|
เผยสูตรต่อยอดธุรกิจตระกูลข้อมูล...ที่ทายาทต้องอ่าน!
ผู้จัดการรายสัปดาห์(17 เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
- เรียนรู้ ประสบการณ์ สานต่อธุรกิจตระกูลไปพร้อมๆ กับ "แคทลียา ท้วมประถม"
- ด้วยหลักคิดง่ายๆ นำความรักผสมกับการทดแทนบุญคุณ เสริมด้วยความชอบแปลงเป็นธุรกิจเงินล้าน
- เปิดข้อคิด แก่คนรุ่นใหม่พื้นฐานธุรกิจครอบครัว เป็นแต้มต่อสำคัญยุคโลกแห่งการแข่งขันติดจรวด
- แนะสร้างธุรกิจที่มีความต่าง อาศัยความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ ความสำเร็จเกิดกับทุกคนแน่
"แคทลียา ท้วมประถม" คนรุ่นใหม่ที่มากด้วยความสามารถ ทายาทธุรกิจร้านจำหน่ายของชำร่วย “พรมงคล” ย่านพาหุรัด ปัจจุบันนั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการร้านวิริยา ธุรกิจที่ต่อยอดจากร้านเดิม ที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นเป็นเวลา 20 กว่าปีมาแล้ว
เดินทางสู่เจเนเรชั่นที่ 3 ภายใต้การบริหารของเธอ ได้เห็นความแปลงแปลงอย่างชัดเจน บนโลกของการแข่งขันและไฮเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนธุรกิจ
ภาพเจ้าของร้าน ณ วันนี้กำลังง่วนจัดร้านใหม่ที่เพิ่งขยายพื้นที่เป็น 2 คูหา ย่อมสะท้อนภาพความสำเร็จได้ให้ได้รู้เพียงผิวๆ
“ผู้จัดการรายสัปดาห์” จึงล้วงลึกถามความเป็นมา และแนวทางการบริหารธุรกิจของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะการต่อยอดธุรกิจตระกูลที่หลายคนร้องยี้...แต่เธอผู้นี้รวมเข้ากับความรักและการตอบแทนคุณข้าวแดงแกงร้อนได้อย่างลงตัว
ความรักแปลงร่างสู่ธุรกิจ
แคทลียา บอกว่า เธอค่อนข้างโชคดีที่เกิดมาในสิ่งแวดล้อมที่พ่อแม่ทำธุรกิจ โดยส่วนตัวต้องการมีธุรกิจเป็นของตนเองมาตั้งแต่เด็กๆ รู้เลยว่าจุดมุ่งหมายคือการมีธุรกิจเป็นของตนเอง และต้องการเป็นผู้ประกอบการที่ประสบผลสำเร็จ จึงสร้างพื้นฐานตนเองมาตั้งแต่นั้น พอจบจากคณะพานิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และขอทุนการศึกษาต่อด้านผู้ประกอบการ
และได้เข้าทำงานด้านการตลาดที่บริษัท ยูนิลิเวอร์ฯ ทำให้เข้าใจตลาด กลุ่มลูกค้า ระหว่างนั้นยังหาข้อมูลเพื่อการเป็นผู้ประกอบการอย่างไม่หยุดนิ่ง เริ่มตั้งแต่ถามตัวเองว่าต้องการประกอบธุรกิจอะไร และหาจุดแข็งของตนเองว่าอยู่ตรงไหน พื้นฐานที่ตนเองมีหรือกิจการของครอบครัวที่มีอยู่ตรงไหน โดยได้เริ่มสร้างจากสิ่งที่มี จะทำให้มีข้อได้เปรียบมากกว่า
