นักลงทุนพร้อมลุยประมูลเมกะโปรเจกต์รอนายกฯใหม่เคาะทีโออาร์ปล่อยสตาร์ท


ผู้จัดการรายวัน(17 เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ชี้เงื่อนเวลากระชั้นชิด บีบรัฐขยายเวลาประมูลเมกะโปรเจกต์ เผยขณะนี้ทีโออาร์ประมูลยังไม่แจกให้นักลงทุน เพราะต้องรอ กนค.ซึ่งมี นายกฯเป็นประธานเห็นชอบก่อน และหลังแจกทีโออาร์ต้องให้เวลาทำข้อเสนอ อีก 30-60 วัน นักลงทุนแนะเลื่อนเป็น ก.ค.เพื่อตัดข้อครหา แม้ที่ผ่านมาจะลงรายละเอียดทีโออาร์ไว้ในเว็บไซต์แล้วก็ตาม เผยยื่นข้อเสนอได้ทันทีที่รัฐบาลพร้อม

แหล่งข่าวจากสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีคำสั่งใดๆ ให้เลื่อนกำหนดการรับเอกสารข้อเสนอการลงทุนประมูลโครงการระบบขนส่งมวลชนและโครงการระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Mass Transit & Integrated Transport Information Center : MTIC) ในวันที่ 29 พ.ค. 2549 ออกไปแต่อย่างใด หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการเลื่อนกำหนดจากวันที่ 28 เม.ย. 2549 มาแล้ว ซึ่งในส่วนของนักลงทุนจากที่ได้มีการสอบถามข้อมูลเข้ามา ไม่ได้ติดใจประเด็นของกำหนดการส่งเอกสาร โดยเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่ นั้นค่อนข้างพร้อมที่จะส่งเอกสาร ข้อเสนอตามกำหนดแต่หากเลื่อนออกไปก็อาจทำให้นักลงทุนมีเวลาในการตรวจความพร้อมและเพิ่มจำนวนนักลงทุนได้มากขึ้นเท่านั้น

ทั้งนี้สาเหตุที่จะทำให้มีการพิจารณาเลื่อนกำหนดรับข้อเสนอของนักลงทุนจะอยู่ที่การจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่และการตั้งนายกรัฐมนตรีว่าจะเรียบร้อยเมื่อใด เพราะขณะนี้เอกสารการเชิญชวนเอกชน (ทีโออาร์) ของรถไฟฟ้าและเมกะโปรเจกต์ของกระทรวงคมนาคม ยังไม่ได้แจกให้นักลงทุนอย่างเป็นทางการมีเพียงการลงรายละเอียดไว้ในเว็บไซต์ โดยดาต้า รูมของ สนข. ที่ www. bangkok masstransit.com เท่านั้น

แหล่งข่าวกล่าวว่า หากประเมิน ตามเงื่อนเวลาที่เหลือกับสถาน-การณ์การเมืองหลังการเลือกตั้งแล้วเสร็จประมาณสิ้นเดือนเม.ย. 2549 กรณีมีการจัดตั้งครม.และเลือกนายกรัฐมนตรีโดยไม่มีปัญหายืดเยื้อคาดว่าจะเรียบร้อยในเดือนพ.ค. ซึ่งค่อนข้างกระชั้นชิดกับกำหนดรับเอกสารประมูล 29 พ.ค. 2549 เพราะขั้นตอนของการอนุมัติทีโออาร์ จะต้องให้ กนค.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมเพื่อตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารเมกะโปรเจกต์แต่ ละโครงการ จากนั้นคณะกรรมการบริหารแต่ละโครงการจะต้องประชุม เพื่อให้ความเห็นชอบทีโออาร์ก่อนจากนั้นต้องเสนอเข้าที่ประชุมกนค. อนุมัติจึงจะแจกนักลงทุนได้

หวั่นครหาแนะขยายรับข้อเสนอก.ค.

