ยิ่งดาวเทียมได้รับความนิยมใช้ในการสื่อสารเพิ่มขึ้นเท่าใด ปัญหาขาดแคลนวงโคจรยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
การยิงดาวเทียมใช่ว่าจะยิงก็ทำได้ทันที ไม่เพียงแค่จัดส่งดาวเทียมให้ขึ้นอยู่บนห้วงอวกาศให้อยู่รอดปลอดภัยเท่านั้น
แต่ตำแหน่งวงโคจรมีความสำคัญต่อธุรกิจดาวเทียมไม่ยิ่งหย่อนกัน เพราะจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการกำหนดพื้นที่ให้บริการของดาวเทียมดวงนั้น
ๆ โดยเฉพาะดาวเทียมค้างฟ้าที่จะต้องมีตำแหน่งตายตัว และการวางตำแหน่งของดาวเทียมนั้นถูกกำหนดไม่ควรจะอยู่ใกล้กันเกิน
2 องศา เพราะจะเกิดปัญหาเรื่องสัญญาณรบกวนกัน
แม้กระทั่งดาวเทียมไทยคมเองก็ต้องประสานงานกับดาวเทียมดวงอื่น ๆ ในเรื่องตำแหน่งวงโคจรอยู่ตลอดเวลา
แม้ว่าจะยิงขึ้นไปแล้วก็ตามแต่ปัญหาไม่ได้จบลงแค่นั้น
"พอมีดาวเทียมก็ต้องเตรียมใจไว้เลยว่าต้องมีเรื่องประสานวงโคจรและความถี่กับประเทศต่าง
ๆ ตลอดเวลา ไม่ใช่ยิงแล้วก็แล้วกัน" เศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ รองอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขกล่าว
เศรษฐพรเป็นตัวแทนของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ คือ กรมไปรษณีย์โทรเลขที่ต้องรับภาระหน้าที่นี้โดยตรง
เขาจึงเป็นผู้หนึ่งที่ต้องเดินทางไปเจรจาประสานงานตำแหน่งวงโคจรให้กับดาวเทียมไทยคม
1 ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกของไทย จนกระทั่งปัจจุบันภารกิจของเขาไม่ได้จบลง
"ช่วง 5 ปีมานี้ผมต้องเดินทางไปต่างประเทศทุกเดือน เพื่อประสานงานในเรื่องวงโคจร
และความถี่ แม้ว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องวงโคจรใกล้กันก็ตาม แต่ยิ่งมีดาวเทียมยิงขึ้นไปมากเท่าใด
ก็ยิ่งต้องประสานงาน และการเจรจาแต่ละครั้งไม่ใช่ว่าจะเสร็จสิ้นลงในครั้งเดียว"
เศรษฐพรกล่าว
จะว่าไปแล้ว ภารกิจของเศรษฐพรก็เปรียบเหมือนนักการทูต แต่ไม่ใช่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดังเช่นนักการทูตคนอื่น
แต่เป็นนักการทูตที่ต้องเจรจาเรื่องตำแหน่งวงโคจรเพียงอย่างเดียว
ที่สำคัญดาวเทียมนั้นเป็นของใหม่ของไทย แม้เศรษฐพรจะจบทางด้านรัฐศาสตร์
ทั้งในระดับปริญญาตรี และโท มีประสบการณ์ในกรมไปรษณีย์โทรเลขมาหลายสิบปี
และยังเป็นอาจารย์พิเศษสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จนล่าสุดได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์พิเศษ
ประจำคณะวารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่การเจรจาประสานงานเรื่องดาวเทียมไม่ได้บรรจุอยู่ในตำรา
จึงต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นล้วน ๆ
"ตอนนั้นทั้งผมและชินวัตรเองก็ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ทางชินวัตรก็เลยต้องว่าจ้างที่ปรึกษาจากสหรัฐอเมริกา
ซึ่งมีประสบการณ์เรื่องของดาวเทียมมาช่วยในเรื่องนี้" เศรษฐพร เล่า
จุดสำคัญของการเจรจาเศรษฐพรชี้แจงว่า ต้องผสมผสานกันทั้งความรู้ในเรื่องเทคนิคของดาวเทียม
ทางการทูต ตลอดจนจิตวิทยาในการเจรจา ดังนั้นการไปประสานงานในแต่ละครั้งจะมีทีมเวิร์คพร้อมอุปกรณ์ไฮเทค
เพื่อช่วยในการคำนวณอย่างครบครัน
"เวลาประชุม เมื่อมีการยกประเด็นทางเทคนิคขึ้นมา เช่นว่าหากให้ขยับไปอยู่ในวงโคจรอีกตำแหน่งจะกระทบอย่างไร
ทีมเวิร์คจะต้องรับคำนวณออกมาทันทีเลยว่า ลูกค้าที่เช่าวงโคจร เช่น วีแซท
