|
"คลัง"วุ่นหาทางออกแปรรูปกฟผ.หวั่นเอ็นจีโอยื่นศาลถอนหุ้นปตท.
ผู้จัดการรายวัน(10 เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
คลังเร่งหารือกฤษฎีกาทางออกแปรรูปกฟผ. ระบุยอมรับคำสั่งศาลปกครองสูงสุดแต่ติดปัญหาธุรกรรมที่ทำขึ้นจะแก้ไขต่ออย่างไร หวั่นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นถอนหุ้นปตท.ออกจากตลาดจี้สคร.เข้าชี้แจงรายละเอียดหาทางป้องกัน เบื้องต้นเชื่อทำถูกต้องไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แต่ห่วงดึงประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนมาเล่นงาน วอนทุกฝ่ายให้มองผลประโยชน์ที่ประเทศได้รับมากกว่าเรื่องอื่น
นายไชยยศ สะสมทรัพย์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) เปิดเผยว่า กรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูป กฟผ. 2 ฉบับ คือ พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2548 และ พ.ร.ฎ.กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2548 นั้น ทางสคร.ได้ดำเนินการหารือกับสำนักงานกฤษฎีกาว่าจะหาทางออกในเรื่องนี้อย่างไร
เนื่องจากในช่วงเวลาที่จัดตั้งเป็นบมจ.กฟผ. นั้นได้มีการดำเนินธุรกรรมสัญญาต่างๆ ไปหลายเรื่อง ซึ่งเรื่องนี้ผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงหรือเจ้าภาพที่แท้จริงคือกระทรวงพลังงาน แต่กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่จำเป็นจะต้องเข้าไปรับรู้เพื่อหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ให้ได้
"เมื่อศาลปกครองมีมติแล้วว่าพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับเป็นโมฆะก็ต้องยอมรับกับเรื่องที่เกิดขึ้นและช่วยกันหาทางออกกับเรื่องที่เกิดขึ้น ธุรกรรมที่ได้ลงมือทำไปแล้วต้องมาตีความว่าเป็นโมฆะหรือไม่อย่างไร ต้องไปปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเพื่อช่วยกันแก้ไขช่วยกันถอดชนวนนี้" นายไชยยศกล่าว
สำหรับกรณีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเตรียมยื่นให้ศาลปกครองสูงสุดตีความถอดหุ้นบมจ.ปตท.ออกจากตลาดนั้น นายไชยยศกล่าวว่า ในช่วงที่ปตท.ดำเนินการกระจายหุ้นเพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2544 นั้น เขาไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบกำกับดูแลสคร.จึงไม่ทราบรายละเอียดในเรื่องนี้ แต่ได้เรียกสคร.เข้ามาชี้แจงรายละเอียดในสาระสำคัญประมาณ 7 - 8 เรื่อง ซึ่งในเบื้องต้นเท่าที่รับรายงานก็ไม่พบว่าการแปรรูปและกระจายหุ้นของปตท.นั้นขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด
โดยประเด็นที่ปตท.ได้รับการจับตามองจากหลายๆ ฝ่ายที่น่าจะเป็นปัญหาที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากการกระจายหุ้นในครั้งนั้นประเด็นที่หลายๆ ฝ่ายจับตามองมากคือกลุ่มทุนของพรรคไทยรักไทยโดยตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ และมหากิจศิริเป็นกลุ่มที่ได้รับหุ้นจากการจองในครั้งนี้มากที่สุด ซึ่งเมื่อดูในภาพรวมแล้วสัดส่วนผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 20 กันยายน 2548 บุคคลธรรมดาและสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือหุ้นรวมกันเพียง 5.8% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งหุ้นจำนวน 70% ยังเป็นกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และที่เหลือเป็นนักลงทุนสถาบันและกองทุนรวมเป็นผู้ถือ
ทั้งนี้การกระจายหุ้นในครั้งนั้นส่วนใหญ่จะเป็นการขายให้กับสถาบันและกองทุนรวมมากเนื่องจากสามารถรับประกันการจำหน่ายได้อย่างแน่นอน แต่สถาบันหรือกองทุนรวมที่เข้ามารับซื้อจะมีใครใช้เป็นนอมินีหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณา สิ่งที่ควรรับฟังมากที่สุดในตอนนี้คือเรื่องรายได้ที่ส่งเข้ารัฐ โดยก่อนกระจายหุ้นที่ปตท.ยังเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่นั้นในปี 2542 มีการส่งรายได้เข้ารัฐ 4.7 พันล้านบาท แต่เมื่อกระจายหุ้นในปี 2544 ในไตรมาสสุดท้าย(ต.ค. -ธ.ค.) ส่งรายได้เข้ารัฐในรูปแบบเงินปันผลและภาษีถึง 5 พันล้านบาท และล่าสุดในปี 2548 จ่ายเงินปันผลและภาษีสูงถึง 3.9 หมื่นล้านบาท จึงอยากให้มองในจุดนี้บ้าง
"การแปรรูปรัฐวิสาหกิจแต่ละตัวนั้นมีความจำเป็นหรือไม่ต้องดูที่ความมั่นคงและความเกี่ยวโยงกับสังคม การแปรรูปเป็นการเข้าไประดมทุนในตลาดถ้าหากยังเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ก็จะกลายเป็นภาระของรัฐบาลต่อไป แทนที่จะนำเงินส่วนที่ซับพอร์ตตรงนี้มาพัฒนาประเทศในส่วนอื่นก็เป็นการเสียโอกาสไป แต่อย่างไรก็ตามการแปรรูปก็ต้องคำนึงด้วยว่าตัวไหนน่าทำตัวไหนไม่น่าทำ ให้เกิดผลกระทบต่อสังคมน้อยที่สุดและมีความโปร่งใสมากที่สุด" นายไชยยศกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|