ผลประกอบการบจ.ดันค่าพีอีขึ้น ปัจจัยหนุนมูลค่าตลาดรวมได้ตามเป้า


ผู้จัดการรายวัน(10 เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ตามแผนแม่บทพัฒนาตลาดทุนไทยนั้นต้องการเพิ่มมูลค่าตลาดรวมถึง 10 ล้านล้านบาท เป็นผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสายงานวิจัยและข้อมูลสารสนเทศ ต้องทำการศึกษาเพื่อหาหนทางการเพิ่มมูลค่าตลาดให้สูงถึงระดับที่ตั้งเป้าไว้ ซึ่งผลงานวิจัยวิเคราะห์ออกมาว่าการทำดังกล่าวนั้นจะต้องเน้นการเพิ่มค่าพีอี และปัจจัยที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของค่าพีอีก็อยู่ที่ผลประกอบการของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สภาพคล่องและขนาดของบริษัทจดทะเบียน

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สายงานวิจัยและข้อมูลสารสนเทศได้จัดทำ SET Note ฉบับที่ 3 ประจำปี 2549 เพื่อนำเสนอผลงานศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (Price-Earnings -Ratio: P/E ratio) ในตลาดหลักทรัพย์ของไทยพบว่าปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่าพีอี ได้แก่ อัตราการจ่ายเงินปันผลที่ดี ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีอิทธิผลต่อค่าพีอีสูงสุดรวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ สภาพคล่องของหลักทรัพย์ ขนาดของบริษัทจดทะเบียน และความเสี่ยงของราคาหุ้น (ค่าเบต้า)ที่อาจเคลื่อนไหวไม่สอดคล้องกับภาวะรวมของตลาด

จากการศึกษาข้อมูลบริษัทจดทะเบียนกว่า 4000 บริษัทในเชิงเศรษฐมิติ จากข้อมูลในช่วงไตรมาส 3 ปี 2548 พบว่า บริษัทที่มีอัตราการจ่ายเงินปันผลสูงกว่าระดับเฉลี่ย 1.4 เท่า หรือบริษัทมีนโยบายขยายขนาดของบริษัทให้ใหญ่ขึ้น เช่นการควบรวมกิจการ ก็จะทำให้พีอีเพิ่มขึ้นจากระดับเฉลี่ยได้ ทั้งนี้หากสามารถเพิ่มขนาดของบริษัทขึ้นมากกว่า 2 เท่าของระดับเฉลี่ยก็จะสามารถเพิ่มค่าพีอีได้ 0.6 เท่า ซึ่งปัจจัยกังกล่าวเป้นนโยบายที่สามารถกำหนดได้จากนโยบายของบริษัทเอง

เศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า นอกจากปัจจัยดังกล่าวแล้วสภาพของหลักทรัพย์ก็เป็นปัจจัยต่อค่าพีอีเช่นกัน โดยพบว่าค่าความเสี่ยงจากราคาหลักทรัพย์ ที่เคลื่อนไหวไม่สอดคล้องกับภาวะตลาด และสภาพคล่องของการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทนั้น ๆ ส่งผลต่อค่าพีอีอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ หากสามารถลดความเสี่ยงจากราคาที่ผันผวนลง 0.01จุด หรือหากสภาพคล่องของการซื้อขายหลักทรัพย์ขึ้นอีก 20%ก็จะทำให้ค่าพีอีเพิ่มขึ้น 0.07 และ 0.25เท่า ตามลำดับ

ปัจจุบันนี้ค่าพีอีในตลาดอยู่ที่ 9 เท่า ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอ่าน ๆ และเมื่อเปรียบค่าพีอีรายกลุ่มอุตสาหกรรมระหว่างตลาดหลักทรัพย์ไทยและของประเทศเพื่อบ้านทั้งสิงคโปร์ ฮ่องกงและมาเลเซียแล้วพบว่าค่าพีอีของกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของตลาดทุนยังอยู่ในระดับต่ำแทบทุกกลุ่ม

โดยเฉพาะกลุ่มการเงินซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนสูงในตลาดทุนต่าง ๆ รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์ไทย ทั้งนี้ค่าพีอีของกลุ่มการเงินในตลาดหลักทรัพย์ของไทยถือว่าต่ำสุดและมีค่าน้อยกว่าตลาดอื่น ๆ เกือบเท่าตัว

สำหรับการเพิ่มขึ้นของค่าพีอีนอกจากส่งผลโดยตรงต่อบริษัทแล้ว ยังส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์รวมตามราคาตลาด(market capitalization) ของตลาดทุนไทยเพิ่มขึ้นส่งผลให้ตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้น ปัจจัยที่มีผลต่อการเพิ่มพีอีตลาด ได้แก่ ผลประกอบการของบริษัทที่เพิ่มขึ้นแล้ว การเพิ่มของหลักทรัพย์จดทะเบียนใหม่ และการเพิ่มขึ้นของค่าพีอี โดยการเพิ่มค่าพีอีจะเป็นไปได้มากที่สุดในการเพิ่มมูลค่าตลาด

โดยพิจารณา market capitalization ของตลาดตราสารทุนไทยในช่วงปี 2545-2548 ที่ผ่านมาพบว่าปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ขนาดของตราสารทุนไทยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าครึ่ง (45%)มาจากค่าพีอีที่เพิ่มขึ้นและอีกเกือบครึ่งมาจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนของไทย

"หากพิจารณาปัจจัยการเพิ่มของขนาดตลาดตราสารทุนในประเทศเอเชียอื่น ๆ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ และใต้หวันในช่วงปี 2543-2546 ก็พบเช่นเดียวกันว่าการเพิ่มขึคึ้นของขนาดตลาดมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าพีอี เป็นสำคัญ แม้ว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนจะไม่เป็นที่น่าพอใจ"

เศรษฐพุฒิ ยกตัวอย่างให้เห็นว่า หากสามารถเพิ่มค่าพีอีในกลุ่มการเงินของเราจากปัจจุบันที่ 9 เท่าให้ใกล้เคียงกับมาเลเซียที่ 15เท่า จะสามารถเพิ่มมูลค่าของ market capitalization ตลาดทุนไทยได้อีก 6 กว่าแสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 12% ของมูลค่าปัจจุบัน

ปัจจุบันมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของตลาดไทยมูลค่าประมาณ 5.2 ล้านล้านบาท (ณ เมษายน 2549) ดังนั้นหากต้องการเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของตลาดไทยกว่า 2 เท่าให้มีมูลค่า 10 ล้านล้านบาทเพื่อบรรลุเป้าหมายในการเพิ่มบทบาทตลาดทุนไทยให้เทียบเคียงกับธนาคารพาณิชย์ตามแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับที่ 2 แล้วนั้นไทยจำเป็นต้องเพิ่มค่าพีอีของตลาดเป็นสำคัญ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.