พนักงานทีโอทียื่นฟ้องศาลปกครอง เลิกแปรรูปคืนสภาพองค์การโทรศัพท์ฯ


ผู้จัดการรายวัน(12 เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

พนักงานทีโอทีฟ้องศาลปกครอง “ เอาทีโอทีคืนไป เอาองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยคืนมา” อ้าง 6 ประเด็นหลักเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น, แปรรูปขัดเจตนารมณ์กฎหมาย, มีผลกระทบกับความมั่นคง ,คลื่นความถี่ที่เป็นสมบัติสาธารณะ,กรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทมีปัญหาคุณสมบัติ ด้านประธานบอร์ดทีโอทียันการแปรสภาพถูกกฎหมายทุกขั้นตอน

แหล่งข่าวจากบริษัท ทีโอที กล่าวว่าเมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมานายชัยพฤกษ์ สิทธิศักดิ์ พนักงานบริษัท ทีโอที กับพวกรวม 11 คนได้ยื่นฟ้องศาลปกครองสูงสุด คดีดำหมายเลขที่ ฟ.11/2549 โดยมีความประสงค์จะขอฟ้อง สำนักนายกรัฐมนตรี ที่1,นายกรัฐมนตรี ที่ 2,กระทรวงไอซีที ที่ 3,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ที่4 และคณะรัฐมนตรีที่ 5 เป็นผู้ถูกฟ้องคดี

โดยผู้ฟ้องคดีต้องการ 1.ขอให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2545 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค. 2545 เป็นต้นไป 2.มีคำพิพากษาให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยกลับคืนสู่ฐานะเดิมกล่าวคือให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2497 ตามเดิมและ3.มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ไปดำเนินการจดทะเบียนเลิกบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นับแต่ศาลได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกายกเลิกกฎหมายว่าด้วยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2545 และหากผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ผู้ฟ้องคดีขอถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนต่อนายทะเบียนกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ต่อไป

ทั้งนี้ผู้ฟ้องคดีบรรยายคำฟ้องหรือให้เหตุผลในการฟ้องครั้งนี้ประกอบด้วย

1.ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน คณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไม่ได้ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาไทยที่มีการวางจำหน่าย อย่างแพร่หลายติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วัน และเรื่องที่ประกาศในหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวจะต้องสรุปในเรื่องที่จะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมิใช่กระทำเพียงการระบุเฉพาะหัวข้อเรื่องที่จะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและข้อมูลตัวเลขเกี่ยวกับกิจการของโทรศัพท์สั้นๆเพียงบางประการ โดยมิได้จัดทำสรุปเรื่องเกี่ยวกับการร่างพระราชกฤษฎีกาที่จะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่ามีสาระสำคัญเช่นใดบ้าง เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมข้อมูลสำหรับแสดงความคิดเห็นได้ตรงตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 และระเบียบคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2543

2.พระราชกฤษฎีกาขัดต่อพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 และกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 กล่าวคือพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจมีเจตนารมณ์ให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจที่มีกิจการและการบริหารไม่คล่องตัวหรือไม่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่มีการขาดทุนต่อเนื่อง จนทำให้เป็นภาระด้านงบประมาณของประเทศชาติ รวมทั้งมิได้มีเจตนารมณ์ที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เป็นกิจการด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชน เหมือนกิจการโทรศัพท์ซึ่งเกี่ยวพันกับคลื่นความถี่วิทยุโทรคมนาคม อันเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 40 ซึ่งรัฐมีหน้าที่ต้องให้บริการสาธารณะโดยไม่หวังผลกำไรและกิจการโทรศัพท์เป็นกิจการที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศชาติ จึงจำเป็นที่รัฐจะต้องดำเนินการเอง

การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ร่วมกันตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อแปรสภาพองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจแบบใหม่ ทั้งที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่ไม่มีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพในการบริหารงานหรือการขาดทุนต่อเนื่องและเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะ ทำให้การโอนบรรดากิจการ สิทธิ สินทรัพย์ทั้งหมดที่มีอยู่ไปยังบริษัท ทีโอที ซึ่งหมายความรวมถึงทรัพยากรของชาติ อาทิ เสาส่งสัญญาณ สถานีทวนสัญญาณโทรคมนาคมพร้อมอุปกรณ์เครื่องรับส่งวิทยุโทรคมนาคม เสาโทรศัพท์และเคเบิลที่อยู่ในที่สาธารณะ อาคารชุมสายโทรศัพท์ อาคารอุปกรณ์โทรคมนาคม ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ตลอดจนสิทธิความเป็นเจ้าของเคเบิลใต้น้ำที่จะตกเป็นกรรมสิทธิซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณ 5 ปี ทรัพย์สินดังกล่าวมีอยู่รวมทั่วประเทศเกือบ 2 พันแห่ง จึงไม่อาจนำไปแปรสภาพเพื่อให้เอกชนหรือนักลงทุนต่างชาติมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารหรือถือหุ้นหรือแทรกแซงได้

