|
รับเหมา-ซิเมนต์ปรับตัวหนีตาย
ผู้จัดการรายสัปดาห์(17 เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
*รับเหมาก่อสร้าง-ผู้ผลิตปูนซิเมนต์ปรับตัวหนีตายจ้าละหวั่น หลังเมกะโปรเจกท์ 5.5 แสนล้านล่มไม่เป็นท่า เหตุการเมืองไม่ชัดเจน
*ซีแพคพลิกแผนบุกตลาดต่างจังหวัด เน้นขายรายย่อย ขณะที่ปูนกลาง ชู“ อินทรีย์ ซูเปอร์โปร” เบียดแชร์คู่แข่ง
*ซิโน-ไทยดิ้นรับงานภาคเอกชน หลังพลาดงานเมกะโปรเจกท์ คุยมาร์จิ้นดีกว่างานภาครัฐ แถมมีงานต่อเนื่อง
พลันที่พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้เกิดความชะงักงันของภาวะเศรษฐกิจทันที และส่งผลกระทบต่อภาคการลงทุนทั้งการลงทุนของภาครัฐและเอกชน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการเมกะโปรเจกท์ที่เป็นที่หมายตาของกลุ่มทุนทั้งไทยและเทศ เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนมหาศาลราว 5.5 แสนล้านบาท
ความชะงักงันในครั้งนี้ ทำให้กลุ่มทุนเริ่มเห็นชัดเจนแล้วว่าโครงการดังกล่าวน่าจะชะลออย่างแน่นอน เพราะสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่มีความชัดเจน และเชื่อว่าจะอยู่ในภาวะนี้อีกนานพอสมควร จึงทำให้มั่นใจว่าการลงทุนโครงการดังกล่าวล่าช้าอย่างแน่นอน
ก่อนหน้านี้ก็เคยเกิดความสับสนว่ารัฐบาลจะทำอย่างไรกับโครงการขนส่งมวลชนระบบรางหลังจากที่พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เจ้ากระทรวงหูกวางประกาศปรับรูปแบบการลงทุนโครงการใหม่ จนทำให้กลุ่มทุนต่างชาติต้องชะลอเข้ามาร่วมประมูลงานก่อสร้างเมกกะโปรเจกท์
และวันนี้ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าโครงการดังกล่าวจะล่าช้าแน่นอนจากปัญหาการเมืองที่ยังไม่รู้จะจบยังไง?
ที่สำคัญยังไม่รู้จะมีการเปิดสภา เพื่อคัดเลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเมื่อไหร่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการลงทุนโครงการเมกะโปรเจกท์ระบบรางทั้ง 10 สายทาง มูลค่ากว่า 5.5 แสนล้านบาทโดยตรง
ซีแพครุกตลาดต่างจังหวัด
บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด หรือซีแพค ผู้ผลิตปูนที่คาดหวังว่าจะมียอดขายเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด จากการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 10 สาย ทั้งบนดินและมุดดิน ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปลายปีนี้ แต่วันนี้คงไม่มีใครกล้าการันตรีว่าโครงการจะเดินหน้าต่อหรือต้องชะลอออกไปอย่างไม่มีกำหนด
อรรณพ เตกะจรินทร์ กรรมการผู้จัดการ ซีแพค กล่าวว่า จากความไม่แน่นอนของการลงทุนโครงการเมกกะโปรเจกท์ ทำให้ซีแพคไม่อยากให้เสียโอกาสในการขายปูนเข้าโครงการดังกล่าว จึงเบนเข็มไปเจาะตลาดต่างจังหวัด เน้นกลุ่มเป้าหมายรายเล็กแทน โดยใช้วิธีเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคจากเดิมที่นิยมใช้ปูนถุงที่นำมาผสมเองหันมาใช้ปูนผสมเสร็จของซีแพคมากขึ้น
