|

"เอสเอ็มอีแบงก์"จัดระเบียบ"ลูกหนี้"จ่ายหนี้ตรงรักษาเครดิตล้างเอ็นพีแอล
ผู้จัดการรายสัปดาห์(10 เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
"เอสเอ็มอีแบงก์" ปลุกจิตสำนึกลูกหนี้ สร้างวินัยจ่ายหนี้ตรงเวลา เพื่อรักษาเครดิตตัวเอง ด้วยการปรับพฤติกรรมให้เป็นผู้ประกอบการมีระเบียบวินัยในการจ่ายชำระหนี้ หวังผลอนาคตสร้างความมั่นใจให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อด้วยความไม่ลำบากใจ ขณะเดียวกันก็ส่งผลพลอยได้ในการสะสางหนี้เอ็นพีแอลให้กับเอสเอ็มอีแบงก์ โดยประเมินปี 2551 เอ็นพีแอลจะลดลงไม่เกิน 10% ในขณะที่ปัจจุบันกลายเป็นแบงก์รัฐที่มีสัดส่วนหนี้เอ็นพีแอลสูงถึง 19% และเคยสูงสุดถึง 22.52% ในปี 2547....
ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(เอสเอ็มอีแบงก์)มีบทบาทสำคัญที่ช่วยพยุงธุรกิจขนาดกลางและย่อม ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้เมื่อครั้งวิกฤติเศรษฐกิจเข้ามาเยือน ซึ่ง โชติศักดิ์ อาสภวิริยะ อดีตกรรมการผู้จัดการ เอสเอมอีแบงก์ เล่าให้ฟังว่า เมื่อเกิดวิกฤติในปี 2540 ทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยกลายเป็นอัมพาต ผู้ประกอบการไม่ว่ารายเล็กรายใหญ่ล้วนแต่มีส่วนในการสร้างหนี้เสีย(เอ็นพีแอล)ให้ประเทศทั้งนั้น
"แต่เมื่อเศรษฐกิจสามารถพยุงตัวขึ้นมาได้อีกครั้ง ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและย่อมกลับถูกปล่อยทิ้งไว้ โดยไม่มีการปล่อยสินเชื่อไปหล่อเลี้ยงกลุ่มเอสเอ็มอี ธนาคารพาณิชย์ไม่อาจให้พวกเขากู้ได้อีกเพราะมีรายชื่อติดอยู่ในกลุ่มแบล็กลิซ"
จะว่าไปแล้วบทบาทของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้นถือเป็นฐานรากที่สร้างความแข็งแกร่งให้เกิดขึ้นในเศรษฐกิจ ไม่แพ้ผู้ประกอบการรายใหญ่ การให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงอย่างเดียวนั้นอาจสร้างความอ่อนแอให้แก้ฐานของเศรษฐกิจ เพราะเมื่อใดที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่พลาดและล้ม ผลกระทบนั้นจะฉิ่งไปโดนผู้เกี่ยวของที่สำคัญโดยเฉพาะสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อก้อนใหญ่ให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่
แต่ถ้าเป็นรายย่อยหรือกลุ่มเอสเอ็มอี ฐานเม็ดเงินที่กู้หรือให้สินเชื่อจะไม่สูงเหมือนรายใหญ่ เพราะฉะนั้นเวลากลุ่มนี้ล้มจึงไม่กระเทือนเศรษฐกิจมาก ขณะเดียวกันถ้ากลุ่มเอสเอ็มอีเข้มแข็งก็แสดงให้เห็นถึงสุขภาพที่ดีของเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ดังนั้นบทบาทของธุรกิจเอสเอ็มอีจึงมีความสำคัญไม่แพ้ผู้ประกอบการรายใหญ่
โชติศักดิ์ บอกว่า หลังพ้นวิกฤติ ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยด้วยเหตุนี้ เอสเอ็มอีแบงก์จึงมีบทบาทเข้ามาทดแทนธนาคารพาณิชย์ที่ไม่อาจปล่อยกู้ให้กลุ่มเอสเอ็มอีที่ติดแบล็กสิช ซึ่งที่ผ่านมากล่าวได้ว่า เอสเอ็มอีแบงก์ช่วยผู้ประกอบหลายรายให้สามารถลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง เพียงแค่การเปิดให้คนกลุ่มดังกล่าวได้ใช้โอกาสที่มีอยู่เดินหน้าธุรกิจของตนต่อไป
แต่กระนั้น ในส่วนที่มีปัญหาและยังพยุงตัวไม่ขึ้นก็มีมากอยู่เหมือนกัน ซึ่งภาพดังกล่าวสะท้อนออกมาให้เห็นในรูปของเอ็นพีแอลที่เอสเอ็มอีแบงก์แบกรับอยู่ ซึ่งย้อนไปปี 2547 เอสเอ็มอีแบงก์มีเอ็นพีแอลอยู่ที่ 22.52% ถือเป็นธนาคารรัฐที่มีสัดส่วนหนี้เสียในระดับสูง และเกินกว่าที่รัฐตั้งเป้าไว้ว่าเอ็นพีแอลของธนาคารเฉพาะกิจจะต้องสูงไม่เกิน 10%
ทำเอาเอ็มอีแบงก์ในช่วงปี 2547ที่ผ่านมาต้องลงมืออย่างจริงจังเพื่อแก้ไขหนี้เสียที่สูงถึง 22.52% เป็นผลให้ในปี 2548 หนี้เสียดังกล่าวลดลงมาเหลือที่ 19.34% หรือมีมูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาท
โชติศักดิ์ เคยบอกไว้ว่า ยอดหนี้เสียของเอสเอ็มอีแบงก์นั้นจริง ๆ สะสมประมาณ 40 ปีได้แล้ว แต่แบงก์ไม้เคยโอนหนี้หรือตัดสินเสียไปยังสู่ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) เนื่องจากเอสเอ็มอีแบงก์ตั้งใจที่จะแก้หนี้ด้วยตนเอง ด้วยการให้ความใส่ใจและช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างใกล้ชิด คอยแนะนำให้คำปรึกษา เอ็นพีแอลที่ผ่านมาจึงได้ลดลงโดยที่ปี 2549นี้คาดว่าเอ็นพีแอลจะลดลงอีกเหลือ 15% และจะลดเหลือไม่เกิน 10% ภายในปี 2551
เพื่อสานต่อนโยบายการลดเอ็นพีแอลอย่างต่อเนื่อง เอสเอ็มอีแบงก์จึงได้ร่วมมือกับ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจัด "โครงการสร้างวินัยทางการเงิน" เพื่อรักษาเครดิตและสิทธิการกู้ยืม
"โครงการนี้เป็นการปลูกจิตสำนึกให้ผู้ประกอบการมีวินัยทางการเงินและเห็นความสำคัญของการมีเครดิตที่ดี เพื่อผลประโยชน์ในการขอกู้ครั้งต่อไปจะทำได้ง่ายขึ้นเพราะสถาบันการเงินเห็นข้อมูลการชำระคืนหนี้ที่มีประสิทธิภาพของผู้ประกอบการ"
โชติศักดิ์ บอกอีกด้วยว่า ไม่เพียงรักษาเครดิตทางการเงินเพื่อเพิ่มโอกาสในการขอสินเชื่อ แต่ยังรวมถึงการลดเอ็นพีแอล สร้างความเข้าใจบทบาทหน้าที่ของเครดิตบูโร และประโยชน์ที่ได้รับข้อมูลเครดิต ที่สำคัญยังลดปัญหาการนำเงินกู้ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งเป็นเหตุให้ธุรกิจขนาดสภาพคล่องและไม่สามารถทำให้ชำระหนี้สถาบันการเงิน เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้กลุ่มธุรกิจเอสเอมอีถูกปิดโอกาสในการขอสินเชื่อเพื่อขยายกิจการ ทำให้หมดอนาคตได้
สัมมา คีตสิน ที่ปรึกษา ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ บอกว่า การพิจารณาก่อนอนุมัติหรือปฏิเสธการให้สินเชื่อตัวชี้วัดว่าเครดิตของผู้ขอนั้นดีเพียงพอสำหรับให้กู้หรือไม่นั้น เบื้องต้นสถาบันการเงินจะพิจารณาจากขอมูลใบสมัครของผู้ขอสินเชื่อจากเอกสารประกอบต่าง ๆ ที่สถาบันการเงินเรียกร้องมา และข้อมูลเครดิตบูโร โดยส่วนใหญ่นั้นจะมีหลัก 6 ประการใหญ่ๆที่สถาบันการเงินมักนำมาพิจารณา
