|
สศค.บ่นอุบโครงสร้างภาษีปัจจุบันไม่ดีพอ ยกเครื่องใหม่รองรับรายได้ที่เปลี่ยนไป
ผู้จัดการรายสัปดาห์(10 เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
สศค.รื้อโครงสร้างภาษี 10 ปีตามคำสั่งรัฐ มองโครงสร้างปัจจุบันยังไม่ดีพอ ไม่สามารถรองรับรายได้ที่เปลี่ยนไป พร้อมจัดสรรสัดส่วนและเพิ่มศักยภาพของหน่วยงานรัฐให้ทำงานหนักเพื่อทำรายได้เพิ่มขึ้น ไม่ว่าการพัฒนาที่ราชพัสดุ หรือเพิ่มความสามารถการจัดเก็บของอทป.
การยกเครื่องรื้อภาษีของทั้ง 3 กรม อย่างสรรพากร สรรพสามิตรและศุลกากร เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในโครงสร้างรายได้รัฐอีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ที่สำคัญคือรัฐต้องมีรายได้เพียงพอที่จะบริหารประเทศ แม้ว่าหน่วยงานอย่างกรมศุลกากรจะถูกลดบทบาททางด้านการจัดเก็บภาษีแล้วก็ตาม แต่รายได้ที่เข้ารัฐจะต้องไม่น้อยลง จึงเป็นผลให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ต้องทำการศึกษาโรงสร้างภาษีที่เกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า
สมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) บอกว่า การปรับโครงสร้างภาษีไม่ได้หมายความว่าจะต้องจะต้องเพิ่มอัตราการจัดเก็บแต่เป็นการขยายฐานการจัดเก็บภาษีให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม โดยหวังที่จะให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการทำลายสิ่งแวดล้อม
"เราไม่ได้คิดว่าการปรับโรงสร้างในครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มอัตราภาษีและขยายฐานการจัดเก็บให้มากขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังมุ่งหวังสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการด้วย ซึ่งหมายความว่าถ้าผู้ประกอบการมีต้นทุนที่ถูกลง ผลิตสินค้าได้มากขึ้นในราคาที่ผู้บริโภคยอมรับได้ก็จะเกิดการจับจ่ายใช้สอย ภาษีทางอ้อมก็จะเข้ามาสู่กระเป๋ารัฐบาล ในขณะที่ผู้ประกอบการก็มีรายได้และกำไรเพิ่มมากขึ้นก็หมายถึงภาษีที่เข้ารัฐก็ต้องเพิ่มมากขึ้น"
สมชัย เล่าอีกว่าถ้าจะพิจารณาภาษีอากรของไทยจะเห็นได้ว่าสัดส่วนการจัดเก็บจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้าเทียบกับต่างประเทศการจัดเก็บภาษีอากรของไทยยังอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำ ไม่ว่าจะเทียบกับมาเลเซียหรือฟิลิปินส์ก็ตาม
ภาพที่สะท้อนออกมาเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าการจัดเก็บภาษีของประเทศไทยนั้นมีศักยภาพแท้จริงแล้วหรือ ถ้าดีจริงทำไมถึงทีรายได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อบ้าน
ทุกวันนี้ภาษีที่รัฐจัดเก็บได้ส่วนใหญ่มาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว รายได้หรือสัดส่วนจากภาษีบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลจัดเก็บในสัดส่วนที่สูงกว่าVAT
