|
ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% บาทแข็งรอบ 7 ปี - ส่งออกเจ๊ง
ผู้จัดการรายวัน(11 เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ชาติปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% นับเป็นครั้งที่ 12 ติดต่อกัน ส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้นต่อ จนกว่าเงินเฟ้อลดและดอกเบี้ยแท้จริงเป็นบวก ด้าน"ไทยพาณิชย์" ปรับตามทันควัน ขณะที่เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง วานนี้แตะ 37.98 บาท/ดอลลาร์ หรือแข็งสุดในรอบ 7 ปี นักค้าเงินคาดมีโอกาสถึง 37 บาทต่อดอลลาร์ ธปท.ประกาศดูแลค่าบาทไม่ให้กระทบการส่งออก ด้านผู้ส่งออกครวญค่าบาทแข็งทำขาดทุนยับ ทั้งสินค้าเครื่องนุ่งห่ม อาหารทะเล ข้าว ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า
นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายเสถียรภาพการเงิน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 10 เมษายน (วานนี้) ว่า ที่ประชุมมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรืออัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน 0.25% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.75% จากเดิม 4.5% เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีตามภาวะเศรษฐกิจโลก
นอกจากนี้ ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองก็ไม่ได้กระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจมากนัก รวมทั้งเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้นแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคาที่ผ่านมาจะเร่งตัวขึ้นเล็กน้อย แต่เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งไตรมาสลดลงจากไตรมาสก่อน ทั้งนี้ ธปท.จะคงส่งสัญญาณให้ตลาดเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยจะเป็นขาขึ้นต่อไปจนกว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศเริ่มปรับตัวลง และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงกลับขึ้นมาเป็นบวก ซึ่งล่าสุด ณ สิ้นเดือนมีนาคมยังติดลบอยู่ 0.6%
“ต้องรอดูอัตราเงินเฟ้อที่จะปรับตัวในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ด้วย ที่ผ่านมาเงินเฟ้อยังลดลงไม่เร็วเพียงพอซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อของประเทศปรับลดลงได้เร็วก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักลงทุน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการใช้จ่าย การลงทุนภาคเอกชนให้กลับมาเร่งตัวเร็วขึ้น จากที่เครื่องชี้ทั้ง 2 ตัวอยู่ในอัตราที่ชะลอตัวมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว” นายบัณฑิต กล่าว
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในระยะต่อไปจะอยู่ในทิศทางที่ทรงตัวต่อเนื่องจาก 3-4 เดือนที่ผ่านมา และจะทยอยปรับลดลงในครึ่งหลังของปีนี้ เพราะเชื่อว่าราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะเริ่มทรงตัวในไตรมาสที่ 2 และอยู่ในระดับดังกล่าวตลอดทั้งปี
ทั้งนี้ การปรับดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 12 ติดต่อกัน หรือตั้งแต่เดือน ส.ค. 2547
*"ไทยพาณิชย์"ขยับตามทันควัน
ด้านคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ธนาคารได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะสั้น 3 เดือน และ 6 เดือน เงินฝากประจำระยะยาว12 เดือน และ 24 เดือน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.25 ต่อปี โดยเฉพาะลูกค้าเงินฝากประจำ 12 เดือน ที่มีวงเงินตั้งแต่ 3 ล้านขึ้นไปปรับขึ้นอีกร้อยละ 0.50 ต่อปี นอกจากนี้ยังได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทนิติบุคคลเพิ่มอีกร้อยละ 0.25 ต่อปี ขณะเดียวกันได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมทุกประเภท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.25 ต่อปีเช่นกัน ทั้งนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2549 เป็นต้นไป
โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 3.25-4.00 ต่อปี เงินฝากประจำ 6 เดือน มีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 3.50-4.25 ต่อปี เงินฝากประจำ 12 เดือน มีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 4.00-4.75 ต่อปี เงินฝากประจำ 24 เดือน มีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ ร้อยละ 4.50 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับเงินฝากประจำ 36 เดือน มีอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 4.50 ต่อปี โดยดอกเบี้ยเงินฝากนิติบุคคลประเภท 7 วันอยู่ที่ร้อยละ 3.25-4.00 ต่อปี ประเภท 14 วันอยู่ที่ร้อยละ 3.50-4.125 และประเภท 1 เดือนอยู่ที่ร้อยละ 3.75-4.25 ต่อปี สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารปรับเป็น MLR ร้อยละ 7.50 ต่อปี MOR ร้อยละ 7.75 ต่อปี และ MRR ร้อยละ 8.00 ต่อปี
ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดเงินทั้งในและต่างประเทศที่อยู่ในสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นและการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารไทยพาณิชย์จึงได้ทำการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้สูงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
**บาทดีดแข็งค่าแตะ 37.98 บาท/ดอลลาร์
ผู้สื่อข่าวรายงานค่าเงินบาทในวานนี้ปรับตัวแข็งขึ้นในรอบ 7 ปีที่ 37.98 บาท/ดอลลาร์ หลังจากเปิดตลาดที่ระดับ 38.16/20 บาทต่อดอลลาร์ และปิดตลาดที่ระดับ 38.14/17 บาท/ดอลลาร์
นายบัณฑิต กล่าวถึงกรณีที่ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแข็งค่าสุดในรอบ 7 ปีว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการแข็งค่าขึ้นที่สอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค และแข็งค่าตามเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่าลง รวมทั้งมีเงินลงทุนไหลเข้าจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในภูมิภาคตามปัจจัยความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ซึ่งค่าเงินบาทของไทยได้รับประโยชน์ และแข็งค่าขึ้นตามด้วย
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมายังไม่เป็นข้อจำกัดหรือเป็นปัญหาต่อการส่งออก เนื่องจากภาคเอกชนของไทยจะสามารถปรับตัวรับการแข็งค่าของเงินบาทได้ดี ทำให้ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้การส่งออกของไทยยังสามารถขยายตัวได้ดี
"ในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินดอลลาร์อ่อนลง ค่าเงินในภูมิภาคปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างตอ่เนื่อง ซึ่งค่าบาทได้รับอานิสงค์ไปด้วย ดังนั้น ธปท.ก็จะดูแลไม่ให้มีความผันผวนเกินไป เพื่อให้เศรษฐกิจและภาคธุรกิจปรับตัวได้ และสิ่งที่จะต้องดูแล ก็คือควรค่าเงินบาทปรับตัวตามความเป็นจริงของตลาด แต่ไม่ใช่ผันผวนเกินไปจนกระทบภาคธุรกิจและการส่งออก"นายบัณฑิตกล่าว
อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาทในระยะนี้ช่วยลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ ที่ก่อนหน้านี้เกรงว่าอาจหลุดกรอบที่ธปท.ได้กำหนดไว้ โดยภาวะเงินเฟ้อในช่วง 3 เดือนข้างหน้าจะเป็นปัจจัยหลักที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะนำมาพิจารณาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงต่อไป หลังจากที่วันนี้ได้ตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พีอีกครั้งที่ร้อยละ 0.25
ส่วนราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี ยอมรับว่าสูงกว่าประมาณการของธปท. แต่คาดว่าราคาจะมีเสถียรภาพในระดับราคาที่สูง ซึ่งธปท.เชื่อว่าหากราคาน้ำมันทรงตัวในระดับนี้ไปถึงสิ้นปีก็จะทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศไม่สูงไปกว่านี้มากนัก ทำให้เงินเฟ้อน่าจะยังอยู่ในกรอบของธปท. แม้จะมีการปรับขึ้นราคาสินค้า-บริการในบางรายการ
นายบัณฑิต กล่าวว่า ธปท.มองว่าการลงทุนและบริโภคในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมีการชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี 48 จนถึงขณะนี้ ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อปรับลดลงได้เร็ว ก็จะทำให้การลงทุนและการบริโภคกลับมาสู่ภาวะปกติได้เร็วไปด้วย โดยปัจจัยที่ส่งเสริมให้มีการลงทุนในระยะต่อจากนี้ยังมาจากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่อยู่ในระดับสูงในปีนี้ ขณะที่สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์และความต้องการสินเชื่อยังมีอยู่ในระดับสูง
