|
แฉปตท.แหกตาแยกท่อก๊าซ
ผู้จัดการรายวัน(13 เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
เครือข่ายประชาชนเดินหน้าฟ้องแน่ศาลปกครองสูงสุดทวงคืน ปตท. ลุยรื้อ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม อำนาจล้นฟ้า ดึงอำนาจมหาชนจัดหาก๊าซ – ท่อส่งก๊าซ นำกลับมาปฏิรูปพลังงานชาติ แฉ ปตท. เสือนอนกินผูกขาดค่าท่อ 18% โยนภาระปชช. แหกตาแยกบริษัทลูกท่อก๊าซเส้นที่ 3 ไม่กล้าแยกเส้นที่ 1 และ 2 ป้องราคาหุ้น อัดซ้ำสร้างท่อเส้นที่ 3 หวังเพิ่มสินทรัพย์แสนล้านดันราคาเพิ่มมูลค่า ผลศึกษาไม่คุ้มทุน กรรมตกอยู่ที่ประชาชน ด้านปตท.ยันแยกธุรกิจก๊าซทั้งระบบ โต้กลับก๊าซไม่มีผูกขาด ยกคุณูปการแปรรูปนำส่งรายได้ให้รัฐ5ปีแล้วกว่า 1.4แสนล้าน ทวงบุญคุณแบกค่าก๊าซแทนประชาชน
วานนี้ ( 12 เม.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายวิทูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ อดีตประธานคณะทำงานพลังงาน สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) กล่าวว่า ขณะนี้ทางกลุ่มกำลังเตรียมความพร้อมในการฟ้องร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ต่อ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยจะดำเนินการอย่างรอบคอบเพื่อเป้าหมายสำคัญต้องการให้เกิดการปฏิรูประบบพลังงานแห่งชาติ และนำไปสู่การเพิกถอนอำนาจผูกขาดมหาชนของรัฐที่ถูกบิดเบือน ไปให้กับเอกชน โดยเฉพาะ 1.อำนาจในการจัดหาก๊าซธรรมชาติ ที่ใครหรือบริษัทใดสำรวจขุดเจาะแก็สได้จะต้องขายให้กับ ปตท. เท่านั้น และ 2.อำนาจในท่อส่งก๊าซ ซึ่งอำนาจเหล่านี้อยู่ใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ... ที่ติดไปกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทมหาชน ซึ่งอำนาจเหล่านี้ถือเป็นการผูกขาดโดยธรรมชาติ ทำให้ ปตท. ไม่มีคู่แข่ง ไม่มีใครลงทุนสูงสู้ ปตท.ได้
ที่สำคัญอำนาจผูกขาดในการจัดหาก๊าซ และการจัดเก็บค่าท่อส่งก๊าซ ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กลับไม่เคยถูกหยิบยกมาพูดถึง ซึ่งอำนาจตรงนี้ไม่ควรเป็นของเอกชน ในรูปบริษัท แต่ควรจะเป็นของรัฐ ดังนั้นในการฟ้องร้องจะต้องทวงคืนอำนาจมหาชนตรงนี้กลับคืนมา เพราะอำนาจตรงนี้ส่งผลโดยตรงต่อค่าเชื้อเพลิงพลังงานและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
“ที่เห็นได้ชัดคือ กฟผ. จะไปซื้อก๊าซราคาถูกจากหลุมในอ่าวไทยกับผู้ขุดเจาะก๊าซโดยตรงก็ไม่ได้ แต่ต้องซื้อผ่าน ปตท. เพราะกฎหมายปิโตรเลียมให้อำนาจตรงนี้ไว้ ปตท.ก็เหมือนเสือนอนกิน ถามว่าวันนี้ ปตท.ควรได้อำนาจตรงนี้ไปหรือไม่ ได้กำไรก็ตกไปอยู่ที่ผู้ถือหุ้นที่เราไม่รู้เลยว่าเป็นใคร แต่คนไทยต้องซื้อก๊าซแพง” นายวิทูรย์ กล่าว
ปตท.ขูดรีดค่าท่อ 18% - สร้างท่อเส้น 3 ไม่คุ้มทุน
