|
"โอ๊ค-แซนด์-เชียร์"3 ยุวเศรษฐีตระกูลชินลูกไม้บริหารไม่ไกลต้น
ผู้จัดการรายสัปดาห์(17 เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
- 3 โมเดล 3 สไตล์ยุวเศรษฐีตระกูลชิน
- "โอ๊ค-แซนด์-เชียร์" เจเนอเรชั่นที่ 3 ในยุครอยต่อของ 3G
- วิธีคิดของเหล่าบรรดา "ลูกไม้" การบริหารจัดการที่ไม่ไกลต้น
- อะไร? คือเส้นแบ่งระหว่าง "ความสามารถที่แท้" กับ "ใส่พานทองแท้ถวาย"
ท่ามกลางความอื้อฉาวของคนในตระกูลชินวัตร กับผลประโยชน์ทับซ้อนบนเส้นทางทางการเมือง หลังการ "เว้นวรรค" ของผู้นำที่มีบทบาทคลุมเครือไปเสียเกือบทุกเรื่อง "เชื่อ-ไม่เชื่อ" "ใช่-ไม่ใช่" "จริง-ไม่จริง"
ความสง่างามที่น่ากังขาในฐานะของพี่ชายคนโตแห่งครอบครัวชินวัตร กับความเป็นผู้นำที่มีหน้าที่ต้องบริหารและรักประชาชนในประเทศ นายกรัฐมนตรีคนนี้สร้างปรากฏการณ์แห่งความปริแตกในบริบทของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง อย่างไม่เคยมีมาก่อน ธุรกิจทับซ้อนของครอบครัวหมื่นล้าน ภายใต้ร่มธงแห่งความเป็นชินวัตร ร้อยรัดเข้าหากันราวกับโครโมโซมที่ถ่ายทอดถึงกันภายในครอบครัว จากพี่สู่น้อง จากพ่อแม่สู่ลูก จากวงศาสู่ความเป็นเครือญาติ
"โอ๊ค-แซนด์-เชียร์" เป็นโมเดลของพันธุกรรมรุ่นที่ 3 ที่กำลังแทงหน่อเติบโตและทวีบทบาทสำคัญในแวดวงธุรกิจ
ต้องยอมรับว่าการเบ่งบานบนเส้นทางสายธุรกิจของทายาทชินวัตร ส่วนหนึ่งมาจากการสั่งสมปลูกฝังยีนส์ดีๆ ในเรื่องค้าๆ ขายๆ ความหนักเอาเบาสู้ การมองการณ์ไกล รุกและถอยอย่างรู้จังหวะของเวลา
อีกส่วนหนึ่งมาจากสารพัดสารพัน infrastructure ที่รุ่น 1 รุ่น 2 ปูทางเอาไว้ให้ ไม่ว่าจะเป็นพอร์ตมืออาชีพทางด้านบริหารจัดการ การเงิน การตลาด การจัดการเชิงกลยุทธ์ การเรียนรู้ศึกษาต้นแบบจากนักคิดนักปฏิบัติที่ได้รับการันตี
สายป่านการลงทุนที่ทอดยาวให้ไม่รู้จบ ซึ่งเชื่อมบรรจบพอดีกับสภาพคล่องของกฎเกณฑ์ปฏิบัติ กติกาที่พร้อมจะอ่อนตัวให้กับตระกูลนี้อยู่ร่ำไป ทางด่วนข้อมูลข่าวสาร เรื่องอินไซด์จากนโยบายภาครัฐ
ทั้งหมดนี้คือ infrastructure ที่พร้อมจัดให้คนในครอบครัวนี้ราวกับเสกได้
"โอ๊ค-แซนด์-เชียร์" 3 โมเดลยุวเศรษฐีตระกูลชิน หลายเรื่องสะท้อนเงาความคิด ตัวตนที่แท้ของโครโมโซมชินวัตร ขณะที่บางเรื่องในอีกนับสิบๆ เรื่อง อาจทำให้เกิดอาการลังเลสงสัย ในเมื่อเหรียญยังคงสะท้อนรูปทรงออกมา 2 ด้าน การศึกษาทายาทที่กำลังมีอิทธิพลทางธุรกิจในยุคไม่เกิน 10 ปีจากนี้ ภายใต้การกุมบังเหียนอยู่ของคนรุ่นพ่อแม่
ถือเป็นเรื่องน่าทัศนาว่า สไตล์การจัดการของบรรดาลูกไม้ที่ไม่มีวันหล่นไกลต้น จะฉับไวโลดโผนแข่งกับเทคโนโลยี 3G เพียงไร? แล้วอะไร? คือเส้นแบ่งระหว่าง "ความสามารถที่แท้" กับ "ใส่พานทองแท้ถวาย"
"พานทองแท้ ชินวัตร" พ่ออภิมหารวยสอนลูก
ในฐานะพ่อรวยย่อมสอนลูกให้รวยด้วยแน่ๆ แต่จะสอนด้วยวิธีไหน? ลูกจะรวยได้สักเท่าไร?
