เทคโนโลยีออฟฟิศสู่โฮมยูสกลยุทธ์ระยะยาว"ฟูจิ ซีร็อกซ์"


ผู้จัดการรายสัปดาห์(17 เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ตลาดเลเซอร์พรินเตอร์ในเอเชียแปซิฟิกอนาคตสดใส ฟูจิ ซีร็อกซ์ พรินเตอร์ แตกแผนกดูแลเฉพาะ 2 ปีโต 3 เท่า ระบุตลาดไทยโตเร็ว ตั้งเป้าหมายตลาดปีนี้โฟกัสตลาดโฮมยูสเป็นพิเศษ เตรียมนำเสนอผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดที่หลากหลาย เน้นวิธีขายผ่านคู่ค่าเป็นหลักต่อ ชูจุดขายเทคโนโลยีทันสมัยบวกประสบการณ์ผู้ใช้จากออฟฟิศสู่การใช้งานในลักษณะโฮมยูส

"ภายหลังจากที่ทางฟูจิ ซีร็อกซ์ได้ทำการปรับโครงสร้างบริหารเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ฟูจิ ซีร็อกซ์ พรินเตอร์ให้ความสำคัญกับการทำตลาดพรินเตอร์มากยิ่งขึ้น โดยมีการตั้งส่วนงานเพื่อทำตลาดพรินเตอร์ขึ้นแยกต่างหากจากกลุ่มเครื่องถ่ายเอกสาร ส่งผลให้ยอดขายพรินเตอร์ของฟูจิ ในเอเชียแปซิฟิกเติบโตขึ้นขึ้น 3 เท่าตัว ตลาดไทยและตลาดในมาเลเชียนับเป็นตลาดที่เติบโตมากที่สุดในภูมิภาคนี้ ทั้งนี้ไม่รวมประเทศสิงคโปร์และประเทศจีน"เจมส์ เฮนเดอร์สัน กรรมการผู้จัดการ ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ฟูจิ ซีร็อกซ์ พรินเตอร์กล่าวถึงสภาพตลาดเลเซอร์พรินเตอร์ของฟูจิซีร็อกซ์ให้ฟัง

เมื่อดูจากผลวิจัยตลาดของไอดีซีระบุว่า ปัจจุบันพรินเตอร์ของฟูจิ ซีร็อกซ์มียอดขายในส่วนพรินเตอร์เลเซอร์สีอยู่ในอันดับ 2 ของตลาดเอเชียแปซิฟิกรวมประเทศจีนด้วย และอยู่ในอันดับ 4 พรินเตอร์เลเซอร์ขาว-ดำ ในขณะที่ประเทศไทยเป็นอันดับ 3 ในตลาดพรินเตอร์เลเซอร์ขาว-ดำ

ตลาดรวมพรินเตอร์ในเอเชียแปซิฟิกในปีนี้จะมีอัตราการเติบโตประมาณ 5-10% ขณะที่ตลาดพรินเตอร์รวมในประเทศไทยจะโตขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์ โดยคาดว่าจะมีขนาดตลาดพรินเตอร์รวม 154,000 เครื่อง แบ่งเป็นเลเซอร์พรินเตอร์สี 10 เปอร์เซ็นต์

ปัจจัยที่ทางเจมส์ เฮนเดอร์สันมองตลาดพรินเตอร์ในประเทศไทยยังเติบโตได้อีกมากนั้น เป็นผลมาจากผู้บริโภคคนไทยสนใจและกล้าที่จะใช้สินค้าไอทีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาของพรินเตอร์เลเซอร์เองได้ลดลงมามาก รวมถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยยังดีอยู่

สำหรับการทำตลาดในปีนี้ของฟูจิซีร็อกซ์ในกลุ่มพรินเตอร์นั้น เจมส์ เฮนเดอร์สันบอกว่า ฟูจิ ซีร็อกซ์ พรินเตอร์จะใช้จุดแข็งของการเป็นผู้นำในตลาดมิดเดิร์นเอนด์และตลาดไฮ-เอนด์ โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางด้านเลเซอร์พรินเตอร์ที่ทางบริษัทฯ ถือว่ามีความได้เปรียบกว่าคู่แข่งรายอื่นที่มีถึง 3 เทคโนโลยีด้วยกันประกอบไปด้วย หนึ่ง เทคโนโลยีเลเซอร์เบส สอง เทคโนโลยีแอลซีดี และสาม เทคโนโลยีโซลิคอิงค์

