รายย่อยโวยมาตรการห้ามเน็ต-มาร์จิ้นไออีซียื่นอุทธรณ์หวังหลุดภาพหุ้นเก็งกำไร


ผู้จัดการรายวัน(18 เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

บิ๊กไออีซียื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อตลาดหลักทรัพย์ หลังผู้ถือหุ้นรายย่อยโวยหุ้นถูกสั่งห้ามซื้อขายด้วยมาร์จิ้นและเน็ต เซตเทิลเมนต์ ตั้งเป้าล้างภาพลักษณ์ที่เป็นหุ้นเก็งกำไรให้ได้ภายในปีนี้ คาดขายหุ้นเพิ่มทุนให้นักลงทุนเฉพาะเจาะจงได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 2 นี้ โอ่มีกองทุนต่างประเทศสนใจซื้อเพียบ คาดได้เงินเข้ามาไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

นายสุมิท แช่มประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ IEC เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ส่งหนังสืออุทธรณ์ไปยังตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขอให้ตลาดหลักทรัพย์พิจารณายกเลิกคำสั่งการห้ามซื้อขายด้วยมาร์จิ้นและเน็ต เซตเทิลเมนต์ เนื่องจากมาตรการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยและชื่อเสียงของบริษัท รวมถึงส่งผลกระทบต่อแผนการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนที่จะให้กับนักลงทุนเฉพาะเจาะจง

ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาผู้ถือหุ้นรายย่อยได้มีการสอบถามเป็นจำนวนมากถึงกรณีที่หุ้นของบริษัทถูกสั่งห้ามซื้อขายด้วยมาร์จิ้นและเน็ต เซตเทิลเมนต์ ว่าทำไมบริษัทถึงไม่ดำเนินการอะไร ซึ่งก็ได้มีการชี้แจงให้ทราบว่าไม่อยู่ในอำนาจของบริษัท และเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ เพราะเป็นวิจารณญาณของตลาดหลักทรัพย์

"การที่ตลาดหลักทรัพย์ได้สั่งขยายระยะเวลาการห้ามซื้อขายด้วยมาร์จิ้นและเน็ตเซตเทิลเมนต์ในหุ้นบริษัทไออีซีออกไปอีกนั้น ยอมรับว่าย่อมส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของบริษัท แต่บริษัทก็พยายามที่จะแก้ไขภาพลักษณ์ดังกล่าว โดยสร้างผลประกอบการที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้น และเชื่อว่าภายในปีนี้นักลงทุนจะมีความเข้าใจในหุ้นของบริษัทมากยิ่งขึ้น" นายสุมิทกล่าว

ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริงกล่าวต่อว่า ในช่วงที่ผ่านมาพบว่าจำนวนผู้ถือหุ้นมีเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีจำนวนไม่ถึง 2 พันคน แต่ขณะนี้ได้เพิ่มเป็น 5 พันคน ทั้งที่ตลาดหลักทรัพย์ใช้มาตรการดังกล่าว แสดงให้เห็นว่านักลงทุนที่เข้ามาซื้อหุ้นนั้นเป็นการซื้อด้วยเงินสดและบริษัทก็เปิดเผยถึงรายชื่อของนักลงทุนที่เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงให้แก่สาธารณชนทั่วไปได้รับทราบ และไม่ได้มีนักลงทุนรายใหญ่ เช่นนายพายัพ ชินวัตร เข้ามาซื้อหุ้นแต่อย่างใด

สำหรับกรณีการขายหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงจำนวน 600 กว่าล้านหุ้นนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา โดยจากมติคณะกรรมการนั้นได้กำหนดว่าจะเสนอขายหุ้นราคาไม่ต่ำกว่า 3 บาท และในราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 15 วันทำการ หรือจะเป็นลักษณะของการแลกหุ้นโดยมีกองทุนจากต่างประเทศหลายแห่งแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุน และคาดว่าจะได้รับเงินไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 2 ปีนี้ ซึ่งจะช่วยทำให้บริษัทมีสภาพคล่องมากยิ่งขึ้น จากปัจจุบันบริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 400 ล้านบาท

ที่ผ่านมาได้มีกองทุนที่ชื่อเนซู่ ซึ่งถือสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ เข้ามาถือหุ้นของบริษัท จำนวน 100 ล้านบาท หรือคิดเป็นไม่เกิน 5% ซึ่งกองทุนดังกล่าวมีเงินในการบริหารประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยกองทุนนี้ต้องการถือหุ้นระยะยาว และมีความเชื่อมั่นในบริษัท เพราะเห็นว่าบริษัทมีศักยภาพที่ดี จะเห็นจากผลประกอบการที่ดีขึ้น

นายสุมิทกล่าวว่า ในปี 2548 ที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้หลักจากการขายโทรศัพท์มือถือประมาณ 80-90% ส่วนที่เหลือจะมาจากธุรกิจใหม่ ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจเกี่ยวกับไอที, พลังงาน และธุรกิจการลงทุน โดยในส่วนของธุรกิจพลังงานนั้นคาดว่าภายในไตรมาส 2 นี้จะมีความชัดเจนในการลงทุน ซึ่งบริษัทจะเข้าถือหุ้นประมาณ 40% ขึ้นไป ส่วนธุรกิจการลงทุนนั้นได้มีการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาชื่อบริษัทอินเตอร์ เทรด เอเซีย ซึ่งประกอบกิจการพาณิชยกรรม ประกอบกิจการค้าหรือเทรดดิ้ง สิ้นค้าต่างๆ ทั้งอุปโภคและบริโภค รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักร เพื่อนำไปขายในประเทศจีนและกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง

ทั้งนี้คาดว่าภายในปี 2549 สัดส่วนรายได้ของบริษัทจะเปลี่ยนแปลงซึ่งจะมาจากการขายโทรศัพท์มือถือ ประมาณ 70% และจากธุรกิจใหม่ประมาณ 30% และตั้งเป้าว่าภายในอีก 3-5 ปีข้างหน้าสัดส่วนรายได้จะเป็น 50% ต่อ 50%

"คาดว่าผลประกอบการภายในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยธุรกิจเดิมคาดว่าจะมีรายได้จาก 5 พันล้านบาท และคาดว่าภายในปีนี้จะเพิ่มเป็น 6.2 พันล้านบาท ในส่วนของธุรกิจใหม่นั้นยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากจะต้องรอความชัดเจนก่อน อย่างไรก็ตามบริษัทก็ได้ดำเนินการล้างขาดทุนสะสมหมดแล้ว โดยจะมีการจ่ายเงินปันผลในงวดผลประกอบการปี 2549 หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับผลประกอบการว่าเป็นอย่างไร รวมถึงจะต้องเสนอให้แก่คณะกรรมการบริษัทพิจารณาก่อน ซึ่งบริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 50%" นายสุมิทกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.