ubc low cost version เดินมาถูกทางแล้ว


ผู้จัดการรายสัปดาห์(17 เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจากที่กลุ่มทรู ได้ซื้อหุ้นของยูบีซีคืนจากกลุ่ม MIH ของแอฟริกาใต้เมื่อปลายปี 48 ที่ผ่านมา จนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่โดยเบ็ดเสร็จ ก็ยังไม่ได้มีความเคลื่อนไหวใด ๆ ในเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญออกมา

ล่าสุด "ทรูยูบีซี" (ชื่อใหม่ของยูบีซี ซึ่งสังเกตว่าจะใช้แบรนด์หลักชื่อเดียวคือ "ทรู" และใช้ "ยูบีซี" เป็นซับแบรนด์สำหรับธุรกิจเคเบิ้ลทีวี) ได้ทำในสิ่งที่ผมเคยคาดเดาเอาไว้ นั่นคือการออกยูบีซีเวอร์ชั่น "โลว์คอสต์"

"ภาพรวมสถานการณ์ตลาดเคเบิ้ลทีวีมีการแข่งขันสูง และมีอัตราการเติบโตที่ถดถอย หรือเติบโตประมาณปีละ 10% เศษ จากเมื่อ 2-3 ปีก่อนหน้านี้การเติบโตตลาดรวมจะมากกว่านี้

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจที่ค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ต้องลดรายจ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นออก ประกอบกับราคาค่าสมาชิกเคเบิ้ลทีวียังไม่เหมาะกับคนไทยในกลุ่มระดับกลางลงมา ซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศ"

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม บมจ. ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น หรือ ยูบีซี ฉายภาพกว้าง ๆ ให้เห็น หรือนั่นคือ "ราคา" ยังเป็นอุปสรรคของการเติบโต ซึ่ง "เคเบิ้ลท้องถิ่น" พยายามจะทลายกำแพงนี้

นี่ยังไม่นับความพยายามจะนำเสนอสินค้าคล้าย ๆ กับเคเบิ้ลทีวีอย่าง "ทีวีดาวเทียม" ของค่ายสามารถ (ที่จ่ายค่าอุปกรณ์เสร็จแล้วก็ไม่จำเป็นต้องเสียค่าบริการรายเดือนอย่างเคเบิ้ลทีวี)

เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้าและกระตุ้นให้ตลาดเคเบิ้ลทีวียังเติบต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ยูบีซีจึงออกแพกเกจใหม่ "True Knowledge (Bronze) Package" อัตราค่าบริการเพียงเดือนละ 340 บาท จับเป้าหมาย "ตลาดกลุ่มระดับรากหญ้า"

... กลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่า 20,000 บาท ต่อเดือน แบ่งเป็นตลาดต่างจังหวัด 60% และ ตลาดกรุงเทพ 40%

แพกเกจราคาประหยัดนี้สามารถเลือกชมได้ 42 ช่องรายการ เน้นรายการที่เป็นสาระความรู้ แก่เยาวชน และ ครอบครัว ตั้งเป้าปีแรกจะมีผู้สนใจเข้ามาเป็นสมาชิกในแพกเกจนี้ไม่น้อยกว่า 200,000 ราย

นอกจากนี้ ยูบีซียังได้เปิดตัวอีก 5 ช่องใหม่ โดยได้ลงทุนในเรื่องของระบบและการจัดทำเนื้อหารายการบางส่วนอีกเกือบ 500 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยเปิดตัวจากนี้ไปจนถึงไตรมาส 3 ของปีนี้ เริ่มที่ช่อง UBC Explore 1 (ช่อง 61) เป็นรายการสารคดีจากทุกมุมโลก , ช่อง UBC Movie Hits (ช่อง 53) เสนอภาพยนตร์ทำเงินจากต่างประเทศทั่วโลก และ ช่อง UBC Music Channel (ช่อง 34) เป็นช่องเพลงไทย และเพลงพื้นบ้านของแต่ละภาคของประเทศไทย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ส่วนในไตรมาสสามจะเปิดตัวช่อง UBC Explore 2 และ 3 ซึ่งเป็นรายการเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เทคโลโลยี และประวัติศาสตร์

