ทรู ติดเครื่องให้ ยูบีซี หันเจาะตลาดล่างกินรวบธุรกิจเคเบิ้ลทีวี


ผู้จัดการรายสัปดาห์(17 เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

หักเข็มเบนนโยบายยูบีซี หลัง ทรู เข้าควบ เน้นให้ความสำคัญรากหญ้ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายทำรายได้เข้าองค์กรมากขึ้น ผุดบอนซ์แพกเกจ 340 บาท/เดือนโกยลูกค้าตลาดล่าง จากแต่เดิมที่มีนโยบายชัดไม่ลงไปเล่นตลาดนี้ด้วยตัวเอง เหตุกลัวเสียความเป็นแบรนด์พรีเมี่ยม วันนี้เปลี่ยนโพซิชั่นนิ่งติดดาบลุยใช้จุดแข็งความเป็นยักษ์ใหญ่ได้เปรียบสารพัดประการผลิตคอนเทนต์เอื้ออาทรพากย์ไทยสู้เคเบิ้ลท้องถิ่นทั่วประเทศ หวังขยายรายได้และส่วนแบ่งตลาดประกบคู่ทั้งบน-ล่าง

การเปิดตัว บรอนซ์ แพกเกจ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดของ ยูบีซี ทรู ถือเป็นการต่อยอดสายผลิตภัณฑ์ให้สมบูรณ์ครบวงจรมากขึ้น จากก่อนหน้านี้มีอยู่เพียง 3 แพกเกจคือ แพลตตินั่ม แพกเกจ 72 ช่องรายการ ราคา 2,000 บาทต่อเดือน, โกล์ด แพกเกจ 63 ช่อง ราคา 1,419 บาทต่อเดือน และ ซิลเวอร์ แพกเกจ 52 ช่อง ราคา 750 บาทต่อเดือน โดยมีสัดส่วนจำนวนลูกค้าเป็น 3%,91% และ 6% ตามลำดับ ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นการเน้นไปยังลูกค้าระดับบนเป็นหลัก

ในขณะที่ลูกค้าระดับรากหญ้าปีที่แล้ว ยูบีซี ก็เคยลงไปชิมลางมาแล้วโดยลงไปผ่านการจัดจำหน่ายของ อาร์.เอ็น.ที เทเลวิชั่น ซึ่งเป็นผู้ขายคอนเทนต์ให้ผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่นอีกทอดหนึ่ง ในรูปแบบแพกเกจแบบประหยัด 13 ช่องโดยเรียกเก็บจากผู้ประกอบการฯ 150 บาทต่อเดือนต่อจำนวนสมาชิก 1 ราย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จต้องเลิกแพกเกจนี้ไปที่สุดเนื่องจากได้รับความสนใจไม่มากพอ เพราะมีผู้ประกอบการฯหลายรายไม่เห็นด้วยกับนโยบายการบริหารงานของอาร์.เอ็นที.เป็นพื้นเดิมอยู่ก่อนแล้ว

เหตุผลที่ต้องให้อาร์.เอ็น.ที.ลงไปทำตลาดล่างเพราะแนวคิดของผู้บริหาร ยูบีซี ในช่วงนั้นมองว่าหาก ยูบีซี ลงไปเองก็อาจจะสูญเสียภาพลักษณ์ความเป็นแบรนด์พรีเมี่ยมได้

โดย องอาจ ประภากมล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการขายของ ยูบีซี เคยกล่าวยืนยันไว้ว่า " เราจะเน้นไปในการพัฒนาคอนเทนต์ให้เป็นที่น่าสนใจของผู้ชมมากกว่าการที่จะลงไปเล่นในเรื่องราคา" เห็นได้จากอดีตที่ผ่านมาของ ยูบีซี ไม่เคยเลยที่จะมีการลดค่าบริการรายเดือน มีแต่ที่จะขอขึ้นค่าบริการโดยตลอดโดยอ้างว่ารายการที่ซื้อมาจากต่างประเทศมีราคาสูงขึ้นประกอบกับยังมีผลประกอบการขาดทุนสะสม

แต่วันนี้สภาพการณ์เปลี่ยนไปเมื่อ ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ยูบีซี เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาและได้เปลี่ยนชื่อเป็น ยูบีซี ทรู แนวนโยบายของบริษัทจึงมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย มุ่งสู่ทิศทางการขยายตลาดในวงกว้างให้เป็นที่แพร่หลาย รวมถึงเจาะไปยังลูกค้ากลุ่มรากหญ้าซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศให้มากขึ้นด้วย นำโดยกลยุทธ์ราคาดังเช่นที่ ทรูมูฟ (ออเร้นจ์เดิม) หรือ โทรศัพท์พื้นฐาน พีซีที ได้ทำมาแล้ว และวันนี้ ยูบีซี ทรู ก็ได้ลงไปจับตลาดนี้ด้วยตัวเอง

นอกจากนั้นการมีจำนวนสมาชิกมากขึ้นยังจะช่วยให้เกิดการประหยัดต่อขนาด ทำให้ต้นทุนคงที่มีค่าเฉลี่ยต่อหน่วยที่ถูกลงได้ รวมถึงด้วยความที่เป็นหนึ่งในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การขยายฐานลูกค้าจึงเป็นสิ่งสำคัญหนึ่งที่จะนำไปสู่การสร้างความมั่นคงและการขยายยอดการเติบโตของรายได้อีกด้วย เพื่อความมีเสถียรภาพของราคาหุ้น

