"ใบแดง บิ๊กหอย !"

โดย สันทิฎฐ์ สมานฉันท์
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ธวัชชัย สัจจกุล ลูกผู้ชายก็ยังเป็นลูกผู้ชาย นักต่อสู้ที่มีเรื่องราวเล่าขานมากมาย ประสบการณ์ในเชิงธุรกิจ ทั้งบอบช้ำแสนสาหัส แต่สุดท้ายก็โชคช่วย บุรุษขี้โม้ นักพนัน แต่กลับมีสาระจับต้องได้และน่าศึกษา ราว 4 ปีมาแล้ว ที่เขาเข้ามารับคำชมและค่ำด่า ภาพของเขาในสายตาแฟนบอลก็ยังดูดี และเป็นผู้ที่ฝากความหวังไว้ได้ ทีมไทยต้องถึงบอลโลก ปี ค.ศ. 2002 บิ๊กหอยยังมั่นใจอย่างนั้น แต่วิบากกรรมช่วงนี้ดูย่ำแย่ บิ๊กหอยถูกรุมกระหน่ำจากรอบด้าน สิงห์ตัดงบ เพื่อนเก่า ๆ ตามมาไถ่ถามทุกข์สุข สโมสรประท้วง ถิรชัยขึ้นทาบรัศมี อาจารย์วิจิตรที่ว่าสายสัมพันธ์แนบแน่น วันนี้ในใจคิดอย่างไรไม่รู้ ความมั่นคงของบิ๊กหอย ที่คิดว่าทำอะไรก็ได้ในสมาคมชักไม่แน่นอนเสียแล้ว บิ๊กหอยจะบรรเลงเพลงเตะได้จบแมทต์หรือไม่ อดใจรออีกไม่นาน

ธวัชชัย สัจจกุล ที่ผู้คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยในนามของบิ๊กหอย และรับรู้ว่าเงินสิบยี่สิบล้านที่หยิบยื่นให้กับทีมชาติในแต่ละปีนั้นถือเป็นเรื่องเล็กสำหรับเขา แต่น้อยคนที่จะรู้ว่า กว่าเขาจะมีวันนี้ได้ก็เลือดตาแทบกระเด็น

เด็กชายอ๊อด อยู่ในครอบครัวฐานะปานกลางในยุคหลังสงครามโลก ที่มีพี่น้องถึง 12 คน เมื่อครอบครัวใหญ่ พ่อแม่ก็ยิ่งต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวังและเฉพาะสิ่งจำเป็นเท่านั้น เพื่อที่จะส่งลูก ๆ ให้ได้เรียนหนังสือกันทุกคน ชีวิตของบิ๊กหอยในวัยเด็กจึงนับว่าขาดแคลนหลายสิ่งหลายอย่าง

อำนวยศิลป์ พระนคร คือที่แรกของเด็ชายอ๊อด ซึ่งในวัยประถมนั้นเขาสอบได้ที่หนึ่งที่สองมาตลอด แต่พอเข้าเรียนในระดับมัธยมที่สวนกุหลาบ การเรียนตกลงทันทีเพราะเริ่มติดฟุตบอลและสุดท้ายก็ไม่สามารถสอบเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้

แต่เพราะความฝันของบิ๊กหอยที่อยากจะเป็นวิศวกรอย่างรุ่นพี่ ๆ พ่อซึ่งเป็นคนหัวสมัยใหม่ เลยตัดสินใจเอาบ้านไปจำนองเพื่อส่งให้บิ๊กหอยไปเรียนวิศวะที่ฟิลิปปินส์ ที่หมาวิทยาลัยมาปัว (MAPUA INSTITUTE OF TECHNOLOGY)

จบวิศวะมาจากฟิลิปปินส์ ภาระหนักอึ้งก็ตกกับบิ๊กหอย เมื่อพ่อป่วยเป็นอัมพาต

บิ๊กหอยต้องทำงานเลี้ยงครอบครัวส่งน้อง ๆ เรียน กัดฟันต่อสู้มาหลายปี แม้ต่อมาจะแต่งงานกับสุพัทราแล้ว ก็ยังคงต้องยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ ดีที่ว่าค่าใช้จ่ายของครอบครัวใหม่ สุพัทราช่วยรับหน้าที่แบ่งเบาไป

สู่ "แองโกล" จุดพลิกครั้งสำคัญ

หลังแต่งงานได้ 4-5 ปี ชะตาชีวิตบิ๊กหอยก็เริ่มดีขึ้น เมื่อตัดสินใจลดเกรดตนเอง จากวิศวกรโยธา มาเป็นเซล เอ็นจิเนียริ่ง ซึ่งสมัยนั้นถือว่าต่ำชั้นมาก ขายของอยู่ที่บริษัท จาร์ดีน ประมาณหนึ่งปีก็ตัดสินใจลาออก เพราะเงินเดือนขึ้นแค่ 50 บาท ทั้งที่ทำขอดขายปีนั้นถึง 2 ล้านบาท โดยย้ายมาอยู่ที่บริษัท แองโกล

งานที่แองโกล บิ๊กหอยได้ดูแลสินค้าระบบดับเพลิงเพียงอย่างเดียวโดยได้เงินเดือน 7,500 บาทและค่ารถอีก 1,500 บาทรวมแล้วก็ 9,000 บาท ซึ่งถือว่าเริ่มคล่องตัวขึ้นในเรื่องเงินทอง

เมื่อบิ๊กหอยย้ายมาอยู่ที่นี่ ที่เก่าก็หาคนขายมาใหม่ไม่ได้ดีเท่า ตลาดระบบดับเพลิงจึงเหมือนอยู่ในมือบิ๊กหอยเกือบทั้งหมด เพราะช่วงนั้นมีผู้ขายแค่สองรายเท่านั้น แล้วก็เหมือนโชควิ่งชนบิ๊กหอยเข้าอย่างจัง

ในช่วงนั้นบังเอิญมีไฟไหม้โรงแรมใหญ่ที่ถนนวิทยุ มีคนตายเกือบ 60 คน และเป็นไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่สุดในสมัยนั้นทำให้คนกลัวไฟกันใหญ่ บิ๊กหอยเลยขายดีอย่างมากจนกลายเป็นเซียนขายระบบดับเพลิง และถูกส่งไปดูงานที่อังกฤษอเมริกาพอกลับมาก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองเป็นมือตลาดเต็มตัว รู้แล้วว่าต้องขายใครขายอย่างไรจะว่าไปแล้วจุดพลิกผันครั้งสำคัญของชีวิตก็อยู่ที่ตรงนี้

