|
ค่ายวิทยุพลิกตำราหาจุดยืน ชิงส่วนแบ่ง 6 พันล้าน
ผู้จัดการรายสัปดาห์(10 เมษายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
*คลื่นวิทยุแข่งสุดคึก ผู้ผลิต - เจ้าของสถานี พลิกตำราหาจุดยืนสู้ศึก ทั้งชิงพื้นที่ส่วนแบ่งตลาด 6 พันล้าน และตั้งรับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
*ระดมหลากหลายกลยุทธ Cross Media, สร้างบุคลิกสถานี, แจกบ้าน แจกรถ สกาย-ไฮ หลังเห็นกำไร ประกาศขอแชร์ 12%
*วีอาร์วัน รอคู่แข่งแจกบ้าน แจกรถจนคนฟังเบื่อ จะถึงเวลาของคลื่นไอเดีย ด้านเอ-ไทม์ ส่ง Peak FM โหนรถเมล์สร้างยอดขาย
หากจะย้อนดูก้าวเดินของธุรกิจสื่อวิทยุของไทยที่ผ่านมาเป็นเวลายาวนาน แบ่งออกเป็นช่วงต่าง ๆ ตามการเคลื่อนที่ของผู้ผลิตรายการ อาจแบ่งได้ว่า ช่วงเจนเนอเรชั่นแรก เป็นของนักจัดรายการอิสระ เช่าเวลาสถานีจัดรายการมาตั้งแต่สมัย AM ก้าวจนถึง FM มาถึงเจนเนอเรชั่นที่ 2 เกิดองค์กรธุรกิจก้าวเข้าครอบครองสัมปทานการผลิตรายการจากเจ้าของสถานีวิทยุ พัฒนาจากการเช่าเวลาบางช่วง มาเป็นการเช่าเหมาดำเนินการแบบเบ็ดเสร็จตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน วันนี้ น่าจะก้าวเข้าสู่เจนเนอเรชั่นที่ 3 ที่เจ้าของสถานีของรัฐ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศ ดึงคลื่นวิทยุ 6 คลื่นที่เคยปล่อยให้เอกชนผลิตรายการ กลับมาเป็นผู้ผลิตรายการป้อนเอง และกรมประชาสัมพันธ์ นำคลื่น 105 MHz กลับมาบริหารเอง โดยเปิดให้ผู้ผลิตรายการชั้นนำในด้านต่าง ๆ มาผลิตรายการป้อนในแต่ละช่วง คล้ายกับสถานีวิทยุบุฟเฟ่ห์
แต่แม้จะมีความหลากหลายในด้านรูปแบบผู้ผลิตรายการ แต่แนวโน้มอัตราการเติบโตของสื่อวิทยุในปี 2549 ดูจะไม่สดใสราบรื่นนัก ถึงแม้ในเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม นี้จะมีมหกรรมกีฬาที่สนับสนุนให้เกิดการจับจ่าย ฟุตบอลโลก 2006 รอคอยอยู่ หากแต่สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังยืดเยื้อ ไม่มีความชัดเจน แน่นอน และคาดการณ์ไม่ได้ ในวันนี้ กลับส่งผลให้เศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตตามที่คาดหวังกันไว้ นีเส็น มีเดีย รีเสิร์ช สรุปไว้ว่า การเติบโตของการใช้เม็ดเงินโฆษณาสำหรับสื่อวิทยุในปีนี้ไม่เติบโตไม่มากนัก เมื่อเทียบกับ 2548
จึงเป็นโจทย์ของผู้ผลิตรายการวิทยุ ที่จะสร้างจุดขายให้กับสถานี ในการดึงดูดเม็ดเงินโฆษณาให้ไหลเข้าสู่องค์กร ประคับประคองการเติบโตให้เดินหน้าต่อไป
*เวอร์จิ้นส์ ตอกย้ำ ต้นตำรับแจกบ้าน*
มือหนักที่สุดในการตอบโจทย์ ต้องยกให้ เวอร์จิ้น เรดิโอ เชษฐ์ มังคโลดม กรรมการผู้จัดการ เวอร์จิ้น บีอีซี-เทโร เรดิโอ เซอร์วิสเซส กล่าวยอมรับว่า โจทย์นี้ไม่ได้ตอบง่าย ๆ เพราะแนวโน้มการแข่งขันมีความรุนแรงมากขึ้น หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ กสช. ต้องล้มกระดานไป ธุรกิจวิทยุที่คาดว่าจะเดินหน้าไปได้ไกล กลับต้องย้อนกลับสู่รูปแบบวงวนเดิม ทั้งการต่อสัญญาสัมปทานวิทยุแบบปีต่อปี ซึ่งทำให้เวอร์จิ้นฯ ต้องวุ่นวายกับการย้ายไปมา จนทำให้การเติบโตของคลื่นทำได้ไม่เต็มที่ ทั้งการสร้างเรตติ้ง และการหาโฆษณา