"โอ๊ค" พานทองแท้ ชินวัตร ลูกชายคนโต กำลังเรียนรู้และก้าวไป
"ผู้จัดการรายสัปดาห์" รวบรวมข้อมูลเพื่อให้เห็นโอกาส วิถีทางและความคิดของทายาทนักการเมือง นายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของไทย และนักธุรกิจหมื่นล้าน ว่าน่าจะซึมซับตามรอยพ่อได้มากน้อยเพียงใด หรือเป็นลูกไม้ที่หล่นไม่ไกลต้นได้หรือไม่?
ในด้านธุรกิจต้องยอมรับกันว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนักธุรกิจและนักบริหารชั้นยอดที่ก้าวขึ้นมาด้วยฝีมือ จากธุรกิจขายคอมพิวเตอร์เล็กๆ มาสู่ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมขนาดใหญ่ยักษ์ ด้วยการเติบโตมาจากธุรกิจสัมปทาน
สิ่งสำคัญที่สุดที่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร มีอย่างล้นเหลือก็คือการบริหารจัดการคน ซึ่งเป็นหัวใจที่ทำให้เจ้าของธุรกิจหรือเถ้าแก่ทะลุกรอบจากการบริหารแบบธุรกิจครอบครัวสู่มืออาชีพได้อย่างเข้มแข็งรุ่งโรจน์
จึงไม่แปลกเลยที่ "โอ๊ค" ทายาทคนสำคัญจะต้องไปเรียนรู้งานด้านการบริหาร วิธีคิดและการตัดสินใจของนักบริหารมืออาชีพ อย่าง "บุญคลี ปลั่งศิริ" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มือขวาของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ผู้บริหารสูงสุด หรือ "จอมทัพแห่งชินคอร์ป" ซึ่งเข้ามาร่วมงานเมื่อปี 2536 ถือเป็นช่วงครึ่งหลังของการดำเนินงานของบริษัท เพราะชินคอร์ปครบรอบ 20 ปี ในปี 2546
"โอ๊ค" เข้ามาเรียนรู้ในช่วงจังหวะที่มีการปรับเปลี่ยนทิศทางการบริหารให้บุคลากรที่เป็นคนรุ่นใหม่ก้าวขึ้นมามีบทบาทในหารบริหารมากขึ้น และเป็นยุคที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมกำลังเปลี่ยนแปลงจากในอดีตที่เน้นเรื่องเทคโนโลยีมาเป็นการเน้นการบริการเป็นหลัก
นอกจากนี้ สิ่งที่ โอ๊ค-พานทองแท้ น่าจะได้ซึมซับประสบการณ์มาก็คือการขยายธุรกิจใหม่ ข้อเสนอ และการเจรจาทางธุรกิจ ภายใต้จุดแข็งด้านฐานการเงิน และความสามารถในการบริหารจัดการของกลุ่มชินคอร์ป
ไม่แปลกอีกเช่นกันที่ โอ๊ค-พานทองแท้ จะได้เข้าไปเรียนรู้งานจาก "สมประสงค์ บุญยะชัย" หรือ "ขุนพลแห่งเอไอเอส" ประธานกรรมการบริหารสายธุรกิจสื่อสารไทรคมนาคมไร้สาย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจสื่อสารไร้สาย ขุมทรัพย์ชิ้นสำคัญเพราะเป็นสายธุรกิจหลักที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับกลุ่มชินคอร์ป
สมประสงค์ บุญยะชัย เคยกล่าวไว้ว่า เคล็ดลับการบริหารเอไอเอสที่ยึดถือ คือ อนุรักษ์นิยม ระมัดระวัง ประหยัด จริงจัง และจริงใจ ไม่ทำอะไรที่หวือหวา ในช่วงวิกฤติจะกู้เงินเท่าที่จำเป็น ปิดความเสี่ยง ฝากเงินในสถาบันที่มั่นคงแม้ดอกเบี้ยจะต่ำ พยายามใช้หนี้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ รอบตัวของพ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ก็รายล้อมไปด้วยมืออาชีพหลากหลายแขนงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ นักบริหาร นักการเงิน นักกฎหมาย นักการเมือง และอื่นๆ อีกมากมาย ที่เชี่ยวชาญทั้งในเชิงนโยบายและการปฏิบัติ จึงไม่ใช่เรื่องยากที่ โอ๊คจะได้เรียนรู้แนวทางที่พ่อและแม่ใช้สร้างความสำเร็จ
