ระบุแบงก์ชาติไร้ปัญหาดูแลสถาบันการเงิน แม้รอสภาใหม่ออกกม.สำคัญ


ผู้จัดการรายวัน(17 เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้จากสถานการณ์การเมืองไม่แน่นอน ส่งผลต่อร่าง พ.ร.บ.ด้านการเงินสำคัญ 2 ฉบับ ที่ไม่สามารถพิจารณาได้ แต่จะไม่กระทบต่อการกำกับดูแลสถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เนื่องจากกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในการดูแลไว้แล้ว

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่แน่นอน เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรอาจจะมีสมาชิกไม่ครบจำนวนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ทำให้ยังคงไม่แน่ชัดว่าจะสามารถเปิดสภาฯ ได้เมื่อใด ส่งผลให้การพิจารณาร่างกฎหมายต่าง ๆ อาจต้องเลื่อนออกไป รวมถึงกฎหมายการเงินการธนาคารที่สำคัญ ทำให้การกำกับดูแลสถาบันการเงิน คงจะต้องดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกฎหมายที่อาจถูกกระทบจากความล่าช้าของการพิจารณาในสภาฯ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ. สถาบันประกันเงินฝาก และร่าง พ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันการเงิน

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. สถาบันประกันเงินฝาก มีเนื้อหาสำคัญคือ การจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝากทำหน้าที่แทนกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในการคุ้มครองเงินฝากของสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิก โดยผู้ฝากเงินจะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงในการฝากเงินกับธนาคารแต่ละแห่งที่อาจแตกต่างกันไปตามประสิทธิภาพในการดำเนินงานของธนาคารเหล่านั้น อันจะนำไปสู่การแข่งขันเพื่อดูแลคุณภาพสินทรัพย์ และการสร้างธรรมาภิบาลของธนาคารพาณิชย์เพื่อสร้างความเชื่อถือให้แก่ลูกค้าที่เด่นชัด นอกเหนือไปจากการแข่งขันในผลิตภัณฑ์เงินฝากที่รุนแรงขึ้น ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันการเงิน ซึ่งรวบรวมเนื้อหาในการกำกับสถาบันการเงินที่มาจากการปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ และ พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ รวมไว้ในฉบับเดียวนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการควบคุมสถาบันการเงินทั้งระบบ บนมาตรฐานเดียวกัน สอดคล้องกับรูปแบบของสถาบันการเงินภายใต้แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่ประกาศใช้ไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้ร่างกฎหมายดังกล่าวที่ต้องผ่านขั้นตอนในสภาฯ อาจเผชิญกับความล่าช้า จากการที่สภาฯ ยังคงเปิดไม่ได้ แต่การดำเนินการกำกับดูแลสถาบันการเงินในปัจจุบัน ยังคงเดินหน้าได้ตามปกติ ได้แก่ การดำเนินการของ ธปท. และกระทรวงการคลังในเรื่องของแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่มที่จะเริ่มนำมาใช้ในปี 2549 นอกเหนือไปจากเกณฑ์กำหนดเงินกองทุน BASEL II ที่มีการผลักดันให้สามารถบังคับใช้ได้ในปี 2551 และมาตรฐานบัญชีระหว่างประเทศฉบับที่ 39 ที่คาดว่าจะนำมาบังคับใช้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งทั้งหมดต่างมีผลต่อการพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ ภายใต้มาตรฐานที่เป็นสากลมากขึ้น

ทั้งนี้ จากประเด็นในเรื่องการกำกับดูแล และกฎหมายทางการเงินต่าง ๆ ดังกล่าว ทำให้ธนาคารพาณิชย์คงต้องเตรียมการปรับปรุงระบบ และการดำเนินงานภายในของตนอย่างต่อเนื่อง โดยได้แก่ การวางรูปแบบการดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบ Universal Banking ตอบรับกระแสการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น การเตรียมความพร้อมในเรื่องการบริหารความเสี่ยง และเกณฑ์บัญชีใหม่เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการ ซึ่งทั้งหมดเชื่อว่าคงจะส่งผลให้ธนาคารมีความพร้อมที่จะรับมือจากประเด็นการกำกับต่าง ๆ ที่ยังคงอยู่ในกระบวนการตัดสินใจของภาครัฐเพื่อการปฏิรูปภาคการเงินในระยะต่อไป ตลอดจนการแข่งขันที่อาจจะสูงขึ้นจากการเปิดเสรีทางการเงินในอนาคต


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.