นายวิทูรย์ กล่าวเน้นว่า โดยเฉพาะประเด็นที่ปตท. กำลังบิดเบือนกับสาธารณชนอยู่ขณะนี้คือ กำไรจากก๊าซ แค่ 9% นั้นไม่เป็นความจริง แต่ได้กำไรจากก๊าซมากกว่าครึ่งหนึ่งของกำไรทั้งหมด และอำนาจที่ ปตท.ได้จากพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ในอำนาจในการจัดหาก๊าซธรรมชาติ ก็จะได้รับค่าหัวคิวเพราะตัวเองมีอำนาจเพียงผู้เดียว ในการรับซื้อจากผู้สำรวจพบ และขุดเจาะทุกรายในประเทศไทยที่จะต้องขายให้กับ ปตท.เพียงเจ้าเดียว อีกทั้งจะต้องส่งขายผ่านระบบท่อก๊าซของ ปตท. เองอีกด้วย พร้อมกับคิดผลกำไรตอบแทนจากค่าก๊าซผ่านท่อสูงถึง 16-18% ของกำไร ถือว่าสูงมาก
“ปตท.เคยอ้างว่าช่วงดอกเบี้ยสูงกว่า 10-11% ก็เลยต้องคิดค่าตอบแทนท่อก๊าซที่จะได้ 16-18% ซึ่งตอนนั้นก็เป็นช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้ดอกเบี้ยลดลงเหลือแค่ 1-2% แต่ทำไม ปตท. ยังคิดค่าผลตอบแทนและกำไรจากท่อก๊าซสูงอยู่อีก 16-18% ไม่ยอมลดลง แต่กลับไปบวกเพิ่มในค่าก๊าซสร้างภาระให้กับประชาชน” นายวิทูยร์ กล่าว
นายวิทูรย์ ยังกล่าวตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้ที่ ปตท. กำลังสร้างท่อก๊าซเส้นที่ 3 ซึ่งเป็นเส้นที่ใหญ่ที่สุดใหญ่กว่าเส้นที่ 1 และที่ 2 มูลค่ากว่าแสนล้านบาท ซึ่งผลศึกษาพบว่า หากใช้แนวทางในการเพิ่มแรงดันในการส่งก๊าซผ่านท่อ แทนการสร้างท่อส่งก๊าซเส้นใหม่จะคุ้มค่าต่อการลงทุนและประหยัดได้มากกว่า แต่ทาง ปตท.ขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อสร้างท่อส่งก๊าซเส้นใหม่เป็นมูลค่า 50,000 บาท แต่ตอนหลังกลับเพิ่มเงินทุนอีกเท่าตัวเป็นแสนล้านบาท
ปตท.ตบตาแยกบริษัทลูกท่อเส้น 3 ป้องกำไรผู้ถือหุ้น
นางสาวสายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธผู้บริโภค กล่าวด้วยว่าแน่นอนจะต้องฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดแต่อยู่ระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูล ส่วนการที่ ปตท.อ้างว่าจะตั้งบริษัทลูกขึ้นมาแยกท่อก๊าซเส้นที่ 3 ซึ่งมีมูลค่าราว 104,850 ล้านบาท งบประมาณมากที่สุด เป็นท่อส่งก๊าซที่ยังไม่มีคู่สัญญา ทั้งยังมีภาระค่าใช้จ่ายอยู่จำนวนมาก แต่กลับไม่ยอมที่จะแยกกิจการท่อส่งก๊าซเส้นที่ 1 และ 2 ออกมาเพราะท่อส่งก๊าซ 2 เส้นนี้มีคู่สัญญาเต็มหมดแล้วทำกำไรให้กับผู้ถือหุ้นอยู่อย่างแน่นอน และสิ่งที่น่ากลัวตามมาก็คือ หากแยกบริษัทลูกออกมาแล้ว จะเกิดการฮั้วราคา ที่บริษัทลูกจะขายก๊าซแพงให้กับบริษัทแม่ แล้วนำไปขายในราคาที่แพงขึ้นไปอีกให้กับ กฟผ. ที่จะต้องพึ่งก๊าซ 70-80% ในการผลิตกระแสไฟฟ้า
“แยกบริษัทมาตั้งโฮลดิ้งคอมพานีแล้ว ปตท. ยังถือหุ้นอยู่ 100% ไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่เรากำลังพูดถึงการแยกกิจการที่มีอำนาจมหาชนผูกขาด กลับคือสู่ส่วนกลางคือ รัฐ ก็เหมือนกับไม่ควรโอน สิทธิประโยชน์ในเขื่อน และสายส่งให้กับ กฟผ.ที่จะแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์”
สร้างสินทรัพย์โยนภาระเสี่ยงให้ ปชช.
นางสาวสายรุ้ง ยังกล่าวอีกว่าการตั้งบริษัทลูกขึ้นมา หรือ ตั้งกรรมการพลังงานแบบ กฟผ. ที่เป็นแค่เสือกระดาษไม่ต้องการ เพราะทุกวันนี้ประชาชนยอมรับแล้วว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้น และที่สำคัญ ไม่ใช่ ปตท.จะสร้างสินทรัพย์ เช่น สร้างท่อส่งแก๊สกี่เส้นๆ หรือโรงไฟฟ้ากี่แห่งๆ ปตท.จะลงทุนไปเท่าไร ก็ได้เป็นพันล้าน หมื่นล้าน หรือแสนล้านก็ได้ แต่ผู้ถือหุ้นไม่มีความเสี่ยง เพราะกำไรถูกรับประกันไว้แล้ว แต่ผลักภาระต้นทุนทั้งหมดไปยังประชาชน เช่น กรณีผลตอบแทนท่อก๊าซ 16-18% จากค่าส่งก๊าซ หรือสร้างท่อก๊าซเส้นที่ 3 หรือมาวันนี้ ปตท.กลับจะมาโยนเศษชิ้นเนื้อชิ้นเล็กๆให้กับประชาชนว่าจะลดค่าก๊าซเอ็นจีวีให้ แต่ ปตท. กลับเป็นผู้ผูกขาดขายก๊าซเอ็นจีวีเพียงเจ้าเดียวในประเทศ
“อยากจะเรียกร้องให้มีการดำเนินการเอาผิดลงโทษข้าราชการ ที่เข้าไปมีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น เข้าไปเป็นผู้บริหาร ซึ่งได้รับผลตอบแทนสูง แต่ก็ยังรับราชการอยู่ แต่กลับปล่อยให้เกิดความเสียหายให้กับรัฐ โดยเฉพาะกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัย ว่า ปลัดกระทรวงพลังงาน ต้องรับทราบ ว่า นายโอฬาร ไชยประวัติ ที่เป็นทั้งผู้บริหารในบริษัท ชินฯ และยังเป็นคณะกรรมการแปรรูป กฟผ. ซึ่งมีผลประโยชน์ทับซ้อนกันอยู่ในกิจการ กฟผ. และบริษัท ชินฯ ซึ่งข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจไม่ยอมปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ก็ควรจะถูกเช็คบิลด้วย”
ปตท.ยันแยกธุรกิจท่อก๊าซทั้งระบบ
ด้าน นายสรัญ รังคสิริ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กล่าวว่า การเตรียมการแยกบริษัทท่อส่งก๊าซฯ นั้น จะเป็นการแยกธุรกิจท่อส่งก๊าซฯ ทั้งระบบ รวมที่มีอยู่ในปัจจุบันและท่อเส้นที่ 3 ทั้งนี้ อำนาจในการกำหนดเขตระบบเป็นของรัฐทั้งก่อนและหลังแปรรูป รวมทั้งกิจการก๊าซธรรมชาติไม่มีการผูกขาด ดังเช่นการที่ บริษัท ไทยเชลล์ ขายก๊าซฯ จากแหล่งสิริกิติ์ ให้ กฟผ. นอกจากนั้น การให้ ปตท.เป็นผู้ดำเนินการจัดหาและวางท่อก๊าซฯ เป็นข้อตกลงทางการค้าที่ผู้ใช้และผู้ผลิตก๊าซฯ ต้องการลดความเสี่ยง และให้มีการเสริมสร้างความมั่นคงด้านการจัดหาและดูแลคุณภาพของ