นายสมชัย สัจจพงษ์ โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เชื่อว่าเป็นการแข็งค่าขึ้นเพียงช่วงระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากมีเม็ดเงินไหลเข้ามาเพื่อซื้อหุ้นของบริษัทกลุ่มเหล็กแห่งหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้ติดตามดูแลอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม หากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเป็นเวลานาน เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นก็ต้องพิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่าระดับค่าเงินบาทที่ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐนั้น กระทบต่อศักยภาพการส่งออกมากน้อยเพียงใด แต่เชื่อว่ากระทบต่อการส่งออกในช่วงนี้หรือไม่นั้น คงไม่กระทบมากนัก เนื่องจากการสั่งซื้อสินค้าจะสั่งออร์เดอร์ประมาณ 2 - 3 เดือนล่วงหน้าอยู่แล้ว
**ชี้บาทแข็งไม่เกี่ยวการเมือง
ด้านนายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บล.ภัทร กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงนี้ เกิดจากปัจจัยพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่เศรษฐกิจยังมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง รวมทั้งค่าเงินประเทศในแถบเอเชียมีการแข็งค่าขึ้นเกือบทุกประเทศ จึงดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่าตามค่าเงินในภูมิภาค ดังนั้นจึงไม่น่าที่จะเกี่ยงข้องกับปัจจัยทางการมืองมากนัก ซึ่งมองในด้านบวกแล้ว การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นนั้น เป็นการลดแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อ ไม่ให้ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน โดยนโยบายหลักของธนาคารแห่งประเทศไทยต้องการที่จะดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเป้าหมาย
สำหรับอัตราดอกเบี้ยขณะนี้ยังคงมีทิศทางขาขึ้นอยู่ โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรืออาร์พี 14 วัน ที่ธนาคารแห่งประเทศยังคงต้องดำเนินโยบายที่ขเมงวดในการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไป เพื่อดูแลเงินเฟ้อไม่ให้ปรับสูงขึ้นจนเกินกว่าระดับเป้าหมาย โดยในช่วงนี้จะต้องระมัดระวังเรื่องอัตราเงินเฟ้อเป็นพิเศษ เพราะประเทศไทยปัจจุบันมีการใช้กำลังการผลิต และแรงงานที่เต็ม 100 % แล้ว หากปล่อยให้เงินเฟ้อสูงขึ้น จะกระทบไปยังราคาสินค้าต้องเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อ เมื่อถึงตอนนั้นผลกระทบอื่นๆทางเศรษฐกิจจะตามมาด้วย ซึ่งเชื่อว่าธปท.น่าจะพิจารณาในภาพรวมมองทุกๆปัญหาทั้งหมด เพื่อกำหนดนโยบายที่เหมาะสมต่อไป โดยเฉพาะนโยบายอัตราดอกเบี้ย หากมีการขึ้นดอกเบี้ยมากเกินไป จะกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนลดลง
สำหรับการลงทุนนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ไม่น่าที่จะเกี่ยวข้องหรือกระทบกับการลงทุนขณะนี้มากนัก โดยการลงทุนส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก หากเศรษฐกิจยังคงมีการขยายตัวต่อเนื่อง การลงทุนก็จะเข้ามามากตามเศรษฐกิจ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยอาจจะมีผลต่อการพิจารณาการลงทุนให้ระมัดระวังมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ซึ่งปัจจัยการเมืองน่าจะมีปัญหากับการลงทุนมากกว่าดอกเบี้ย
โดยช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ที่ผ่านมา ภาวะการเมืองเป็นปัจจัยเสี่ยงกับการลงทุนอยู่มาก ซึงได้เริ่มคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น จนกลับมาเป็นบวกแล้ว ดังนั้นในระยะต่อไปหากมีการปฏิรูปทางการเมืองเป็นที่น่าพอใจของทุกๆฝ่าย การลงทุนน่าจะกลับเข้ามาเหมือนเดิม
นักวิเคราะห์การเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ค่าเงินไทยแข็งค่าเช่นเดียวกับค่าเงินในภูมิภาคนี้เนื่องจากนักลงทุนมีการโยกเงินเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นในภูมิภาคนี้ ประกอบกับมีการคาดการว่าอัตราดอกเบี้ยในภูมิภาคนี้จะปรับขึ้นอีก จึงคาดว่าค่าเงินบาทในเร็ว ๆ นี้จะมีโอกาสแข็งค่าไต่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์ และคาดว่าในปี 2549 เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าไปถึงระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
**ส่งออกร้องจ๊ากขาดทุนยับ
นายเธียรชัย มหาศิริ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่มห่มไทย กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าสูงสุดในรอบ 7 ปีว่า ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องนุ่มห่มแล้วในขณะนี้ เพราะการซื้อขายสินค้ากับลูกค้าต่างประเทศจะมีการโค้ดราคาล่วงหน้า โดยคิดอัตราค่าเงินบาที่ระดับ 39-39.5 บาท/เหรียญสหรัฐ แต่เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 38 บาท/เหรียญสหรัฐ จะทำให้ทุกๆ 1 เหรียญสหรัฐ มูลค่าเงินหายไปหรือขาดทุน 1 บาท หรือทุก 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ค่าเงินหาย 1 ล้านบาท ซึ่งอุตสาหกรรมเครื่องนุ่มห่มไทยต่อเดือนมีการส่งออก 1 หมื่นล้านบาท ทำให้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าจาก 39 บาท/เหรียญสหรัฐ มาเป็น 38 บาท/เหรียญสหรัฐ ธุรกิจจะขาดทุนอยู่ประมาณ 300 ล้านบาท และหากแข็งค่าไปอยู่ที่ระดับ 37 บาท/เหรียญสหรัฐ จะขาดทุกสูงถึง 600 ล้านบาท