หลังจบการศึกษาระดับปริญญาโทจากต่างประเทศ เริ่มหาข้อมูลตลาดของชำร่วย การ์ด ว่ามีอะไรที่ในตลาดยังขาดอยู่ พบว่าจะเป็นดีไซน์เดิมๆ จึงมองว่ายังมีช่องว่าง จึงเริ่มจากตรงนี้ ประกอบกับพื้นฐานเป็นคนชอบดีไซน์และมีเพื่อนๆ ในวงการค่อนข้างมาก จึงร่วมกันเปิด บริษัท ไอเดีย เล้าจ์ กรุ๊ป ขึ้นมาก่อน ทำงานรับออกแบบ ดีไซน์สินค้าของพรีเมี่ยม และอีกขาหนึ่งก็มาเปิดร้านวิริยาควบคู่กันไป
"ชอบอะไรที่กุ๊กกิ๊ก ชอบอะไรที่ดูอ่อนหวาน ชอบงานที่มีดีไซน์ พอเราเอาความชอบมาบวกกับพื้นฐานที่คุณพ่อ คุณแม่มี ก็เป็นจุดที่เป็นตัวเรา เพราะบางคนเข้าไปธุรกิจครอบครัวโดยลืมความที่เป็นตัวเรา ทำงานแล้วรู้สึกขัดขืน เพราะท้ายที่สุดแล้วถึงแม้เราจะเรียนมาอย่างไรก็หนีความเป็นตัวของตัวเองไม่ได้"
"เชื่อว่าทายาทธุรกิจหลายท่านๆ อาจมีปัญหาทำอย่างไรให้ธุรกิจของครอบครัวประสบความสำเร็จ ทำอย่างไรโดยที่เป็นตัวของเราด้วย แนะนำว่าเริ่มจากเล็กๆ ก่อน หรือเริ่มจากการทำสินค้าตัวเดียว พิสูจน์ให้พ่อแม่ พนักงาน ทีมงาน เห็นว่าเราสามารถทำได้ หลังจากนี้แล้วค่อยทำอะไรที่มันใหญ่ขึ้นใหญ่ขึ้น มันดีกว่าที่เราเข้าไปนั่งชี้นิ้วสั่งงานอย่างเดียว"
แคทลียา แนะว่า และสำหรับสิ่งที่ชอบไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจครอบครัว อาจจะใช้พื้นฐานที่มีเช่น ทีมงาน หรือนำสิ่งที่ชอบมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงซึ่งน่าจะมีจุดยืนที่สามารถนำมารวมกันได้
ครีเอทโปรดักส์สร้างความต่าง
ณ วันนี้เป็นระยะเวลากว่า 3 ปีแล้วที่เธอเข้ามาช่วยธุรกิจครอบครัว โดยได้เริ่มเรียนรู้ธุรกิจเดิมของครอบครัว และขยายร้านภายใต้ชื่อแคทลียาเป็นร้านแรก นำสินค้าที่มีมาขายเน้นรูปแบบร้านที่ดูโมเดล เริ่มเห็นช่องว่างตลาดพบว่าของชำร่วย การ์ดในตลาดขณะนั้นรูปแบบจะค่อนข้างเป็นสไตล์ผู้ใหญ่เน้นสีแดง สีทอง สีชมพู เป็นหลัก โดยพื้นฐานคิดจากตนเองว่าถ้าจะหาสินค้าสำหรับงานแต่งงานตัวเลือกค่อนข้างมีน้อย
จึงได้ปรับสินค้า ให้ดูทันสมัยขึ้นเหมาะกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ สร้างสินค้าให้มีความแตกต่าง และเป็นธีมเดียวกันทั้งการ์ดและของชำร่วย รวมถึงการเพิ่มไลน์สินค้าใหม่ๆ เข้ามาเช่น กล่องใส่ซอง สมุดเซ็นอวยพร เป็นต้น
