เขตปลอดอากร เขตยกเว้นภาษี

โดย สมเดช โรจน์คุรีเสถียร
ผู้จัดการรายวัน(10 เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

กิจการผลิตสินค้า กิจการอุตสาหกรรมเป็นกิจการที่กระบวนการผลิตมีต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ผู้ประกอบการจะต้องแสวงหาการบริหารค่าใช้จ่ายให้มีต้นทุนที่ต่ำลงหรือต่ำสุดแต่ยังคงไว้ซึ่งคุณภาพของสินค้าของตนเอง ต้นทุนที่สำคัญอย่างหนึ่งคงหนีไม่พ้นภาษีอากร หากขาดการวางแผนหรือบริหารภาษีอากรไม่รัดกุมหรือไม่เพียงพอก็อาจจะทำให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นมีภาระต้นทุนทางภาษีอากรค่อนข้างสูง

การเลือกสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับธุรกิจจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องศึกษาค้นหาสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร เช่น การนำธุรกิจขอรับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อให้ธุรกิจได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือการนำสถานประกอบการไปตั้งอยู่ในเขตปลอดอากร (Tax Free Zone) เพื่อให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีอากร

หากกิจการเป็นกิจการอุตสาหกรรม กิจการผลิตสินค้าแล้วนำโรงงานไปตั้งไว้ในเขตปลอดอากรก็จะทำให้กิจการได้รับสิทธิยกเว้นภาษีอากรหลายประเภทด้วยกัน ทำไมเราต้องนำธุรกิจของเราไปตั้งอยู่ในเขตปลอดอากร และสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีที่น่าสนใจมีอะไรบ้าง เรามารู้จักเขตปลอดอากรตามกฎหมายกรมศุลกากร กรมสรรพากร และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ให้ความหมายและข้อยกเว้นภาษีไว้ดังนี้

เขตปลอดอากร หมายถึง เขตพื้นที่ที่กำหนดไว้สำหรับการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมหรือกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ โดยของที่นำเข้าไปในเขตดังกล่าวจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางอากรตามที่กฎหมายได้บัญญัติให้ยกเว้น เช่น

1. ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อนำเข้าในเขตปลอดอากร

2. ยกเว้นอากรขาออกสำหรับของที่ปล่อยไปจากเขตปลอดอากรเพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักร

3. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำสินค้าจากต่างประเทศเข้าไปในเขตปลอดอากร

4. ให้ใช้อัตรา 0% ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำสินค้าในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตปลอดอากรเฉพาะสินค้าที่ต้องเสียอากรขาออกหรือที่ได้รับยกเว้นอากรขาออกตามกฎหมายว่าด้วยอากรขาออก

5. ยกเว้นภาษีสรรพสามิตสำหรับการนำเข้าและการผลิตของที่กระทำในเขตปลอดอากร

กรณีศึกษาจากหนังสือตอบข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/พ./4192 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2548

1. การให้บริการที่กระทำในเขตปลอดอากรของผู้ประกอบการ ซึ่งประมวลรัษฎากรกำหนดให้ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 จะต้องเป็นการประกอบกิจการดังต่อไปนี้

1.1 การให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรเพื่อใช้ผลิตสินค้าในเขตปลอดอากรเพื่อส่งออก และการให้บริการที่กระทำในเขตปลอดอากรเพื่อใช้ผลิตสินค้าส่งออกโดยผู้ประกอบการจดทะเบียน ทั้งนี้ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105) เรื่อง กำหนดประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขกรณีการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักร และได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2543

1.2 การให้บริการระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการอยู่ในเขตปลอดอากร ไม่ว่าจะอยู่ในเขตปลอดอากรเดียวกันหรือไม่ ทั้งนี้ตามมาตรา 80/1(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 123) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการขายสินค้าหรือให้บริการบางกรณีตามมาตรา 80/1(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 15 มกราคม 2545

2. หากบริษัทผู้รับจ้างก่อสร้างหรือบริษัทผู้ให้บริการที่มิใช่ผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการอยู่ในเขตปลอดอากรได้ให้บริการแก่บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการอยู่ในเขตปลอดอากร บริษัทผู้รับจ้างก่อสร้างหรือผู้ให้บริการย่อมไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทผู้รับจ้างก่อสร้างหรือบริษัทผู้ให้บริการมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษีและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทฯ ในอัตราร้อยละ 7 ตามมาตรา 82/3 และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร

3. การนำเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการผลิตอาหารและเครื่องดื่มจากต่างประเทศเข้าไปในเขตปลอดอากร หากเครื่องจักรและอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นสินค้าที่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า บริษัทผู้รับจ้างก่อสร้างหรือบริษัทผู้ให้บริการจะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ตามมาตรา 81(2)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร และไม่มีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทฯ แต่อย่างใด

4. การนำเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการผลิตอาหารและเครื่องดื่มซึ่งอยู่ในประเทศไทยเข้าไปในเขตปลอดอากรถือเป็นการส่งออกตามมาตรา 77/1(14)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทผู้รับจ้างก่อสร้างหรือบริษัทผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้ส่งออกจะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร

5. กรณีบริษัทฯ จะต้องสร้างอาคารและสิ่งก่อสร้างและโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กระทรวงการคลังทันทีที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2535 ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่มีสิทธินำภาษีซื้อดังกล่าวมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร

จะเห็นได้ว่าหากเรานำธุรกิจของเราเข้าไปตั้งในเขตปลอดอากรสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรก็คือการยกเว้นภาษีหลายประเภทด้วยกัน ทำให้ธุรกิจมีต้นทุนทางภาษีอากรต่ำลง ช่วยให้กิจการบริหารกำไรได้อย่างเต็มไม้เต็มมือ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.