน ๆ หนาว ๆ บ้าง เพราะนับจากนี้ ไม่ว่าจะใช้ซอฟต์แวร์ในทางธุรกิจ หรือ เล่นเกมยามพักผ่อนคงไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.