"ในตลาด เทรนด์เอารูปมาถ่ายการ์ดแต่งงานและมีสีสันมากขึ้น ปกติการ์ดแต่งงานส่วนให้จะเป็นสีทอง สีชมพู แต่ตอนนี้บางคนอาจเล่นเป็นสีส้มหรือคู่สีฟ้า เขียว หรือคู่สีแปลกๆ และทั้งงานเป็นธีมเดียวกัน พอเราเล่นคู่สีในการ์ดงานแต่งงานมันจะแตกต่าง ดูดี มีสไตล์ เช่น การ์ดสีฟ้าทะเล ของชำร่วยอาจเป็นรองเท้าแตะ กล่อง สมุดก็สีเดียวกัน และการปรับเปลี่ยนแพคเกจจิ้งให้ดูดี"
เธอบอกว่า ต้องทำการบ้านค่อนข้างมาก พยายามหาสินใหม่ๆ เสมอ เพราะของชำร่วย การ์ดเป็นสินค้าที่เลียนแบบกันได้ง่าย ทั้งนี้ ทางร้านจะมีดีไซน์เนอร์เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยหาบุคลากรที่มีสไตล์เดียวกันกับเธอ เป็นคนรุ่นใหม่ที่ชอบคิดอะไรใหม่และกล้าทำในสิ่งที่แปลกจากในตลาด
"สินค้าก๊อปปี้กันง่ายมาก เราแก้ไขไม่ได้ ต้องเปลี่ยนที่ตัวเราหรือการทำงานของเรา โดยสร้างแบรนด์ให้คนรู้จัก และหาสินค้าใหม่เข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งสินค้าเราจะเปลี่ยนเร็วมากและวาไรตี้กว่ารายอื่น ซึ่งงานก๊อปปี้ในตลาดที่ทำกันคือลายและสไตส์แต่ความเนี๊ยบไม่ได้เลย แต่เราไม่คิดมาก เพราะอยู่ในธุรกิจเดียวกันมาคิดว่าทำอย่างไรให้ตัวเราก้าวไปข้างหน้าเอาเวลามาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่คนอื่นก๊อปปี้ไม่ทัน"
ล่าสุดร้านวิริยา ได้ขยายพื้นที่เป็น 2 คูหา หลังเปิดร้านมาได้ 1 ปี เพื่อรองรับปริมาณลูกค้าและสินค้าที่มากขึ้น สามารถสะท้อนผลงานตอบสนองความต้องการของตลาด ด้วยสินค้าที่แปลกใหม่ได้เป็นเป็นดี
"ตอนนี้ร้านเราเป็น 2 คูหา เป็นร้านของชำร่วย การ์ดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หมายถึงขนาดพื้นที่และจำนวนของ เพราะครอบครัวทำร้านของชำร่วยมานานกว่า 20 ปี จะรู้จักซัพพลายเออร์จำนวนมากและมีร้านอยู่ถึง 3 ร้าน เป็นสไตส์ที่ต่างกัน อย่างวิริยาจะเป็นแฟลชชิปที่เป็นไฮเอนด์ที่สุด ใครต้องการอะไรแปลกใหม่เราสามารถหาได้และทำให้ได้"
และสิ่งสำคัญการบริการ ที่แคทลียา มีความตื่นตัว ตื่นเต้นกับสินค้าภายในร้านในรูปแบบของการบริการที่ลูกค้าเดินเข้าร้านสามารถสัมผัสได้ เธอให้เหตุผลว่าช่วงการเตรียมงานแต่งงาน ที่ลูกค้ามาเดินซื้อของนั้นจะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข ซึ่งเจ้าของร้านอย่างเธอสัมผัสได้เช่นกันและเป็นความสุขเป็นตัวตนของเธอ
