ช้างดราฟท์ลงขวดอาละวาดเบียร์สดสบช่องรับสงกรานต์จับนักดื่มที่บ้าน


ผู้จัดการรายวัน(11 เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ไทยเบฟฯ ลั่นกลองปลุกตลาดเบียร์สดระลอกใหญ่ เปิดตัวช้างดราฟท์บรรจุภัณฑ์ขวด 2 ขนาด เดินเกมสร้างพฤติกรรมนักดื่มตัวยงซื้อเบียร์ไปดื่มที่บ้าน อุดช่องว่างราคา-ดีกรีตั้งราคาช้างดราฟท์อยู่ระหว่างช้างไลท์-เบียร์ช้าง

นายสมชัย สุทธิกุลพานิช รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์ช้าง อาชา และล่าสุดช้างไลท์ เปิดเผยกับ ”ผู้จัดการรายวัน” ว่า หลังจากบริษัทฯได้เปิดตัวช้างไลท์ลงสู่ตลาดเบียร์ในเซกเมนต์ใหม่ไลท์เบียร์ ล่าสุดได้เปิดตัวเบียร์สด ”ช้างดราฟท์” บรรจุภัณฑ์ขวด 2 ขนาด คือ ขนาด 330 มล.และขนาด 640 มล. ทั้งนี้เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายที่ซื้อกลับไปดื่มที่บ้านเป็นหลัก จากที่ผ่านมาช้างดราฟท์จะมีจำหน่ายตามร้านอาหาร ผับ บาร์ ทำให้มีกลุ่มเป้าหมายจำกัดอยู่เฉพาะช่องทางออนพรีมิสเท่านั้น

สำหรับแผนการตลาดจะเน้นจำหน่ายผ่านช่องทางออฟพรีมิสหรือโมเดิร์นเทรด ร้านค้าสะดวกซื้อ และร้านค้าทั่วไป รวมทั้งเน้นทำตลาดตามหัวเมืองหลักมากกว่าตลาดต่างจังหวัด โดยเบียร์สดช้างมีดีกรี 5% เท่ากับมาตรฐานสากล ซึ่งบริษัทได้วางดีกรีให้อยู่ตรงกลางระหว่างเบียร์ช้างซึ่งมีดีกรีกว่า 6.4% ขณะที่ช้างไลท์มีดีกรี 4.2% เช่นเดียวกับราคาซึ่งช้างดราฟอยู่ระหว่างตรงกลางกับช้างไลท์และเบียร์ช้าง โดยบรรจุภัณฑ์ขนาด 640 มล.ช้างดราฟท์วางไว้ที่ 34-35 บาท แพงกว่าเบียร์ช้างเล็กน้อย ที่จำหน่ายราคา 33 บาท ส่วนช้างไลท์ราคาไม่เกิน 50 บาท โดยช้างดราฟท์ได้เริ่มวางตลาดได้ 2-3 วันแล้ว

“การเปิดตัวช้างดราฟท์บรรจุภัณฑ์ขวด อยู่ในแผนการตลาดที่บริษัทวางไว้ว่าจะเปิดตัวในช่วงสงกรานต์ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงฤดูกาลขายสินค้าอยู่แล้ว ไม่ต้องทำอะไรมากสภาพตลาดก็มีอัตราการเติบโต โดยเฉพาะช่องทางออฟพรีมิสจะโตมาก เพราะคนจะซื้อกลับไปเฉลิมฉลองที่บ้านมากกว่าดื่มในร้าน ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีที่บริษัทจะแนะนำช้างดราฟท์ในช่วงเวลานี้

แนวโน้มตลาดเบียร์สด 20 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 2,380 ล้านบาท หรือราว 4% ของตลาดเบียร์ 82,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตไม่มากนัก เนื่องจากโอกาสในการดื่มของผู้บริโภคยังมีไม่มาก โดยมากจะดื่มในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองเป็นหลัก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ อีกทั้งเบียร์สดยังมีข้อจำกัดในเรื่องของราคาที่แพงกว่าเบียร์ปกติ ซึ่งจำหน่ายลิตรละ 100-160 บาท(ตามแต่ละเซกเมนต์ของเบียร์) รวมไปถึงข้อจำกัดเครื่องกดเบียร์ ทำให้เบียร์สดไม่สามารถขยายได้ในวงกว้าง โดยการแข่งขันหลักๆในเวลานี้จะอยู่ในช่องทางออนพรีมิสเป็นหลักเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เบียร์สดถือว่าเป็นโปรดักส์ตัวหนึ่งที่สามารถขยายผู้ดื่มหน้าใหม่เข้ามาทดลองดื่ม เนื่องจากดื่มได้ง่ายมากกว่าเมื่อเทียบกับเบียร์ปกติ แม้ว่าจะเป็นตลาดที่เล็กและการเติบโตของตลาดไม่สูง แต่ก็เป็นที่หมายปองของค่ายเบียร์หลายค่าย ไม่ว่าจะเป็น ไทยเอเชีย แปซิฟิค ที่ทุ่มกว่า 50 ล้านบาท เปิดตัว”อีซี่ดราฟท์”ถังเบียร์ขนาดครึ่งลิตรเบียร์ไฮเนเก้นและไทเกอร์ โดยก่อนหน้านี้ค่ายบุญรอดฯก็มีเบียร์สดบรรจุภัณฑ์กระป๋องทำตลาด แต่เนื่องจากไม่ได้รับการตอบรับมากนัก จึงได้หยุดทำตลาดไป ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความเชื่อว่าเบียร์สดจะต้องมาจากบรรจุภัณฑ์ถังเบียร์เท่านั้น ถึงจะขึ้นชื่อว่าเป็นเบียร์สด

สำหรับไทยเบฟฯเริ่มกลับมาทำตลาดช้างดราฟท์เมื่อปี 2547 ซึ่งยอดขายเบียร์สดช้างในช่วงที่ผ่านมาเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยยอดจำหน่ายเบียร์สดช้างจะมีมากถึง 50% ของตลาดเบียร์สดหรือประมาณ 13-14 ล้านลิตรต่อปี โดยปัจจุบันจำหน่ายผ่านร้านอาหาร ผับ บาร์ 4,000 แห่งทั่วประเทศ

ตลาดเบียร์โดยรวมมูลค่า 82,000 ล้านบาท ในปี 2549 สภาพตลาดน่าจะทรงตัวหรือเติบโตเพียงเล็กน้อยประมาณ 2-3% โดยแนวโน้มการแข่งขันหลักๆ ค่ายเบียร์แต่ละค่ายจะงัดพอร์ตโฟลิหรือการมีสินค้าครอบคลุมทุกเซกเมนต์ชิงความเป็นผู้นำตลาด

ปัจจุบันไทยเบฟฯเป็นผู้นำตลาดเบียร์โดยรวมครองส่วนแบ่ง 60% ประกอบด้วยเบียร์ช้าง อาชา ช้างไลท์ และล่าสุดช้างดราฟ ส่วนค่ายท้าชิงอย่างบุญรอดฯปัจจุบันมีส่วนแบ่ง 40% โดยวางเป้าหมายสิ้นปีนี้จะขึ้นเป็นผู้นำตลาดด้วยการมีส่วนแบ่ง 47-48% มาจากสิงห์ไลท์ 2% ลีโอ 30% เบียร์สิงห์ 12-13% และที่เหลือ 2-3 % เป็น ไทเบียร์ คลอสเตอร์ อาซาฮี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.