"ตอนนี้ลำบากมาก เพราะหากจะโค้ดราคาส่งออกใหม่ลูกค้าก็คงไม่ยอม เพราะราคาสินค้าสิ่งทอไทยแพงอยู่แล้ว เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตสูง และอาจจะหันไปนำเข้าจากประเทศอื่นแทนทั้ง อินโดนีเซีย เวียดนาม ศรีลังกา อินเดีย บังคลาเทศ ลาว เขมร ซึ่งมีค่าแรงงานถูกกว่าไทยถึง 3 เท่า"
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่มห่มไทย ยังเจอสถานการณ์ทางการเมืองที่ทำให้การเจรจาเอฟทีเอหยุดชะงักลง จากเดิมที่คาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาเอฟทีเอกับญี่ปุ่นในเดือนเมษายนนี้ ทำให้ลูกค้าจากญี่ปุ่นที่จะเข้ามาตั้งโรงงานในไทยและซื้อสินค้าเครื่องนุ่มห่มจากไทยมากขึ้น ก็ต้องรอดูสถานการณ์ รวมทั้งเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ ที่ลูกค้าในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของไทยมีสัดส่วนส่งออกเครื่องนุ่มห่ม 51% อาจหันไปลงทุนและทำการซื้อขายกับมาเลเซียแทน
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในขณะนี้ ทำให้ผู้ประกอบการอาหารและประมงค้าขายไม่ได้เลย ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะกลุ่มประมงที่โดนผลกระทบหนักสุด เพราะมีการโค้ดราคาสินค้าอยู่ที่ 40 บาท/เหรียญสหรัฐ ดังนั้นหลังเทศกาลสงกรานต์นี้ ทางกลุ่มจะมีการประเมินผลกระทบความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อขอความช่วยเหลือจากภาครัฐต่อไป
"รัฐบาลต้องแก้ไขเรื่องค่าเงินบาทเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ ไม่งั้นกลุ่มอาหารประมงตายกันหมด การส่งออกก็คงจะลดลง เพราะได้รับผลกระทบ แต่ยังไม่มีการประเมินตัวเลขเป็นทางการ"
นายสุเมธ เหล่าโมราพร กรรมการผู้จัดการบริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด กล่าวว่า ผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในขณะนี้ ทุกอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด แล้วแต่ว่าจะหนักเบาต่างกันไป
สำหรับสินค้าข้าวนั้น เป็นตลาดของผู้ซื้อ จึงได้รับผลกระทบเต็มๆ เนื่องจากการแข็งค่าขึ้นทำให้ราคาข้าวไทยสูงตามไปด้วย ซึ่งผู้ซื้ออาจหันไปซื้อข้าวจากประเทศที่มีราคาถูกกว่า เช่น เวียดนาม จีน เป็นต้น โดยขณะนี้ราคข้าวไทยที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท เมื่อคิดจากอัตราค่าเงินบาท 40 บาท/เหรียญสหรัฐ แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 38.3 บาท/เหรียญสหรัฐ จะทำให้ราคาข้าวไทยสูงขึ้น 4.25% ซึ่งขณะนี้ราคาส่งออกข้าวเอฟโอบีของไทย สำหรับข้าวขาว 5% อยู่ที่ 295 เหรียญสหรัฐ/ตัน
"ปัจจุบันราคาข้าวไทยก็มีราคาแพงกว่าประเทศคู่แข่งอยู่แล้ว เนื่องจากต้นทุนราคาข้าวในประเทศเราสูง จากนโยบายผลักดันราคาข้าวของรัฐบาล และยิ่งเมื่อเจอผลกระทบค่าเงินบาท ราคาข้าวก็จะยิ่งสูงขึ้นไป ซึ่งตามปกติค่าเงินเก่า ราคาข้าวไทยก็สูงกว่าคู่แข่งอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามในส่วนของสมาคมผู้ส่งออกข้าวออกต่างประเทศ ยังมั่นใจว่าการส่งออกข้าวไทยปีนี้จะได้ถึง 7.5-8 ล้านตัน เพราะตลาดผู้ซื้ออย่างอิหร่านเริ่มหันมานำเข้าข้าวไทยมากขึ้น โดยช่วงที่ผ่านมามีการสั่งซื้อถึง 4-5 แสนตัน เพราะติดใจข้าวไทยเป็นข้าวคุณภาพดี ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจะต้อปรับตัวกับผลกระทบ โดยจับตลาดบนให้มากขึ้น"
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในขณะนี้ เกิดจาก 2 ปัจจัย คือ เงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลง กับตลาดหุ้นไทยมีผลตอบแทนเฉลี่ยต่อการลงทุนสูงกว่าในภูมิภาคอาเซียน ทำให้นักลงทุนถือเงินเข้ามาในไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าจะสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าจะอยู่ในระยะสั้นเพียง 2-3 เดือนเท่านั้น และกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่หากยืดเยื้อไปกว่านั้นจะกระทบต่อการส่งออกแน่นอน โดยเป้าส่งออกที่หอการค้าคาดการณ์ไว้อยู่ที่ 13.5%
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|