บิ๊กหอยทำงานที่แองโกลได้สัก 3-4 ปี ก็สลัดคราบลูกจ้าง ออกมาเป็นเถ้าแก่เต็มตัว ด้วยความมั่นใจเต็มร้อย

"โรส เอ็นจิเนียริ่ง" คือบริษัทแรกที่บิ๊กหอยเปิดขึ้นมาด้วยทุนจดทะเบียนสามหมื่นบาท เสนอระบบดับเพลิงไปยังธนาคารศรีนคร ซึ่งกำลังก่อสร้างสำนักงานใหญ่ที่สวนมะลิ โดยเสนอผ่านทางเพื่อนซึ่งเป็นวิศวกรคุมงานก่อสร้างที่นี่อยู่สังเกตชื่อบริษัท จะเห็นว่าบิ๊กหอยอนุรักษ์นิยมไม่เบาทีเดียว และรักสถาบันคือโรงเรียนสวนกุหลาบ พอตัวคนหนึ่ง

แต่ครั้งนั้นอุเทน เตชะไพบูลย์ไม่ได้ผ่านงานชิ้นนี้ให้เพราะเห็นว่าเป็นบริษัทใหม่และเล็กเกินไป ไม่น่าเชื่อถือ

บิ๊กหอยต้องดิ้นรนต่อไป แต่ด้วยความที่มีเพื่อนมาก และเพื่อนรัก ครั้งนี้บิ๊กหอยได้อ้างเครดิตจากผลงานของบริษัทแห่งหนึ่งในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นของเพื่อนชาวสิงคโปร์คนหนึ่ง

อ้างสิงคโปร์ ธุรกิจแรกจึงได้เกิด

บริษัทที่ว่าก็คือ ฮาร์ด เอ็นจิเนียริ่ง (สิงคโปร์) ซึ่งเป็นบริษัทที่พอจะมีชื่อเสียงและน่าเชื่อถือ ซึ่งเจ้าของก็รับปากว่าจะช่วยทุกอย่าง เพียงแต่ยังไม่เข้าถือหุ้นด้วยเท่านั้นแต่แค่นั้นก็พอแล้ว เพราะบิ๊กหอยได้เปลี่ยนชื่อบริษัทจาก โรสฯ เป็นฮาร์ด เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) ทันทีพร้อมทั้งส่งแบบไปยังธนาคารศรีนครอีกครั้งโดยอ้างถึงแคตาล็อค และผลงานของบริษัทที่สิงคโปร์ควบไปด้วย ที่สุดเลยได้งานนี้มา และเป็นจุดเริ่มต้นครั้งแรกของกิจกรรมทางธุรกิจที่บิ๊กหอยดำเนินด้วยความเป็นเจ้าของไม่ใช่ในฐานะลูกจ้าง

"จนถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังคบเพื่อนชาวสิงคโปร์คนนี้อยู่ ซึ่งจริง ๆ แล้วงานครั้งนั้นเขาก็ไม่ได้รับส่วนแบ่งอะไรเลย" บิ๊กหอยกล่าวเหมือนนึกถึงหนี้บุญคุณที่ทำให้เขาได้เกิดในวงธุรกิจ

นับวันบิ๊กหอบเริ่มมีฐานะขึ้น และด้วยความที่เป็นวิศวกรสายโยธา เขาจึงคิดว่าน่าจะเข้ามาสู่วงการก่อสร้างและงานระบบสาธารณูปโภค ซึ่งจากการคืบมาสู่ตรงนี้ทำให้บิ๊กหอยประสบวิกฤตทางธุรกิจหนัก ๆ ถึงสามครั้งด้วยกัน และถ้าเป็นคนอื่นที่ใจไม่แข็งและเป็นนักสู้อย่างบิ๊กหอยก็ไม่รู้ว่าป่านนี้จะมีฐานะอยู่อย่างไร

ประสบการณ์ที่บอบช้ำ

วิกฤตแรกเมื่อเข้ารับงานก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรรประมาณ 450 หลัง ปรากฎว่าเจ้าของโครงการทำไปขายไป ที่สุดก็เริ่มจ่ายเช็คล่วงหน้าครั้งละล้านสองล้าน บิ๊กหอยก็ต้องเช็นเช็คสั่งซื้อของอีกทอดหนึ่งแต่เป็นครั้งละ 5-6 หมื่นบาท ต่อมาเช็คจากเจ้าของโครงการเด้งขึ้นมา ของบิ๊กหอยก็เลยเด้งตามไปด้วย แต่เป็นว่าของเจ้าของโครงการเด้งแค่ใบเดียวแต่ของบิ๊กหอยเด้งเป็นสิบใบ

ด้วยเหตุที่บิ๊กหอยเป็นคนยอมไกล่เกลี่ย ที่สำคัญมีความตั้งใจที่เมื่อพลาดแล้วก็เผชิญความจริง การประนีประนอมเพื่อผัดผ่อนหนี้แม้จะใช้แวลาบ้าง แต่เจ้าหนี้ทุกคนก็ให้โอกาสบิ๊กหอยจึงผ่านจุดนั้นมาได้

วิกฤตครั้งที่สองก็เมื่อมารับงานระบบในอาคารสูง ที่สำนักงานใหญ่ธนาคารกสิกรไทย พหลโยธิน ครั้งนั้นเป็นผู้รับเหมาย่อยโครงการประมาณ 60 ล้านบาทแต่เก็บเงินจากผู้รับเหมาที่จ่ายเงินให้ไม่ได้ตอนนั้นก็เกือบยี่สิบล้านบาท คือพลาดแล้วก็ก้มหน้ารับกรรมไป แต่ก็ผ่านมาได้เพราะใจยังสู้

ในเรื่องนี้ โอม สัจจกุล น้องชายคนเล็กของบิ๊กหอย ที่มารับหน้าที่เป็นผู้จัดการโรงงาน ที่บริษัทอุตสาหกรรมถึงแก๊ส ธุรกิจหลักอันหนึ่งของบิ๊กหอย ได้กล่าวต่อ "ผู้จัดการ" เมื่อครั้งเข้าชมโรงงานผลิตถึงแก๊สแห่งนี้ว่า ครั้งที่ขาดทุนกับงานระบบที่ธนาคารกสิกรไทยนั้น ดูเหมือนจะมีเรื่องค่าเงินบาทเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

