ลีเวอร์รวบจัดจำหน่ายทำเอง ชูเกมครีเอตดีมานด์กลุ่มอาหาร


ผู้จัดการรายวัน(10 เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

"ยูนิลีเวอร์" ชูกลยุทธ์ครีเอต ดีมานต์บูมธุรกิจอาหาร ส่ง 3 แบรนด์ใหญ่ "เบสท์ฟู้ดส์ คนอร์ วอลล์" เขย่าวงการ หวังชิงชิ้นเค้กก้อนใหญ่จากยักษ์ใหญ่วงการอาหาร"อายิโนะโมะโต๊ะ-แบรนด์โลคัล" หลังพบเป็นธุรกิจที่มาร์จิ้นสูง หวังสิ้นปีรายได้ทะลุ 2,000 ล้านบาท

แหล่งข่าวบริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ยูนิลีเวอร์ได้ปรับโครงสร้างใหม่ โดยแบ่งเป็น 3 โครงสร้างหลักทางธุรกิจ กลุ่มแรกเป็นการนำกลุ่มดูแลและทำความสะอาดผิวกับกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคลมารวมกัน กลุ่มสอง คือ การรวมกันระหว่างกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือน และกลุ่มทันตผลิตภัณฑ์ และกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มอาหารซึ่งประกอบด้วย 3 แบรนด์หลัก ได้แก่ เบสท์ฟู้ดส์,คนอร์ และวอลล์

โดยการปรับโครงสร้างดังกล่าวที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การทำตลาดกลุ่มอาหารของยูนิลีเวอร์ทำได้อย่างเต็มที่มากขึ้น นอกจากนี้ยูนิลีเวอร์ยังได้ดึงการจัดจำหน่ายธุรกิจอาหารมาทำเองทั้งหมด จากเดิมที่กระจัดกระจายอยู่ เช่น บริษัท พีพีซี-อายิฯ เป็นต้น เนื่องจากยูนิลีเวอร์ต้องการรุกหนักตลาดอาหาร เพราะเป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูง จากในปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า นอกจากนี้ยังเป็นธุรกิจที่มีกำไรสูง ซึ่งเป็นคำพูดที่ นายลออิศ ทาร์ดี้ ประธานคนใหม่ของยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด ได้กล่าวไว้

สำหรับในกลุ่มอาหารยูนิลีเวอร์ 4 แบรนด์หลัก ประกอบด้วย ภายใต้แบรนด์ "เบสท์ฟู้ดส์" มีสินค้า 3 กลุ่มด้วยกันที่เป็นผู้นำตลาด คือ กลุ่มแยม , กลุ่มน้ำสลัดซีซาร์ -สลัดครีม, กลุ่มผลิตภัณฑ์สเปรด และมายองเนส ภายใต้แบรนด์ไอศครีม "วอลล์" ภายใต้แบรนด์ "คนอร์" มีสินค้าซุปไก่ก้อน-ผงชนิดไม่มีผงชูรส,โจ๊ก-ซุป,ซอสหอยนางรม และแป้งเทมปุระ ส่วนแบรนด์สุดท้าย คือ ชาลิปตัน

"เดิมที่ผ่านมาการทำตลาดของยูนิลีเวอร์ในกลุ่มอาหารยังทำไม่ได้เต็มที่ แต่หลังจากที่โครงสร้างองค์กรลงตัว การทำตลาดอาหารจึงทำได้เต็มที่มากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันนี้ยังมีสินค้าอีกหลายตัวที่บริษัทยังไม่ได้ครีเอต ดีมานต์มากนัก แต่การรุกตลาดอาหารหนักของยูนิลีเวอร์ในครั้งนี้ จะเน้นหนักการครีเอต ดีมานต์ใหม่ๆ สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่มีเวลาทำอาหารเอง และต้องการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีน้ำตาลน้อย"

แหล่งข่าว กล่าวเพิ่มเติมว่า การเคลื่อนทัพยูนิลีเวอร์ในกลุ่มอาหารจะเน้นหนักการครีเอต ดีมานต์ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เริ่มด้วยคนอร์การเปิดตัวเครื่องปรุงข้าวรสกระเทียม ผงปรุงรสสูตรเผ็ดน้อยเผ็ดมาก หรือกระทั่งซุปไก่ก้อน-ผงสูตรไม่มีผงชูรส ขณะที่กลุ่มโจ๊กผสมผสานระหว่างตะวันออก-ตะวันตก ด้วยการเปิดตัวรสพิซซ่า ฯลฯ ส่วนตัวเบสท์ฟู้ดส์เปิดตัวน้ำสลัดซีซาร์ ซีซาร์,เธาเซินด์ ไอส์แลนด์, ไลท์ เลมอน และกลุ่มผลิตภัณฑ์สเปรดได้เปิดตัวรสเชดด้า ชีส และรสทูน่า