“ ทิศทางของซีแพคจะมุ่งเน้นตลาดต่างจังหวัดเป็นหลัก เพราะไม่ต้องการจะรอการลงทุนของภาครัฐ ดังนั้น ซีแพคจึงมองหาลู่ทางที่จะเพิ่มพื้นที่การขายออกสู่ภูมิภาคมากยิ่งขึ้นและต้องการสร้างแบรนด์ปูนผสมเสร็จซีแพคให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น เพราะประเทศที่เจริญแล้วกว่า50% ของคอนกรีตที่ใช้คอนกรีตผสมเสร็จ อาทิ ยุโรป สิงคโปร์ เกาหลีและญี่ปุ่นมีการใช้คอนกรีตผสมเสร็จสูงถึง 80% ของที่ไทยมีการใช้ปริมาณคอนกรีตผสมเสร็จต่ำมากเพียง 20-25% เท่านั้น”
อรรณพ กล่าวว่า ถ้าจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค จะต้องให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับคอนกรีตผสมเสร็จแก่ผู้บริโภค โดยซีแพคจัดให้มีวิศวกรประจำศูนย์ต่างๆ 22 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้คำแนะนำแก่ผู้บริโภค และการเพิ่มตัวแทนจำหน่ายหรือแฟรนไชส์อีกกว่า 100 แห่ง รวมกับโรงงานของซีแพคเองมีโรงงานอยู่ทั่วประเทศ 320 แห่ง เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงและรวดเร็ว
และไม่เพียงแค่ซีแพคเท่านั้นที่หนีไปทำตลาดต่างจังหวัด หลังจากพลาดหวังโครงการเมกะโปรเจกท์ แต่ยังมีผู้ผลิตปูนอื่นอีกหลายรายที่ไปลุยตลาดต่างจังหวัด อาทิ บริษัทปูนซีเมนต์นครหลวงหรือปูนกลางที่มีแผนที่จะขยายตลาดเพิ่มในภาคอีสานด้วย เพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นได้ เนื่องจากเป้าหมายของปูนกลางในช่วงก่อนหน้านี้ มีความหวังที่จะขายปูนเข้าโครงการเส้นทางลัดสู่ภาคใต้ หรือแหลมผักเบี้ย และเมื่อโครงการล้ม ก็ยังมีความหวังที่จะขายปูนให้กับโครงการเมกะโปรเจกท์ หรือขนส่งมวลชนระบบราง ซึ่งเมื่อมีความแน่ชัดว่าโครงการฯจะล่าช้า ทำให้ต้องปรับตัวเช่นเดียวกัน และต้องปรับแผนการทำตลาดใหม่
ปูนกลางชูกลุยทธ์แมส มาร์เก็ตติ้ง
จันทรา สุขุมานนท์ รองประธานบริหาร บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง ผู้ผลิตและจำหน่ายปูนตรานกอินทรีย์ กล่าวว่า บริษัทจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินงานใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรีแบรนด์ใหม่ เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง โดยหันมาใช้กลยุทธ์แบบแมส มาร์เก็ตติ้ง มากกว่าเดิมที่เน้นการทำตลาดแบบลด แลก แจกและแถม
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้พัฒนาช่องทางการขายแบบใหม่ โดยการขยายช่องทางในรูปแบบโมเดิร์นเทรด ภายใต้ชื่อ “อินทรีย์ ซูเปอร์โปร”(Insee Super Pro) ซึ่งอาจจะเปิดช่องทางการขายในรูปแบบนี้ช้ากว่าคู่แข่งหลายช่วงตัว แต่“อินทรีย์ ซูเปอร์โปร” ชูจุดขายที่แตกต่างจาก “ซิเมนต์ไทยโฮมมาร์ท”ของคู่แข่งอย่างสิ้นเชิง
จันทรา กล่าวว่า “อินทรีย์ ซูเปอร์โปร”เน้นขายเฉพาะสินค้าหนัก เช่น ปูนซีเมนต์ หิน ทราย เหล็ก และกระเบื้องมุงหลังคาเท่านั้น ในขณะที่ร้านของคู่แข่งจะขายทั้งสินค้าหนักและสินค้าเบา หรือสินค้าชิ้นเล็กๆ นอกจากนี้คู่แข่งยังมีการขยายสาขาในรูปแบบของการขายแฟรนไชส์ ในขณะที่ “อินทรีย์ ซูเปอร์โปร” เป็นการขยายสาขาโดยการคัดเลือกจากเอเย่นต์ที่มียอดขายสูงและมีทำเลที่ตั้งร้านค้าอยู่ในพื้นที่ที่มีศักยภาพ ซึ่งจะสร้างยอดขายได้ง่ายขึ้น