"งานแต่งงานเป็นครั้งเดียวในชีวิต ทำทุกอย่างให้งานออกมาดีที่สุด เราเข้าใจตรงจุดนี้และพยายามดึงความเป็นตัวของตัวเองของลูกค้าออกมาให้มากที่สุด เพื่อให้งานออกมาเป็นยูนีกและเป็นตัวของเขาเอง
ส่วนมูลค่าธุรกิจงานแต่งงานค่อนข้างเยอะเป็นตลาดที่ใหญ่และขยายตัว แต่ตลาดเราอาจไม่ใหญ่เท่ากับธุรกิจถ่ายรูปหรือสตูดิโอ อาจได้ 10,000-30,000 บาท/ราย ขึ้นกับจำนวนแขกและมูลค่าของสินค้าที่เลือก แต่เราทำงานประดิษฐ์มองว่าเป็นตลาดที่สนุกเป็นงานที่เราชอบ"
ยุคแห่งการสร้างแบรนด์
แคทลียา บอกถึงความแตกต่างในยุคการทำธุรกิจของเธอว่าแตกต่างจากรุ่นพ่อ รุ่นแม่ เพราะเกิดมาในยุคของการสร้างแบรนด์ เธอเลือกผ่านสื่อออนไลน์และลิงค์ผ่านเว็บไซส์ที่ตรงกลุ่มเป้าหมายและได้ตำแหน่งร้านวิริยา ระดับไฮเอนท์ แต่ด้วยการลงทุนระดับเอสเอ็มอีทำให้กลยุทธ์การตลาดที่จะสื่อถึงผู้บริโภคด้วยงบประมาณที่จำกัด เธอแนะเทคนิคที่ใช้ว่า
ผู้ประกอบการระดับเอสเอ็มจะมีปัญหาเรื่องเงินทุน ฉะนั้นกลยุทธ์ที่ใช้ต้องฉลาดมากๆ ต้องทำตลาดกับผู้ที่มีอิทธิพลต่อลูกค้า เช่น ทำความรู้จักกับเจ้าของหนังสือ หรือคนดังที่ใช้บริการของเรา หรือสตูดิโอที่นำสินค้าเราไปวางขาย เพราะเราไม่สามรถหว่านเงินได้ ตรงมองให้ชัดว่าลูกค้าเราอยู่ตรงไหน โฆษณาผ่านอะไร อย่างร้านวิริยาจะมีเว็บไซส์ www.idealoungegroup.com และลิงค์กับเว็บที่เป็นที่รู้จัก เช่น www.sanook.com มันเกิดความคุ้มค่ากว่า
"สื่อทุกอย่างที่ออกสู่ผู้บริโภคสะท้อนความสวยงามและดูเป็นร้านเรา ซึ่งแตกต่างจากร้านของชำร่วยที่อยู่ในตลาด ฉะนั้นเราเชื่อว่าเวลาลูกค้าเข้ามาในร้าน สิ่งที่เขาทำจะไม่ใช่เข้ามาเดินหาของ เพราะเขารู้ว่าจะมาซื้ออะไรที่ร้านวิริยา เพราะจากสื่อที่ออกไป"
"จากนั้นทำอย่างไรให้ลูกค้ารู้สึกว่าร้านนี้ล่ะที่เขาจะทำการ์ด ทำของชำร่วยกับเรา นั่นคือการบริการที่ดี และกับสินค้าที่เรานำเสมอให้เกิดความรู้สึกว่าน่ารักไปหมดไม่รู้จะเลือกแบบไหนดี เราต้องการเห็นลูกค้าแฮปปี้ กลับบ้านไปครอบครัวเห็นสินค้าก็แฮปปี้ไปด้วย"
เธอบอกว่า การสร้างแบรนด์ให้ดี ทุกคนในอุตสาหกรรมจะวิ่งเข้ามาหาไม่ใช่เฉพาะลูกค้าเท่านั้น หมายถึงนิตยสารเว็ดดิ้ง สตูดิโอถ่ายภาพ ออร์แกไนเซอร์ เพราะรู้ว่าสินค้ามีความแตกต่างจากร้านทั่วไปในตลาด จากสื่อที่นำเสนอออกไป
ฟันฝ่าอุปสรรคสร้างชื่อ