"ปัจจัยที่กำหนดแนวทางปรับปรุงโครงสร้างภาษีนั้นพิจารณาจากความจำเป็นในการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล และขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระแสการเปิดเสรี ซึ่งจะทำให้รายได้จากภาษีลดลงโดยเฉพาะในส่วนของกรมศุลกากร แต่สามารแกได้ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการ เช่นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน และสุดท้ายคือ บทบาทที่เหมาะสมของภาษีแต่ละประเภท "
ซึ่งบทบาทที่เหมาะสมของภาษีแต่ละประเภทนั้นก็ต้องพิจารณาลงไปในรายละเอียดว่าภาษีตัวใดที่มีการจัดเก็บซับซ้อน ตัวใดที่ล้าสมัยและควรยกเลิกหรือปรับปรุงใหม่
สมชัย เล่าถึงเป้าหมายการปรับโครงสร้างภาษีที่รัฐให้มาเป็นการบ้านนั้นต้องคำนึงถึงรายได้ที่เพียงพอต่อการใช้จ่ายของรัฐ ซึ่งนั่นไม่เพียงแค่การปรับโครงสร้างหนี้เท่านั้น แต่ยังเน้นเพิ่มรายได้จากฐานทรัพย์สินของภาครัฐด้วย โดยการจัดหาประโยชน์สูงสุดจากที่ราชพัสดุ เช่นการนำที่ราชพัสดุมาพัฒนาเพื่อรองรับโครงการรัฐบาลเช่นการท่องเที่ยว พัฒนาประโยชน์ที่ดินอาคารโดยการประมูลเช่าของเอกชนปรับปรุงสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินทรัพย์ เป็นต้น
ซึ่งในส่วนนี้ต้องโยงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเพิ่มศักยภาพการจัดเก็บภาษีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ด้วย เนื่องจากปัจจุบัน อปท.พึ่งพิงรายได้งบประมาณจากทางรัฐมากเกินไปโดยในแต่ละ อปท.สามารถจัดเก็บภาษีในพื้นที่ที่ดูแลเองได้ในสัดส่วนที่ต่ำมาก คือ 10% ในขณะที่รัฐต้องอุดหนุนให้ถึง 90% ซึ่งเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของรัฐในอนาคต
สมชัย บอกว่า ทาง อปท. ต้องพึ่งพาตนเองให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะโครงสร้างรายได้ใน 10 ปีข้างหน้าจะเปลี่ยนไป และถ้ารัฐยังแบกรับภาระตรงส่วนของ อปท.การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในกับประเทศคงทำได้ยากขึ้นเพราะงบประมาณต้องถูกจียดไปให้ อปท.
กระนั้นก็ตาม อปท. เองก็อยู่ระหว่าการรอบังคับโครงสร้างภาษีตัวใหม่ คือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเชื่อว่าภาษีตัวใหม่ที่ได้รับการปรับปรุงจากภาษีที่ดินและโรงเรียน กับภาษีบำรุงท้องที่จะเพิ่มขีดความสามารถการจัดเก็บให้องค์กรแกครองส่วนท้องถิ่นได้มากขึ้น
การปรับโครงสร้างภาษี 10 ปี จึงไม่ใช่การแก้ไขแค่อัตราภาษี หรือเพิ่มรูปแบบการจัดเก็บภาษีตัวใหม่ ๆ แต่การปรับโครงสร้างภาษีนั้นต้องพิจารณาจากหลายส่วน เพราะบางครั้งการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีก็ทำให้รัฐเก็บภาษีเพิ่มได้เช่นกัน ขณะเดียวกัน ก็หาใช้ทรัพย์สินของรัฐที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถการจัดเก็บของ อปท.ด้วย
การปรับโรงสร้างภาษีย่อมีทั้งผู้ได้รับผลประโยชน์และผู้ได้รับผลเสีย แต่สำหรับประชาชนตาดำ ๆ ทั่วไปย่อมเต็มใจจ่ายภาษีให้รัฐแน่ หากแต่อย่าสร้างความเคลือบแคลงใจให้กับประชาชนว่าภาษีที่จ่ายไปนั้นตกหลนไปอยู่ที่ส่วนใดของโลกบ้าง ขอเพียงแค่ภาษีทุกบาททุกสตางค์นำมาพัฒนาประเทศจริงมีหรือที่คนไทยจะแล้งน้ำใจ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|