กองทุนรวมตราสารหนี้ยังขายได้ ยูโอบีดูดเงินเข้าพอร์ต1.5พันล้าน


ผู้จัดการรายวัน(12 เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

บลจ.4 ค่ายร่วมแชร์ส่วนแบ่งตลาดกองทุนตราสารหนี้เดือนเมษายน เผยหลังปิดไอพีโอเงินยังไหลเข้าต่อเนื่อง "ยูโอบี" ส่งกอง 6 เดือนดูดเงินเข้าพอร์ตอีก 1,500 ล้านบาท พร้อมส่งกองใหม่อายุ 1 ปี ลุยตลาดต่อทันที ด้านค่าย "บัวหลวง" แผ่ว ลูกค้าแบงก์แม่โยกเงินรับดอกเบี้ยเงินฝากขยับ ส่วน 2 ค่ายเล็ก "พรีมาเวสท์-เอเจเอฟ" ยังฟืด

จากการสำรวจตลาดกองทุนรวมตราสารหนี้ในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งมีกองทุนรวมเปิดขายหน่วยลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่จะเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นๆ เช่น อายุ 3 เดือนและ 6 เดือน ที่ยังได้รับประโยชน์จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยช่วงขาขึ้น และให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากโดยไม่ต้องเสียภาษี

โดยรายงานข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ไทย) จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากปิดการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (ไอพีโอ) ของกองทุนเปิด ยูโอบี ชัวร์ 6/6 เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา ปรากฏว่ากองทุนดังกล่าวสามารถระดมทุนได้ประมาณ 1,500 ล้านบาท จากมูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาท โดยลูกค้าที่ซื้อกองทุนส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าประจำของบริษัทที่ไม่ต้องการเสียโอกาสจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น และต้องการได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร

ทั้งนี้ กองทุนเปิด ยูโอบี ชัวร์ 6/6 เป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นอายุประมาณ 6 เดือน เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ ได้แก่ ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน ที่มีวันครบกำหนดอายุตราสารภายในหรือใกล้เคียงกับวันครบอายุของกองทุน โดยจะลงทุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน และมีนโยบายที่จะถือครองตราสารจนครบกำหนดอายุกองทุน ส่วนที่เหลือจะนำไปลงทุนในเงินฝากธนาคาร

อย่างไรก็ตาม หลังจากเปิดขายกองทุนเปิด ยูโอบี ชัวร์ 6/6 แล้ว บริษัทได้เปิดขายไอพีโอสำหรับกองทุนเปิด ยูโอบี ชัวร์ 12/4 ต่อทันที ซึ่งกองทุนดังกล่าว เป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นอายุ 1 ปี โดยมีมูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท เน้นลงทุนในตราสารภาครัฐบาล ได้แก่ ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย โดยกองทุนเปิด ยูโอบี ชัวร์ 12/4 จะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติทุกเดือนในอัตราไม่ต่ำกว่า 4.20% ต่อปี ของเงินลงทุนเริ่มแรกและไม่ต้องเสียภาษีจากผลตอบแทนที่ได้รับ และจะครบกำหนดอายุกองทุนในวันที่ 23 เมษยน 2550 ซึ่งกองทุนจะเปิดขายไปถึงวันที่ 17 เมษายน 2549 โดยหลังจากนั้นก็จะเปิดขายกองทุนเปิด ยูโอบี ชัวร์ 12/5 กองทุนตราสารหนี้ 1 ปีต่อทันทีในระหว่างวันที่ 17-24 เมษายน 2549

ด้านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง จำกัด เปิดเผยว่า กองทุนรวมบัวหลวงธนรัฐ 6/49 ที่ปิดขายไอพีโอไปเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา สามารถระดมทุนได้ประมาณ 1,000 ล้านบาทจากมูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาท โดยกองทุนดังกล่าวเป็นกองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ มีอายุประมาณ 5 เดือน ซึ่งหากกองทุนครบอายุกองทุนผู้ลงทุนก็จะได้รับเงินลงทุนและเงินจ่ายคืนอัตโนมัติคืนทั้งหมด โดยกองทุนคาดการณ์ผลตอบแทน 4.10% ต่อปี

ส่วนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) พรีมาเวสท์ จำกัด เปิดเผยว่า กองทุนปิดกรุงศรี-พรีมาเวสท์ คุ้มครองเงินต้น 7 (KPC7) ที่เน้นลงทุนในตราสารการเงินภาครัฐ พร้อมคุ้มครองเงินลงทุน และมีอายุการลงทุนสั้นประมาณ 3 เดือนซึ่งปิดขายกองทุนไปเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2549 สามารถระดมทุนได้ประมาณ 665 ล้านบาท จากมูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท โดยกองทุนดังกล่าวมีนโยบายลงทุนทั้งหมดในพันธบัตรรัฐบาล เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรหรือตราสารแห่งหนี้ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้ค้ำประกัน พันธบัตรหรือตราสารแห่งหนี้ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ออก ผู้รับอาวัล หรือผู้ค้ำประกัน

นายเพิ่มพล ประเสริฐล้ำ กรรมการผู้จัดการ บลจ.พรีมาเวสท์ กล่าวว่า การที่กองทุนระดมทุนได้ค่อนข้างน้อย สาเหตุหนึ่งอาจจะมาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งทำให้ผลตอบแทนขยับขึ้นมาใกล้กองทุนรวมมากขึ้น นอกจากนั้นยังเป็นทางเลือกในการออมทางหนึ่งของผู้ลงทุน อย่างไรก็ตาม กองทุนรวมยังได้เปรียบเงินฝากตรงที่ได้รับสิทธิประโยชน์ภาษี 15%

ทั้งนี้ สำหรับกองทุนกองต่อไปที่จะเปิดขายภายใต้สภาวะการณ์ดังกล่าว เชื่อว่ากองทุนระยะสั้นยังน่าสนใจอยู่ เช่น 3 เดือนและ 6 เดือน และถึงแม้ธนาคารพาณิชย์จะปรับดอกเบี้ยตามดอกเบี้ยอาร์/พี ในส่วนของดอกเบี้ยตราสารหนี้ก็ปรับขึ้นตามไปด้วย ซึ่งสำหรับบลจ.พรีมาเวสท์ คงจะเน้นกองทุนที่อายุสั้นๆ เช่น 3 เดือน แล้วโรลไปเรื่อยๆ เพื่อเพิ่มโอกาสให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนทุกๆ 3 เดือนที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยยังมีแนวโน้มปรับขึ้นไปอีก

ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยาเจเอฟ จำกัด (เอเจเอฟ) เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทได้ปิดขายหน่วยลงทุนสำหรับกองทุนเปิดอยุธยาพันธบัตรรัฐบาล 3 เอ็ม กองทุนตราสารหนี้ที่เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 เดือน โดยมีมูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท สามารถระดมทุนได้ประมาณ 651.51 ล้านบาท

ทั้งนี้ กองทุนเปิดอยุธยาพันธบัตรรัฐบาล 3 เอ็ม มีนโยบายการลงทุนทั้งหมดไปลงทุนในตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย หรือพันธบัตรหรือตราสารแห่งหนี้ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล หรือผู้ค้ำประกัน หรือพันธบัตรตราสารแห่งหนี้ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ออก ผู้รับอาวัลหรือผู้ค้ำประกัน ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีของกองทุน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.