"เอเชีย-แปซิฟิก" จัดเป็นเค้กก้อนใหญ่ที่ทำให้บริษัทข้ามชาติต่างพุ่งเป้าเป็นตลาดเป้าหมาย
โดยเฉพาะประเทศไทยนับเป็นตลาดที่เจ้าของกิจการข้ามชาติต่างมีใจตรงกันที่หมายมั่นปั้นมือ
จะเข้ามาขยายยอดขายกันแบบไม่ได้นัดหมาย
ล่าสุดดิ๊ค เดอโวส ประธานบริษัทแอมเวย์ คอร์ปอเรชั่น บริษัทขายตรงที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ซึ่งนำธุรกิจของตนเข้ามาเปิดตลาดด้วยการจัดตั้งบริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย)
จำกัด ตั้งแต่ปี 2530 ก็ได้เดินทางมาเยี่ยมชมกิจการสาขาในไทยเช่นกัน โดยเขากล่าวว่าการเดินทางมาครั้งนี้เพื่อต้องการมาพบปะเพื่อน
ๆ และแสดงความยินดีกับความสำเร็จของผู้จำหน่ายแอมเวย์
"ผมยอมรับว่าสำหรับแอมเวย์แล้ว ตลาดเมืองไทยจัดเป็นตลาดดาวรุ่งในย่านเอเชีย-แปซิฟิกและยังถือเป็นตลาดใหม่ที่มีอนาคตสดใสของเรา"
เป็นประโยคที่ดิ๊ค เดอโวสกล่าวพร้อมกับอธิบายว่าสำหรับความหมาย "ตลาดใหม่"
ของแอมเวย์ก็คือประเทศที่แอมเวย์เข้าไปเปิดตลาดได้ไม่เกิน 10 ปี ซึ่งขณะนี้การดำเนินธุรกิจในไทยของแอมเวย์เพิ่งก้าวขึ้นสู่ปีที่
9 เท่านั้น ดังนั้นเขาจึงจัดให้ไทยเป็นตลาดใหม่ 1 ใน 3 ดาวรุ่งพอ ๆ กับตลาดในประเทศอิตาลีและเกาหลีใต้
ดิ๊ค เดอโวส เข้าร่วมงานกับแอมเวย์ในฐานะทายาทในตระกูลเดอโวส เมื่อปี 2517
เขารับผิดชอบงานในฝ่ายต่าง ๆ จนกระทั่งปี 2527 เขาได้รับตำแหน่งรองประธานบริษัทฝ่ายสาขาต่างประเทศรับผิดชอบด้านการบริหารงานของบริษัทสาขาในประเทศต่าง
ๆ รวม 18 ประเทศ ในยุคนั้นดิ๊ค เดอโวสสามารถทำให้ยอดขายของแอมเวย์เพิ่มสูงขึ้นถึง
3 เท่า
ปี 2532 ดิ๊ค เดอโวสตัดสินใจออกไปตั้งบริษัทประกอบธุรกิจของตนเอง โดยดำเนินกิจการด้านการจัดการด้วยการเข้าไปลงทุนและซื้อกิจการบริษัทต่าง
ๆ ตามสิ่งที่เขาได้ร่ำเรียนมาในสายบริหารธุรกิจ จนในปี 2536 เขาจึงมารับตำแหน่งประธานบริษัท
แอมเวย์ คอร์ปอเรชั่น แทนริช เดอโวส ผู้เป็นบิดา
แอมเวย์ คอร์ปอเรชั่น มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ปีที่ผ่านมามียอดขายในกว่า
70 ประเทศทั่วโลกประมาณ 157.5 ล้านบาทซึ่งคิดเป็นตัวเลขอัตราการเติบโตประมาณ
19% โดยมีตลาดสร้างยอดขายหลักอยู่ใน 3 ทวีปคือจากย่านเอเชีย-แปซิฟิกคิดเป็นสัดส่วนยอดขาย
50% จากย่านอเมริกาเหนือมีสัดส่วนยอดขาย 30% จากย่านยุโรปมีสัดส่วนยอดขาย
15% และจากย่านอเมริกาใต้มีสัดส่วนยอดขาย 5%
การที่ดิ๊ค เดอโวส คีย์แมนหมายเลข 1 ของแอมเวย์ จัดอันดับให้บริษัท แอมเวย์
(ประเทศไทย) จำกัด เป็นดาวรุ่งเป็นเพราะตลอดระยะเวลาของการเปิดดำเนินกิจการในไทย
จนถึงปัจจุบันก้าวขึ้นสู่ปีที่ 9 แอมเวย์ (ประเทศไทย) มีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจมาโดยตลอดกล่าวคือจากปีแรกมียอดขายรวม
126 ล้านบาท พอก้าวขึ้นสู่ปีที่ 2 มียอดจำหน่ายรวมเพิ่มขึ้นเป็น 360 ล้านบาทคิดเป็นอัตราการเติบโตสูงถึง
185% และเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปีพร้อม ๆ กับผู้จำหน่ายแอมเวย์ที่ขณะนี้มีอยู่ถึง
94,000 ราย
จนกระทั่งปีที่ผ่านมาแอมเวย์ (ประเทศไทย) มียอดขายรวมเพิ่มขึ้นเป็น 3,150
ล้านบาท และเป็นปีที่แอมเวย์ (ประเทศไทย) สามารถขยับเบียดยอดขายของแอมเวย์
ออสเตรเลีย หนีจากอันดับ 3 ก้าวขึ้นมาแทนบริษัทสาขาที่ทำยอดขายสูงสุดเป็นอันดับ
2 ในย่านเอเชีย-แปซิฟิกรองจากไต้หวัน และทำให้แอมเวย์ ออสเตรเลียต้องตกมาอยู่อันดับ
3 แทน
"เราจะพยายามรักษาอันดับนี้ไว้และเดินแผนให้เราโตแบบมั่นคง เป็นการพัฒนาความพร้อมทั้งด้านโนว์ฮาว
และเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้เป็นเครื่องมือที่เสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำธุรกิจขายตรง"