ส่วนกรณีที่ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคกล่าวว่า ปตท. ปล้นประชาชนเพื่อทำกำไรอัปลักษณ์ โดยผลประโยชน์ของรัฐรั่วไหลเฉียด 3 แสนล้านบาท นั้น ปตท. ขอชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง ในทางตรงกันข้ามประโยชน์ของรัฐกลับเพิ่มพูน โดยก่อนการแปรรูป หุ้น ปตท. ที่รัฐถือครอง 100% มีมูลค่าเพียง 20,000 ล้านบาท แต่หลังแปรรูปมูลค่าหุ้น ปตท. ที่รัฐถือครองทางตรงและทางอ้อม 68% มีมูลค่าประมาณ 500,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงเงินภาษีและเงินปันผลที่กลุ่ม ปตท. นำส่งรัฐตลอด 5 ปีที่ผ่านมา รวม 140,000 ล้านบาท
ขณะที่ตอบโต้ประเด็นที่ระบุว่า ผู้บริโภคถูกปล้นเงียบรับภาระค่าใช้จ่ายและหนี้อ่วม ว่า เป็นข้อมูลที่บิดเบือน เพราะที่ผ่านมา ผู้บริโภคไม่ถูกปล้นแต่กลับได้ประโยชน์ เพราะราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ผลิตไฟฟ้าได้สูงขึ้นตามภาวะตลาดโลก แต่ ปตท. ได้เข้ามาช่วยรับภาระบางส่วน ทำให้ราคาไม่สูงเท่าตลาดโลก โดยในปี 2548 ปตท. ช่วยรับภาระราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม และพยุงค่าไฟฟ้าแทนผู้บริโภครวมกว่า 14,000 ล้านบาท
ส่วนคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับราคาน้ำมันดีเซลในประเทศที่เพิ่มขึ้น 126% นั้นเป็นช่วงที่ราคาดีเซลในตลาดโลกเพิ่มขึ้นถึง 195% และราคาก๊าซหุงต้มในประเทศเพิ่มขึ้น 63% เป็นช่วงที่ราคาตลาดโลกเพิ่มขึ้น 123% ในขณะที่ราคาก๊าซฯ ในประเทศเพิ่มขึ้นเพียง 27%ทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพียง 21% ไม่ใช่ 233% ตามที่กล่าวอ้างเนื่องจากเป็นเพียงค่า FT ที่ยังไม่รวมค่าไฟฐาน 2.25 บาท/หน่วย
นายสรัญ ยังปฎิเสธว่า ปตท. และนักลงทุนไม่ได้รวยเละ กำไรโด่งอย่างอัปลักษณ์ เพราะ ความเป็นจริงแล้วกำไรของ ปตท. ที่เพิ่มสูงขึ้นมาจากการระดมทุน ทำให้ ปตท.มีเงินสามารถนำไปปรับโครงสร้างหนี้ฟื้นฟูกิจการที่ประสบภาวะขาดทุน และขยายกิจการต่อยอดธุรกิจ รวมทั้งสามารถบริหารงานได้อย่างคล่องตัวเช่นเดียวกับเอกชน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้กำไรของกลุ่ม ปตท. เพิ่มสูงขึ้น จึงควรเป็นความภูมิใจของคนไทยทุกคนที่มีบริษัทน้ำมันของชาติที่สามารถปรับตัวเองให้เข้มแข็งและสามารถแข่งขันได้ในเวทีสากล หาก ปตท.แข็งแรงประเทศชาติก็แข็งแรงด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|