|
ไอดีซีเชื่อตลาดโน้ตบุ๊กปีนี้โต 12% คาดดันยอดขายทะลุ 4 แสนเครื่อง
ผู้จัดการรายวัน(17 เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ไอดีซีประเมินตลาดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กในประเทศไทยปี 2549 จะโตต่อเนื่องอีกปี หลังตลาดคึกคักมากในปี 2548 คาดจะเติบโตประมาณ 12% ด้วยยอดส่งมอบทะลุ 4 แสนเครื่อง
นายวสุพจน์ กิตติทรัพย์กุล ผู้จัดการฝ่ายวิจัย ไอดีซีประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปี 2548 ยอดส่งมอบคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กในประเทศไทยเติบโตถึง 48% มากกว่ายอดการส่งมอบของตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลโดยรวมที่โตขึ้น 13% อัตราเติบโตดังกล่าวเป็นผลมาจากราคาที่ถูกลง ในขณะที่คุณสมบัติของเครื่องดีขึ้น และยังมีให้เลือกหลาก หลายรุ่นตามความต้องการ นอกจากนี้ กระแสโมบิลิตี้หรือความคล่องตัวในการใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้น การเติบโตของตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กในปีที่ผ่านมา
แต่สิ่งเป็นปัจจัยหลักคือ ราคาซึ่งถือว่าสำคัญที่สุดที่ช่วยกระตุ้นตลาดโดยรวมให้คึกคัก เพราะแม้ว่าตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก จะเติบโตถึง 48% ในแง่จำนวน หรือยอดการส่งมอบ แต่ถ้าดูในแง่มูลค่าโตเพียง 6% เท่านั้น ในช่วงต้นปี 2548 เริ่มเห็นโน้ตบุ๊กราคาต่ำกว่า 30,000 บาท (750 ดอลลาร์สหรัฐ) เพียงไม่กี่รุ่น แต่ต่อมาตลอดทั้งปี 2548 ก็ได้เห็นโน้ตบุ๊กหลายรุ่นที่มีราคาอยู่ ระหว่าง 25,000–30,000 บาท (625–750 ดอลลาร์สหรัฐ) เนื่องจากในปี 2548 ตลาดโน้ตบุ๊กเติบโตสูงมาก ทำให้มีสัดส่วนถึง 27% ของตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลโดยรวม เพิ่มสัดส่วนจาก 21% ในปี 2547
นายวสุพจน์กล่าวว่า คอมพิวเตอร์เดสก์ทอปหรือ คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะยังคงครองสัดส่วนหลัก ประมาณ 71% ของยอดส่งมอบรวม ส่วนที่เหลืออีก 2% เป็นเซิร์ฟเวอร์ x86 หรือคอมพิวเตอร์แม่ข่ายแบบ x86 อย่างไรก็ตาม เมื่อโน้ตบุ๊กมีราคาถูกลง จึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้ทั่วไป เมื่อคิดจะซื้อคอมพิวเตอร์จึงมักจะพิจารณาเปรียบเทียบกันระหว่าง โน้ตบุ๊กกับเดสก์ทอป
ปัจจุบัน โน้ตบุ๊กมาพร้อมกับคุณสมบัติ (specification) ที่มากและดีขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งมีหลากหลายรุ่นให้เลือก ความสามารถในการเชื่อมต่อแบบไร้สาย (wireless) กลายเป็นคุณสมบัติที่มีอยู่ในโน้ตบุ๊กแทบทุกรุ่น ขณะที่คุณสมบัติอย่างการบันทึกแบบดีวีดี (DVD-Rec) ก็กำลังเป็นจุดขายที่ผู้ผลิตให้ความสนใจ นอกจากนี้ ยังมีขนาดและชนิดของจอ ให้เลือกอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะโน้ตบุ๊กแบบหน้าจอกว้าง (wide-screen) ก็ได้รับความนิยม เช่น จอกว้างขนาด 14 นิ้ว นอกจากจะช่วยให้มองเห็นชัดเจนแล้ว ยังมีน้ำหนักเบาเหมาะกับคนไทย และดูทันสมัยอีกด้วย ทำให้ยอดส่งมอบ ของโน้ตบุ๊กแบบจอกว้าง ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2548 สูงเกินกว่ายอดส่งมอบของโน้ตบุ๊กแบบจอธรรมดา โดยเฉพาะไตรมาส 4 ของปี 2548 ไตรมาสเดียว สัดส่วนยอดการส่งมอบของโน้ตบุ๊กแบบจอกว้างต่อโน้ตบุ๊กแบบจอธรรมดา เป็น 2.3 ต่อ 1
