|
ปริศนา"เทมาเส็ก"ซื้อหุ้น SHIN แพงจ่ายพรีเมี่ยมยอมขาดทุน3.7หมื่นล้าน
ผู้จัดการรายสัปดาห์(17 เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ปมปริศนาที่เทมาเส็กแห่งรัฐบาลสิงคโปร์ จ่ายให้ผู้ถือหุ้นใหญ่"ชินวัตร-ดามาพงศ์" ยอมขาดทุน ที่ซื้อหุ้นแพงกว่าความเป็นจริงมากกว่า 20% โบรกเกอร์ปรับเป้ารายได้หดทั้งจากสินค้าถูกต่อต้านและโปรโมชั่นสงครามราคา คนวงการหุ้นกังขาเหตุใดกองทุนสิงคโปร์ยอมขาดทุน
นับตั้งแต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ SHIN จำนวน 1,487.74 ล้านหุ้น คิดเป็น 49.59% เมื่อ 23 มกราคมที่ผ่านมาให้กับจากบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัทแอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ของรัฐบาลสิงคโปร์ ราคาที่เสนอซื้ออยู่ที่ 49.25 บาท โดยจ่ายเงินให้กับลูกชายและลูกสาวและญาติของนายกรัฐมนตรีของไทยในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่กว่า 7.3 หมื่นล้านบาท
การซื้อหุ้นในครั้งนั้นเป็นการซื้อกันในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีแม้แต่บาทเดียว ทั้ง ๆ ที่ความต้องการที่แท้จริงคือต้องการทำธุรกิจโทรศัพท์มือถือในนามบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ที่ชิน คอร์ป ถือหุ้นอยู่ 42.86% แต่ถ้าเทมาเส็กจะเข้ามาซื้อ ADVANC โดยตรงบริษัท SHIN จะต้องเสียภาษี ส่งผลให้สถานการณ์ลามกระทบจนเกิดการยุบสภาและการประกาศไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของทักษิณ ชินวัตร
ความเกี่ยวพันระหว่างหุ้นชิน คอร์ป บริษัทสื่อสารอันดับหนึ่งของประเทศไทยกับภาคการเมืองนั้น ยากที่จะแยกกันออกในทางพฤตินัย เนื่องจากทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ก่อตั้งกิจการในกลุ่มชิน คอร์ป และผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลในตระกูลและเครือญาติ
การขายหุ้นครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ แม้จะผ่านพ้นไปท่ามกลางข้อกังวลของประชาชนและภาคการเมือง ตัวแทนจากสิงคโปร์นามซีดาร์และแอสเพนที่มีคนไทยร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย ระบุว่าได้จ่ายเงินให้กับผู้ขายหุ้นไปเรียบร้อยแล้ว
ทุ่มเงินกว่า 1.4 แสนล้าน
นอกจาก 7.3 หมื่นล้านบาทที่จ่ายให้กับตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์แล้ว เทมาเส็กยังต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ SHIN ทั้งหมด โดยรับซื้อหุ้นอีกทั้งสิ้น 1,418.13 ล้านหุ้น ใช้เงินอีก 6.98 หมื่นล้านบาท และยังต้องรับซื้อใบสำคัญแสดงสิทธิในหุ้น SHIN อีก 159 ล้านหน่วย เบ็ดเสร็จการเข้าซื้อหุ้น SHIN ครั้งนี้ต้องใช้เม็ดเงินกว่า 1.47 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตามมติกรรมการบริษัท SHIN ได้มีมติจ่ายปันผลงวด 6 เดือนหลังของปี 2548 หุ้นละ 1.35 บาท โดย 2 บริษัทที่เข้าซื้อจะได้เงินปันผล 3.92 พันล้านบาท ขณะที่ครึ่งแรกของปี 2548 ตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ได้รับปันผลไปแล้ว 1.86 พันล้านบาท และถ้ากลุ่มเทมาเส็กใช้สิทธิแปลงใบสำคัญแสดงสิทธิเป็นหุ้นสามัญจะต้องใส่เงินอีก 3.26 พันล้านบาท และถ้าขายที่ราคา 36.50 บาทก็จะได้กำไรราว 2.55 พันล้านบาท หากเป็นเช่นนั้นเทมาเส็กก็จ่ายเงินเพียง 1.41 แสนล้านบาท