แม้ว่าประมูลเมกะโปรเจกต์จะใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ด้วยการดำเนินโครงการลงทุนพิเศษ ของรัฐเพื่อการพัฒนาประเทศ พ.ศ. 2549 เพื่อเร่งรัดขั้นตอนและการใช้รูปแบบออกแบบไปก่อสร้างไป หรือ Design& Built ซึ่งสามารถผ่อนปรนระเบียบพัสดุไปได้ แต่โดยหลัก หลังจากแจกทีโออาร์ให้นักลงทุนจะต้องมีช่วงเวลาหนึ่งเพื่อให้นักลงทุนทำข้อเสนอ ซึ่งตามระเบียบพัสดุจะให้เวลาทำข้อเสนอประมาณ 30-60 วันหรือ 2-3 เดือน แต่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2549 อาจไม่ถึงและขึ้นกับนโยบายด้วยว่าจะเร่งรัดแค่ไหน เพราะมติครม. และระเบียบที่ออกใหม่นั้นไม่ได้ครอบและกำหนดการแจกทีโออาร์และกำหนดส่งเอกสารข้อเสนอว่าควรห่างกันเท่าไรไว้

"มีความเป็นไปได้ว่า อาจต้องเลื่อนกำหนดส่งเอกสารข้อเสนอ แต่อาจต้องรอให้ใกล้กับกำหนดวันที่ 29 พ.ค. อีกหน่อย ส่วนนักลงทุนแม้เห็นว่าเงื่อนเวลาไม่ใช่ปัญหาแต่ส่วนใหญ่ก็เห็นว่าหากเลื่อนกำหนด ส่งเอกสารข้อเสนอไปเป็นเดือน ก.ค.2549 น่าจะเหมาะสม เพราะเป็นระยะห่างหลังจากแจกทีโออาร์ ประมาณ 2 เดือน ซึ่งจะไม่เกิด คำครหาใดๆ ส่วนปัญหาทางการเมืองไม่ได้สร้างความกังวลกับนักลงทุน ส่วนใหญ่เข้าใจดี" แหล่งข่าวกล่าว

รถไฟฟ้าเนื้อหอมนักลงทุนขอข้อมูล ต่อเนื่อง

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า นักลงทุน ต่างชาติ ยังทยอยเข้ามาขอข้อมูลจาก ดาต้า รูม ที่สนข. วันละ 15-20 ราย ทั้งรายใหญ่และรายเล็กโดยกลุ่มนักลงทุนจีนคาดว่าจะร่วมทุนกับบริษัท อิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) นักลงทุนจากเยอรมันบริษัท ซีเมนส์ จำกัด น่าจะยังร่วมกับกลุ่มบริษัท ซิโน ไทย เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งร่วมทุนก่อสร้างโครงการรถไฟเชื่อมสนามบิน หรือ แอร์พอร์ตลิงก์อยู่ ส่วนรายอื่นๆ ยังไม่ชัดเจน โดยรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายยังคงเป็นเส้นทางที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากที่สุด ส่วนนักลงทุนที่ชำนาญรถไฟฟ้าระบบโมโนเรล ก็สนใจเส้นทางสายสีเหลือง สาย สีส้ม

ส่วนโครงการเมกะโปรเจกต์ที่เกี่ยวข้องกับลอจิสติกส์ เช่น รถไฟทางคู่ ท่าเรือ นั้น ยังถือว่าได้รับความสนใจจากนักลงทุนน้อยกว่ารถไฟฟ้า เพราะความคุ้มค่าในการลงทุนต่างกัน นอกจากนี้ ในเว็บบอร์ด ของสนข.ยังมีประชาชนจำนวนมากแสดงความคิดเห็นเข้าไป โดยส่วนใหญ่ต้องการให้มีรถไฟฟ้าเร็วที่สุด เพราะปัญหาจราจรในกรุงเทพ-มหานคร (กทม.) เริ่มหนักขึ้น

"พงษ์ศักดิ์" ยันไม่เลื่อนกำหนดรับข้อเสนอ

ในขณะที่นายพงษ์ศักดิ์ รักต-พงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวง คมนาคมยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีการเลื่อนกำหนดรับข้อเสนอการลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ ของกระทรวงคมนาคมแน่นอน เพราะยังมีเวลาเหลือพอ แต่ที่ยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ในขณะนี้เนื่องจากต้องรอคณะกรรมการนโยบายโครงการลงทุนพิเศษของรัฐ (กนค.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมก่อน