บรอนซ์ แพ็กเกจ นี้มีทั้งหมด 42 ช่องรายการ แยกเป็น ฟรีทีวีไทยและเทศ รวมถึงโทรทัศน์เพื่อการศึกษา 32ช่องซึ่งหากติดจานดาวเทียมทั่วไปก็สามารถรับชมได้เช่นกัน แต่ที่เพิ่มขึ้นให้เหนือกว่า คือช่องของยูบีซีเอง 10 ช่องซึ่งรายการส่วนใหญ่ก็จะมีการให้เสียงภาษาไทยสอดคล้องความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักที่เป็นรากหญ้า อาทิ UBC Series, UBC Spark สำหรับรายการในส่วนนี้ยูบีซีจะเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์เองหรือไม่ก็จะใช้วิธีซื้อลิขสิทธ์มาทีละเรื่องเพื่อนำมาผสมและเสนอเป็นช่องของตัวเอง ต่างจากแพกเกจอื่นๆที่ยูบีซีจะต้องจ่ายลิขสิทธิ์ให้เจ้าของเป็นรายช่องอาทิ เอชบีโอ, สตาร์สปอร์ต, ฮอล์มารค์, ดิสคอฟเวอร์รี่ ฯลฯ

แพกเกจนี้จึงถือได้ว่าเป็นคู่แข่งโดยตรงของเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่นที่ได้รับนิยมแพร่หลายกระจายอยู่ทั่วประเทศซึ่งส่วนใหญ่จะซื้อช่องรายการมาจากผู้ประกอบการหลัก 2 รายคือ NBT (National Broadcasting Television) ของกรมประชาสัมพันธ์ หรือ PSN (P Southern)ผู้ซื้อลิขสิทธ์รายการจากต่างประเทศมาจำหน่ายในประเทศไทย และนำมาขายต่ออีกทอดหนึ่งให้กับสมาชิกในราคา 300-500 บาทต่อเดือนโดยช่องลักษณะนี้ได้รับความนิยมแพร่หลายในผู้อาศัยอยู่ในเขตเมืองทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด

แต่สำหรับบรอนซ์ แพ็กเกจ ราคา 340 บาทของ ยูบีซี มีข้อได้เปรียบกว่าตรงที่สามารถส่งสัญญาณภาพได้ทั้งในระบบจานดาวเทียมและสายเคเบิ้ลจึงทำให้ไม่มีขอบเขตที่จำกัดในการเข้าถึงและขยายกลุ่มลูกค้าไปทั่วประเทศ ต่างกับผู้ประกอบการเคเบิ้ลท้องถิ่นที่ใช้วิธีพาดสายเคเบิ้ลไปตามเสาไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวทำให้ไม่สามารถขยายพื้นที่ให้บริการออกไปได้มากนักเสมือนการถูกคุมกำเนิดโดยบรรยาย

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม ยูบีซี บอกว่า "หากแพกเกจนี้มีสมาชิกถึง 2 แสนรายก็จะถึงจุดคุ้มทุนของโครงการซึ่งลงทุนไปราว 250-500 ล้านบาท จากการเปิดช่องรายการใหม่ และนี่ถือว่าเป็นก้าวแรกของการเปิดมิติใหม่ทางการตลาดของ ยูบีซี ซึ่งต่อไปเราจะพัฒนาดีขึ้นกว่านี้อีก อาทิ จะมีการเพิ่มรายการเข้าไปในแพกเกจนี้อีก 2 ช่องภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

วันนี้ยักษ์ใหญ่ในวงการเคเบิ้ลทีวีผู้ครองส่วนแบ่งถึงเกือบ 1 ใ น 3 ของตลาดรวมได้ลุกขึ้นมาปรับโพสิชั่นนิ่งการทำตลาดกับกลุ่มรากหญ้าและก้าวเข้ามาทำตลาดระดับล่างแข่งกับผู้ประกอบการเคเบิ้ลท้องถิ่นรายย่อยแล้ว

ด้วยความแข็งแกร่งจากทั้งด้านชื่อเสียง, โนฮาวการตลาด และสายป่านเงินทุนที่เหนือกว่าของ ยูบีซี ภายใต้นโยบายการบริหารงานของบิ๊กบอสใหม่ทายาทรุ่นที่ 3 ศุภชัย เจียรวนนท์ กำลังจะนำมาซึ่งการสมรถูมิการแข่งขันที่ดุเดือดกับผู้ประกอบการเคเบิ้ลท้องถิ่นผู้ครองส่วนแบ่งตลาดเดิมส่วนใหญ่อยู่ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน สิ่งนี้เองจะส่งผลให้ตลาดเคเบิ้ลทีวีที่มีลูกค้ารวมกว่า 1.5 ล้านรายทั่วประเทศ ซึ่งเติบโตอยู่ในระดับค่อยเป็นค่อยไป ได้กลับมามีความคึกคักและร้อนแรงอีกครั้งหนึ่ง

หากมองไปในระยะยาวภายใต้ภาวะการณ์, นัยยะและเงื่อนไขที่ปรากฏในปัจจุบันแล้ว ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้ว่ายุคต่อไปของตลาดเคเบิ้ลทีวีรากหญ้าซึ่งเป็นกลุ่มที่ครองส่วนแบ่งสูงสุดและมีผู้ประกอบการหลายรายแข่งขันกันหลายรายจะมีการนำเอาสงครามราคามาใช้กันเพื่อแย่งชิงฐานสมาชิกให้ได้มากที่สุด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.