|
ศูนย์วันสต๊อปหนังถูกดอง หนังเทศบินหนีสู่ออสซี่แทน
ผู้จัดการรายวัน(12 เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ศูนย์วันสต็อปเซอร์วิส ให้บริการออกใบอนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ถูกดอง หลังตกแต่งเสร็จนานแรมเดือน แต่เปิดให้บริการไม่ได้ เหตุต้องรออนุมัติจากที่ประชุม ครม.ก่อน ด้านผอ.สพท. ตอบไม่ได้ว่าจะเปิดให้บริการได้เมื่อใด เพราะยังไร้เงารัฐบาลใหม่ เผยทางออกหันโปรโมต พี-โพสต์ โปรดักค์ชั่นโกยรายได้เข้าประเทศแทน ส่วนรายได้จากธุรกิจภาพยนตร์ปีนี้สิ้นหวังขอโตแค่ 5% จากปีก่อนที่พลาดเป้าโตเพียง 1% อ้างเหตุไฟใต้ และฝนตกหนักตลอดปี กองถ่ายหันไปใช้สตูดิโอที่ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์แทน
นางธนิฏฐา มณีโชติ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการท่องเที่ยว(สพท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันแม้ว่าสำนักงานของศูนย์บริการธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์ หรือศูนย์วันสต็อปเซอร์วิส จะตกแต่งแล้วเสร็จพร้อมใช้งานแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ เนื่องจากยังต้องรอมติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเรื่องของการจัดขอบุคลากรจากหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อมานั่งให้บริการในศูนย์ดังกล่าวนี้ด้วย
ทั้งนี้ สพท. ได้ตกแต่งสถานที่โดยใช้อาคารชั้นเดียว ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว ซึ่งตามแผนเดินจะใช้สถานที่แห่งนี้เป็นศูนย์อาหาร บริการสำหรับเจ้าหน้าที่และผู้ที่มาติดต่อ แต่เมื่อมีแนวคิดตั้งศูนย์วันสต็อบเซอร์วิส สพท.จึงแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งตกแต่งเป็นออฟฟิศซึ่งเสร็จมาหลายเดือนแล้วตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา แต่ตอนนี้ก็ยังเปิดบริการไม่ได้ เพราะส่งเรื่องขอเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกใบอนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ไปนานแล้ว แต่ยังไม่ถูกบรรจุในวาระที่จะเข้าเสนอ ครม.เสียที จนกระทั่งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา ล่าสุดศูนย์อาหารเปิดให้บริการแล้ว แต่ศูนย์บริการธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์ยังไม่สามารถทราบว่าจะเปิดให้บริการได้เมื่อใด
สำหรับปีนี้ นอกจากการโปรโมตให้กองถ่ายทำภาพยนตร์เข้ามาใช้สถานที่ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นแล้ว สพท.ยังมีนโยบายสนับสนุนธุรกิจให้บริการ ก่อน และหลัง การถ่ายทำภาพยนตร์ หรือ พีโปรดักค์ชั่น และโพสต์โปรดักค์ชั่น ชูจุดขายที่อัตราค่าบริการที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับประเทศออสเตรเลีย โดยปีก่อนธุรกิจนี้เติบโตถึง 30% หรือสร้างรายได้เข้าประเทศไม่น้อยกว่า 1 พันล้านบาทเช่นกัน
ปัจจัยลบเพียบหนังฟอร์มใหญ่เมิน
ในส่วนของรายได้ที่จะมาจากธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์ปีนี้ ตั้งเป้าเติบโตไว้น้อยมาก หรือประมาณ 5% จากปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความไม่พร้อมในหลายเรื่องของประเทศไทย เช่น ศูนย์บริการวันสต็อบเซอร์วิสที่ยังไม่สามารถให้บริการได้ ตลอดจนปัญหาเรื่องการขอลดหรือยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ให้กับกองถ่ายทำภาพยนตร์ที่มาจากต่างประเทศ ตรงนี้ทำให้ในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ หรือภาพยนตร์จากฮอลลีวู๊ด เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย แต่หันไปใช้สถานที่ถ่ายทำที่ ออสเตรเลีย ,นิวซีแลนด์ ทดแทน เพราะได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่า และยังมีสตูดิโอถ่ายทำขนาดใหญ่มาตรฐานสากลด้วย
อย่างไรก็ตาม ปี 2548 ที่ผ่านมา มีรายได้จากการถ่ายทำภาพยนตร์ตลอดทั้งปีเพียง 1,138 ล้านบาท เติบโตเพียง 1% ทั้งที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะเติบโตถึง 10% ทั้งนี้เป็นเพราะปัจจัยลบเรื่องภัยก่อการร้ายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และปัญหาสภาพภูมิอากาศ เพราะปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีฝนตกมาก และยาวนาน บางพื้นที่มีน้ำท่วม ทำให้กองถ่ายไม่สามารถเข้าไปถ่ายทำภาพยนตร์ได้
สำหรับปีนี้ ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมามีรายได้จากธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 80% ซึ่งหากเทียบกับปี 2547 ก่อนเกิดสึนามิก็ยังมีอัตราเติบโตกว่าเล็กน้อย โดยกองถ่ายทำที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์โทรทัศน์ ภาพยนตร์โฆษณา และมิวสิควิดีโอ เช่น ภาพยนตร์ทีวีจากประเทศสหรัฐอเมริกา เข้ามาถ่ายทำประมาณ 3-4 เรื่อง มูลค่าเรื่องละ 150-200 ล้านบาท นอกจากนั้นก็มีภาพยนตร์เรื่องสั้นจากอินเดีย และ ญี่ปุ่น ที่ยื่นขออนุญาตเข้ามาจำนวนมาก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|