กลยุทธ์ที่เชษฐ์นำมาใช้สู้ศึกเป็นอาวุธหนัก ที่เวอร์จิ้น เคยสร้างความฮือฮาให้กับวงการมาแล้วเมื่อปลายปี 2546 คือ โปรโมชั่นแจกบ้าน ผ่านไปกว่า 2 ปี จึงเกิดกิจกรรม "ซอฟท์ แอนด์ อีซี่ ลิฟวิ่ง" ที่ทุ่มงบประมาณกว่า 35 ล้านบาท ให้ 103 เวอร์จิ้นซอฟท์ และ 105.5 อีซี่เอฟเอ็ม ร่วมกันแจกบ้านในโครงการอนันดา สปอร์ตไลฟ์ บางนา-สุวรรณภูมิ มูลค่ากว่า 5.5 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายที่จะสร้างเรตติ้งดึงผู้ฟังทั้ง 2 คลื่นให้สูงขึ้นได้ตลอดช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เหมือนเช่นที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วจากการแจกบ้านหลังแรกเมื่อ 2 ปีก่อน
แต่แม้จะมีการลงทุนจัดโปรโมชั่นกันมโหฬาร แต่เชษฐ์ กลับตั้งเป้าหมายรายได้ตลอดปีไว้เพียง 500 ล้านบาท ลดลงไปจากปี 2547 ที่เคยทำได้สูงถึง 545 ล้านบาท และปี 2548 ที่ทำได้ 515 ล้านบาท เพราะต้องยอมรับกับช่องทางหารายได้ที่เหลืออยู่เพียง 3 คลื่นในมือ จากปีก่อนที่มีถึง 5 คลื่น
*สกาย-ไฮ สร้างภาพผู้นำ - คลื่นพรีเมียม*
สกาย-ไฮ เน็ตเวิร์ค ค่ายวิทยุในเครืออาร์เอส กรุ๊ป เป็นอีกค่ายวิทยุรุ่นใหม่ กระเป๋าหนัก เพราะมีแบ็ค-อัพ ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่คอยสนับสนุน สุระชาติ ตั้งตระกูล กรรมการผู้จัดการ มองว่า การลงทุนกันขนานหนักเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดของค่ายวิทยุ เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่สกาย-ไฮฯ จะโดดเข้าร่วมวง เพราะในตลาดยังมีศักยภาพการเติบโตที่ไปได้อีกไกล มูลค่าของธุรกิจปีละ 6,500 ล้านบาท ถือว่าเย้ายวน หากการลงทุนจะสามารถดึงส่วนแบ่งการตลาดมาได้สัก 10-12% ก็เป็นสิ่งที่ควรทุ่มลงไป
"ทำไมวิทยุในปัจจุบันไม่เคยตั้งเป้าหมายตัวเองให้ aggressive มาก ๆ ทุกคนยอมรับว่าทำรายได้คลื่นละ 5 ล้านบาท หรือ 10 ล้านบาท ก็อยู่ได้แล้ว คิดว่าถ้าได้ต้นทุนต่ำจึงจะอยู่ได้ แต่ขณะเดียวกัน เมื่อมีการแข่งขัน ตัวแปรขับเคลื่อนด้วยกลไกของมัน ถ้าต้นทุนสูงขึ้น เม็ดเงินที่จะได้ต่อคลื่นจะเกิน 10 ล้านบาทไหม ผมมองว่าก็อยู่ในศักยภาพที่เป็นไปได้" สุระชาติ กล่าว
กลยุทธที่สุระชาติเข็นให้คลื่นวิทยุ 4 คลื่นที่มีอยู่ในมือ แข็งแกร่งจนสามารถสานฝันสร้างรายได้ 800 ล้านบาทในปีนี้ นั้น คือ การการสร้างบุคลิกให้กับสถานีต่าง ๆ ที่รับผิดชอบ ทั้ง 93 Cool FM, 106 Life FM, 88.5 FM Max และน้องใหม่ล่าสุด Mix 90 FM เพื่อให้บุคลิกเป็นตัวบ่งบอกถึงกลุ่มผู้ฟังที่ชัดเจน ที่จะทำให้เจ้าของสินค้า และเอเยนซี่โฆษณามองเห็น และมีความมั่นใจว่าการเลือกใช้สื่อของสกาย-ไฮ จะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุดที่สุด