3.เมื่อนำบริษัท ทีโอที เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจทำให้ต่างชาติหรือบุคคลอื่นที่ไม่หวังดีต่อประเทศชาติเข้ามาร่วมกันซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นการแทรกแซงในกิจการวิทยุโทรคมนาคมซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 40 หรือไม่ว่าจะเป็นกรณีที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเคยให้สัมปทานแก่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หากต่อมาได้ไปจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนเมื่อนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ หากต่างชาติหรือบุคคลอื่นที่ผู้ไม่หวังดีอาจเข้าไปซื้อหุ้นในบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานเกี่ยวกับความถี่อันเป็นทรัพยากรของชาติตามกฏหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 40 ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยของประเทศ

4.การโอนอำนาจที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเคยมีอยู่ตามกฎหมายไปยังบริษัท ทีโอที ทำให้ไม่มีการแข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรม

5.หากเกิดข้อพิพาทระหว่างบริษัท ทีโอที กับบริษัทรับสัมปทานที่ต่างชาติหรือผู้ไม่หวังดีต่อประเทศชาติ โดยใช้อำนาจเงินเข้าไปซื้อหุ้นของบริษัทรับสัมปทานนั้น แม้บริษัท ทีโอที จะใช้อำนาจมหาชนในการเลิกสัญญากับบริษัทผู้รับสัมปทาน หากเกี่ยวข้องกับความมั่นคงและความปลอดภัยของชาติก็เป็นเรื่องที่จะมีประเด็นข้อโต้เถียงกันนานเพื่อหาข้อยุติ เช่น บริษัท ทีโอที ไม่มีอำนาจหรือแก้ไขบอกเลิกสัญญาเพราะเป็นบริษัทเอกชน โดยอาศัยหลักที่ว่าการแข่งขันด้านโทรคมนาคมอย่างเสรีและเป็นธรรม ซึ่งจะทำให้รัฐอาจสูญเสียความมั่นคงของชาติอันเนื่องจากมีผู้อื่นเข้าถือหุ้นในบริษัทผู้รับสัมปทาน

6.คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท มีนายกิตติ อยู่โพธิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นรองปลัดกระทรวงคมนาคม (ด้านสื่อสาร) เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย สังกัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งกำกับดูแล ดังนั้นย่อมเห็นได้ว่ารองปลัดกระทรวงคมนาคมมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการที่รัฐวิสาหกิจจะเปลี่ยนทุนเป็นหุ้นอย่างเห็นได้ชัดจึงขัดต่อมาตรา 9 พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจซึ่งกำหนดคุณสมบัติกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามกล่าวคือเป็นหรือภายในระยะเวลา 3 ปีก่อนวันได้รับแต่งตั้ง เคยเป็นกรรมการ หรือผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการจัดการหรือผู้มีส่วนได้เสียในนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน ผู้ร่วมลงทุน หรือมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการรัฐวิสาหกิจที่จะเปลี่ยนทุนเป็นหุ้น

การขัดมาตรา 9 ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นสาระสำคัญทำให้กระบวนการแปรสภาพรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นโมฆะเสียเปล่ามาตั้งแต่แรกเริ่ม ในทางกฎหมายไม่อาจทำให้นิติกรรมที่ทำขึ้นสมบูรณ์ได้เลย

“ทั้งนี้ศาลปกครองรับเรื่องไว้แล้ว และอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา”

อย่างไรก็ตามนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานบอร์ดทีโอทีกล่าวถึงการแปรสภาพองค์กรจากเดิมที่เป็นองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย มาเป็นบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด ( มหาชน ) และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทีโอที จำกัด ( มหาชน ) ว่าเป็นการแปรสภาพที่ดำเนินการตามกฎหมายทุกขั้นตอน โดยกรรมการที่เกี่ยวข้องในการแปรสภาพไม่มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆทั้งสิ้นหากเปรียบเทียบกับ บริษัท กฟผ. จำกัด ( มหาชน ) ที่ศาลปกครองสั่งระงับการแปรรูปไปแล้ว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.