ด้านนายญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ยูนิลีเวอร์ เบสท์ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า นโยบายของเบสท์ฟู้ดส์ในปี 2549 จะมุ่งขยายตลาดรวมเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 20% ขณะที่ผลประกอบการปีที่แล้วราว 2,000 ล้านบาท โต 15% โดยกลุ่ม "เบสท์ฟู้ดส์" แยมมีส่วนแบ่ง 75% จากมูลค่าตลาด 2,000 ล้านบาท กลุ่มน้ำสลัดซีซาร์ -สลัดครีมมีส่วนแบ่ง 60% จากมูลค่า 300 ล้านบาท และกลุ่มผลิตภัณฑ์สเปรด ปัจจุบันมี 42% จากมูลค่าตลาด 2,000 ล้านบาท ส่วน "ไอศครีมวอลล์" เป็นผู้นำตลาดครองส่วนแบ่ง 51% และ"คนอร์" ซุปไก่ก้อนมีส่วนแบ่งกว่า 70-80%,โจ๊ก-ซุป ซอสหอยนางรม และแป้งเทมปุระ

ศึกหนักปะหมัดคู่แข่งโลคัล-อายิฯ

อย่างไรก็ตามการเคลื่อนทัพยูนิลีเวอร์ในกลุ่มอาหารเป็นเรื่องที่ไม่หมูมากนัก ทั้งจากคู่แข่งโลคัลหรือผู้ประกอบการอาหารในประเทศ ซึ่งมีความได้เปรียบในเรื่องของรสชาติ ที่สามารถเข้าใจถึงความต้องการได้อย่างลึกซึ้งมากกว่าบริษัทต่างชาติ อย่างกลุ่มซอสปรุงรสโดยรวมมีมูลค่า 5,000 ล้านบาท น้ำมันหอย ซีอิ้วขาว น้ำปลา ในตลาดเหล่านี้มีแบรนด์โลคัลที่มีความแข็งแกร่งทั้งสิ้น เช่น อย่างน้ำมันหอยแม่ครัวเป็นผู้นำตลาดครองส่วนแบ่ง 60-70% จากมูลค่า 900 ล้านบาท

ขณะที่ตลาดเครื่องปรุงรส อย่าง "คนอร์" ต้องช่วงชิงกับค่ายยักษ์ใหญ่อายิโนะโมะโต๊ะ จากมูลค่าตลาดรวม 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็นชนิดก้อน 70% และชนิดผง 30% ซึ่งปัจจุบัน "รสดี" ของค่ายอายิฯมีความแข็งแกร่งมากในตลาดเครื่องปรุงรสชนิดผง มีส่วนแบ่งถึง 80% อีกทั้งอายิโนะโมะโต๊ะยังคงครองแชมป์อย่างเหนียวแน่นในตลาดผงชูรสที่มีมูลค่าตลาดรวม 7,000 ล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 80% และมีสัดส่วนรายได้ 27% ของรายได้รวม 19,000 ล้านบาท

เป็นเพียงน้ำย่อยเท่านั้นที่ธุรกิจอาหารของยูนิลีเวอร์จะต้องเจอ โดยปัจจุบันอายิโนะโมะโต๊ะมีกำลังการผลิตทั่วโลกนับแสนตันต่อปี จากฐานการผลิตมากกว่า 103 แห่งใน 22 ประเทศครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วโลก และหากไม่นับตลาดในจีน ถือว่าอายิโนะโมะโต๊ะยังครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับหนึ่งของโลก โดยมียอดขาย 74% อยู่ในญี่ปุ่น , ที่ยุโรป 10% ,เอเชีย 9.5% และประเทศในกลุ่มอเมริกา 6.5% มีรายได้จากผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารที่จำหน่ายในประเทศมากที่สุด 56% กลุ่มอาหารที่จำหน่ายในต่างประเทศ 15% ฯลฯ โดยในประเทศไทยมีกลุ่มสินค้าเครื่องปรุงรส "รสดี", บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยำยำ, กาแฟเบอร์ดี้, เครื่องดื่มคาลพิโก้, ชาเขียวเซนชะ, Lite sugar


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.