"ราวปี 2524-2525 ตอนนั้นรับงานมาแล้วแต่พอค่าเงินบาทลด ของที่ต้องสั่งเข้ามาราคาพุ่งขึ้นทันที เพราะเป็นของที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ซึ่งก็ต้องยอมรับสภาพ คุณธวัชชัยเขาก็ยอมรับความจริง ก็กัดฟันสู้มา แล้วแบงก์ซึ่งเราไปกู้มาลงทุนก็เข้าใจเพราะตอนนั้นส่วนใหญ่รายที่เจ็บก็มาจากสภาพของธุรกิจจริง ๆ เห็นกันอยู่ว่าเป็นเพราะเรื่องลดค่าเงินบาท จริง ๆ แล้วที่ผ่านมาไม่เคยหนีหนี้ แบงก์ก็เลยยอมให้เวลาบ้าง" โอมกล่าว

มาถึงวิกฤตครั้งสุดท้าย ซึ่งหลังจากครั้งนั้นมาจวบจนปัจจุบัน บิ๊กหอยดูจะมีแต่หนทางสดใสในด้านธุรกิจ

"ครั้งสุดท้ายรับงานระบบที่มาบุญครองซึ่งระหว่างนั้นงานด้านอสังหริมทรัพย์มันฟุบทำไปแล้วไม่มีคนซื้อและปัญหาอีกหลายอย่าง เจ้าของโครงการเลยจ่ายมาเป็นพื้นที่ห้อง เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไรขายก็ไม่ออกจนตอนหลังตลาดเปิดอีกครั้งจึงค่อยขายใช้หนี้เขาไป" บิ๊กหอยกล่าว

เมื่อผ่านพ้นวิกฤตมาได้ บิ๊กหอยก็เริ่มต้นเดินทางต่อไป โดยเน้นหนักไปในด้านงานระบบในอาคารสูงเพียงอย่างเดียว ส่วนงานรับเหมาก่อสร้างนั้นเลิกโดยเด็ดขาดและได้เปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็น "อินโนเวสท์ ฮาร์ท(ประเทศไทย)" ซึ่งต่อมาก็รับงานในอาคารสูงอีกหลายโครงการ ล่าสุดกำลังจะติดตั้งในอาคารใบหยกสอง กิจการของบิ๊กหอยตรงนี้เจริญก้าวหน้าไปมากเรียกได้ว่า ฐานะความเป็นอยู่เข้าขั้นเสี่ยเต็มตัวและความมั่นคงทางธุรกิจก็เริ่มชัดเจนขึ้น ยิ่งมีประสบการณ์อย่างช่ำชองถึงสามครั้งในอดีต ยิ่งทำให้จังหวะของเขาแข็งแกร่งโอกาสพลาดเหลือน้อยเต็มที

"ฟองสบู่" ยุคทองของบิ๊กหอย

ธุรกิจยิ่งสดใส ดูเหมือนลาภยิ่งวิ่งเข้าหาบิ๊กหอย เพราะในช่วงปี 2530 ในยุคเกี่ยวเนื่องมาถึงรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เศรษฐกิจประเทศไทยร้อนสุดขีด แม้จะเป็นยุคฟองสบู่ก็ตามที แต่บิ๊กหอยก็ฉกฉวยโอกาส จากตรงนั้นไปมากทีเดียวจนเรียกได้ว่า ลืมตาอ้าปากอย่างหายห่วงและเติบโตจนมีธุรกิจมากมายในระดับพันล้าน ก็เพราะตรงนั้น

"ช่วงที่หุ้นบูม ที่ดินบูม พวกสิงคโปร์ที่เป็นเพื่อนกัน เลยมาลงทุนที่เมืองไทยในนามของผมทั้งซื้อที่ เล่นหุ้น เพราะเชื่อใจว่าผมไม่โกง ได้กำไรก็แบ่งกัน บางครั้งซื้อที่มายังไม่ทันจ่ายเงินเลยก็มีคนมาซื้อต่อแล้ว มันก็เป็นเงินไปหมด พอมีเงินแล้ว ไอ้ที่เขาเรียกว่าเงินต่อเงินนี่มันจริง"

ยุคทองตรงนั้น แม้บิ๊กหอยไม่ได้กล่าวชัดเจนว่าเบ็ดเสร็จได้มาเท่าไรทั้งจากการเล่นที่และเล่นหุ้น แต่เข้าใจว่าเป็นหลักร้อยล้านแน่นอน เพราะจากยุคนั้นทำให้ต่อมาบิ๊กหอยมีเงินซื้อหุ้นเก็บไว้หนึ่งร้อยล้านบาท เล่นกอล์ฟพนันหลุมละเกือบล้านใช้เงินได้สบายมือ ซื้อที่ดินเก็บไว้อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่เปิดเผยว่าจำนวนเท่าไร ที่ไหนบ้าง แต่คาดว่าน่าจะมีหลักร้อยไร่ขึ้นไป

สำหรับหุ้นมูลค่าร้อยล้านบาทที่ซื้อไว้นั้นมาถึงวันนี้ บิ๊กหอยพูดถึงแบบไม่รู้สึกเดือดร้อนว่า มูลค่าหล่นวูบมาอยู่ 40-50 ล้านเท่านั้น แต่ด้วยความที่เป็นนักเล่นหุ้น ที่ระยะหลังถือไว้ค่อนข้างยาว จึงไม่สะทกสะท้านกับสภาพตลาดที่ผกผันมากนัก เพราะคิดว่าวันหนึ่งราคามันก็จะกลับมาอีก แต่กระนั้นบิ๊กหอยก็ขอหยุดก่อนกับงานอดิเรกตรงนี้

"ซื้อไม่ซื้อแล้วครับตอนนี้ เพราะอำนาจการใช้เงินของผมนี่ ผมคิดว่าปีหนึ่งอยู่ประมาณ 20-30 ล้านบาท ผมก็ใช้อยู่ตรงนั้น พอเวลาหุ้นมันตกมาก็หาเงินไปใช้หนี้ดอกเบี้ยบ้างขายออกไปบ้าง"

ส่วนการซื้อที่ดินเก็บไว้ ไม่มีใครเดาใจได้ว่าบิ๊กหอยคิดอะไร และคำว่า "เงินต่อเงิน" นั้น ยังมีมนต์ขลังสำหรับบิ๊กหอยอีกหรือไม่ เก็บเป็นมรดก รอขาย หรือรอให้ถึงโอกาสเหมาะที่จะทำโครงการใหญ่

"ผมขี้เกียจ เหนื่อย อีก 7-8 ปี ผมก็อายุ 60 แล้ว ช่วงนั้นผมก็ทำอะไรไม่ได้มันก็ไปจมอยู่ตรงนั้น ผมอาจจะกำไร 300 ล้าน ถ้าผมเป็นคนชอบรักทำงาน ผมก็เอา 300 ล้านหมุนกลับเข้าไปใหม่ แล้วในที่สุด ผมก็ตายอยู่กับตรงนั้น ตายกับงาน กับปัญหา"

มั่นคงแล้ว ไม่ต้องเสี่ยง

มุมของบิ๊กหอยนั้น เห็นว่าถ้าจะรุกเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เต็มรูปแบบนั้นจะต้องมีสายป่านยาว เข้ามาอย่างถูกจังหวะ โดยยกตัวอย่างว่า พวกที่อยู่ไม่ได้ คือ มือใหม่ และพวกไม่ใหญ่พอ แต่มาถึงมาใหญ่เลย ก็ยืนไม่ได้ นอกจากนี้ความมีโชคก็ประกอบด้วย และสำหรับตัวเขาเอง ทุกวันนี้ก็สุขสบายแล้ว มีธุรกิจหลักอยู่ในมือ 3 แห่ง มีเงินใช้จ่าย 40-50 ล้านบาท ซึ่งก็นับว่ามากพอแล้ว แต่ถ้าเขาลองเข้าไปทำโครงการพันล้านตรงนี้จะเล็กทันที แล้วแทนที่เขาจะได้ทำสิ่งที่ตนเองรักได้หมุนเงินอย่างสบาย ๆ มันก็ต้องไปจมอยู่ตรงนั้น เพื่อจะรอว่าโครงการนั้นเสร็จขายหมด ชีวิตบั้นปลายก็คงไม่มีความหมายอะไร ที่สำคัญไม่ใช่แนวของเขา

แต่ถ้ามองในแง่ของประสบการณ์บอบช้ำในอดีตอาจเข้าใจได้ว่าบิ๊กหอยคงเข็ดที่จะเข้ามาสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่การขยายธุรกิจหลักอีก 2 แห่งหลังจากฟื้นฟูจากจุดศูนย์จนกลับมานับหนึ่งสองสามได้สำเร็จ ก็ยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า และต้องมั่นใจอย่างที่สุดเท่านั้นการขยายงานจึงเกิด

"คงไม่ใช่ว่ากลัว แต่น่าจะเป็นการรอโอกาสมากกว่า และคงเห็นว่าทุกวันนี้มั่นคงแล้ว การเสี่ยงก็ไม่จำเป็น" โอมพูดถึงพี่ชาย

โอม ยกตัวอย่างถึงการขยายงานในโรงงานผลิตถึงแก๊สว่า นับจาก 5 ปีก่อนที่บิ๊กหอยมาซื้อกิจการแล้ว ก็ขยายกำลังการผลิตมาเรื่อย จากเดิมผลิตที่ประมาณ 300,000 ถึงต่อปี ก็เพิ่มมาตลอดจนปัจจุบันอยู่ที่ 1 ล้านถึงต่อปี และจะเพิ่มขึ้นอีก 20% ภายในปีนี้หรืออย่างช้าคือปีหน้า ซึ่งจะอยู่ได้อีก 3 ปี แต่ถ้าจะรุกอย่างดุดันก็ควรจะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีก 50% แต่บิ๊กหอยไม่เลือกที่จะทำอย่างนั้น เพราะเสี่ยงเกินไป

โอมอธิบายว่า ธรรมชาติของตลาดถึงแก๊สนอกจากจะสั่งซื้อเป็นไตรมาสหรือเป็นปีแล้ว ยังพบว่าตลาดส่งออกจะบูมในช่วงปลายปีเท่านั้น คือ ที่อังกฤษกับออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของไทยและนอกจากนี้ถ้ามองอย่างผิวเผินอาจพบว่าตลาดมีแนวโน้มสดใส ขยายตัวอย่างมาก แต่ถ้าดูให้ดีแล้วจะเห็นว่ายังมีความไม่แน่นอนอีกมาก การเพิ่มกำลังการผลิตแค่ 20% ถือว่าปลอดภัยที่สุด และป้องกันปัญหาการปลดคนงานในอนาคตด้วย ถ้าธุรกิจซบเซา

ความไม่แน่นอนนั้นน่าจะมาจากการมองอดีตที่ว่าครั้งหนึ่งตลาดถ้งแก๊สยังเล็กอยู่มาก และต่อมาผู้คนนิยมใช้มากขึ้นตลาดจึงขยายตัว เช่นกันเทคโนโลยีของโลกพัฒนาไปเรื่อย ๆ ไม่แน่ว่าอุปกรณ์หุงต้มในอนาคตอันใกล้อาจจะพัฒนาขึ้นจนถึงแก๊สแทบไม่มีตลาดเลยก็ได้ ที่สำคัญในขณะนี้แนวโน้มของธุรกิจซ่อมบำรุงถึงแก๊สก็เริ่มกระเตื้องขึ้นมาและมีทิศทางที่สดในอยู่มาก ตรงนี้ก็จะเป็นคู่แข่งที่สำคัญของอุตสาหกรรมผลิตถังแก๊สทั้งระบบ

2 กิจการหลักได้มาแบบมือเปล่า

นอกจากโรงงานถังแก๊สแล้ว โรงงานประกอบแอร์ก็เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ถือเป็นตัวหลัก และได้มาหลังจากยุคทองได้จบสิ้นไป ซึ่งที่นี่เป็นโรงงานแรกและนำไปสู่การได้มาซึ่งโรงงานถังแก๊ส

