ประวัติศาสตร์ของ "แพ็คลิงค์" วิทยุติดตามตัวรายแรกของไทยกำลังเปลี่ยนหน้าฉากใหม่อีกครั้ง
เมื่อแอร์ทัชอินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทแม่ประกาศขายกิจการทั้งหมดให้กับเทเลคอมเวนจอร์ที่มีบริษัทเมทริกซ์
เทเลคอม เอเชีย (MTAL) จากออสเตรเลียเป็นแกนนำ
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับแพ็คลิ้งค์ในครั้งนี้มีนัย ที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงสภาพของธุรกิจวิทยุติดตามตัวที่เกิดขึ้นในหลายแง่มุม
สุพจน์ กริชพิพรรธ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเปอร์คอม เซอร์วิส จำกัด เล่าถึงสาเหตุของการขายกิจการว่า
แอร์ทัชได้ปรับกลยุทธการลงทุนในต่างประเทศใหม่ โดยต้องการมุ่งเน้นที่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก
ประเทศไหนที่ไม่มีธุรกิจโทรศัพท์มือถือมีแต่วิทยุติดตามตัวอย่างเดียว แอร์ทัชจะขายกิจการทิ้ง
คือ ไทย และฝรั่งเศส จะมีเพียงสเปน โปรตุเกส สองประเทศที่แอร์ทัชยังทำธุรกิจเพจเจอร์
เนื่องจากมีธุรกิจโทรศัพท์มือถือที่ทำควบคู่อยู่ด้วย
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเมื่อเปรียบเทียบระหว่างสองธุรกิจแล้ว โทรศัพท์มือถือจะคุ้มค่าในการลงทุนมากกว่าวิทยุติดตามตัวที่ต้องใช้ทั้งคน
และเงินทุนไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันแต่กลับทำรายได้น้อยกว่า
"ขนาดของธุรกิจมันแตกต่างกัน อย่างธุรกิจเพจเจอร์มีพนักงาน 800 คน
จะเป็นโอปะเรเตอร์ 600 คนไปแล้ว ในสหรัฐเขาไม่เป็นเช่นนี้ เมื่อต้นทุนสูงพอ
ๆ กันแต่ทำรายได้น้อยกว่าเขาก็ต้องเลือก"
สุพจน์ เล่าว่าก่อนหน้านี้แอร์ทัชพยายามมองหาลู่ทางลงทุนทำธุรกิจให้บริการโทรศัพท์มือถือในไทยมานานแล้ว
แต่จนแล้วจนรอดโอกาสก็ยังไม่มี แม้ว่าล่าสุดจะมีแผนแม่บทเปิดเสรีกิจการสื่อสารเกิดขึ้น
แต่ก็ยังต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี แอร์ทัชจึงตัดสินใจถอนการลงทุนออกไปเช่นเดียวกับในฝรั่งเศสที่โอกาสน้อยมาก
แม้จะมีการะแสข่าวการขายกิจการของแพ็คลิ้งค์มาโดยตลอด แต่สุพจน์ยังยืนยันว่า
การขายกิจการของแอร์ทัชในครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้น เพราะปัญหาเรื่องผลประกอบการเพราะหลังจากรัฐบาลประกาศลดราคาค่าบริการลงมา
แพ็คลิงค์ก็สามารถทำยอดขายได้เกินเป้าถึง 40%
การขายกิจการในครั้งนี้ แอร์ทัชจะขายทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน และพนักงานตลอดจนชื่อของแพ็คลิ้งค์
ซึ่งเท่ากับว่านับจากนี้บริษัทแอร์ทัช เอ็นจิเนียริ่ง ซึ่งเหลืออายุสัมปทานถึงปลายปีนี้
และเปอร์คอมเซอร์วิส ซึ่งยังเหลืออายุสัมปทานอีก 10 ปีจะตกไปอยู่ในมือของเมททริกซ์ทั้งหมด
ในส่วนของเมททริกซ์นั้นเชี่ยวชาญธุรกิจวิทยุติดตามตัวมานาน มีการลงทุนในแถบเอเซียแปซิฟิก
5 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไทย ซึ่งเมททริกซ์ได้ลงทุนร่วมกับกลุ่มเลนโซ่
ผู้รับสัมปทานวิทยุติดตามตัว "อีซีคอล" ที่เคยออกโปรโมชั่นลดถล่มทลายด้วยการขายเครื่องราคาบาทเดียวมาแล้ว
แม้จะยังไม่มีการระบุชัดว่า เมททริกซ์จะเปิดทางให้นักลงทุนชาวไทยรายใดเข้ามาร่วมถือหุ้น
แต่ก็มีกระแสข่าวลือหนาหูว่า อาจเป็นกลุ่มเทเลคอมเอเชีย คอร์ปอเรชั่น หรือ
ทีเอ เจ้าของสัมปทานโทรศัพท์ 2.6 ล้านเลขหมาย แม้ว่าก่อนหน้านี้ทีเอจะลงทุนร่วมกับกลุ่มยูคอม
และบีกริม รับสัมปทานวิทยุติดตามตัว ภายใต้ชื่อเวิลด์เพจจากองค์การโทรศัพท์อยู่แล้วก็ตาม
แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ และบีกริมขายหุ้นคืนให้กับยูคอมไปแล้ว ส่วนทีเอยังไม่ได้รับการยืนยันว่าขายหมดหรือไม่
แต่ที่แน่ ๆ การซื้อกิจการในครั้งนี้เท่ากับเป็นการขยายบทบาทการลงทุนของเมททริกซ์ในไทย
และอาจส่งผลกระทบต่อตลาดเพจเจอร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะนับจากนี้เมททริกซ์จะกลายเป็นเจ้าของวิทยุติดตามตัว
2 บริษัท 2 สัมปทาน มีลูกค้าในมือรวมกันเกือบ 3 แสนราย กลายเป็นอันดับหนึ่งในตลาดไปโดยปริยาย
ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ทั้งแพ็คลิ้งค์ และอีซีคอลเองยังไม่เคยแซงหน้าโฟนลิงค์ขึ้นมาเป็นอันดับ
1 ในตลาดได้มาก่อน
แน่นอนว่า คู่แข่งในตลาดอาจต้องรับมือ การแข่งขันที่มีอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว
คงต้องเข้มข้นขึ้นเป็นระลอก และอาจพลิกโฉมหน้าไปอย่างคาดไม่ถึง
สุพจน์ ให้ทัศนะว่า การที่แพ็คลิ้งค์ตกมาอยู่ในมือของเมททริกซ์มีข้อดีในแง่ที่ว่า
เมททริกซ์นั้นเชี่ยวชาญในธุรกิจเพจเจอร์มานาน โดยเฉพาะการให้บริการผ่านโอปะเรเตอร์
หรือรุ่นตัวอักษร ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้กับแพ็คลิ้งค์ได้ในหลาย ๆ ส่วน ในขณะที่แอร์ทัชแม้จะมีลูกค้าในสหรัฐถึง
2 ล้านเครื่อง แต่ก็เป็นรุ่นตัวจะให้บริการรุ่นตัวเลขทั้งสิ้น
นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์ในเรื่องอำนาจต่อรองในการสั่งซื้อเครื่องลูกข่าย
เพราะทั้งแพ็คลิ้งค์ และอีซีคอลต้องสั่งซื้อเครื่องในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก
ๆ อยู่แล้ว หากสั่งซื้อพร้อมกันจะมีต้นทุนที่ถูกกว่า
ส่วนการร่วมมือทางธุรกิจระหว่างแพ็คลิงค์และอีซีคอลจะออกมาในรูปแบบใดนั้น
สุพจน์บอกแต่เพียงว่าต้องรอนโยบายจากทางเมททริกซ์ก่อนซึ่งทางแอร์ทัชจะส่งมอบกิจการให้กับเมททริกซ์ในวันที่
15 พฤษภาคม สำหรับตัวสุพจน์ ซึ่งร่วมงานกับแพ็คลิงค์มาไม่ต่ำกว่า 4 ปี เจ้าตัวบอกแต่เพียงว่ายังไม่ตัดสินใจอะไร
"ในช่วงนั้นยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทั้งแพ็คลิ้งค์และอีซีคอลยังคงบริหารงานแยกกันอย่างอิสระ
แต่จะร่วมมือกันอย่างไรนั้นคงต้องรอดูนโยบายอีกครั้ง"
เช่นเดียวกับทางอีซีคอล ที่ยังไม่ได้ยืนยันว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง หรือร่วมมือกันอย่างไร
แต่เชื่อว่าจะออกมาในทางที่ดี เพราะเป็นแนวโน้มของธุรกิจด้านนี้ที่จะต้องมีการรวมกัน
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับแพ็คลิ้งค์ ก่อนหน้านี้แพ็คลิ้งค์ต้องเผชิญกับมรสุมครั้งแล้วครั้งเล่า
เริ่มตั้งแต่ผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง ดร. ทักษิณ ชินวัตร ได้หันมาเป็นคู่แข่งเปิดให้บริหารโฟนลิงค์
ซึ่งมีข้อได้เปรียบกว่าทุกด้าน โดยเฉพาะเลขหมายติดต่อ 3 หลัก จนทำให้ผู้บริหารระดับสูงอย่าง
ดร. วรศักดิ์ วรภมร ซึ่งร่วมก่อตั้งบริษัทมาต้องเปิดหมวกอำลา รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของบริษัทแม่
ที่เกิดขึ้นมาเป็นระลอก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงจากบริษัทแม่ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่
3 ปีที่แล้ว กระทั่งล่าสุดการขายกิจการ
ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของแพ็คลิงค์กำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว