อินเตอร์เน็ตเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยเองก็เช่นเดียวกัน
ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็ได้นำเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตนี้มาใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลเช่นกัน
สมคิด จิรานันตรัตน์ ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งดูแลงานทางด้านศูนย์คอมพิวเตอร์ของตลาดหุ้นไทยได้กล่าวถึงการเผยแพร่ข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ตว่า
การใช้อินเตอร์เน็ตเป็นนโยบายใหม่ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องการเน้นหนักในปีนี้
เพื่อต้องการส่งเสริมให้นักลงทุนรับทราบข้อมูลข่าวสารในแง่ปัจจัยพื้นฐานให้เร็วและมากที่สุด
การเผยแพร่อินเตอร์เน็ตถือเป็นการเพิ่มช่องทางใหม่ให้นักลงทุนทราบข้อมูลมากขึ้น
สมคิดสำเร็จการศึกษาทางด้านคอมพิวเตอร์โดยตรงและคร่ำหวอดอยู่ในสายงานนี้มาเกือบ
13 ปี หลังจากจบปริญญาโททางด้าน computer science ที่สหรัฐฯ แล้ว ก็มาทำงานที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทยเป็นเวลา
2 ปี จากนั้นจึงย้ายไปอยู่ที่บริษัทไอบีเอ็มอีก 5 ปี ส่วนที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ณ ศูนย์คอมพิวเตอร์แห่งนี้ ปีนี้เป็นปีที่ 6
"การเผยแพร่ข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ตนี้จะเป็นข้อมูลที่เน้นทางด้านปัจจัยพื้นฐานและการวิเคราะห์เป็นหลัก
ไม่ใช่ข้อมูลในลักษณะที่ส่งผ่านออนไลน์ อันนั้นจะเป็นรายงานการซื้อขายหุ้นและมูลค่าการซื้อขายแต่ละวัน
พอตลาดหุ้นปิดก็ไม่ค่อยมีข้อมูลอะไรใหม่และไม่มีข้อมูลของบริษัทที่อยู่ในตลาด
แต่ของอินเตอร์เน็ตจะเป็นข้อมูลจำเพาะมากกว่า ส่วนรายงานการซื้อขายนั้นจะเป็นช่วง
ๆ คือตลาดปิดตอนเย็นของแต่ละวัน ข้อดีของการผ่านอินเตอร์เน็ตอีกอย่างคือเวลาที่ข้อมูลออนไลน์เสีย
จะสามารถดูได้จากอินเตอร์เน็ต"
สมคิดยังพูดถึงจุดประสงค์ของการเผยแพร่ข้อมูลโดยผ่านอินเตอร์เน็ตด้วยว่า
ต้องการที่จะส่งเสริมให้นักลงทุนใช้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับบริษัทที่อยู่ในตลาด
เพื่อใช้ในการประกอบการตัดสินใจเข้าไปเล่นหุ้นมากขึ้น เราจะมีกลุ่มบริษัทข้อมูลเยอะกว่าและสะดวกรวดเร็วกว่าที่อ่านจากหนังสือพิมพ์
เพราะข้อมูลที่ผ่านหนังสือพิมพ์จะน้อยกว่า เขาเชื่อว่าอัตราการเติบโตของการใช้ข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ตจะมีเพิ่มขึ้นอีกมากเฉพาะแค่เดือนแรกที่เปิดใช้มีผู้สนใจกว่า
1 หมื่นราย
"การเผยแพร่ผ่านอินเตอร์เน็ตเราทำไว้รัดกุมเป็นข้อมูลที่เราต้องการจะให้เปิดเผยได้เท่านั้น
ถ้าไม่ใช่สมาชิกจะใช้ข้อมูลไม่ได้ แล้วล้วงลูกลึกไปมากกว่าที่เราต้องการ
จะให้ไม่ได้เพราะว่าระบบอินเตอร์เน็ตกับส่วนหลักอื่น ๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ
จะแยกกัน ดังนั้นคนที่เข้ามาดูข้อมูลอินเตอร์เน็ต ไม่สามารถที่จะเข้ามาดูข้อมูลอื่นได้เราวางระบบไว้รัดกุม"
สมคิดเล่าต่อไปว่า นอกจากข้อมูลที่สามารถเผยแพร่ผ่านอินเตอร์เน็ตแล้ว ยังมีข้อมูลอีกประเภทหนึ่งที่ลึกกว่าคือเป็นข้อมูลพื้นฐานที่มีรายละเอียดมากรวมทั้งมีข้อมูลในเชิงวิเคราะห์ทางเทคนิคด้วย
แต่ข้อมูลนี้ทางศูนย์คอมพิวเตอร์จะจำหน่ายในลักษณะของซอฟต์แวร์
"ศูนย์คอมพิวเตอร์จะทำเป็นซอฟต์แวร์ที่ส่งเสริมให้นักลงทุนมาใช้ข้อมูลพื้นฐานมากขึ้น
การใช้ซอฟต์แวร์นี้จะเป็นตัวช่วยสามารถดูปัจจัยพื้นฐานของบริษัทต่าง ๆ ในตลาดหุ้นได้หลายรูปแบบ
เชื่อว่าระยะยาวนี้นักลงทุนมีความตื่นตัว ในการดูหุ้นด้วยปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น
ซึ่งลูกค้าของเราก็แบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ สถาบันการเงินการลงทุน นายหน้าค้าหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์
นักลงทุนเอง และบริษัทขายข้อมูล"
สมคิดเล่าว่า ตอนนี้ได้เริ่มทำระบบออกมาแล้วแต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในเดือน
ก.ค. นี้ ส่วนอัตราค่าบริการนั้นโบรกเกอร์จะเสียค่าสมาชิกแรกเข้าครั้งเดียว
1 แสนบาท และคิดค่าบริการรายเดือน ๆ ละ 1 หมื่นบาท / ประเภทที่สองสถาบันการเงินทั่วไป
ค่าสมาชิกแรกเข้า 2.5 แสนบาท หลังจากนั้นคิดค่าบริการรายเดือน ๆ ละ 2.5 หมื่นบาท
/ ประเภทที่สามบริษัทผู้ขายข้อมูล สมาชิกแรกเข้า 5 แสนบาท ค่าบริการรายเดือน
ๆ ละ 1 แสนบาท / ส่วนประเภทสุดท้ายประชาชนทั่วไปหรือนักลงทุนนั้นจะจำหน่ายในรูปแบบของแผ่านซีดีออกมาเป็นรายไตรมาส
ซึ่งสำหรับแผ่น CD นั้นคาดว่าจะเสร็จภายในสิ้นปีนี้ โดยงบประมาณการจัดทำทั้งหมดนี้ลงทุนไปแล้วกว่า
40 ล้านบาท
สมคิดยังบอกด้วยว่า การขายข้อมูลในลักษณะแบบนี้ได้เริ่มมีบ้างแล้วในย่านตลาดหุ้นเอเชียด้วยกัน
แต่ยังไม่มีความหลากหลายมากนัก ส่วนที่ยุโรปและอเมริกานั้นทำมานานแล้ว โดยที่บริษัทเอกชนที่รับสัมปทานจากรัฐจะเป็นผู้ทำข้อมูลต่าง
ๆ ซึ่งตรงนี้แตกต่างจากของไทยที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นผู้ทำเอง และนี่คือมิติใหม่ในการให้บริการของตลาดหลักทรัพย์ฯ
ที่น่าจับตาทีเดียว
สำหรับระบบคอมพิวเตอร์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังมีโครงการใหญ่ที่ต้องดำเนินการอีกมาก
โดยเฉพาะโครงการเร่งด่วนที่จะต้องทำในปลายปีนี้คือการตั้งศูนย์สำรองคอมพิวเตอร์หรือ
BACK UP SLIDE
"เราจำเป็นต้องมีระบบคอมพิวเตอร์อีก 1 ชุดเพื่อสำรองไว้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายได้
ถ้าหากว่าศูนย์หลักมีปัญหาฉุกเฉิน งบประมาณส่วนนี้สูงถึงเกือบ 1,000 ล้านบาท
ตอนนี้กำลังดูเรื่องที่ตั้งโดยคาดว่าจะไว้ที่อาคารแห่งใหม่ของตลาดที่กำลังจะย้าย
โดยเรื่องระบบต่าง ๆ ทางเราจะดูแลเอง ส่วนเรื่องอาคารก็ให้เอกชนเป็นผู้ รับผิดชอบซึ่งโครงการจะเสร็จอย่างช้าในต้นปี
2541 ตอนนี้กำลังเตรียมความพร้อม"
อีกไม่นาน ระบบอินเตอร์เน็ตของตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะปรากฏโฉมบน Home Page
ของบรรดา netizen หรือพลเมืองที่เล่นอินเตอร์เน็ตทั้งหลาย และนี่คือผลงานล่าสุดของ
สมคิด จิรานันตรัตน์ มันสมองคนหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์ฯ ไทยที่พยายามพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการลงทุนให้มีความทันสมัย
ทันเหตุการณ์และมีข้อมูลที่ถูกต้อง