ยัวซ่าฯเล็งทุ่ม100ล.เพิ่มกำลังผลิตหวังขยายฐานตลาดส่งออกแอฟริกา


ผู้จัดการรายวัน(10 เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ยัวซ่าแบตเตอรี่ เตรียมเพิ่มกำลังผลิตปี 50 คาดใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท หลังมีลูกค้าจากแอฟริกาให้ความสนใจที่จะนำสินค้าไปจำหน่าย และพันธมิตรที่ใช้แบตเตอรี่ของบริษัทเดินหน้าลุยหาโครงการเพิ่ม แจงซื้อเครื่องจักรจาก GYIN เพื่อต้องการลดอัตราของเสีย หลังต้นทุนเพิ่มและการปรับราคาขายสินค้ายังทำไม่ได้

นายศุภวัส พันธุ์วัฒน์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ยัวซ่าแบตเตอรี่ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน)(YUASA) เปิดเผยว่าการที่บริษัทได้ซื้อเครื่องจักร กับบริษัท จีเอส ยัวซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (GYIN) ซึ่งเป็นบริษัท เกี่ยวโยงกัน จำนวน 1 รายการ ประมาณ 14.26 ล้านบาท เมื่อเดือนที่ผ่านมานั้น

สำหรับการซื้อเครื่องจักรดังกล่าว เป็นเครื่องจักรซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นและเป็นเทคโนโลยีเฉพาะของบริษัท GYIN เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดอัตราของเสียจากการผลิตโดยรวม เมื่อพิจารณาจากข้อมูลการทดสอบของบริษัทในช่วงเดือนกันยายน 2548 - กุมภาพันธ์ 2549 ที่ผ่านมา พบว่าอัตราของเสียโดยรวมจากเดิมในเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2548 ก่อนการทดสอบใช้เครื่องจักรมีค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 3.62-3.84 หลังจากนั้นตัวเลขลดลงจากเดิมตลอดเวลาลงเหลือประมาณร้อยละ 0.45-0.65 ในเดือน กุมภาพันธ์ 2549 หรือเอิลดลงประมาณร้อยละ 83 เมื่อเทียบกับข้อมูลก่อนการทดสอบ

“การที่เราลงเครื่องจักรใหม่ เป็นเครื่องจักรของการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถมอเตอร์ไซด์ แต่รถยนต์เรายังไม่ได้เพิ่มส่วนใด เหตุผลหนึ่ง เพราะต้นทุนของเราเพิ่มขึ้น แต่ไม่อาจปรับราคาสินค้าที่จำหน่ายได้ จึงต้องหาวิธีลดต้นทุนในการผลิต ”นายศุภวัฒน์กล่าว

โดยเฉพาะต้นทุนตะกั่วที่ปรับขึ้นมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา บริษัทที่ไม่มีโรงหลอมตะกั่วก็ต้องรับภาระเพิ่ม จะไม่ได้รับผลกระทบมากก็เฉพาะบริษัทที่มีโรงหลอมเองอย่างบริษัทใหญ่ ๆ บางแห่งเท่านั้น ซึ่งทำให้ต้นทุนต่ำกว่าบริษัทเล็ก ๆ และยังมีการจัดโปรโมชั่นเพื่อแข่งขันราคากันด้วย

นายศุภวัฒน์ กล่าวถึง ผลการดำเนินงานปีนี้ว่าอาจขยายตัวไม่มาก โดยตั้งเป้ายอดขายไว้ไม่ต่ำกว่า 1,300 ล้านบาท ขณะที่กำไรประมาณการได้ยาก เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ยังสูงและการปรับราคาขายแบตเตอรี่ก็ยังทำไม่ได้ จึงคาดเดาได้ยาก ขณะที่ไตรมาสแรกปีนี้ยังบอกตัวเลขที่ชัดเจนได้ยาก เนื่องจากขณะนี้อยู่ในระหว่างการส่งข้อมูลงบการเงินให้กับผู้ตรวจสอบบัญชี

โดยแบตเตอรี่รถมอเตอร์ไซด์จากปีที่ผ่านมาพบว่าความต้องการใช้เพิ่มไม่ถึง 5% ขณะที่แบตเตอรี่รถยนต์ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะรถกระบะที่ยอดขายรถชนิดนี้ยังขายได้ สวนทางกับรถชนิดอื่น แต่ YUASA ยังต้องเพิ่มกำลังการผลิตการแบตเตอรี่รถมอเตอร์ไซด์ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทผลิตแบตเตอรี่ให้กับค่ายฮอนด้าเท่านั้น ซึ่งมีกำลังการผลิตที่ 2.5 ล้านลูกต่อปี

“เราจะทำการตลาดเพิ่มขึ้น ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน รองรับการทำตลาดที่เพิ่มขึ้น หากเราต้องการลูกค้าที่หลากหลาย ” นายศุภวัสกล่าว

สำหรับเป้าหมายการขยายกำลังการผลิตในส่วนของแบตเตอรี่รถยนต์เพิ่มขึ้นด้วย โดยคาดว่าจะเริ่มได้ในปี 50 เพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่มจาก 9 แสนลูกต่อปีเป็น 1.2-1.3 ล้านลูกต่อปีสำหรับแบตเตอรี่รถยนต์ และส่วนหนึ่ง ของการเพิ่มกำลังการผลิต เกิดจากปีนี้มีลูกค้าจากแอฟริกาเดินทางมาเยี่ยมชมโรงงานและให้ความสนใจที่จะติดต่อเป็นพันธมิตรทางการค้า เพื่อนำแบตเตอรี่ของYUASA ไปจำหน่ายในประเทศแถบนั้น และหากลูกค้าแสดงความจำนงเข้ามาว่าต้องการสินค้า จะทำให้บริษัทไม่อาจรับออร์เดอร์ได้ ดังนั้น การเพิ่มกำลังการผลิตครั้งนี้ เป้าหมายหนึ่งเพื่อรองรับคำสั่งจากลูกค้าที่อาจมีเข้ามาในช่วงหลังจากนี้

“ลูกค้าเขาสนใจและเข้ามาเจรจากับเรา เราได้ส่งแบบและราคาไปให้เขาดูแล้ว คาดว่าน่าจะรู้ผลได้ในไตรมาส 2 นี้ และหากมีออร์เดอร์เข้ามาจริง เราคงไม่อาจส่งแบตเตอรี่ให้เขาได้ทัน เราจึงต้องเตรียมแผนการเพิ่มกำลังการผลิตของเราไว้ เพราะขณะนี้กำลังการผลิตของเราก็เต็มที่แล้ว ” นายศุภวัส กล่าว

นายศุภวัส กล่าวต่อว่า นอกจากลูกค้าต่างชาติแล้ว YUASA ยังจะได้อานิสงส์จากโครงการของบริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด(มหาชน) ด้วย เพราะบริษัทดังกล่าว ใช้แบตเตอรี่ของ YUASA ในการติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์และนอกจากนี้แล้ว โซลาร์ตรอน ยังจะเดินสายไปลุยตลาดประเทศเพื่อนบ้านอีกทั้งโครงการอื่น ๆ ในประเทศที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ YUASA ได้รับผลดีด้วย

นอกจากนี้ หากประเทศไทยมีการใช้รถยนต์ระบบไฮบริดจ์ ที่จะต้องใช้แบตเตอรี่ ก็จะดีต่อผู้ผลิตแบตเตอรี่ แต่ระบบนี้ถือว่ายังเป็นระบบใหม่ที่ในไทยคงอีกนานกว่าจะเกิดขึ้น

นายศุภวัส กล่าวว่า หากต้องเพิ่มกำลังการผลิตอีก ก็ต้องใช้เงินทุนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทและคงเป็นการกู้จากสถาบันการเงินเพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิตดังกล่าว แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องได้ข้อสรุปจากลูกค้าก่อน จึงจะตัดสินใจได้ว่าจะเกิดขึ้นช่วงใด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.