ไดเร็กต์ทูโฮมทีวี จะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ดังนั้นในการประชุมจะมีเบรกตลอดเวลาเพื่อมานั่งคำนวณกัน"
เศรษฐพรอธิบาย
ข้อพิพาทวงโคจรดาวเทียมระหว่างไทยคม 1 และเอชียแซท เป็นโจทย์หินข้อแรกที่เศรษฐพรต้องประสบ
"ครั้งแรกที่สุดเลย ผมไปเจรจากับเอเชียแซท ประชุมกัน 2 ชั่วโมง เขาบอก
ไม่มีทางประสานงานเรื่องวงโคจรกันได้ ผมเลยบอกว่าถ้างั้นเราก็จะยิงเลย และบอกให้ทีมงานซึ่งมีอยู่
5 คนให้ลุกกลับเลย เขาจึงยอมเจรจา" เศรษฐพรเล่าถึงประสบการณ์ที่ประทับใจ
ซึ่งบางครั้งต้องมีท่าทีแข็งกร้าวด้วย
หลังเจรจาประสานงานไม่บรรลุผล กระทั่งชินวัตรถึงกับต้องยื่นหนังสือให้กระทรวงการต่างประเทศช่วยเหลือ
จนต้องหาทางออกในด้านอื่น
"เมื่อการเจรจาในฐานะตัวแทนของทางรัฐบาลไม่ได้ผล ผมก็เลยแนะให้ชินวัตรเขาเจรจาประสานประโยชน์ทางธุรกิจร่วมกับทางเอเชียแซทเขาโดยตรง
ก็เลยสรุปกันได้ เพราะตอนนั้นมีลูกค้าไทยที่เช่าเอเชียแซทอยู่ด้วย"
เศรษฐพรเล่า
ในที่สุดไทยคม 1 และเอเชียแซทก็สามารถตกลงกันได้ โดยต่างฝ่ายต่างยอมย้ายตำแหน่งวงโคจรออกไป
ด้วยวิธีประสานประโยชน์ร่วมกัน
แต่ข้อเสนอแนะนี้ใช้ไม่ได้ผลกับดาวเทียมแอปสตาร์ 1 เอ ของเอพีพีแซทเทิลไลท์ของรัฐบาลจีน
ซึ่งมีกลุ่มซีพีเจ้าพ่อค้าไก่ของไทยถือหุ้นอยู่ด้วย ต้องการยิงขึ้นสู่วงโคจรตำแหน่ง
121 องศาตะวันออก ใกล้กับตำแหน่งวงโคจรของไทยคม 3 ที่จะขึ้นสู่วงโคจรตำแหน่ง
120 องศาตะวันออก ในช่วงปลายปี 2539
แม้ว่าการเจรจาประสานงานระหว่างดาวเทียมทั้งสอง มีขึ้นตั้งแต่ปี 2537 แต่จนบัดนี้ยังไม่บรรลุผล
ในครั้งแรกโชคอาจเป็นของไทยคม เนื่องจากดาวเทียมแอปสตาร์ 1 ที่ถูกส่งขึ้นไปเมื่อต้นปี
2538 เกิดระเบิดก่อน ทำให้ไทยคมยืดเวลาการเจรจาออกไป หลังจากนั้นเศรษฐพรและชินวัตรต้องบินเข้าออกประเทศจีนหลายครั้ง
แต่การเจรจากลับไร้ผล
"เราเสนอแนวทางหลายอย่างแต่เขาปฏิเสธตลอด เจ้าหน้าที่เขาบอกว่าได้รับนโยบายมาอย่างนี้
อย่างครั้งที่แล้วที่บินไปเจรจาเริ่มคุยกันตั้งแต่ 9 โมงเช้าเลิกอีกทีตี
5 ก็ยังสรุปไม่ได้" เศรษฐพรเล่าถึงการเจรจาชนิดมาราธอน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ เศรษฐพรต้องงัดไม้แข็งบินไปเจรจากับเลขาธิการของสหภาพโทรคมนาคมโลก
หรือไอทียู ขอความช่วยเหลือให้เป็นตัวกลางส่งหนังสือถึงสถาบันการเงินทุกแห่งทั่วโลกให้งด
หรือระมัดระวังปล่อยเงินกู้กับแอปสตาร์
"จริง ๆ แล้วผมเสนอไปหลายข้อ เช่น หากมีการประชุมระหว่างประเทศเมื่อใด
ไทยจะหยิบยกเรื่องนี้มาประณามการกระทำของจีน และข้อเสนอด้านไฟแนนซ์แซงชั่นแต่ก็ต้องเลือกเอาวิธีใดวิธีหนึ่ง
ซึ่งทางไอทียูก็ให้ความร่วมมือด้วยดี" เศรษฐพร เล่า
กระทั่งเรื่องถึงรัฐบาล ต้องออกโรงมาเจรจา โดยในการเยือนประเทศจีนของบรรหาร
ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 25-29 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้บรรจุเรื่องดังกล่าวลงในการเจรจากับรัฐบาลจีน
และจีนได้มอบหมายให้ฝ่ายวิชาการไปศึกษา ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้มีการเจรจากันไปหลายครั้งแต่ยังไม่ศึกษา
เศรษฐพรยอมรับว่า การเจรจากับทางแอปสตาร์นั้นยากลำบากกว่าคราวเจรจากับเอเชียแซทมาก
กระนั้นก็ตามเขายังเชื่อว่าคงหาทางออกได้
ความหวังของเศรษฐพรในฐานะของทูตดาวเทียมจะบรรลุผลหรือไม่ คงต้องรอลุ้นกันต่อไป
แต่ที่แน่ ๆ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เมื่อไทยคมหมดอายุคุ้มครอง น่านฟ้าไทยมีดาวเทียมเพิ่มขึ้น
ทูตดาวเทียมคงต้องเหนื่อยขึ้นอีกหลายเท่า