ปรีชา ประกอบกิจ ผู้จัดการทั่วไปบริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัดกล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานในปีนี้
เขากล่าวว่าสำหรับแอมเวย์ (ประเทศไทย) ในช่วงที่ผ่านมาได้เตรียมความพร้อมในเรื่องนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้โดยในแต่ละปีมีการลงทุนทางด้านนี้ประมาณ
10-20 ล้านบาทอย่างต่อเนื่องนับรวมเงินลงทุนด้านนี้ไปประมาณกว่า 100 ล้านบาท
ซึ่งคาดว่าจะเริ่มนำมาใช้ในการสั่งซื้อสินค้าและเผยแพร่ข่าวสารให้กับผู้จำหน่ายของแอมเวย์ประมาณไตรมาส
2 ของปีนี้
"เป็นระบบที่บริษัทแม่ในอเมริกาเริ่มใช้ไปแล้ว และเราจะนำมาใช้ในการทำงานของเรา
ส่วนจะสมบูรณ์พร้อมคาดว่าในอีก 3-5 ปีข้างหน้าซึ่งจะต้องลงทุนถึง 500 ล้านบาท"
นอกเหนือจากการสร้างเสริมความพร้อมระบบภายในโดยการนำเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์มาช่วยงานแล้ว
ในส่วนของผลิตภัณฑ์ปีนี้ทางแอมเวย์ (ประเทศไทย) ยังมีแผนที่จะรุกขยายตลาดในส่วนของกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ทะนุถนอมความงาม
รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดถึงประมาณ 60%
"แม้ไทยจะถูกจัดให้เป็นตลาดดาวรุ่ง แต่เราก็ยังไม่มีนโยบายที่จะขยายบทบาทสู่ฐานการผลิต
เพราะเรามั่นใจว่าในอเมริกาเรามีโรงงานที่สามารถผลิตสินค้าได้ในราคาและคุณภาพที่คุ้มทุนกว่า
แต่ใน 15% ของยอดขายแอมเวย์ ประเทศไทยเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศ เรายินดีที่จะขยายเปอร์เซ็นต์ตรงนี้ให้สูงขึ้น
ถ้าเราสามารถร่วมมือกับผู้ผลิตบางรายที่ต้องการจะมาใช้ช่องทางจำหน่ายของแอมเวย์"
ด๊ค เดอโวส กล่าว
เขายังกล่าวอีกว่าแม้ไทยจะเป็นตลาดดาวรุ่งสำหรับแอมเวย์ แต่เขาไม่มีนโยบายที่จะนำกลยุทธ์ใหม่
ๆ อะไรเข้ามาเสริมเพราะที่ผ่านมาก็ไปได้ดีอยู่แล้ว ดังนั้นหัวใจสำคัญของการแข่งขันในปีนี้น่าจะอยู่ที่ผลิตภัณฑ์ใหม่
ๆ ที่จะนำเข้ามาซึ่งยังเปิดเผยไม่ได้ในขณะนี้ เพื่อป้องกันการแข่งขัน
เช่นเดียวกับแผนงานโดยรวมสำหรับย่านเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งประธานแอมเวย์ คอร์ปอเรชั่น
กล่าวว่าแม้จะเป็นย่านที่สร้างยอดขายให้กับแอมเวย์ถึงครึ่งหนึ่งของยอดขายรวมแต่ในปีนี้จะเป็นปีธรรมดาไม่มีอะไรพิเศษ
เหตุผลก็คือเนื่องจากบริษัทสาขาในย่านนี้มีผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อยู่แล้ว
ดังนั้นจุดที่จะสามารถขยายยอดขายของแอมเวย์ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นได้ ดิ๊ค
เดอโวสกล่าวว่าคงเป็นเรื่องของการเจาะหาตลาดใหม่ ๆ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญ
1 ใน 2 ประการที่ทำให้แอมเวย์มียอดขายเติบโตมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็คือ 1. รักษาตลาดเก่าที่มีอยู่
และ 2. เสาะหาตลาดใหม่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในย่านอเมริกาใต้ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่ทางแอมเวย์เพิ่งเข้าไปเปิดตัวได้ประมาณ
5 ปีเท่านั้นรวมถึงประเทศในฝั่งยุโรปตะวันออกด้วย
ดิ๊ค เดอโวส มีนโยบายชัดเจนในการที่จะรุกมองหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มยอดขาย
โดยชะล่าใจกับย่านเอเชียแปซิฟิก แต่ในทางตรงข้ามการรุกของเอวอนที่จะเข้ามาครอบงำตลาดในย่านนี้กลับดูจริงจังพร้อมกับการหนุนเทคโนโลยีด้านสื่อสาร
เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือเสริมสร้างประสิทธิภาพ จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตาว่าสำหรับย่านเอเชีย-แปซิฟิก
ซึ่งประธานแอมเวย์ คอร์ปอเรชั่นพอใจกับผลการดำเนินงานแล้วนั้น ในอนาคตจะเกิดกรณี
"ตาอยู่" ขึ้นหรือเปล่า!