"เราตั้งความหวังให้ ยูบีซี และ แพกเกจใหม่นี้เป็นศูนย์รวมแห่งความรู้ ให้เข้าถึงคนไทยในทุกเซกเมนต์ นอกจากนั้นในอนาคตจะพิจารณาเปิดช่องรายการใหม่ๆเพิ่มเติมอีกอย่างต่อเนื่อง" ซีอีโอทรูยูบีซีเผย

หลังแพ็คเกจนี้ออกไป ยูบีซีหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน "โครงสร้างลูกค้า" โดยขยายฐานในกลุ่มรากหญ้าให้มีสัดส่วนใหญ่ขึ้น และดึงลูกค้าเก่าที่เคยเอาใจออกห่างให้กลับเข้ามาเป็นลูกค้าอีกครั้งหนึ่ง

"สมาชิกเดิมสามารถเปลี่ยนมาใช้แพกเกจนี้ได้ แต่ด้วยการดีไซน์แพกเกจมองว่า ลูกค้าเก่าจะเปลี่ยนมาใช้แพกเกจใหม่น้อยมาก เพราะเราได้ศึกษาข้อมูลและพฤติกรรมของลูกค้าแต่ละกลุ่มเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันมองว่า แพกเกจใหม่นี้ จะช่วยดึงลูกค้าเก่าที่เคยใช้บริการแพกเกจ โกลล์ แล้วบอกยกเลิกไปแล้ว ให้กลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้ง"

ปัจจุบันสมาชิกยูบีซี แพกเกจโกลด์ มีส่วนแบ่งสูงสุดที่ 90% (โดยมีอัตราค่าสมาชิกต่อเดือนที่ 1,412.97 บาท) อันดับ 2 คือ ซิลเวอร์ มีส่วนแบ่ง 7% (ค่าสมาชิกเดือนละ 750 บาท) และ แพกเกจแพลททินั่ม มีส่วนแบ่ง 3% (ราคาสมาชิกเดือนละ 2,000 บาท)

"หลังจากแพกเกจนี้ออกไป คาดว่าสัดส่วนดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลง โดยแพกเกจใหม่จะมีส่วนแบ่งที่ 40% ในปีหน้า รองมาคือโกลด์ โดยสัดส่วนจะลดหลั่นกันลงไปตามสัดส่วน แต่จะได้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น" ศุภชัยกล่าว

เหตุผลที่แท้จริงในการออกแพกเกจนี้คืออะไร? ทรูยูบีซีจะขยายฐานลูกค้าได้สำเร็จไหม? และคู่แข่งรายอื่น ๆในตลาด (อย่างเช่นเคเบิ้ลท้องถิ่น หรือจานดาวเทียม ฯลฯ) จะปรับตัวอย่างไร?

บทวิเคราะห์

ยูบีซีตกอยู่ในสถานภาพเดียวกันกับผู้นำตลาด(Market Leader) อื่นๆ นั่นคือไม่สามารถขึ้นราคาตามอำเภอใจได้อีกต่อไปแล้ว หลังการควบรวมกิจการยูบีซีก้าวขึ้นเป็นเจ้าตลาดอย่างไม่มีใครแข่งเพราะหลังจากนั้นไทยสกายทีวีก็ลาจากยุทธจักรเป็นการถาวร

อย่างไรก็ตามต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆจากค่าเงินบาทที่ลดลงเกือบ 70% ทำให้ยูบีซีจำเป็นต้องเพิ่มค่าสมาชิกหลายครั้ง ขณะที่ภาวะการขาดทุนสะสมพอกพูนขึ้นเรื่อยๆแม้ปัจจุบันจะไม่ขาดทุนแล้วแต่การขาดทุนสะสมก็ยังคงอยู่

ยูบีซีจำต้องใช้การ Bundle สินค้าเพื่อเพิ่มสมาชิกใหม่อยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันหนทางรอดทางเดียวเท่านั้นก็คือการอนุมัติให้มีโฆษณาซึ่งจนแล้วจนรอดรัฐบาลก็ยังไม่อนุมัติเพราะจะเป็นโยงใยไปสู่กรณีอื่นๆ