ซึ่งทางฟูจิ ซีร็อกซ์จะมีการนำเทคโนโลยีทั้งสามลงมาทำตลาดโฮมยูส "โฮมยูสเป็นตลาดที่น่าสนใจ ตลาดนี้กำลังขยายตัวจากเดิมมีการใช้งานพรินเตอร์อิงค์เจ็ตเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบัน เลเซอร์พรินเตอร์กำลังได้รับความนิยมในตลาดโฮมยูสมากยิ่งขึ้นโดยพรินเตอร์อิงค์เจ็ตจะค่อยๆ ถูกทดแทนด้วยเลเซอร์"

กรรมการผู้จัดการประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ฟูจิ ซีร็อกซ์ พรินเตอร์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเลเซอร์พรินเตอร์นิยมใช้ในสำนักงานเป็นส่วนใหญ่เพราะมีราคาแพง แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบันเลเซอร์พรินเตอร์มีราคาถูกลงประมาณ 70% ทั้งรูปแบบการใช้งานง่ายขึ้น เมื่อ 2 ข้อจำกัดนี้ถูกแก้ เลเซอร์พรินเตอร์ก็เริ่มได้รับความนิยมในตลาดมากยิ่งขึ้น

ในส่วนภาพรวมตลาดโฮมยูสในช่วง 2 ปีมานี้ ฟูจิ ซีร็อกซ์ พรินเตอร์ มียอดขายในตลาดเอเชียแปซิฟิกในตลาดเลเซอร์พรินเตอร์สีประมาณ 20% นับเป็นผู้นำอันดับ 2 ในตลาด ส่วนตลาดขาว-ดำ อยู่ในอันดับ 4 ด้วยส่วนแบ่งในตลาดประมาณ 8-10% ในขณะที่ตลาดเมืองไทย มีส่วนแบ่งในตลาดเลเซอร์พรินเตอร์สีประมาณ 10 % เป็นอันดับ 3 ในตลาด และมีส่วนแบ่งทางการตลาด 8% ในตลาดเลเซอร์พรินเตอร์ที่เป็นขาว-ดำ ซึ่งอยู่ในอันดับ 3 เช่นกัน

เวลานี้ตลาดเลเซอร์พรินเตอร์ในประเทศไทย ปัจจุบัน เลเซอร์พรินเตอร์สีมีเอชพีและฟูจิ ซีร็อกซ์ พรินเตอร์เป็นผู้นำตลาด ส่วนตลาดขาว-ดำมี เอชพี ซัมซุง เล็กซ์มาร์ค เป็นผู้นำตลาดเป้าหมายในตลาดรวมเลเซอร์พรินเตอร์ในเมืองไทยของฟูจิ ซีร็อกซ์ พรินเตอร์คือเป็นผู้นำอันดับ 2 ในตลาดเลเซอร์พรินเตอร์สีด้วยส่วนแบ่งตลาด 18% และผู้นำอันดับ 3 ในตลาดเลเซอร์พรินเตอร์ที่เป็นขาว-ดำ ด้วยส่วนแบ่งตลาด 10% จากปัจจุบัน ฟูจิ ซีร็อกซ์มีแชร์ 10% ในตลาดเลเซอร์พรินเตอร์สี และอยู่ในอันดับ 3 ส่วนในตลาดเลเซอร์พรินเตอร์ขาว-ดำ อยู่ในอันดับ 3 เช่นกันด้วยส่วนแบ่งตลาด 10%

"ผลิตภัณฑ์ใหม่ลงสู่ตลาดกว่า 20 รุ่นในทุกกลุ่มลูกค้าเป้าหมายภายใน 12 เดือน ซึ่งมีสินค้าในกลุ่มโฮมยูสประมาณ 5-6 รุ่นที่จะนำเข้ามาทำตลาด"

กลยุทธ์ที่ฟูจิ ซีร็อกซ์ พรินเตอร์จะนำมาใช้ในการบุกตลาดโฮมยูสนั้น เจมส์ เฮนเดอร์สันบอกว่า ทางบริษัทฯ จะนำเสนอสินค้าที่หลากหลายผ่านตัวแทนจำหน่ายเป็นหลัก ที่เวลานี้มีอยู่ 3 ราย โดยเชื่อการทำกลยุทธ์ที่ต่อเนื่องในระยะยาวจะได้ผลกว่าการนำเสนอกลยุทธ์แบบระยะสั้น และไม่ต่อเนื่อง เริ่มจากการกระตุ้นให้คู่ค้าเกิดความกระตือรือร้นในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ สร้างกิจกรรมการตลาดอย่างต่อเนื่อง โปรโมชั่นที่หลากหลาย โดยใช้จุดขายและความน่าเชื่อถือในตัวโปรดักส์จากการใช้งานในออฟฟิศมาสู่การใช้งานในลักษณะโฮมยูส


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.