|
"ช้าง" ปะทะ "สิงห์" ชิงตำแหน่งเบียร์ไทย ขึ้นชกในเวทีโลก
ผู้จัดการรายสัปดาห์(10 เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
การแข่งขันในตลาดเบียร์ไทยปีนี้ เป็นการต่อสู้ 2 สนามคือเป็นการขับเคี่ยวกันเพื่อสร้างยอดขายและส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากตลาดรวมเบียร์มูลค่ากว่า 82,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมาไม่มีการเติบโตเพิ่มขึ้น และเวทีที่สอง คือการส่งแบรนด์ขึ้นไปสู่ตลาดโลก โดยค่ายเบียร์ไทยสองแบรนด์คือ เบียร์สิงห์ และเบียร์ช้าง
สำหรับสภาพตลาดเบียร์ไทยในต่างประเทศที่ผ่านมานั้น เบียร์ไทยมีความแข็งแกร่งในพื้นที่แตกต่างกัน โดยเบียร์สิงห์ ได้รับความนิยมมากในอเมริกา ส่วนเบียร์ช้างที่ประเทศอังกฤษ โดยความเคลื่อนไหวล่าสุดของทั้ง 2 ค่ายเตรียมกำลังพร้อมจะโกอินเตอร์อย่างเต็มพิกัด
นับตั้งแต่ การปรับปรุงและพัฒนาโรงงานเพื่อขยายกำลังการผลิตให้เพียงพอกับการส่งออก ก่อนหน้านี้ค่ายเบียร์บุญรอด ได้ทุ่มงบประมาณกว่า 150 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบผลิต เครื่องจักร และปรับปรุงศักยภาพระบบการผลิตให้มีศักยภาพที่จะผลิตเบียร์ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งผลจากการดำเนินการดังกล่าว จะช่วย เพิ่มกำลังการผลิตเบียร์สิงห์ได้อีก 150 ล้านลิตร จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตเบียร์ 650-660 ล้านลิตรต่อปี โดยในปีนี้ ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มตัวเลขการส่งออกเบียร์เพิ่มเป็น 50 ล้านลิตร จากปีที่แล้วที่มีปริมาณส่งออก 25 ล้านลิตร
ส่วนเบียร์ช้างก็ได้เตรียมเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อขยายตลาดประเทศเช่นกัน โดยตั้งบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เบฟเวอเรจ จำกัด ขึ้นมาเพื่อดูแลการตลาด และจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในต่างประเทศ รวมถึงการเตรียมพร้อมเพิ่มกำลังการผลิตจาก 440 ล้านลิตรต่อปี เป็น 900 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งก็ได้ทุ่มงบกว่า 7,250 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานกำแพงเพชรขึ้นเป็นโรงงานแห่งที่ 3 และจะเริ่มดำเนินการผลิตเบียร์ช้างเพื่อส่งออกในเดือนกันยายนปีนี้
ทว่า นอกจากเพิ่มกำลังการผลิตแล้ว สิ่งที่ค่ายเบียร์ยักษ์ใหญ่ทั้งสองแบรนด์ ได้พยายามคือ การยกภาพลักษณ์แบรนด์ให้ดูดี มีความเป็นสากลให้เกิดขึ้นภายในเวลาอันรวดเร็ว โดยเบียร์ช้าง ใช้กลยุทธ์สปอร์ต มาร์เก็ตติ้ง เป็นสปอนเซอร์หลักของทีมเอฟเวอร์ตันอยางต่อเนื่อง และนำโลโก้เบียร์ช้างให้ไปติดอยู่บนหน้าอกเสื้อของทีมฟุตบอล ซึ่งผลที่ตามมาทำให้ เบียร์ช้าง สามารถแจ้งเกิดในประเทศอังกฤษ
อย่างไรก็ตาม การที่ไทยเบฟ เลือกแนวทางนำแบรนด์ช้าง ซึ่งเป็นแบรนด์เดิมที่ทำตลาดและได้รับความนิยมแล้วมาทำตลาดโลก ที่สำคัญการนำแบรนด์เดิมซึ่งเป็นที่รับรู้กันดีในกลุ่มผู้บริโภคนั้น ง่ายกว่าการพัฒนาแบรนด์ใหม่ที่ต้องใช้งบสร้างแบรนด์ที่สูงกว่าเพื่อให้ติดตลาด ปัจจุบันไทยเบพฯมีการส่งออก เบียร์ช้างไปจำหน่ายในประเทศต่างๆทั้งยุโรป อเมริกา และเอเชียกว่า 18 ประเทศ โดยผู้บริหารบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) พิษณุ วิเชียรสรรค์ กรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กล่าวไว้ว่าเบียร์ช้าง มียอดขายอยู่ในอันดับ 25 ของโลก เป็นเบียร์ที่ขายดีเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากเบียร์ชิงเตา ประเทศจีน และอันดับที่ 25 โลก
นอกจากนั้น การที่พฤติกรรมการดื่มเบียร์ทั่วโลกไม่เหมือนกัน ส่งผลทำให้การลงมาเล่นในตลาดไลท์เบียร์ของเบียร์ช้าง ยังเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทำให้มีเบียร์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำที่จะเข้าไปเจาะตลาดเบียร์ในประเทศอเมริกาที่เบียร์สิงห์ได้รับความนิยมเช่นกัน