ปัญหาการขาดทุนสะสมของยูบีซีเกิดจากอะไรไม่ทราบแน่ชัด แต่ไม่น่าจะเกิดจากค่าเงินบาทที่ตกลงทำให้ค่าซื้อสิทธิ์แพงขึ้นไปทุกวันเป็นแน่

ปัญหาของยูบีซีเกิดจากการจัดการอย่างไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ทำตัวราวกับเป็นธุรกิจผูกขาดเช่นไฟฟ้าน้ำประปา แต่สองอย่างนั้นทุกคนต้องใช้ แต่กับยูบีซีแล้วไม่ใช่ หากผู้ใช้บริการเห็นว่ายูบีซีขึ้นราคามากจนเกินไปเกินกว่าที่ตนเองจะรับไว้ได้ ก็ต้องเริ่มหันมาถามตัวเองว่าจำเป็นต้องดูยูบีซีไหม ถ้าไม่จะมีอะไรมาทดแทนหรือเปล่า

คำตอบก็คือมี นั่นคือเคเบิ้ลท้องถิ่นที่ครอบครองส่วนแบ่งตลาดในต่างจังหวัดถึงสองล้านครัวเรือน และมีแนวโน้มจะเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ

ในช่วงวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา กลุ่มเคเบิ้ลต่างจังหวัดก็ถ่ายทอดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรและการชุมนุมไล่นายกฯทักษิณ ซึ่งหาดูไม่ได้ในยูบีซี

ก่อนหน้านั้นยูบีซีจับลูกค้ากลุ่มเอและบีบวก ขณะที่เคเบิ้ลท้องถิ่นจับลูกค้าตั้งแต่ซีบวกลงไป เพราะคุณภาพภาพและคุณภาพของรายการย่อมเทียบกันไม่ได้แม้ว่าจำนวนช่องอาจจะมากกว่า

แม้จะมีเคเบิ้ลเถื่อนในกทม.เกิดมานานแล้วและส่งผลกระทบต่อยูบีซีพอสมควรแต่ความคลุมเครือว่าเคเบิ้ลกทม.เถื่อนกลายเป็นเคเบิ้ลถูกกฎหมายแล้วหรือยังย่อมเป็นอุปสรรคต่อการทำตลาดของยูบีซีในกทม.มากขึ้นเพราะอย่างน้อยยูบีซีก็ไม่ได้ผูกขาดในกทม.อีกต่อไป
การรุกของเคเบิ้ลเถื่อนในกทม.ที่ตั้งราคาเพียง 300 กว่าบาทนี้เองที่ทำให้ยูบีซีไม่สามารถเพิ่มสมาชิกได้

เพราะสมาชิกระดับบนกว่า 400,000 รายนั้นอยู่ในภาวะอิ่มตัวแล้ว เช่นเดียวกับมือถือ ซึ่งก็หมายความว่าคนที่มีก็มีไปหมดไปแล้ว ส่วนคนที่ไม่ทีก็ไม่ติด เพราะมีราคาแพงเกินไป

ดังนั้นยูบีซีจึงต้องหันมามองตลาดรากหญ้า ซึ่งยังมีความต้องการอีกมากและมีกำลังซื้อหากยูบีซีตั้งราคาให้สามารถแข่งขันได้กับเคเบิ้ลท้องถิ่น

การทำ Low-Cost เวอร์ชั่นครั้งนี้เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องครั้งสำคัญสำหรับยูบีซี เพราะตลาดรากหญ้าหรือ C+ ลงไปนั้นเป็นตลาดที่ใหญ่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับเคเบิ้ลท้องถิ่นแล้ว ราคา 340 บาทต่อเดือน 42 ช่อง(โดยไม่มีฟุตบอล) สามารถต่อกรได้อย่างแน่นอน เพราะคุณภาพยูบีซีเหนือกว่ามากและยังสามารถสร้างช่องใหม่ๆของตนเองด้วยต้นทุนที่ไม่แพง หรือการร่วมผลิตกับผู้ผลิตหน้าใหม่ๆที่สามารถเพิ่มช่องได้ตลอดเวลา

ยูบีซีจึงเดินมาถูกทางแล้ว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.