"คอนโซลิเดเต็ด อีเลคทริค" คือ บริษัทที่ทำการประกอบแอร์ และครั้งหนึ่งเคยอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แต่ถูกถอดออกจากตลาดเพราะขาดทุน และถูกธนาคารยึด เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน จากนั้นกลุ่มทุนกลุ่มหนึ่งจากสิงคโปร์จึงไปซื้อมาทำต่อ ไม่นานนักก็ได้ขายต่อให้นักธุรกิจไทยคนหนึ่งขายเหมือนให้ฟรี

บิ๊กหอยคือนักธุรกิจไทยคนนั้น

"เขาก็จะขายให้ถูก ๆ ก็เหมือนกับว่าเราทำโรงงานให้เขา ขายเกือบ ๆ ไม่ต้องจ่ายเงินน่ะ เป็นเพื่อนกัน เอ็งทำไปก่อน เอ็งทำได้ก็ค่อยเอาเงินมาจ่าย ก็เหมือนกับได้ฟรี ผมก็ซื้อเอาไว้ 7-8 ปีมาแล้ว ก็มาทำต่อทำจากยอดขาย 40-50 ล้านบาท เดี๋ยวนี้ยอดขาย 700-800 ล้านบาทก็ทำส่งให้หลายยี่ห้อ แคเรียร์, โกลบอกซ์ และก็ส่งออกด้วย"

จากโรงงานประกอบแอร์ มีเหตุให้บิ๊กหอยต้องเข้ามาจับอุตสาหกรรมผลิตถึงแก๊สอย่างชนิดที่ว่าจำใจปฏิเสธได้ยาก

"ผมก็ไปซื้อบริษัทนี้มาประมาณ 5 ปีได้แล้ว ซื้อมาจากแบงก์ทหารไทย เดิมเจ้าของเก่ากู้เงินแบงก์มาแล้วก็ขาดทุน แต่แบงก์เขาก็ไม่เชิงยึดนะ แต่เจ้าของเก่าเขาไม่อยากทำต่อธนาคารเขาก็มาขอให้ผมซื้อไปผมก็ซื้อ"

ภาวะจำยอมนั้น มีเหตุเพราะว่าตอนที่บิ๊กหอยซื้อโรงงานประกอบแอร์มานั้นจำเป็นที่จะต้องใช้เงินทุนในการฟื้นฟู รวมถึงหนี้สินเก่าที่ยังค้างอยู่กับธนาคารกรุงเทพและธนาคารกสิกรไทยจำนวนหนึ่ง ที่สุดจึงได้เข้ามาเจรจากับธนาคารทหารไทย แล้วยกหนี้มาไว้ที่นี่ทั้งหมด จึงกลายเป็นเสมือนบุญคุณกัน

นอกจากนี้ธนาคารทหารไทยก็รู้ตื้นลึกหนาบางทั้งหมดว่า โรงงานประกอบแอร์เป็นอย่างไร มีหนี้เท่าไรและเหตุใด ซึ่งต่อมาบิ๊กหอยได้ดำเนินการฟื้นฟูโรงงานประกอบแอร์ จนที่สุดภายในระยะ 2 ปี ก็เริ่มลืมตาอ้าปากได้ นี่จึงเป็นประการหนึ่งที่ธนาคารทหารไทย มองมาที่บิ๊กหอย เพื่อให้เข้ามาฟื้นฟูบริษัท อุตสาหกรรมถังแก๊สจำกัด ซึ่งขณะนั้นประสบปัญหาอย่างหนักถึงขั้นถูกสำรองหนี้สูญเลยทีเดียว

"พอดีแบงก์เขามีปัญหากับถังแก๊สเขาก็เรียกผมไปถาม ให้ช่วยดูนี่หน่อยสิจัดทีมบริหารเข้ามา ผมก็บอก ผมเลยมาแล้ว เขาก็บอกงั้นช่วยซื้อไปหน่อย ผมบอกผมทำถึงแก๊สไม่เป็น เขาบอกธุรกิจก็เหมือนกันมันก็งานเหล็กเหมือนกัน ถ้าพูดกันตรง ๆ ภาษาตลาด แบงก์เขาบิดแขนให้ผมซื้อในทำนองว่าคุณมีปัญหา คุณมาหาผม ผมช่วยคุณ ผมมีปัญหาบอกให้คุณช่วย คุณไม่ช่วยผม วันหลังเราอาจจะมีปัญหากัน"

บิ๊กหอยกล่าวถึงเหตุจำเป็นที่กลายเป็นความจำใจรับความร่ำรวยในเวลาต่อมา

แม้ว่าเป็นการจำยอม หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ถ้ามองในรายละเอียดของการซื้อขายครั้งนั้น บิ๊กหอยก็ยังนับว่าคุ้มค่า

"ผมซื้อบริษัทนี้มา ซึ่งถ้าสร้างใหม่แล้วบริษัทนี้ประมาณ 300-400 ล้านบาท แต่ผมซื้อมาผมใช้เงิน 3 ล้านบาทเท่านั้น ตอนนั้นมีหนี้อยู่ประมาณ 200 กว่าล้าน ซึ่งถือว่าโอเคเป็นหนี้หมุนเวียนธรรมดา" บิ๊กหอยกล่าวถึงความโชคดีของตนอีกครั้งในการซื้อกิจการมาทำ เหมือนได้มาแบบมือเปล่า

การฟื้นฟูที่ง่ายจนถึงไม่ถึง

แต่ความโชคดีเช่นนี้ ไม่ใช่ว่าจะให้อะไร ๆ สดในเสียทั้งหมด เพราะกิจการที่ได้มา ต้องเยียวยารักษามากพอสมควร ปัญหาการฟื้นฟูกิจการจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของบิ๊กหอยอยู่มากเหมือนกัน แต่เขากลับมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ๆ เสียเหลือเกิน

คือ บิ๊กหอยพยายามหาต้นทุนให้ได้ว่าแท้จริงเป็นอย่างไร ปัญหาที่แท้จริงที่ทำให้เจ้าของเก่าพลาดคืออะไร จากนั้นก็ดูประสิทธิภาพของโรงงาน หาตลาดและดูคู่แข่ง ทุกอย่างก็จบ