โดยไลท์เบียร์ เป็นเบียร์ที่มีอัตราการเติบโตสูงสุด และมีสัดส่วนประมาณ 60-70% ของตลาดรวมในประเทศอเมริกา และที่น่าสนใจคือเซกเมนต์ที่มาการเติบโตมากที่สุดคือ ตลาดเบียร์อิมพอร์ต ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับ ตลาดเบียร์ในไทยที่นิยมดื่มเบียร์นำเข้า เพราะอยากเท่ห์ เหมือนดื่มเบียร์โคโรน่าและไฮนาเก้น
ทว่า เมื่อค่ายเบียร์ช้าง เตรียมจะเข้าไปทำตลาดในประเทศอเมริกาที่เบียร์สิงห์ได้วางจุดขายให้เป็นเบียร์แบรนด์ไทยจนได้รับความนิยมจากคอเบียร์ในพื้นที่
ล่าสุดค่ายบุญรอด ก็มีความเคลื่อนไหว เพื่อต่อยอดการสร้างแบรนด์เพื่อโกอินเตอร์ของเบียร์สิงห์ ที่ใช้กลยุทธ์การตลาดโดยนำโลโก้เบียร์สิงห์เข้าไปอิงกระแสการประกวดมิสยูนิเวิร์ ให้เผยแพร่ออกสู่สายตาชาวโลก ค่ายสิงห์ก็ได้เดินหน้าต่อยอดนโยบายการขยายตลาดต่างประเทศ
ในจุดนี้ ทอม เครือโสภณ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า เป้าหมายหลักในการขยายตลาดต่างประเทศ จากนี้ภายใน 5 ปีสัดส่วนยอดขายของต่างประเทศจะต้องเพิ่มเป็น 25% จากปัจจุบันตลาดต่างประเทศมีสัดส่วนรายได้เพียงแค่ 6% ของยอดขายรวมของกลุ่มบุญรอดฯทั้งหมด
นอกจากนี้ยังมี 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้เบียร์สิงห์มั่นใจในการทำตลาดต่างประเทศ และทำให้มีความเสี่ยงต่ำคือ 1.ช่องทางจำหน่ายหรือดิสทริบิวชั่น ที่มีจุดแข็งเพราะเป็นพันธมิตรในการจัดจำหน่ายกับดิสทริบิวเตอร์รายใหญ่ๆของในแต่ละประเทศ ซึ่งจะมีศักยภาพกระจายสินค้าให้คลอบคลุมทุกช่องทางจำหน่าย
2.ช่องทางจำหน่าย ที่บุญรอดฯเป็นพันธมิตรและมีเครือข่ายจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่งในช่องทางโฮลฟู้ด ซูเปอร์มาร์เกต เทสโก้ เฟย์ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีจำหน่ายในร้านอาหารไทยอีกมากกว่า 3,000 กว่าแห่งด้วย และ3.แบรนด์ที่แข็งแกร่ง โดยภาพลักษณ์ของเบียร์สิงห์ในสายตาของคนต่างประเทศ วางตำแหน่ง ในระดับไฮเอนด์ และเป็นเบียร์นำเข้าจากต่างประเทศ ที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีโดยเฉพาะรสชาติและกิจกรรมการตลาด
สำหรับแผนการขยายตลาดส่งออก โดยเฉพาะในประเทศอเมริกาที่เบียร์สิงห์ค่อนข้างจะแกร่งทั้งทางด้านแบรนด์และช่องทางจำหน่ายนั้น ในปีนี้จะมีการทำตลาด โดยเข้าไปจัดกิจกรรมที่ต่อเนื่องใน 9 เมืองใหญ่ เช่น แคลิฟอร์เนีย เท็กซัส ลอสแองเจลิส ฟลอริด้า นิวยอร์ก วอชิงตันดีซี ชิคาโก แมสสาชูเซ็ท อิลลินอยส์ เดือนเมษายนจะเข้าร่วมเทศกาลเท็กซัสบาร์บีคิวที่รัฐเท็ก รวมถึงการเข้าไปเจาะตลาดทางยุโรปที่เบียร์มีความแข็งแกร่ง โดยเบียร์สิงห์เตรียมจัดกิจกรรมโรดโชว์ทำอาหารจากเจท ทิลล่า เชฟชื่อดังจะมาออกร้านทตามซูเปอร์มาร์เกตและร้านอาหารไทยเพื่อโปรโมต การทำกระดาษรองจานอาหาร จำนวน 3 แสนใบ และที่รองแก้วและแก้วเบียร์ที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวของไทยและพิมพ์โลโก้สิงห์จำนวน 9 หมื่นใบ ในร้านอาหารไทย 416 แห่ง
ส่วนการขยายตลาดในภูมิภาคอื่น ตั้งเป้าหมายภายในสิ้นปีนี้จะเจาะตลาดเพิ่มในฝั่งยุโรปตะวันออก คาดว่าตลาดนี้จะดี เพราะศึกษาตลาดจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวพัทยามีนักท่องเทียวจากประเทศนี้เข้ามาเมืองไทยมากที่สุด ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะมีความคุ้นเคยกับสปาไทย อาหารไทย ดื่มเบียร์ไทย ซึ่ โดยจะเริ่มเดินทางไปดูตลาดประมาณเดือนพฤศจิกายน
"การไปรบบนเวทีโลก ถ้ามีการขยายตลาดพร้อมกันทั่วโลกจะไม่ชนะสักแห่ง ดังนั้นต้องแน่ใจว่าการทำตลาดเบียร์สิงห์ในประเทศอเมริกา และทวีปยุโรปมีความแข็งแกร่งก่อน จากนั้นในอนาคตจะนำโซดาสิงห์ ไปทำตลาดยุโรปด้วย เนื่องจากผู้บริโภคนิยมดื่มแทนน้ำ เรียกว่า สปาร์คกิ้ง วอร์เตอร์ " ทอม เครือโสภณกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|