อย่างข้อแรกเป็นเรื่องของคุณละกษณะหรือวินัยในการชำระสินเชื่อในอดีต ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกถึงกรรักษาสัญญาในการใช้สินเชื่อ การชำระหนี้ที่ตรงเวลา การจัดการกับสินเชื่อโดยเฉพาะเวลามีปัญหาสะดุดทางการเงินได้มีการติดต่อสถาบันการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร ซึ่งคูณลักษณะนี้ได้มาจากรายงานเครดิตบูโร
การพิจารณาถึงความสามารถในการชำระหนี้คืนในส่วนนี้จะดูว่าผู้ขอสินเชื่อมีการงานหน้าที่มั่นคงหรือไม่ อายุการทำงานนานเทาไรในบริษัทที่ทำงาน รายได้เพียงพอหรือไม่ต่อการชำระหนี้ ซึ่งปัจจัยนี้แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงของรายได้ที่จะนำมาชำระหนี้ในอนาคต
สัมมา กล่าวต่ออีกว่า ลำดับต่อไปเป็นเรื่องของเงินทุนหรือสินทรัพย์ หรือเงินฝากของผู้ขอสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อที่ใช้ประกอบธุรกิจจะให้ความสำคัญในข้อนี้มาก สถาบันการเงินจะพิจารณาเฉพาะเงินทุนหรือสินทรัพย์ของผู้กู้ในขณะที่เข้ามาขอสินเชื่อ เพราะความสำคัญในส่วนนี้จะเป็นแหล่งเงินสำรองเวลาในการชำระหนี้ยามผู้ขอสินเชื่อมีปัญหา
ปัจจัยภายนอกก็เป็นส่วนสำคัญต่อการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อไม่ว่าจะเศรษฐกิจ เช่นในสภาวะที่เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นจะทำให้รายได้สุทธิลดลงซึ่งมีผลต่อการชำระหนีของผู้ขอสินเชื่อได้เช่นกัน นอกจากนี้หลักประกันและทรัพย์สินซึ่งผู้กู้นำมาจำนำหรือจำนองเพื่อให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจและลดความเสี่ยงหากผู้ขอสินเชื่อไม่ชำระตามกำหนดก็สามารถนำหลักประกันดังกล่าวขายทอดตลาดตามกฎหมายได้
ปัจจัยสุดท้ายคือสถาบันการเงินจะพิจารณาว่าผู้ขอกู้สินเชื่อขอในวงเงินที่สมเหตุสมผลหรือไม่ วงเงินดังกล่าวจะไม่เป็นภาระของการก่อหนี้จนเกินตัว
ที่กล่าวนี้เป็นเพียงหลักเบื้องต้นที่สถาบันการเงินใช้พิจารณาในการปล่อยสินเชื่อ แต่ละสถาบันอาจมีหลักเกณฑ์และรายละเอียดยิบย่อยที่ต่างกันไปอีกดังนั้นสิ่งสำคัญของผู้ที่จะขอสินเชื่อคือการรักษาเครดิตให้ดี การชำระหนี้ที่ถูกต้องตามระเบียบวินัยซึ่งต่อไปจะเป็นอดีตอันส่งผลไปสู่อนาคตที่ดีได้
อาจไม่ใช่ความผิดที่สถาบันการเงินโดยเฉพาะแบงก์พาณิชย์มองผู้ประกอบการรายย่อยในสายตาเชิงลบ นั่นเพราะแบงก์พาณิชย์ขาดความไม่มั่นใจในระเบียบวินัย และวัตถุประสงค์ของการนำสินเชื่อไปใช้ จนอาจส่งผลกระทบต่อการชำระคืนหนี้ในภายหลังได้ จนตัดสิทธิและปิดโอกาสของผู้ประกอบการรายย่อยในการสร้างธุรกิจที่ดีในอนาคตได้
ด้วยเหตุนี้เองการสร้างเครดิตให้ผู้ประกอบการจึงกลายเป็นส่วนสำคัญที่มีผลยิ่งต่ออนาคตของการดำเนินธุรกิจ เพราะการได้รับสินเชื่อเพื่อขยายหรือหมุนเวียนในธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้นั้นอยู่ที่การรักษาระเบียบวินัยในการจัดสรรเงิน และชำระหนี้ได้ตามระยะเวลา ดังนั้นการสร้างเครดิตจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งหมายถึงต้องทำวันนี้เพื่อส่งผลที่ดีในอนาคต
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|