"ผมว่ามันเป็นพื้นฐาน มันเป็นคอมมอนเซนส์ธรรมดา เพียงแต่ว่าคอมมอนเซนส์ตัวนี้ นักธุรกิจมองออกหรือเปล่า หรือว่าจะไปมองกันในแง่ทฤษฎีกันมากจนเกินไป การค้าถ้าผูกขาดอีกอย่าง แต่ในระบบการแข่งขันเสรี มันก็ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องมีการแข่งขันซึ่งกำหนดโดยคู่แข่ง และผู้บริโภคอยู่แล้ว"

ในด้านตลาดนั้น บิ๊กหอยกล่าวว่าอุตสาหกรรมถังแก๊ส ตลาดต่างประเทศมันมีอยู่แล้ว แต่บริษัท อุตสาหกรรมถังแก๊สที่ขาดทุน ก็เพราะปัญหาการจัดการเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่ปัญหาตัวอื่นเลย ลูกค้าก็เป็นลูกค้าเก่าทั้งนั้น มีลูกค้าใหม่ไม่ถึง 20% มันมีปัญหาในเรื่องการจัดการแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์

"คือตอนนั้นเขาผูกขาดเพียงเจ้าเดียวแต่พอระยะหลังมีคู่แข่งเข้ามา ก็เลยมีปัญหาขึ้น และขาดทุน
ในระยะ 4-5 ปี หลังก่อนที่ผมจะเข้ามาเท่านั้นเอง แต่ทีนี้การขาดทุน ในสายตาของธนาคาร มันเป็นการขาดทุนที่มองไม่เห็นทางกู้ มันก็เลยเป็นเรื่องขึ้นมาว่าจะไปไม่ไหวแล้ว ผู้ถือหุ้นเก่า ๆ ก็เลยขายให้แบงก์ หาคนมาทำขายเครื่องไม้เครื่องมือให้" สำหรับบริษัทอุตสาหรรมถังแก๊ส ปัจจุบันแม้กำลังการผลิตจะเป็นที่สองแต่ถ้ามองถึงยอดจำหน่ายแล้วจะสูงที่สุด ระหว่างรายใหญ่ 3 รายที่มีอยู่ในประเทศ โดยปี 2539 นี้คาดว่ายอดขายจะอยู่ที่ 510 ล้านบาท สำหรับถังแก๊สที่ทำการผลิตนั้นจะติดยี่ห้อตามที่เจ้าของว่าจ้างมา โดย 70% จะทำการส่งออก ตลาดใหญ่จะอยู่ที่อังกฤษกับออสเตรเลีย

มั่นใจ ไม่มีวันล้มอีกแล้ว

ปัจจุบัน 3 กิจการหลักที่กล่าว กับอีกหลายกิจการย่อย ๆ ที่บิ๊กหอยบอกว่าจำไม่ได้ครบนั้น รวมแล้วมียอดขายปีละไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท จากผลประกอบเช่นนี้ทำให้บิ๊กหอย มีอำนาจซื้อเพียงพอที่จะก่อร่างสร้างฝันที่ยิ่งใหญ่ให้กับตนเอง และวางงบประมาณไว้ปีละหลายสิบล้านบาทเพื่อใช้จ่ายซื้อความสุขให้กับชีวิตในบั้นปลาย

มองในด้านความเป็นนักธุรกิจแล้วบิ๊กหอยก็นับเป็นนักธุรกิจระดับพันล้านที่มีความน่าสนใจศึกษาไม่น้อยทีเดียวอย่างเช่น ทุกวันนี้ชีวิตในแต่ละวันหรืออาจกล่าวว่าแต่ละปีก็ได้ บิ๊กหอยแทบไม่ต้องเข้าไปบริหารธุรกิจที่มีอยู่ในมือ ด้วยการนั่งออฟฟิศเลยด้วยซ้ำ

"ผมแทบไม่ต้องเข้าออฟฟิศ ทุกอย่างวางระบบไว้แล้ว ถ้ามีอะไรเลขาฯ ก็จะติดต่อผมมา มีสัญญาต้องเซ็น บาทีก็เอามาให้ผมเซ็นที่นี่ (สนามฝึกซ้อมฟุตบอลของทีมชาติในหมู่บ้านเกศินีวิลล์ ซึ่งเป็นสถานที่ซึ่ง "ผู้จัดการ" ได้สัมภาษณ์เขา) ถ้ามีรายงานต้องให้ผมดูก็จะส่งมาทางแฟกซ์ทางอะไร นอกจากจะมีเรื่องสำคัญ ๆ เท่านั้นผมถึงจะเข้าออฟฟิศที แต่กว่าที่ผมจะออกมาตรงนี้ได้ ผมต้องดูเอง และได้วางระบบควบคุมต่าง ๆ ไว้สมบูรณ์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการรายงานข้อมูลข่าวสาร ผมทำงานทางโทรศัพท์ สิ้นเดือนส่งรายงานมารายการต่าง ๆ เป็นอย่างไร จะมาไล่เบี้ยกัน ถ้ามีปัญหาและจะต้องอธิบายให้ผมฟังได้หมด"

แต่เหตุผลจริง ๆ ก็น่าจะมาจากการที่กิจการหลักนั้น บิ๊กหอยได้ดึงพี่ชายและน้อยชายเข้ามาช่วยดูแล ซึ่งทำให้ไว้ใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

สมศักดิ์ พี่ชายคนโต ที่ไปใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกาถึง 20 ปี ในฐานะซูปเปอร์ไวเซอร์ก็กลับมาช่วยน้อยชาย โดยดูแลที่โรงงานประกอบแอร์

ศุภฤกษ์ น้องชายคนรองที่จบมาทางด้านนิติศาสตร์ดูแลทั้งโรงงานประกอบแอร์และที่โรงงานผลิตถึงแก๊ส

โอม น้องชายคนเล็ก ร่ำเรียนจนจบวิศวะมาจากฟิลิปปินส์เช่นเดียวกับบิ๊กหอย รับหน้าที่ด้านการผลิตที่โรงงานผลิตถังแก๊ส

ส่วนน้องสาวอีก 8 คนนั้นไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรเพราะต่างแต่งงานมีครอบครัวเลยไม่มีเวลามาช่วยงานพี่ชาย

โอม พูดถึงการเข้ามาช่วยงานว่า ก็ทำงานในลักษณะลูกจ้าง เงินเดือนก็ระดับเดียวกับลูกจ้างคนอื่นๆ ที่ตำแหน่งงานระดับเดียวกัน เพียงแต่ว่ามีการช่วยเหลือในฐานะพี่น้องเป็นกรณีพิเศษ