"ราคาที่เทมาเส็กซื้อถือว่าเป็นราคาที่แพงกว่าความเป็นจริงมาก ไม่ทราบเป็นเพราะเหตุใดทางเทมาเส็กจึงยอมจ่ายที่ราคาดังกล่าว ซึ่งกลุ่มทุนระดับโลกเช่นนี้จะต้องทราบว่าราคาที่แท้จริงควรเป็นราคาที่เท่าใด"แหล่งข่าวกล่าว
การซื้อบริษัทที่เป็นโฮลดิ้งส์จะต้องประเมินราคาจากบริษัทลูกตัวอื่น ๆ เข้ามาเพื่อให้ได้ราคาที่ถูกต้อง แต่งานนี้มีการตั้งราคาที่บวกพรีเมี่ยมไว้ค่อนข้างสูงกว่า 20% ทั้งที่เมื่อประเมินความเสี่ยงจากบริษัทลูกแล้วผู้ซื้อควรจะต้องตั้งราคาซื้อแบบมีส่วนลดจากมูลค่าที่แท้จริง สุดท้ายราคาก็ต้องกลับเข้ามาสู่สภาพความเป็นจริง แต่อาจจะเร็วกว่าที่ควรเนื่องจากมีสถานการณ์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก
หากนับจากราคาที่รับซื้อที่ 49.25 บาท กับหุ้นที่ทำซื้อตรงและหุ้นในส่วนที่ทำคำเสนอซื้อ 2.9 พันล้านหุ้น เทียบกับราคาที่ 36.50 บาท เท่ากับเทมาเส็กขาดทุนไปแล้ว 3.7 หมื่นล้านบาทหรือราว 26%
บอยคอตได้ผล
เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ของชิน คอร์ปอย่างเทมาเส็ก อาจต้องได้รับความเจ็บปวดอีกจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบริษัทลูกไม่ว่าจะเป็น ADVANC หรือ ไอทีวี ที่คำสั่งศาลจะเป็นตัวชี้ว่ามูลค่าของ ITV จะลดลงแค่ไหน หลังจากที่ผ่านมาได้ยึดคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการที่กำหนดให้สถานีข่าวแห่งนี้เปลี่ยนสัดส่วนการนำเสนอข่าว 70% เหลือแค่ 50% และค่าสัมปทานที่ต้องจ่ายให้รัฐ 1,000 ล้านบาท ตามสัญญาสัมปทานเหลือเพียง 230 ล้านบาท
กรณีของ ADVANC ซึ่งเทมาเส็กต้องการมากที่สุดนั้นขณะนี้ได้รับผลกระทบจากกระแสการต่อต้านสินค้าจากสิงคโปร์ ด้วยการยกเลิกใช้ซิมการ์ดของเอไอเอส แล้วเปลี่ยนไปใช้บริการของเจ้าอื่นแทน แม้เครือข่ายของเอไอเอสจะครบคลุมและให้สัญญาณชัดเจนทั่วประเทศ เหนือกว่าผู้ให้บริการรายอื่น แต่จากตัวเลขลูกค้าเพิ่มสุทธิของบริษัทลดลงอย่างมากจาก 103,700 เลขหมายเมื่อเดือนมกราคม เหลือเพียง 33,600 หมายเลขในเดือนกุมภาพันธ์ หรือลูกค้าใหม่หดหายไปราว 68% โดยลูกค้าโพสเพดลดลง 25,800 หมายเลข ส่วนลูกค้าพรีเพดเพิ่มขึ้น 59,400 หมายเลขเท่านั้น
ลดเป้ารายได้
คาดว่าเดือนมีนาคมและเมษายนลูกค้าใหม่ของ ADVANC คงจะลดลงไปอีก เนื่องจากเป็นช่วงที่บรรยากาศทางการเมืองเข้มข้นที่สุดและมีการรณรงค์กันอย่างจริงจัง เชื่อว่าโบรกเกอร์หลายแห่งได้มีการลดประมาณการรายได้ของบริษัทลง ทั้งจากปัจจัยการบอยคอตสินค้าของเอไอเอสและตัวโปรโมชั่นใหม่ที่เพิ่งออกมาทั้งระบบพรีเพดและโพสเพด นาทีแรก 3 บาท นาทีที่ 2-3 คิดนาทีละ 1 บาท และตั้งแต่นาทีที่ 4 โทรฟรี ถือเป็นการทำสงครามราคาของ ADVANC อย่างเต็มตัว โปรโมชั่นดังกล่าวย่อมทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหมายเลขลดลง
ทั้งนี้คงต้องหวังพึ่งยอดลูกค้าใหม่ที่จะเข้ามา จะต้องมากเพียงพอที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับตัวบริษัท ซึ่งถือไม่ใช่เรื่องง่ายนักจากกระแสการต่อต้านสินค้าของเอไอเอสในเวลานี้
ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ ADVANC หลังจากการถือหุ้นใหญ่ใน SHIN เชื่อว่าผู้ที่เข้ามาซื้อน่าจะทราบดีทั้งในเรื่องราคาและตัวบริษัทที่ถูกมองว่าเชื่อมโยงกับการเมือง ไม่มีใครรู้ว่าการจ่ายแพงของเทมาเส็กนั้นคุ้มค่าในนามของกองทุนที่เป็นภาคเอกชนหรือไม่ แต่ที่ผ่านมาภาครัฐบาลสิงคโปร์ก็ได้รับสิทธิประโยชน์จากประเทศไทยไปไม่น้อยเช่นกัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|