2 คลื่นที่ประสบความสำเร็จในการสร้างบุคลิกของคลื่นที่ชัดเจนที่สุด 93 Cool FM ถูกกำหนดตำแหน่งให้เป็นคลื่นเพลงระดับพรีเมียม เพื่อสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค ที่มีการแบ่งแยกการใช้ชีวิตเป็นระดับสูงต่ำต่าง ๆ ไป
รูปแบบการสร้าง 93 Cool FM ในขั้นแรกคือการสร้างสถานีเพลงที่เปิดเพลงยาวถึง 50 นาที คล้ายกับรูปแบบที่เวอร์จิ้นเคยนำใช้งาน แต่กลยุทธของ Cool FM ไม่ได้มุ่งเอาใจผู้ฟังให้สามารถฟังเพลงยาวนานได้เพียงอย่างเดียว หากแต่ในแง่เจ้าของสินค้าที่ลงโฆษณา สุระชาติ ยกงานวิจัยพฤติกรรมการฟังเพลงที่พบว่า กลุ่มผู้ฟังทั้งหมด 25% คือผู้ฟังที่เปลี่ยนคลื่นทันทีที่โฆษณา 30% จะเป็นผู้ฟังที่มีอดทนฟังโฆษณาอยู่ในระดับไม่เกิน 4 นาที และ 45% ที่เหลือคือผู้ฟังที่ติดตามฟังรายการเพราะเป็นรายการที่ชอบ หรือดีเจที่ชอบ
สุระชาติ นำงานวิจัยนี้ มาประยุกต์ใช้กับการวางโครงสร้างของ Cool FM โดยการดึงเวลาโฆษณาช่วงเบรคที่กระจายอยู่ใน 1 ชั่วโมง ซึ่งมีประมาณ 12 นาที ตัดเหลือ 10 นาทีมาไว้ช่วงท้าย เบรคโฆษณาออกเป็น 2 ช่วง ๆ 4 นาที สลับด้วยการแจ้งกิจกรรมโปรโมชั่นที่มีต่อผู้ฟัง หรือตัวอย่างเพลงที่จะเปิดในช่วงต่อไป ราว 2 นาที เพื่อสร้างความรู้สึกว่าไม่ได้ฟังโฆษณาต่อเนื่อง ก่อนที่จะโฆษณาต่ออีก 4 นาที เท่ากับสามารถดึงกลุ่มผู้ฟังกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 ที่มีสัดส่วนราว 75% ให้เหนียวแน่นอยู่กับคลื่นได้ ส่วนกลุ่ม 25% ที่ไม่คิดฟังโฆษณา จะใช้การสอดแทรกเป็นกล่าวชื่อสปอนเซอร์ในรายการเป็นระยะ
"โฆษณาทั่วไป 12 นาทีที่แทรกในรายการทุก 10 นาที ถามว่าขายได้เต็มที่ 50-60 % ก็ราว 5-6 นาที เหลืออีก 6-7 นาทีที่เหลือว่าง ขายไม่ได้ ถ้าเราตัดออก 2 นาที แล้วยกไว้ตอนท้าย แย่ที่สุด ขายได้ 50-60% ก็ไม่เสียอะไร แต่ผมยังเชื่อว่าผู้ฟังจะชอบแน่นอน ซึ่งถ้าผู้ฟังชอบก็จะสร้างฐานเรตติ้ง เรตติ้งตรงนี้ก็จะไปกระตุ้นให้กับโฆษณาเพิ่มเป็น 70-80% และ 100% ในที่สุด ถามว่า ถ้าเราขายได้ 100% ใน 10 นาที กับถ้าเรามี 12 นาที แต่ขายได้แค่ครึ่งเดียว หรือ 6 นาที เราจะเลือกแบบไหน ไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธ และ 10 นาทีของเราถ้ามี value เราก็จะปรับราคาให้ 10 นาทีนั้นมี value ยิ่งขึ้น ทุกคนอยากลง ดังจริง เป็นเบอร์ 1 ถึงวันนี้ Cool FM มีโฆษณาแล้ว 80%"สุระชาติกล่าว
Cool FM ถูกสร้าง value โดยการจัดกิจกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงกลุ่มคนฟัง ที่เจ้าของสินค้าเห็นได้ชัดเจนมากกว่าการวัดเรตติ้งปกติ หนึ่งในกิจกรรมที่โปรแกรมเมอร์ของคลื่นคิดขึ้น ถูกใจสปอนเซอร์ยักษ์ใหญ่อย่าง เอไอเอส ถึงกับผูกขาดแคมเปญนี้ คือ Cool Outing การเปิดสายเล่นเกม เพื่อดึงกลุ่มผู้ฟังเป็นองค์กรทั้งองค์กร เมื่อพนักงานองค์กรใด เล่นเกมชนะ Cool FM จะเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรม Outing ขององค์กรนั้น ๆ ฟรี ทั้งที่พัก กิจกรรม อาหาร ของแจกจากสปอนเซอร์ สร้างความสนใจให้กับบริษัทเล็ก-ใหญ่ โทรเข้าเล่นเกมคับคั่ง แน่นอนเจ้าของสินค้าที่ร่วมเป็นสปอนเซอร์ก็คงเต็มใจที่กิจกรรมนั้นสามารถเข้าถึงตัวลูกค้าเป้าหมาย มากมายทั้งองค์กร