ทั้งนี้ ผู้ค้าคอมพิวเตอร์ข้ามชาติครองตลาดโน้ตบุ๊กในไทยเกือบทั้งหมด เนื่องจากมีข้อได้เปรียบในเรื่องราคาและภาพลักษณ์ของตราสินค้า และด้วยการขายในปริมาณมากกว่า ทำให้ผู้ค้าข้ามชาติสามารถควบคุมต้นทุนได้และเสนอราคาที่ดึงดูดใจผู้ซื้อ ความคล่องตัว (mobility) ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของโน้ตบุ๊ก ทำให้โน้ตบุ๊กสื่อถึงการแสดงออก ถึงตัวตน (self-expression) ภาพลักษณ์ของตราสินค้าจึงถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ผู้ที่คิดจะซื้อคอมพิวเตอร์แต่ละกลุ่ม มีความต้องการหลักๆ ที่แตกต่างกัน ดังนั้น ผู้ค้าที่จะประสบความสำเร็จได้จำเป็นต้องหยั่งรู้ความต้องการเหล่านั้น และสร้างสมดุล ระหว่างตัวแปรต่างๆ ได้แก่ ราคา คุณสมบัติ และภาพลักษณ์ของตราสินค้า เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม
ไอดีซีคาดว่ายอดส่งมอบคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กในปี 2549 จะเติบโตประมาณ 12% แม้ว่าในปี 2548 ได้มีการเติบโตอย่างมากก็ตาม เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ออกสู่ตลาด เช่น Dual-core CPU รวมถึงการใช้ดีวีดีแบบบันทึกได้ (DVD-Rec) ที่มากขึ้น คาดว่าจะเป็นปัจจัยที่ตรึงราคาขายโดยเฉลี่ยไว้อย่างน้อยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2549
“จากภาวะราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยที่ขยับสูงขึ้น ไม่น่าจะมีคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กราคาต่ำกว่า 30,000 บาท (750 ดอลลาร์ สหรัฐ) ในตลาดให้เลือกมากนัก ซึ่งต่างกับช่วงก่อนหน้านี้” นายวสุพจน์กล่าว
ในการคาดการณ์ครั้งนี้ ไอดีซีได้นำปัจจัยด้านนโยบายและโครงการต่างๆ ของภาครัฐมาพิจารณาร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ไอดีซีไม่รวมโครงการคอมพิวเตอร์เอื้ออาทรที่ขายโน้ตบุ๊กเครื่องละประมาณ 4 พันบาทไว้แต่แรก เนื่องจากรุ่นดังกล่าวไม่มีฮาร์ดไดรฟ์ ในทางตรงกันข้าม หากมองไปข้างหน้า คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะจะยังคงเป็นจุดสนใจของวงการอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ไทยในปีนี้
ในมุมมองของนายวสุพจน์เห็นว่า ประเทศไทยยังคงต้องการโครงสร้างพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์อีกมาก แม้ว่าโครงการคอมพิวเตอร์ 250,000 เครื่อง สำหรับเด็กนักเรียนจะเป็นโครง การที่มีขนาดใหญ่และสร้างแรงกระตุ้นให้กับตลาดคอมพิวเตอร์โดยรวม แต่โครงการลักษณะนี้อาจต้องพบกับความท้าทายมากมาย ทำให้ต้องล่าช้าออกไปอีก แม้ไอดีซีจะเชื่อว่าเป็นโครงการที่มีความเป็นไปได้สูง แต่ยากที่จะกำหนดกรอบเวลาที่แน่นอนได้ ไอดีซีจึงยังไม่นำโครงการดังกล่าวไปพิจารณาในการคาดการณ์ตลาดรวม จนกว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
นอกจากนี้ ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทยหลังการยุบสภาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยในระยะสั้นจะกระทบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็ก หรือเอสเอ็มอี เนื่องจากกลุ่มนี้จะอ่อนไหวต่อกระแสข่าวที่เป็นลบ ส่วนความล่าช้าของเมกะโปรเจกต์ก็อาจส่งผลกระทบด้วยเช่นกัน แต่ไอดีซีไม่ได้นำมาพิจารณาในการคาดการณ์ครั้งนี้ตั้งแต่แรก อย่างไรก็ตาม ความวิตกกังวล อยู่ที่สถานการณ์ในระยะยาว หากการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย คงต้องหาทางออกที่ดีกว่า และหาให้ได้โดยเร็วที่สุด ไม่เช่นนั้น เศรษฐกิจโดยรวมของทั้งประเทศจะถดถอย ส่งผลให้ความต้องการสินค้าไอทีลดลงไปด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|