กระนั้นกิจการต่าง ๆ พี่น้องที่เข้ามาช่วยงานก็ไม่ได้มีส่วนในการถือหุ้น และไม่ใช่ระบบกงสี เนื่องจากทุกอย่างนั้นบิ๊กหอยสร้างขึ้นมาด้วยตนเองทั้งสิ้น

โอม พูดถึงพี่ชายที่ดูแลตนเองมาตั้งแต่เล็กว่า ถ้าให้มองถึงความเป็นบิ๊กหอยคงกล่าวว่าเป็นนักการตลาด นักเก็งตลาด นักขายมือดีคนหนึ่ง ชอบทำธุรกิจที่ขาดทุนให้มีกำไร เพราะมันท้าทายความสามารถซึ่งน่าจะมาจากการเป็นคนที่ชอบเสี่ยงด้วยเหมือนกัน และนิสัยส่วนตัวแล้วจะเป็นคนใจถึง จริงใจ รอบคอบ

โอม มั่นใจว่า เมื่อมาถึงวันนี้แล้ว ธวัชชัย สัจจกุล ไม่มีวันที่จะล้มอีกแล้ว ไม่ว่าจากกรณีใดก็ตาม

ในส่วนตัวของบิ๊กหอย จากเส้นทางเดินที่ผ่านมา โดยเฉพาะการฟื้นฟูสองกิจการหลักนั้น ทำให้คิดว่า วิถีในการทำธุรกิจของบิ๊กหอย ก็คือ การมองเห็นโอกาสที่คนอื่นไม่เห็นแล้วทำ มองช่วงที่ตกต่ำแล้วเข้าไปฟื้นฟู แต่บิ๊กหอยก็ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง

"ผมคิดว่าไม่ใช่มองหา ต้องเรียนตรง ๆ ว่าคนเรามีดวง อันนี้จริง มันเป็นช่วงหนึ่งของชีวิต ซึ่งถ้าผมทำงานระบบผมก็อยู่ได้ แต่พอดีมีคนมาบอกว่าช่วยทำให้หน่อย ผมดูแล้วไม่หนักหนา ก็ก้มหน้าก้มตาทำไป ถ้าดีก็ดีไป ถ้าไม่ดีก็ไม่เสียหาย คืองานที่ผมรับมามันมีแต่เจ๊ากับเจี๊ยะ ทีนี้บังเอิญ 2 งานใหญ่มันกลายเป็นเจี๊ยะ ผมอาจจะมีฝีมือบ้างนิดหน่อย แต่โชคดีผมมีลูกน้องดี"

หยุดธุรกิจ ขอจบชีวิตที่ฟุตบอล

สำหรับอนาคตการที่จะเข้าไปฟื้นฟูกิจการอื่นอีกนั้น ดูเหมือนบิ๊กหอยอยากจะเพียงพอ เพราะวันนี้ความหวังของเขาไม่ได้อยู่ที่การต่อสู้ในเชิงธุรกิจเสียแล้ว เขาหันกลับมาสู่สิ่งที่ตนเองคลั่งไคล้นับแต่วัยเด็ก

ฟุตบอล ประสบความสำเร็จสูงสุดได้ไปแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย คือถ้วยรางวัลสุดท้ายแห่งชีวิตที่เขาหวัง

"ถ้ามีบริษัทไหนแย่ก็ต้องดูว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร เพราะจริง ๆ ผมก็ไม่คิดจะไปเทกใครและอีกอย่างผมก็กำลังสนุกมากกับฟุตบอล"

กว่าจะมาถึงงานระดับชาติครั้งนี้กล่าวได้ว่าเป็นผลมาจากความเป็นนักเสี่ยงโชคของบิ๊กหอย และแม้ว่าบิ๊กหอยจะมีบุคลิกที่มองเรื่องเงินเป็นเรื่องเล็กเพราะไต่มาจากศูนย์ก็ตาม แต่การทุ่มเงินให้กับวงการฟุตบอลของไทย ก็มาจากการที่เริ่มจะรู้สึกเสียดายเงินทองที่ละลายออกไปกับการเป็นนักเสี่ยงโชคเหมือนกัน

ก่อนที่จะเข้าสู่วงการฟุตบอล บิ๊กหอยมักจะใช้เวลาในช่วงพักผ่อนกับกอล์ฟ แต่เป็นกอล์ฟที่มีค่าใช้จ่ายในแต่ละหลุมนั้นเรือนแสนทีเดียว

บิ๊กหอยยอมรับว่าตนเองจัดว่าเป็นนักเสี่ยงโชคคนหนึ่ง แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นนักเสี่ยงโชคประเภทไม่เป็นก็ตาย คือเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้บ้าง ซึ่งเมื่อก่อนพอฐานะมั่นคงขึ้นการใช้จ่ายเงินสบายมือขึ้น กอล์ฟคือสิ่งที่บิ๊กหอยเข้ามาเพื่อความสะใจ และทุกครั้งจะมีวงเงินเพื่อบีบหัวใจเป็นเรือนแสน

"ผมว่าเต็มที่ สักแปดแสนนะสูงสุดไม่เคยถึงล้าน ไอ้ตอนที่เล่นไม่เคยนับหรอก ใครท้าผมก็เล่นไปทั่ว สำหรับกอล์ฟเสียเป็นสิบล้านนะ ตอนหลัง ๆ ก็มานั่งนึกทำแบบนี้มีแต่เสียออกไปตลอด ไม่ได้อะไรคืนมา ใคร ๆ ก็เรียกผมว่าไอ้หมู ทีนี้เราไม่อยากให้ใครเรียกว่าหมู ก็เลยเลิกเล่น จึงหันมาทางฟุตบอลเพราะผมชอบอยู่แล้ว และคิดว่าเสียกับงานฟุตบอลก็ยังดีกว่า"

เข้ามาทำฟุตบอล บิ๊กหอยก็เลิกกอล์ฟที่ค่าเล่นแสนแพงทันที โดยหันมาพนันฟุตบอลแทน คนเราถ้าลองชอบแนวนี้แล้วมันหนีไม่ออก จะว่าเป็นสัจธรรมของนักเสี่ยงโชคก็ได้ที่มักจะพนันได้เสียทุกเรื่อง