สำหรับ โอ๊ค-พานทองแท้ เคยกล่าวไว้ในช่วงงานฉลองครบรอบ 20 ปี ของกลุ่มชินคอร์ปว่า ตั้งแต่เกิดมาจนจำความได้ ก็เห็นพ่อแม่วิ่งขายคอมพิวเตอร์ เมื่อก่อนเป็นธุรกิจครอบครัว พ่อช่วยแม่ แม่ช่วยพ่อ พ่อให้อากับลุงมาช่วย แต่ตอนนี้ชินคอร์ปเป็นบริษัทที่มีการบริหารแบบมืออาชีพมากขึ้น เริ่มเป็นระบบตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์
การเข้าไปฝึกงานเริ่มตั้งแต่ช่วงที่เรียนรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีโอกาสร่วมประชุมกับบุญคลีติดต่อกับบริษัทต่างชาติ เมื่อมีอะไรใหม่ๆ บุญคลีมักจะถามว่า ถ้าทำแบบนี้ คนรุ่นใหม่จะรู้สึกอย่างไร
ในครั้งนั้น โอ๊คบอกอีกว่า การเข้าไปฝึกงานกับชินคอร์ปเป็นช่วงของการค้นหาตัวเองว่าชอบอะไร และเชื่อว่ายังไม่เป็นผู้ใหญ่พอที่จะบริหารบริษัทใหญ่ๆ อยากเริ่มจากสเกลเล็กๆ ก่อน ทำอะไรที่เป็นตัวของตัวเอง มีอำนาจในการตัดสินใจทุกอย่างในบริษัทได้เอง
โอ๊คเริ่มต้นจากธุรกิจเล็กๆ อย่างที่บอก เริ่มจากบริษัทแรก ฮาวคัม เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ร่วมกับกลุ่มเพื่อนสนิท "น้ำนิ่ง" นายไอยคุปต์ กฤตบุญญาลัย, "ป่าน" นายนันทสิทธิ์ แจ่มสมบูรณ์ และ "ฮาน่า" ทัศนาวลัย องอาจอิทธิชัย โดย "โอ๊ค" เป็นประธานกรรมการและประธานบริษัท เพื่อให้บริการด้านบันเทิงครบวงจร เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ปี พ.ศ.2546 ตามด้วยบริษัท มาสเตอร์โฟน จำกัด
จากนั้น ในปี 2547 ฮาวคัมเดินหน้าเปิดบริษัทใหม่เพิ่มอย่างต่อเนื่อง เริ่มด้วย โอคานิท, ฮาวคัม มีเดีย, ฮาวคัม สตูดิโอ, ฮาวคัม เอวี และล่าสุด ฮาวคัม ไอพี เปิดเมื่อสิงหาคม พ.ศ.2548
แม้ผลประกอบการของบริษัทในเครือฮาวคัมที่แจ้งไว้กับกระทรวงพาณิชย์ รอบบัญชีพ.ศ.2547 ระบุว่าส่วนใหญ่ขาดทุน 1-5 ล้านบาท
เริ่มจาก บริษัท ฮาวคัม เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ขาดทุน 1.1 ล้านบาท
บริษัท มาสเตอร์โฟน จำกัด ผู้จัดจำหน่ายโทรศัพท์หรู "เวอร์ทู" เครื่องละ 1 แสนบาทขึ้นไป ขาดทุน 1.06 ล้านบาท
บริษัท โอคานิท จำกัด ซึ่งทำร้านกาแฟ "คาเฟ่ อินน์" เป็นอินเตอร์เน็ทคาเฟ่ ขาดทุนถึง 5.6 ล้านบาท
มีเพียง บริษัท นิวโอ๊ค จำกัด ที่ให้บริการถ่ายรูป ร้าน She@mood เป็นบริษัทเดียวที่มีกำไร 1.06 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 2.13 บาท เป็นบริษัทที่โอ๊ค และ "กึ้ง" เฉลิมชัย มหากิจศิริ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทายาทประยุทธ์ มหากิจศิริ เศรษฐีนักธุรกิจ และ "กาญจนา หงษ์เหิน" เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ด้วย
สิ่งที่น่าสนใจคือ "ฮาวคัม" เติบโตในสไตล์เดียวกับ "ชินคอร์ป"
เนื่องจาก ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2548 บริษัทฮาวคัม เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ เรียกเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นกลุ่มเดิม เป็น 66 ล้านบาท พร้อมกับบริษัท ฮาวคัมมีเดีย เพิ่มทุนเป็น 30 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียนเริ่มต้นแห่งละ 5 ล้านบาท
นั่นเพราะแผนธุรกิจของฮาวคัมที่วางไว้ตั้งแต่แรกว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายใน 5 ปี นับจากปี 2546 ผ่านโครงสร้างธุรกิจแบบโฮลดิ้ง ฮาวคัมเอ็นเตอร์เทนเม้นท์เข้าไปถือหุ้นในบริษัทลูก เช่นเดียวกับโครงสร้างของกลุ่มชินคอร์ป ที่เข้าไปถือหุ้นในเอไอเอส, ชินแซทเทิลไลท์ และไอทีวี นั่นเอง
เป็นที่รู้กันว่า "ป่าน" นันทสิทธิ์ แจ่มสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ เรี่ยวแรงหลักของกลุ่มฮาวคัม เป็นผู้บริหารตัวจริง เขาเคยประเมินไว้ว่าในสิ้นปี 2549 ฮาวคัม เอ็นเตอร์เมนเม้นท์จะมีรายได้มากกว่า 100 ล้านบาท
ไม่แปลกที่จะทำได้อย่างนั้น เพราะ "ฮาวคัมมีเดีย" ได้รับสัมปทานบริหารสื่อโฆษณาในพื้นที่อุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน "ฮาวคัมไอพี" ผู้จำหน่ายชิพไฮเทคเก็บข้อมูลในโทรศัพท์มือถือที่กำลังจะได้ร่วมธุรกิจกับเอไอเอสที่มีลูกค้าถึง 17 ล้านราย และรายการทีวีที่ยึดโยงกับไอทีวีและช่อง 3
จึงเป็นไปได้ไม่ยากที่จะทำให้รายได้ของกลุ่ม "ฮาวคัม" พุ่งทะยานขึ้น
"ชยิกา วงศ์นภาจันทร์"ขึ้นแท่นตามรอยเท้าแม่
"แซนด์" ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ บุตรสาวคนโตของ "วีรชัย วงศ์นภาจันทร์" กับ "เยาวเรศ ชินวัตร" ที่วันนี้เจ้าตัวได้ก้าวเข้ามาช่วยธุรกิจครอบครัว ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้บริษัท ชินวัตร โฮมมาร์ท จำกัด อย่างเต็มตัว ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา โดยรั้งตำแหน่ง Marketing & Sale Director เข้าดูแล โครงการดาหลาบุรี จังหวัดภูเก็ต เป็นงานชิ้นแรก โดยร่วมกันบริหารกับน้องชายคนรอง "ซัน" รัตนะ ในฐานะ Managing Director
กับโครงการดาหลาบุรี มูลค่าโครงการกว่า 422 ล้านบาท ที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน 2549 นี้ ภายใต้การบริหารของ "แซนด์" เธอพกพาประสบการณ์ที่เต็มเปี่ยมจาก บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เป็นระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน ในตำแหน่งสุดท้ายคือ Partner Executive ดูแลพันธมิตรธุรกิจของ AIS
แต่กับสิ่งสูงสุดในการเข้ามาบริหารธุรกิจครอบครัวอย่างเต็มตัวในครั้งนี้ สิ่งที่เธอได้รับมาเต็มๆ คือจากผู้เป็นแม่ ที่เธอเรียนรู้ศิลปะในการเจรจาต่อรองทางการค้า
และจากผู้เป็นพ่อคือการทำงานอย่างจริงจัง ทำงานให้บรรลุเป้าหมาย ประกอบกับเป็นคนที่ใฝ่หาความรู้ตลอดเวลา รวมถึงประสบการณ์ที่ซึมซับในตัวเธอตั้งแต่วัยเยาว์กับการติดตามผู้เป็นแม่ไปไหนมาไหนด้วยตลอด
ซึ่งสะท้อนจากการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อของ เยาวเรศ ในช่วงที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดีว่า