กับการเป็นร้านแรกๆ ที่บุกเบิกของชำร่วย การ์ดด้วยงานดีไซน์ใหม่ๆ แพจเกจจิ้งใหม่ ๆ สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าได้อย่างไรนั้น แคทลียา เล่าว่า เริ่มแรกได้เซอร์เวย์สินค้าและความต้องการในตลาดแล้วว่ามีดีมานด์แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า
"เรามีความกล้าในการนำเสนอ แต่ถ้าขายไม่ได้ล่ะ"
แต่จากการระดมสมองสร้างงานออกมาลูกค้าตอบรับ ทำให้เริ่มรู้ว่าเดินถูกทาง ฉะนั้นพอขยายสาขามาเป็นร้านวิริยา จึงเพิ่มสินค้าใหม่เข้ามา ตอนแรกจะเน้นสินค้าที่ขายได้มากก่อน แต่ตอนนี้ก็มีของแปลกๆ มีราคาสูงขึ้น เพื่อเพิ่มตัวเลือกให้กับลูกค้า มีสินราคาแพงและไม่แพงให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อได้ภายในที่เดียวกันโดยไม่ต้องไปดูที่อื่น
เธอเล่าว่า การทำธุรกิจการ์ด ของชำร่วย ไม่ได้ค้าขายเฉพาะคู่บ่าวสาวเท่านั้น แต่ต้องสร้างความพึงพอใจไปยังครอบครัวของลูกค้าด้วย ปัญหาที่ต้องเผชิญคือพ่อแม่คู่บ่าวสาวที่ต้องการสินค้ารูปแบบเดิมๆ เราเป็นคนกลางก็จะแนะนำคู่บ่าวสาวด้วยทั้งสี ขนาดการ์ดและรูปแบบ เป็นการแก้ไขให้ลูกค้าก่อนที่พวกเขาจะเจอเพื่อความพอใจของทั้ง 2 ฝ่ายและสำหรับเจ้าของเงินทุนคือพ่อแม่ เธอต้องเจอะเจออะไรบ้าง
"พ่อแม่ค่อนข้างไว้ใจ และมีการสอนบ้างแต่ก็เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง ก็ปล่อยให้ผิดเพราะถึงแม้สอนก็ไม่เท่ากับที่เราเจอเราเรียนรู้เอง เขาค่อนข้างปล่อยในสิ่งที่เราทำใหม่ๆ อย่างสินค้า ระบบบัญชี หรือการเปลี่ยนแพคเกจจิ้งหรือการนำสินค้าที่คนคาดไม่ถึงมาทำเป็นของชำร่วย เพราะมันแปลกตาคนเข้ามาจะเห็นของที่แตกต่าง"
ซึ่งสิ่งที่เธอทำก็ประสบความสำเร็จภายใน 1 ปีจากร้านเล็กๆ 1 คูหา ครอบครัวก็ขยายการลงทุนพื้นที่เพิ่มให้อีกเป็น 2 คูหา
ปันประสบการณ์สร้าง SME
และในฐานะวิทยากรและคอลัมนิสต์ ผ่านสื่อต่างๆ นำเสนอแนวคิดการบริหารจัดการธุรกิจด้วยจากประสบการณ์จริง กับประเด็นของการเข้ามาดำเนินธุรกิจครอบครัวของหลายตระกูลที่เริ่มเปลี่ยนถ่ายสู่รุ่นลูก รุ่นหลาน เธอบอกว่ามันเป็นแต้มต่อทางธุรกิจในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะเงินทุนซึ่งการได้เงินทุนจากครอบครัว ต้องบริหารให้ได้มากที่สุดจาก 10 ล้าน เป็น 100 ล้าน ห้ามคิดว่ามีให้ใช้ไม่มีวันหมด ซึ่งต้องดูแลระบบบัญชี เพราะอย่าลืมว่ามีคนจับตาว่ากำลังทำอะไรอยู่ และความสำเร็จของพ่อแม่ยิ่งเป็นแรงกดดันให้เรายิ่งทำให้ดีให้คุ้มกับความไว้วางใจ