ปัจจุบันบริษัทมีเอเย่นต์ 450 รายทั่วประเทศ เป็นเอเย่นต์หลัก 150 ราย มีเป้าหมายขยายสาขาในรูปแบบ“อินทรีย์ ซูเปอร์โปร”ให้ได้ 9 แห่ง ภายในสิ้นปีนี้ และตั้งเป้าไว้ที่ 20 สาขาทั่วประเทศใน 2 ปี ซึ่งหลังจากปรับรูปลักษณ์ใหม่มียอดขายเพิ่มขึ้น 15% ต่อสาขา จากเดิมที่มียอดขาย 5,000 ตันต่อเดือน
นอกจากนี้ ยังได้จัดทำ INSEE Block เพราะจากการสำรวจความต้องการของตลาดพบว่า ตลาดคอนกรีตบล็อกเป็นตลาดที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ผู้ผลิตคอนกรีตบล็อกในประเทศยังไม่เน้นมาตรฐานในการผลิตมากนัก ทำให้คุณภาพของคอนกรีตบล็อกไม่คงที่ บริษัทเห็นช่องว่างทางการตลาด จึงมีแผนขยายตลาดอินทรีบล็อกแฟรนไชส์ เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถทางธุรกิจให้กับผู้ผลิตคอนกรีตบล็อกและสนับสนุนผู้ค้ารายใหม่ที่สนใจจะขยายธุรกิจหรือต้องการลงทุน
กลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการนี้คือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีตขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ที่มียอดการใช้ปูนซีเมนต์มากกว่า 50% ในการผลิตคอนกรีตบล็อก ซึ่งหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จจะทำให้บริษัทขายปูนได้เพิ่มขึ้น
ซิโน-ไทยดิ้นหางานเอกชน
ขณะที่บมจ.ซิโน-ไทยเอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ผู้รับเหมาก่อสร้างหันไปหางานภาคเอกชนแทนงานภาครัฐ หลังจากที่โครงเมกะโปรเจกท์ล่มไม่เป็นท่า
วรพันธ์ ช้อนทอง กรรมการรองผู้จัดการสายงานการเงินและบริหาร บมจ.ซิโน-ไทยฯกล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีมูลค่างานในมือ (Backlog) ราว 30,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงานที่ยกยอดมาจากปีก่อนและจะรับรู้รายได้ในปีนี้ประมาณ 15,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าว่าสิ้นปีนี้จะสามารถรักษาระดับมูลค่างานในมือได้เท่าเดิมคือ 30,000 ล้านบาท โดยมีแผนที่จะประมูลงานภาคเอกชนขนาดใหญ่หลายโครงการ หลังจากที่โครงการเมกะโปรเจกท์ชะลอออกไป
“ความล่าช้าของโครงการเมกะโปรเจกท์ไม่กระทบต่อรายได้ของบริษัท เพราะได้คาดการณ์ไว้แล้วว่าโครงการจะล่าช้า แต่โครงการอื่นๆ ยังคงดำเนินงานต่อ และอยู่ในงบประมาณปี 2549”
ทั้งนี้ การรับงานภาคเอกชนดีกว่างานภาครัฐ เนื่องจากมีกำไรมากกว่าและมีงานต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทจะรับงานภาครัฐและเอกชนเท่ากัน คือ 50% อย่างไรก็ตาม แม้ว่างานระบบขนส่งมวลชนจะล่าช้า แต่ไม่กระทบต่อรายได้ของบริษัท เพราะมีงานในมือที่สามารถทำได้ถึงปีหน้า แต่ถ้าปัญหาทางการเมืองยืดเยื้อถึงปี 2550 อาจจะส่งผลกระทบต่อบริษัท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|