"พี่กับลูกใกล้ชิดกันมาก เวลาเราไปไหนมาไหนหรือทำอะไร เขาจะตามเราไปตลอด เวลามีคนถามเขาว่าโตขึ้นแล้วอยากเป็นอะไร เขาก็จะตอบทันทีว่าอยากเป็นนักธุรกิจแบบคุณแม่
แสดงว่าเขามองเห็นภาพที่ดีของเรา เขาถึงอยากทำตาม กลับเป็นเรื่องที่ดีที่เขาตามเรา เวลาไปไหนมาไหนแล้วมาเห็นสิ่งที่เราทำ ก็เท่ากับว่าเป็นการสอนเขาไปด้วยในตัว"
กับโครงการดาหลาบุรี งานที่สามารถวัดฝีมือการทำงานของเธอนั้น ปฏิเสธไม่ได้กับคอนเน็คชั่นที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นของธุรกิจครอบครัวนี้ ซึ่ง เยาวเรศ นับเป็นนักธุรกิจหญิงตัวยง ที่ได้รับการยอมรับวงการธุรกิจ แม้ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ คนที่ 21 ก็ตาม
เยาวเรศ เริ่มต้นธุรกิจจากการส่งออกตระร้า หวาย เสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งและผ้าไหม ที่เป็นธุรกิจของต้นตระกูล "ชินวัตร"
และในปี 2532 ได้เริ่มต้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างเต็มตัว ทำศูนย์การค้ากลางเมืองเชียงใหม่ชื่อ สุรวงศ์พลาซ่า แม้จะต้องเจอกับพิษฟองสบู่ ตามมาด้วยธุรกิจการซื้อขายที่ดิน ธุรกิจอาหารเสริมเพื่อสุขภาพและธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง
ปฏิเสธไม่ได้ กับสิ่งที่ แซนด์ ได้รับการถ่ายทอดมา ซึ่งเธอ บอกถึง สไตล์การทำงานของเธอไว้สั้นๆ ว่า "เป็นคนที่ตรงไปตรงมา สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า และไม่ทำความเดือนร้อนให้ใคร" ซึ่งคนรอบข้าง ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สไตล์การบริหารงานของ แซนด์ เหมือนกับผู้เป็นแม่
หากมองถึงแนวคิดการบริหารธุรกิจที่ เยาวเรศ ถ่ายทอดสู่ลูกๆ ที่ได้รับจากเธอมาเต็มๆ นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากผู้เป็นพี่ชายของเธอ 'ทักษิณ ชินวัตร' ที่เยาวเรศ มักพูดอยู่เสมอว่า เมื่อมีปํญหาทางธุรกิจมักจะขอคำแนะนำจากพี่ชายอยู่เสมอจนเปรียบพี่ชายเสมือนพ่อ
"ท่านเป็นพี่ชายที่ประเสริฐมาก แม้กระทั่งดิฉันโตเป็นผู้ใหญ่เวลามีปัญหาอะไรก็ต้องโทรไปขอคำปรึกษาจากท่าน เช่น บางครั้งรู้สึกท้อถอย ทำธุรกิจแล้วมีหนี้สินเยอะเหลือเกิน ท้อมาก ไม่อยากทำแล้ว ท่านก็ตามว่ามีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินหรือไม่ ท่านพูดแค่นี้เราก็รู้คำตอบแล้ว ก็เลิกท้อและมีกำลังใจให้สู้ต่อไปได้"
นอกจากการสไตล์การบริหารที่ แซนด์ ได้รับมาแล้ว เธอยังพกดีกรีประสบการณ์การทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศจากสหรัฐอเมริกาทั้งเทคนิคการขาย การเจรจาต่อรองลูกค้า เธอนำมาใช้การการทำงานให้กับครอบครั้งนี้อย่างเต็มที่
เมื่อถามถึงลักษณะงานที่ชอบ เธองชอบงานที่ AIS เพราะเป็นธุรกิจที่ไดนามิค มีความรวดเร็ว แข่งขันโดยนำกลยุทธ์ทางการตลาดมาใช้ ไม่เฉื่อย ซึ่งในขณะนั้นคิดอยู่เหมือนกันว่าถ้านอกจากเอ AIS แล้วจะมาจับงานลักษณะไหนดีตามที่ชอบ
ที่คิดไว้คงหนีไม่พ้น ไฟแนนซ์ และอสังหาริมทรัพย์ที่มีการเปลี่ยนรวดเร็วในเชิงของการแข่งขัน ซึ่งเธอเลือกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่สำคัญเป็นธุรกิจครอบครัว ที่เธอมุ่งหวังในการเข้ามาสานต่อมาตั้งแต่ต้น