แคทลียาเปรียบเทียบว่า ถึงความยากง่ายของคนที่มีแต้มต่อทางธุรกิจกับผู้ที่เริ่มจากศูนย์ว่า
"ความยากเท่าๆกัน การที่มีฐานจะได้เปรียบที่มีผู้ช่วย แต่เราต้องโอนอ่อนกับผู้ที่ให้เงินเรามาทำ เช่น เรื่องระบบงานการลงทุน อาจต่อรอไปก่อน แต่ถ้าเริ่มจากที่ไม่มีอะไรเลย อาจไม่มีคนช่วย แต่ทำทุกอย่างด้วยความเป็นเราอย่างสมบูรณ์ ไม่มียากง่ายต่างกัน ความยากง่ายขึ้นอยู่กับคนมอง แต่ถ้ามีหัวใจอยากให้เกิดขึ้น ถ้าเรามีทุกอย่างผ่านไปได้"
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จขอผู้ประกอบการไม่ว่าจะเริ่มจากพื้นฐานใดก็ตาม ถ้ามีแรงกระตุ้นมันสามารถเดินไปได้ หรือถ้าคนที่เริ่มจากไม่มีอะไรเลยต้องถามตัวเองว่าจะต้องอยู่กับธุรกิจนี้ 20 ปี อยู่กับมัน 12 ชั่วโมงต่อวัน แล้วอย่ามองว่าสิ่งที่เราชอบไม่สามารถทำเป็นธุรกิจได้ ทุกอย่างหามุมมองมันมันทำเป็นธุรกิจทำเงินได้อยู่แล้ว
"ตอนนี้คนต้องการหาอะไรที่ใหม่ๆ หาอะไรที่แตกต่าง ฉะนั้นมองว่าเราชอบอะไร เรามีจุดดีจุดเด่นอะไร เช่น ชอบการเป็นดีเจ มองว่าการเป็นดีเจสามารถทำเป็นอาชีพได้ อาจต่อยอดสอนเป็นดีเจ คือต้องหามุมมองที่สนุกๆ กับมันด้วย เช่น การเปิดโรงเรียนสอนดีเจสำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเวลา อาจเป็นชอตคอร์ส มองว่าทุกอย่างสามารถทำเป็นเงินได้ ถ้าเกิดรู้ว่าเราชอบอะไร เอาความรู้ทางการตลาด ความรู้ทางเมเนจเม้นท์ใส่เข้าไป ให้กับมัน เอามุมมองสนุกๆ ความเป็นนักการตลาดมาใส่และทำให้เงินได้ ถ้าไม่มีพื้น ของที่บ้านทมองว่าพื้นฐานที่บ้านอยู่ตรงไหนความชอบอยู่ตรงไหน พยายามเอาจุด 2 จุดมารวมกัน ทำให้เกิดเป็นธุรกิจที่มี"
แคทลียา กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า การหาธุรกิจที่ตัวเองชอบ เป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น บางคนมองว่า การเป็นผู้ประกอบการต้องคิดนอกกรอบต้องทำอะไรใหม่ๆ อาจเป็นแค่จุดเริ่มต้น แต่การนักธุรกิจที่ดี ต้องเป็นนักบริหารที่ดี เป็นผู้ริเริ่มที่เก่ง มันถึงจะไปได้ไกล เพราะการทำธุรกิจอะไร แป๊ปๆ ก็มีคนลอกเลียนแล้ว แต่การทำให้ยั่งยืนเป็นอะไรที่ต้องทำให้ได้มากกว่า เพราะฉะนั้นพยายามเรียนรู้จากคนรอบข้าง อ่านหนังสือมากๆ ว่าคนอื่นเขาทำกันอย่างไร เพื่อที่ว่าเริ่มดีแล้วมันจะได้ไปไกลๆ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|