สำหรับคณะกรรมการบริหารโครงการรถไฟฟ้าและลอจิสติกส์มี 5 ชุด ทำหน้าที่กำกับดูแล 1. โครงการ รถไฟฟ้า 10 สาย 2. โครงการท่าเทียบ เรือปากบาราและท่าเทียบเรือสงขลา 3. โครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ และโครงการปรับปรุงทางรถไฟ 4. โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา โครงการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบนอก ชั้นที่ 3 และโครงการก่อสร้างทางพิเศษสายศรีนครินทร์-บางนา-สมุทรปราการ และ 5. โครงการจัดหารถโดยสารปรับอากาศใหม่ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี ของ ขสมก. จำนวน 2,000 คัน มูลค่าโครงการรวม 23,500 ล้านบาท

รถไฟฟ้า 10 สายพร้อมรอประมูล

โครงการระบบขนส่งมวลชน (Bangkok Mass Transit Development Plan) หรือ รถไฟฟ้า 10 สาย นั้น กำหนดแผนดำเนินงาน 6 - 10 ปี มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มระยะทางของรถไฟฟ้าเป็น 371 กิโลเมตร รองรับการเดินทางของคนกรุงเทพฯและปริมณฑลได้ 11 ล้านคน จากปัจจุบันที่รถไฟฟ้า 2 สาย (บีทีเอสและรถไฟใต้ดิน มีระยะทางรวมกันเพียง 66.2 กม.เท่านั้น) ซึ่งแนวทางการประมูลคือให้นักลงทุนยื่นข้อเสนอได้โดยไม่จำกัด ทั้งแนวเส้นทาง กำหนดสถานี รูปแบบการเดินรถ รูปแบบของระบบ เช่น ระบบรถไฟขนาดกลางหรือขนาดเบา หรือรถไฟรางเดี่ยว เป็นต้น การบริหารจัดการ ต่างๆ

โดยแนวเส้นทางที่มีการศึกษา ไว้แล้ว ประกอบด้วย 1.สายสีแดงเข้ม(รังสิต-มหาชัย) ระยะทาง 65 กม. เป็นทางยกระดับ 42 กม.และทางระดับพื้นดิน 23 กม. มีสถานีบนพื้นดิน 20 สถานีและสถานียกระดับ 9 สถานี 2.สายสีแดงอ่อน(ตลิ่งชัน-สนามบินสุวรรณภูมิ) เป็นทางยกระดับ 50 กม. มี 22 สถานี 3.สายสีเขียวเข้ม (สะพานใหม่-บางหว้า) เป็นทางยกระดับ ระยะทาง 19 กม. มี 16 สถานี 4.สายสีเขียวอ่อน (พรานนก-อ่อนนุช- สมุทรปราการ) เป็นทางยกระดับ ระยะทาง 24 กม. มี 17 สถานี 5. สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค) ระยะทาง 27 กม. เป็นทางยกระดับ 22 กม. และใต้ดิน 5 กม. โดยมีสถานียก ระดับ 14 สถานีและสถานีใต้ดิน 3 สถานี

6.สายสีส้ม (บางกะปิ-บางบำหรุ) ระยะทาง 24 กม. เป็นทางยกระดับ 3 กม. และทางใต้ดิน 21 กม. มีสถานียกระดับ 4 สถานี และสถานีใต้ดิน 13 สถานี 7.สายสีม่วง(บางใหญ่-ราษฎร์บูรณะ) ระยะทาง 49 กม. เป็นทางยกระดับ 29 กม. ทางใต้ดิน 20 กม. มีสถานี ยกระดับ 21 สถานีและสถานีใต้ดิน 11 สถานี 8.สายสีเหลือง(ลาดพร้าว-สำโรง) ระยะทาง 32 กม. เป็น ทางยกระดับ 2 กม. ทางใต้ดิน 10 กม. และทางระดับดิน 20 กม. มีทั้งหมด 20 สถานี 9.สายสีชมพู(ปากเกร็ด-สุวินทวงศ์) เป็นทางยกระดับระยะทาง 33 กม. สถานี ยกระดับ 13 สถานี และ 10.สาย สีน้ำตาล (บางกะปิ-สุวินทวงศ์) ระยะทาง 9.5 กม. สถานียกระดับ 5 สถานี งบประมาณ 5.5 แสนล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.