และหากมองถึงโอกาสทางธุรกิจของอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในพื้นที่ภูเก็ตด้วยแล้ว เธอบอกว่าความต้องการของตลาดสูงมาก เพราะสอดคล้องกับนโยบายรัฐในการผลักดันภูเก็ตเป็นฮับหรือศูนย์การท่าเรือขนาดใหญ่ ฉะนั้นความต้องการที่อยู่อาศัย หรือโฮมออฟฟิศตามมาอย่างแน่นอน
กับศักยภาพโครงการดาหลาบุรี ตั้งอยู่บนถนนเทพกษัตรี อำเภอ ถลาง เมืองภูเก็ต ท่ามกลางแหล่งอำนวยความสะดวกสำหรับบ้านพักอาศัย และสนามบินภูเก็ต ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับ Boat Laguna หรือท่าเรือเร็ว และ เรือยอร์ช แห่งแรกในภูเก็ต ตั้งอยู่เยื้องกับ Royal Phuket Marina หรือท่าเรือเร็ว และ เรือยอร์ช เป็นย่านที่มีชาวต่างชาติที่มีฐานะดีมากจากประเทศยุโรป อาทิ อังกฤษ นอร์เวย์ ที่มีเรือ เป็นของตนเองอาศัยอยู่ค่อนข้างหนาแน่น ตั้งแต่ 50-300 ครัวเรือน
นอกจากนี้ยังตั้งอยู่ใกล้กับโรงเรียน นานาชาติ บริติช และตั้งอยู่ห่างจากห้างสรรพสินค้าท้องถิ่น และ ซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่หลายแห่ง ประมาณ 10 นาที และตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ต 15 นาที
เป้าหมายในชีวิตของสาวน้อยผู้นี้ คือการเข้าสานต่อธุรกิจครอบครัวให้ประสบความสำเร็จ ตามที่พ่อ แม่มุ่งหวังไว้ และทำงานแทนท่านที่ทั้งเหนื่อยและหนักมาโดยตลอด ผนึกกำลังการบริหารธุรกิจไปด้วยกันกับน้องชายเพื่อให้คุณพ่อ คุณแม่ ได้พักผ่อน...
"ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์"งานสำเร็จได้ถ้าตั้งใจ
"น้องเชียร์" ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ Wednesday child ของ "เจ๊แดง" เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ วัยเบญจเพสปีนี้ ถ้าเปรียบเธอเป็นมูลค่าของตราสินค้า ราคาค่างวด ณ เวลาปัจจุบันก็มีไม่น้อยกว่า 3-4 พันล้านบาท
ยิ่งไม่กี่วันที่ผ่านมาเธอถูกรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขุดคุ้ยธุรกิจในครอบครัว ว่าเข้าข่ายรวยผิดปกติ และจงใจไม่ยื่นทรัพย์สินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ชื่อนี้ก็เลยกลับมาได้รับความสนใจจากบรรดาสื่อมวลชนอีกระลอก ถัดจากลูกพี่ลูกน้องหล่อมาดตี๋ คนที่เป็นลูกนายกฯ
"รัฐธรรมนูญมาตรา 303 กำหนดไว้ชัดเจนว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ้าร่ำรวยผิดปกติก็ต้องถูกลงโทษและถูกยื่นถอดถอน ซึ่งกรณีนี้เหมือนกับกรณีซุกหุ้นภาค 1 และถ้าหากโยงไปถึงความผิดมูลฐานการฟอกเงิน ก็อาจนำไปสู่การยึดทรัพย์ได้" อลงกรณ์ พลบุตรว่าอย่างนั้น
ชินณิชาในฐานะทายาทมรดก 1 ใน 3 บุตรชายและบุตรสาวของเยาวภา อดีตส.ส.เชียงใหม่ พรรคไทยรักไทย และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กับการถือครองหุ้นรวมกันกว่า 1 พันล้านบาทใน 3-4 บริษัทชั้นนำ ก็เลยตกที่นั่งลำบากแบบเดียวกับที่ "โอ๊ค" พานทองแท้เคยเผชิญในกรณีถือหุ้นแอมเพิล ริช
