"บทเรียนของพ่อมดการเงิน"

โดย ภัทราวรรณ พูลทวีเกียรติ
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

การต่อสู้ของพ่อมดการเงินในระบบเศรษฐกิจไทยในปี 2539 ทำท่าว่าจะเพลี่ยงพล้ำต่อธุรกิจที่บากบั่นพยายามสร้างผลผลิต

"พ่อมดการเงิน" เหล่านี้เพียรพยายามนำจุดขายของศาสตร์ Financial Engineering ที่เคยเฟื่องฟูในสหรัฐเมื่อหลายทศวรรษก่อนมาใช้กับประเทศไทย แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่าบทลงท้ายกลับมีตัวอย่างของความล้มเหลวให้เห็นกรณีแล้วกรณีเล่า

ดาวรุ่งที่เคยทอแสงสดใสเมื่อ 4-5 ปีก่อน อย่างราเกซ สักเสนา ที่ปรึกษามหัศจรรย์แห่งธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ, ธีระศักดิ์ สุวรรณยศ ผู้เล่นแร่แปรโครงสร้างการเงินบ้านฉางกรุ๊ป, วินัย พงศธร ที่จับ "แพะ" บริษัทเฟิร์สท์ แปซิฟิก แลนด์ มาชน "แกะ" บริษัทวิทยาคม บัดนี้กลายเป็นดาวอับแสงในเวลาอันสั้นอย่างไม่น่าเชื่อ

ปี 2535-37 นับเป็นยุคทองของเหล่า "พ่อมดการเงิน" พวกเขามองธุรกิจที่อาบเหงื่อต่างน้ำสร้างผลผลิตในระบบเศรษฐกิจว่าคร่ำครึ ขณะเดียวกันก็พยายามแทรกตัวเข้าไปในระบบธุรกิจผลักดันแนวความคิดให้ผู้ประกอบการเห็นช่อง "ทางลัด" ที่จะทำเงินเป็นกอบเป็นกำในเวลาอันรวดเร็ว

โมเดลที่พวกเขานำเสนอนั้นดูซับซ้อนซ่อนเงื่อนในสายตาของเถ้าแก่ จนต้องอาศัยผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะทางที่เรียกกันว่า "ที่ปรึกษาการเงิน" ไม่ต่างกับ "ทนายความ" เท่านั้นที่จะทะลุทะลวงอ่านภาษาพิเศษกฎหมายได้รู้เรื่องอย่างลึกซึ้งเท่าทันเกม สรุปแล้วคุณก็จะชนะเอง ขอเพียงแต่ไว้ใจให้พวกเขาเดินเกมทุกอย่างเถอะ

พ่อมดการเงินร่ายเวทย์อย่างน่าอัศจรรย์ จนผู้ประกอบการติดอกติดใจไปตาม ๆ กัน เริ่มไว้ใจและปล่อยทุกอย่างให้อยู่ในมือของพวกเขาได้ไม่ยาก

คาถาของพวกนี้คือ "WIN-WIN-WIN" ทุกคนมีแต่ได้ไม่มีเสีย เครื่องมือที่ขาดไม่ได้คือ ต้องมีแหล่งเงินที่ซื้อง่ายขายคล่อง

..ตลาดหลักทรัพย์..ถูกพิสูจน์แล้วในสากลโลกว่าสนองตอบพวกเขาได้ผลที่สุด

แบงก์บีบีซี ปล่อยกู้ให้นักการเมือง เอาเงินก้อนนี้ไปซื้อกิจการเอาหุ้นบริษัทที่ซื้อมาจำนำกับแบงก์ ถ้าไม่พอก็เอาหลักทรัพย์มาจำนองเพิ่ม จากนั้นเข้าฟื้นฟูกิจการโดย "สร้างมูลค่าเพิ่ม" ให้บริษัท เมื่อกิจการดีขึ้นราคาหุ้นก็เพิ่มขึ้น ก็ขายทิ้ง นำ "กำไร" ส่วนหนึ่งมาชำระหนี้ อีกส่วนหนึ่งเอาเข้ากระเป๋าไป

WIN-WIN-WIN ทั่วหน้า แบงก์มีรายได้จากการปล่อยสินเชื่อได้รับชำระเงินคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย นักการเมืองที่เข้ามาเป็นตัวต่อของเกมนี้ก็ได้เงินเข้ากระเป๋าเป็นกำไร แล้วก็ไถ่ถอนหลักทรัพย์จำนองไปทั่ว ผู้ถือหุ้นรายย่อยก็จะมีความสุขกับราคาหุ้นที่พุ่งขึ้นขายทำกำไรกันได้หลายรอบ

ตระกูลอินทรฑูต เจ้าของแบงก์บีบีซี ชื่นชมกับผลงานที่สร้างกำไรทางบัญชีให้แบงก์อย่างพลิกโฉม บ่อยเข้าก็ดึงเงินมรดกมาลงขันด้วย จนแยกไม่ออกว่ากระเป๋าไหนเป็นกระเป๋าไหน

เช่นเดียวกับไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ ผู้ถือหุ้นใหญ่บ้านฉางกรุ๊ป มองความฝันที่เลือนลางว่างดงาม คล้อยตามตรรกะของเหล่าพ่อมดการเงินที่แวดล้อมเขาอยู่ โครงสร้างการเงินของบ้านฉางกรุ๊ปที่เปราะบางอยู่แล้ว ก็ถูกชำแหละเป็นส่วน ๆ กระจัดกระจายไปลงทุนซื้อบริษัทที่ย่ำแย่ ในราคาถูก ๆ แห่งแล้วแห่งเล่าอย่างไร้ทิศทางใช้เงินจากบริษัทส่วนตัวบ้าง จากบริษัทบ้านฉางบ้าง ทุกอย่างถูกอธิบายด้วยเหตุด้วยผลลงตัวไปหมด

อะไร ๆ น่าจะไปได้สวย แต่ทำไมองค์กรต่างๆ จึงพบชะตากรรมแห่งความหายนะเช่นนี้?

จุดร่วมประการสำคัญก็คือ การฟื้นฟูแต่ละครั้งเป็นเหตุผลเพียงในกระดาษ ไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติจริง เมื่อจับ "แพะ" ชนกับ "แกะ" เสร็จก็ไม่มีอะไรต่อ รับค่าธรรมเนียมไปจากนั้นก็หันไปหาดีลอื่นที่ทำเงินให้ใหม่

ความเพลี่ยงพล้ำของพ่อมดการเงินในรอบ 5 ปี อาจให้บทเรียนที่ดีว่า "ราก" ที่ทำให้ธุรกิจดำรงอยู่และเติบโตได้นั้น แท้จริงแล้วอาจเป็นคนละเรื่องกับพุ่มทรงที่ถูกตัดแต่งอย่างสวยงาม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.