"อเล็กซ์ เอร์สกิน ทำเงินบาทให้แข็งแบบเทคนิคเชียน"


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซิตี้แบงก์ ได้จัดให้มีสัมมนาเรื่อง "ทางเลือกระบบอัตราแลกเปลี่ยนของไทย" โดยเชิญ อเล็กซ์ เอร์สกิน เจ้าหน้าที่ของซิตี้แบงก์ซึ่งประจำอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์มาเป็นผู้บรรยาย

"เราจะใช้วิธีเลือกดูว่า ในการจัดสัมมนาแต่ละครั้ง ตลาดการเงินช่วงนั้น ๆ มีเรื่องอะไรที่น่าสนใจ ก็จะเลือกเรื่องสัมมนาแล้วหาผู้เชี่ยวชาญทางด้านนั้นมาเป็นผู้บรรยาย คราวนี้ก็เลยได้คุณอเล็กซ์ เอิร์สกิน ซึ่งถือเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความรู้เรื่องระบบอัตราแลกเปลี่ยนของภูมิภาคเอเชียดีที่สุดคนหนึ่งของซิตี้แบงก์มาเป็นผู้บรรยาย" เจ้าหน้าที่จัดสัมมนาของซิตี้แบงก์ กล่าวถึงที่มาในการจัดสัมมนาครั้งนี้

อเล็กซ์ เอร์สกิน เป็นนักเศรษฐศาสตร์ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของซิตี้แบงก์ ประจำอยู่ที่สิงคโปร์ โดยเข้ามาเริ่มงานที่สิงคโปร์เมื่อเดือนมกราคม 2539 ที่ผ่านมา หลังจากผ่านประสบการณ์การทำงานอยู่ที่ซิตี้แบงก์ในออสเตรเลียมา 8 ปี ในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจและฝ่ายวางแผน

ความเชี่ยวชาญด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของเอล็กซ์ เอร์สกิน คงพิสูจน์ได้อย่างมาก จากการทำงานที่ผ่านมา และนอกเหนือจากอาชีพประจำในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ของเขาแล้ว เขายังทำงานให้กับธนาคารกลางของออสเตรเลีย หน่วยงานนักเศรษฐศาสตร์อัจฉริย (THE ECONOMIST INTELLIGENCE UNIT) และงานในสำนักนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย พร้อมกับเขียนคอลัมน์ในนิตยสารรายเดือนอาเชียนมาร์เก็ตวิว ในเรื่องเกี่ยวกับระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา การพัฒนาระบบและการคาดการณ์อัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

อเล็กซ์ เอร์สกิน เริ่มการบรรยายด้วยน้ำเสียงของคนที่ชอบพูดซ้ำ ๆ พร้อมกับสอดแทรกมุขตลกบ้างเป็นบางระยะด้วยการเกริ่นถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ให้ฟังก่อนจึงจะนำผู้ร่วมฟังสัมมนาเข้าสู่ปัญหาเรื่องของระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่ไทยยังมีปัญหาอยู่ว่า

ปัญหาที่พบในไทยสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ หนึ่ง-ปัญหาที่มองเห็นได้ คือ เรื่องของภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ร้อนแรงเกินไปจากการไหลเข้ามาของเงินลงทุนจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และปัญหาที่มองเห็นได้จากสาเหตุที่ไทยมีอัตราเงินเฟ้อสูงรวมทั้งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

สอง-ปัญหาที่แท้จริง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้การแก้ปัญหาข้างต้นไม่สำเร็จ แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะได้ออกมาตราการต่าง ๆ ออกมาเป็นระยะ เพราะมีปัญหาที่แท้จริงนี้รอการแก้ไขอยู่ได้แก่

ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่และอัตราแลกเปลี่ยนที่เงินบาทมีค่าต่ำเกินไป (UNDERVALUED) ดังนั้นเมื่อมีผู้นำเงินทุนเข้ามาในประเทศเป็นเงินตราต่างประเทศ และนำเข้ามาขายผ่านธนาคารพาณิชย์สู่ ธปท. เพื่อเปลี่ยนเป็นเงินบาท ทำให้สภาพคล่องสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยต่ำลง เพราะมีผู้กู้เงินมากขึ้น เศรษฐกิจจะโตเร็วขึ้น และทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงขึ้น รวมทั้งเงินจะเฟ้อมากขึ้น

"การที่ ธปท. รับซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่ออัดฉีดเงินบาทเข้าสู่ระบบ ทำให้อัตราดอกเบี้ยข้ามคืนระหว่างธนาคารมีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงวิกฤติการณ์เม็กซิโกในเดือนมกราคมปีที่แล้ว ดังนั้นช่วงเคลื่อนไหวจะอยู่ระหว่าง 4-20% ซึ่งกว้างมาก หลังช่วงวิกฤติการณ์เม็กซิโกซึ่งอัตราดอกเบี้ยเคยขึ้นไปสูงถึง 20% นั้น ธปท. ต้องการตรึงดอกเบี้ยไว้ในระดับ 10-12% แต่ดอกเบี้ยก็ร่วงลงไปถึง 4% ในบางช่วง เนื่องจากตลาดขายเงินตราต่างประเทศเพื่อแลกเป็นบาทกันมาก" อเล็กซ์ เอร็สกิน กล่าว