ชินณิชามีชื่อเข้าไปถือหุ้นในหลายธุรกิจ ตั้งแต่อภิมหาโครงการบ้านจัดการ "ชินณิชา วิลล์" หุ้นล็อตใหญ่ในธุรกิจบันเทิง "ทราฟฟิก คอนเนอร์" และบริษัทรับเหมาก่อสร้าง "แอสคอน คอนสตรักชั่น" ในเมกะโปรเจกต์
ซึ่งจากกรณีที่แม่ของเธอเข้าไปพัวพันกับคดีอื้อฉาวหลายคดีก่อนหน้านี้ ทำให้เธอปล่อยมือจากหุ้นและถอนตัวออกมาหลายแห่ง แต่ก็ยังไม่เลิกบทนักเล่นหุ้น ซึ่งเธอออกตัวว่า เป็นพอร์ตลงทุนส่วนตัว ใช้เงินไม่มาก ยึดหลักการลงทุนแบบง่ายๆ ว่า ไม่ทุ่มลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง สิ่งสำคัญคือเน้นกระจายความเสี่ยง ไม่ปล่อยให้หุ้นจับเจ่าอยู่กับความนิ่ง
น้องเชียร์มีความสุขอยู่กับการทำธุรกิจบริหารพื้นที่คลังสินค้า "บริษัท วินโค้สท์ อินดัสเทรียล พาร์ค" ขนาดพื้นที่ 70 ไร่ ริมถนนบางนาตราด กม.ที่ 53
เป็นธุรกิจของครอบครัวที่ทำให้เธอภูมิอกภูมิใจในฐานะซีเอสโอ : Chief Strategy Officer กับภารกิจสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจให้กับโครงการ
นอกเหนือจากการบริการให้เช่าโกดังแล้ว วินโค้สท์ยังเป็นสถานที่ประกอบสินค้าสำหรับลูกค้าที่นำเข้าและส่งออก พร้อมบริการเสริมอย่าง พื้นที่สำนักงาน ห้องประชุม โรงอาหาร ร้านสะดวกซื้อ และห้องจัดเลี้ยงสัมมนา
เรียกว่าเป็นงานครบวงจรที่ทำให้เธอได้เรียนรู้แบบ 3620 องศาไปพร้อมๆ กัน และซึมซับธุรกิจบริการที่ต้องอาศัยทักษะหลายด้าน ทั้งการขาย การตลาด การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า การค้าการลงทุนของอุตสาหกรรมในต่างประเทศ ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ไปจนถึงหลักสูตรการบริหารพื้นที่เช่าห้องประชุม
โมเดลของวินโค้สท์เปรียบเสมือนหลักสูตรการจัดการผู้นำ เพราะทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยทีม ที่คัดสรรมาอย่างดีจากมือดีหลากอุตสาหกรรม ทั้งการเงิน บริหารโรงงาน ค้าปลีกค้าส่ง ภายใต้การประคมประหงมของโค้ชมือโปรที่แม่ส่งมาให้ "ภัทรลาภ ทวีวงศ์ ณ อยุธยา"คนเก่าแก่จากเอ็มลิงค์ ธุรกิจขาใหญ่อีกแห่งหนึ่งของครอบครัววงศ์สวัสดิ์ โดยมาประจำการในฐานะซีอีโอ
น้องเชียร์มีประสบการณ์หลายมิติ ทั้งการวางตัวในสังคม บุคลิกที่พร้อมเปิดรับไอเดียใหม่ๆ และการเข้ากับคนง่าย เพราะอยู่ไม่เป็นที่เป็นทางทำให้ต้องเจอกับคนแปลกหน้าตลอดเวลา
ขณะที่ประสบการณ์ตรงทางธุรกิจ แม่แบบความคิดก็มาจากผู้เป็นแม่ ซึ่งเปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยบวกกับโรงเรียนสอนการจัดการธุรกิจ business school "ได้เรียนรู้งานมากที่สุด"
ถัดมาคือคุณน้า "มณฑาทิพย์ โกวิทเจริญกุล" น้องแปดแห่งชินวัตร ที่ไปไหนก็เหน็บเอาเธอไปด้วย เธอได้เรียนรู้จากบทเรียนที่ง่ายที่สุดว่า แม้แต่การขายของก็ไม่ใช่เรื่องง่าย "อย่างเรื่องสต็อก เขาสอนว่า จะคุมอย่างไร? ให้หมุนเวียนได้เร็ว"
หลักการทำงานของสาวน้อยเบญจเพสคนนี้ "งานทุกอย่างสำเร็จได้ ถ้าคนทำมีความตั้งใจจริง" และความมุ่งมั่นตั้งใจนี่เองที่จะเป็นดัชนีชี้วัด KPI ว่า ความสามารถที่แท้เปรียบดังยีนส์ในตัวของเธอ มีมากน้อยเพียงไร? ปริมาณจะมากพอสักเศษเสี้ยวของหุ้นที่เธอถืออยู่หรือไม่???