"ถามว่าชอบพนันไหม ผมชอบ บอล ผมก็พนันไปเรื่อย เพียงแต่ว่าทีมชาติเล่นผมไม่เคยเล่นพนันข้างทีมอื่นนอกจากทีมชาติไทย" บิ๊กหอยกล่าวตามบุคลิกที่ตรงไปตรงมา มักพูดอะไรตรง ๆ ไม่ค่อยสนใจว่าใครจะคิดอย่างไร นี่คือสไตร์ที่ทำให้เขาโดดเด่นขึ้นมา

เมื่อเข้าสู่วงการแล้ว บิ๊กหอยนับเป็นผู้จุดประกายแห่งความหวังทุกครั้งที่ทีมชาติไทยลงเตะในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ ๆ ซึ่งก็พลาดเสียทุกครั้ง แต่เข้าใจว่าแฟนบอลส่วนใหญ่ก็ยังให้โอกาสเขาอยู่ ทว่าภาพของบิ๊กหอยก็กลายเป็นผู้จัดการทีมชาติไทยที่ขี้โม้ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ตรงนี้บิ๊กหอยให้เหตุผลไว้น่าฟังมาก

"ต้องขี้โม้ ถ้าไม่โม้ ไม่มีคนดูบอลหรอก ถ้าก่อนรบแม่ทัพใส่หมวกกันน็อกไว้ก่อนแล้ว โอย…สู้เขาไม่ได้หรอก ก่อนรบต้องสร้างความมั่นใจ ถ้าเป็นแม่ทัพแล้วปอดแหกต้องไปเป็นเสธ. ไป อะไรไป ไม่ควรมาเป็นแม่ทัพ" บิ๊กหอยพูดได้แสบจริง ๆ

สำหรับความหวังของวงการฟุตบอลของไทยที่ยังฝากไว้กับบิ๊กหอยนั้น จะเลือนรางหรือเป็นไปได้ ยังไม่รู้ แต่บิ๊กหอยก็ได้วาดฝันไว้ว่า ไทยจะต้องหลุดเข้าไปเล่นรอบสุดท้ายในปี ค.ศ.2002 แน่นอน ถ้าไม่ก็คงจะตัวใครตัวมันแล้วในตอนนั้น

งบประมาณเพื่อความฝันวางไว้ที่ 180-200 ล้านบาท ซึ่งบิ๊กหอยถือว่าคุ้มมากถ้าเทียบกับความสุขของคนไทยทั้งชาติ 60 ล้านคน ตกแล้วคนละ 3 บาทเอง ซึ่งถ้าเอาเงิน 3 บาทไปจ่ายก็ไม่มีความหมาย แต่ถ้าฟุตบอลไทยได้เข้าบอลโลกปลื้มกันทั้งประเทศ

เกือบ 4 ปีที่ผ่านมา ที่บิ๊กหอยกล้าที่จะเผชิญทุกอย่าง ยอมเจ็บ ยอมโดนด่าแค่เพียงขอให้ตนเองได้ทำงานที่รักต่อไป เพื่อเป้าหมายนั้น ซึ่งดูเหมือนว่าโอกาสของเขาก็ยังมีอยู่กับงานตรงนี้ อย่างน้อยก็จนกว่าจะถึงวันนั้น

การเข้ามาของบิ๊กหอย ซึ่งเขายืนยันว่าเข้ามาด้วยใจบริสุทธิ์ หวังตอบแทนสังคมและรักกับมันจริงๆ เป็นความมันที่บิ๊กหอยสะใจเมื่อคราวทีมไทยชนะ ซึ่งเราก็เชื่อเช่นนั้น แต่เขาก็ยอมรับว่าผลจากตรงนี้ เขาได้รับสิ่งตอบแทนอย่างที่ไม่ได้ตั้งใจไว้ ไม่ว่าจะเป็นด้านชื่อเสียง ภาพพจน์ ที่ส่งผลต่อธุรกิจของเขาโดยปริยาย โดยที่ไม่ต้องใช้งบโปรโมชั่นเลย

เงินส่วนตัวที่จ่ายไปกับการเป็นผู้จัดการทีมชาติไทยตลอด 4 ปีที่ผ่านมารวมแล้วประมาณ 30 ล้านบาท แต่บิ๊กหอยก็ไม่ถือว่านั่นคืองบประมาณบริษัท เพื่อหวังผลทางธุรกิจ แต่ถือเป็นเงินที่ต้องใช้อยู่แล้ว เพราะถ้าไม่เสียตรงนี้ก็ไปเสียกับการพนันด้านอื่นหมด

บิ๊กหอยยกตัวอย่างผลตอบแทนที่ได้มาโดยไม่ได้ตั้งใจจากงานตรงนี้

"พอผมไปเป็นผู้จัดการทีมชาติ ผมก็ได้รับเชิญให้เป็นประธานฟุตบอลสโมสรนิสิตเก่าจุฬา โดยตำแหน่งผมเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลจุฬาในบอลประเพณี ทำให้ผมรู้จักคุณพันธ์เลิศ ใบหยก ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีม โอเคเขาสร้างตึกใบหยกสอง ผมก็ถาม พันธ์เลิศ งานคุณมีระบบไหม เขาบอกมีพี่ จะเอาเหรอ ผมก็บอกเอาเดะ เรายื่นแบบ มันก็ต่อรองกันง่ายๆ และก็จบกันง่ายๆ อันนี้ก็ถือว่าใช่ แต่ไม่ได้ตั้งใจ"

จากวันแรกที่บิ๊กหอยก้าวเท้ามาสู่สนามฟุตบอลในระดับชาติ นักธุรกิจที่รายล้อมและเกี่ยวข้องกับบิ๊กหอยส่วนใหญ่จะกังขากับพฤติกรรมนี้ บางคนถึงหมั่นไส้ ว่าอวดรวยเอาเงินมาทิ้ง จะมีเพียงคนในตระกูลสัจจากุล เท่านั้นที่รู้ว่าบิ๊กหอยทำไปเพื่ออะไร

แต่มาวันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป สายตาคู่เก่าเหล่านั้น เริ่มจะลังเลว่าสิ่งที่บิ๊กหอยทำอาจจะถูกเสียแล้วก็ได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.