สำหรับค่าเงินบาทในตอนนี้ ในความเห็นของอเล็กซ์ เอร์สกิน เขาคิดว่าค่าเงินบาทอยู่ในอัตราที่ต่ำเกินไป โดยเขาดูจากอัตราการเติบโตของยอดนำเข้าและส่งออกเป็นหลัก ซึ่งโดยเฉลี่ยในระยะ 5 ปี ไทยมีอัตราเติบโตของยอดส่งออกอยู่ถึง 20% ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับยอดนำเข้า ดังนั้นจากผลของอัตราการเติบโตของปริมาณการค้านี้มิได้แสดงว่าเงินบาทมีค่าสูงเกินไป

พร้อมกันนี้เล็กซ์ เอร์สกิน ได้ยกตัวอย่างจากหลายประเทศในการแก้ปัญหาเดียวกันนี้ ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แต่หากเป็นประเทศที่ควรเปรียบเทียบกับไทยมากที่สุด ก็ควรจะเป็นมาเลเซียประเทศเพื่อนบ้านของเรานี่เอง

ในปี 2539 เงินริงกิตของมาเลเซียได้รับการยอมรับว่าค่าต่ำไปและต้องปรับสูงขึ้น มาเลเซียมีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินเฟ้อสูงเหมือนไทย แต่มาเลเซียได้ทำตามคำแนะนำของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในเรื่องที่ค่าเงินริงกิตต้องปรับตัวสูงขึ้น

ดังนั้นตลาดจึงเริ่มซื้อเงินริงกิต ค่าเงินริงกิตจึงกระเตื้องขึ้นต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 2.55 เป็น 2.49 และคาดว่าจะแข็งค่าต่อไปอีก ดูเหมือนว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศจะต้องการให้ค่าเงินสกุลเอเชียแข็งค่ามากกว่านี้ อัตราดอกเบี้ยของมาเลเซียดูจะชี้นำตัวเลขทางการค้า กล่าวคือ เมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้น การเติบโตทางการค้าจะดีขึ้น

สำหรับทางเลือกของประเทศไทยในการแก้ปัญหา อเล์กซ์ เอร์สกิน แนะว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีระบบ การแจ้งให้สาธารณชนทราบก่อนเพื่อเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลง การปฏิบัติจริงของทางการหลังจากแจ้งให้ทราบแล้ว และบอกถึงขั้นตอนต่อไปด้วย

"วิธีการอาจเป็นในรูปการขยาย BAND ของอัตราแลกเปลี่ยนให้กว้างขึ้น และกว้างขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเงินบาทลอยตัวได้อย่างเสรี ถึงเวลานั้น การแทรกแซงตลาดของธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะทำเมื่อเห็นสมควรเท่านั้น ไม่ใช่จำเป็นต้องทำอย่างในเวลานี้ ซึ่งเราจะพิจารณาดัชนีค่าเงินบาทถ่วงน้ำหนัก (THAI BAHT TRADE WEIGHTED INDEX) และค่าเงินเฟ้อ ประกอบกับค่าเงินบาทตั้งแต่ปี 2527 ซึ่งเป็นปีที่ลดค่าเงินบาทที่แสดงให้เห็นว่า ค่าเงินบาทลดลงจาก 100 เป็น 75.69 หรือลดลง 24.31"

กรณีเมื่อเทียบไทยกับประเทศคู่ค้าจะเห็นผลว่าราคาสินค้าไทยเพิ่มขึ้น 61.2% ราคาสินค้าประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น 40.4% ราคาสินค้าไทยเทียบกับประเทศคู่ค้าแพงขึ้น 14.8% แต่ทว่าค่าเงินบาทลดลงเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าอยู่ 24.3% หมายความว่าสินค้าไทยแพงขึ้นน้อยลงนอกเหนือจากตัวเงินเฟ้อแล้วเป็น 29.68% ซึ่งเมื่อรวมผลจากอัตราเงินเฟ้อและค่าเงินบาทที่ลดลงแล้ว ทำให้สินค้าไทยถูกลงเมื่อเทียบกับสินค้าของประเทศคู่ค้า 7.6% หรือถ้าคิดเป็นเงินแล้ว ค่าเงินบาทลดลงอยู่ 7.6% เมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่ค้า จึงไม่น่าจะกังวลถึงการลดค่าเงินบาท

อเล์กซ์ สรุปการสัมมนาครั้งนี้ว่า ในหลักการแล้ว ถ้าทางการต้องการเห็นอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างอยู่ตัวและไม่เคลื่อนไหวอย่างรุนแรง ค่าเงินบาทก็คงจะต้องเปลี่ยนแปลงหวือหวาขึ้น แต่ถ้าเงินบาทลอยตัวในอนาคต ก็จะเห็นอัตราดอกเบี้ยที่ขยับสูงขึ้นและคงที่ และท้ายสุดค่าของเงินก็จะแข็งขึ้น

ทั้งนี้ ก็คงจะต้องรอดูกันต่อไปว่าข้อบ่งชี้ที่ว่าค่าเงินบาทไทยน่าจะมีการขยาย BAND หรือลอยตัวซึ่งเป็นทางเลือกนี้จะเป็นจริงหรือไม่ ตามที่นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้อย่าง เอล็กซ์ เอร์สกิน กล่าวไว้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.