"แซนด์ " ชีวิตนี้เพื่อครอบครัว
ชยิกา เป็นพี่สาวคนโต ของน้องชายอีก 2 คน "ซัน" รัตนะ และ "ซูน" ธนวัต เธอจบการศึกษาระดับปริญญาตรี BA Management, Seattle University เมือง Seattle มลรัฐ Washington State
หลังจบการศึกษาในปี 2545 ได้เข้าทำงานที่ Morgan Stanley เป็นระยะเวลา 1 ปีในตำแหน่ง Broker’s Assistance ดูแลด้านการบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า
ก่อนที่จะเดินทางกลับประเทศไทย เข้าทำงานที่แรกกับธุรกิจครอบครัวที่บริษัท ชินวัตร โฮมมาร์ท ในตำแหน่ง Project Manager โดยเป็นผู้ริเริ่ม “Motivation and Training Program” เพื่อกระตุ้นยอดขายและปลูกสร้าง ส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรให้เกิดการทำงานเป็นทีม
ชยิกา ช่วยธุรกิจครอบครัวได้ประมาณ 1 ปี และในปี 2547 ได้เข้าทำงานที่ บมจ. แอดวานซ์อินโฟร์ แผนก Customer Experience Stategy Management ตำแหน่ง Marketing Exective ดูแลโดยเฉพาะด้านการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรของ AIS Card และการพัฒนาความภักดีต่อตราสินค้า (Loyalty Scheme) ผ่านโครงการพิเศษของ AIS
ก่อนย้ายตำแหน่งเป็น Partner Executive ดูแลด้าน Partner&Media Management โดยเฉพาะด้านการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรทางการค้ากับ AIS
และในวันที่ 1 เมษายน 2549 ที่ผ่านมา กลับมาช่วยธุรกิจครอบครัว ในตำแหน่ง Marketing&Sales Director และ Public Relation Manager (Act.) บริษัท ชินวัตร โฮมมาร์ท จำกัด ดูแลด้านการขาย งานการตลาดเพื่อส่งเสริมการขายและฝ่ายประชาสัมพันธ์
"น้องเชียร์" ชีวิตเลือกได้ สั่งได้
ชินณิชาเป็นลูกคนกลางของครอบครัววงศ์สวัสดิ์ มีพี่น้อง 3 คน พี่ชายคนโต "ยศชนัน" เรียนวิศวกรรมศาสตร์ ส่วนน้องสาวคนเล็ก "ชยาภา" เรียนกฎหมายส่วนเธอเรียนจบ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาการเงิน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เล็กๆ อยากเป็นหมอ เพราะคุณแม่ต้นแบบเป็นพยาบาล แต่พอโตขึ้น ความคิดก็เปลี่ยน อยากไปติดต่อกับคนหมู่มากมากกว่า ชีวิตอิสระในวัยทีน พ่อแม่ไม่เคยบังคับ ทุกอย่างเต็มร้อยให้กับทุกการตัดสินใจของเธอ
แต่สาวมั่นคนนี้ก็ไม่เคยทำให้พ่อแม่ผิดหวัง ในฐานะลูกไม้ไม่ไกลต้น เธอหอบเอา MBA ปริญญาโทจากเกาะอังกฤษมาเป็นของกำนัล พร้อมกับมาเริ่มงานในวินโค้สท์ ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวเต็มตัว
ถ้า "เยาวภา วงศ์สวัสดิ์" เปรียบเสมือน มหาวิทยาลัยเยาวภา อคาเดมี่ "เอ็มลิงค์" ก็ไม่ต่างอะไรกับโรงเรียนสอนธุรกิจสำหรับน้องเชียร์คนนี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|