เมื่อคลื่นมีกลุ่มผู้ฟังชัดเจน และแข็งแกร่งเช่นนี้ สุระชาติจึงกล้าปรับราคาสปอตขึ้นสูงสุดถึงสปอตละ 2,700 บาทอันเป็นอัตราค่าโฆษณาสูงที่สุดบนหน้าปัทม์วิทยุไทย
"เมื่อเราจะเป็นพรีเมียม ราคาก็ต้องขยับให้สอดคล้อง เดี๋ยวนี้จะซื้อแพ็คเกจวิทยุต้องใช้เงิน 5-6 แสนบาท เพิ่มอีกนิดจะได้รายการทีวีแล้ว แต่เราก็เชื่อมั่นว่า ในคุณสมบัติเฉพาะของสื่อวิทยุที่เข้าถึงมากกว่า มีความเฉพาะเจาะจงมากกว่า ถ้าหากจะสื่อไปถึงกลุ่มคนที่เฉพาะเจาะจงกับกลุ่มเป้าหมาย ผมว่าวิทยุในแง่ความคุ้มค่าต่อยูนิต ถึงอย่างไรก็คุ้มค่ากว่า ถึงวันนี้ ตัวของ Cool FM เราใส่ positioning ให้ชัดเจน ใส่ความเป็นพรีเมียมเข้าไป รวมถึงตัวราคาที่ปรับอย่างมีเหตุมีผล วันนี้ผมสามารถยืนยันได้ว่า ราคาของ Cool FM เป็นผู้นำในตลาด"
*คลิก-วีอาร์วัน ปรับภาพสู่ IMC*
วาสนพงศ์ วิชัยยะ กรรมการผู้จัดการ วี อาร์ วัน เรดิโอ กล่าวถึงสถานการณ์การแข่งขันของคลื่นวิทยุในปัจจุบันว่า ค่าเช่าสถานีสูงขึ้น จนไม่มีผู้จัดรายการใดกล้าลงทุน มีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น ค่าลิขสิทธิ์เปิดเพลง การทำ R&D เพื่อติดตามพฤติการการฟังเพลงของผู้ฟัง ขณะที่ราคาโฆษณาไม่ได้สูบขึ้น กำไรจึงลดลง จนเริ่มเห็นบริษัทใหญ่ ๆ มีตัวเลขติดลบ
โฆษณาวิทยุที่ก่อนเคยใช้ความเชื่อมั่น ปัจจุบันใช้เรตติ้งเป็นตัวกำหนด ซึ่งวีอาร์วันเองก็ไม่เคยติดอันดับเรตติ้งสูง ทั้งที่มีกลุ่มผู้ฟังจำนวนมาก เช่น สถานีข่าว 101 หรือ Fat Radio 104.5 ซึ่งอาจเป็นเพราะวีอาร์วันไม่มีสื่อที่จะเชื่อมโยงกันในการโปรโมท
วีอาร์วัน เรดิโอ มองการขยายตัวในแนวกว้าง ที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กร โดยมีวิทยุเป็นศูนย์กลาง โครงการที่วาสนะพงษ์วาดขึ้น ใช้ Fat Radio เป็นโมเดล เพราะเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งที่สุดของบริษัท มีจำนวนผู้ฟังจำนวนแสนคนที่มีนัดปรากฎตัวทุกปีในงาน Fat Festival วาสนะพงศ์ มีนิตยสารอยู่ในมือ 2-3 หัวที่พร้อมจะสนับสนุน แผนงานต่อไป จะเกิด Fat TV ดึงคอนเทนท์จาก Fat Radio ผลิตในรูปแบบรายการทีวี อยู่ระหว่างการพิจารณาออกอากาศด้วยเทคโนโลยีใด ระหว่างบรอดแบนด์ กับทีวีผ่านดาวเทียม ต่อไปอาจมี Music Hall ที่จะเป็นศูนย์กลางการแสดงของชาว Fat ซึ่งการลงทุนทั้งหมดอยู่ระหว่างการพูดคุยเพื่อคัดเลือกพันธมิตรมาร่วมลงทุน โดยอาจเป็นการร่วมทุนโดยการซื้อ-ขายหุ้น หรือตั้งกิจการร่วมค้า วาสนะพงษ์มั่นใจว่า เมื่อวีอาร์วัน มีสื่อสนับสนุนครบวงจร ก็จะสามารถสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจได้
แต่เมื่อมองถึงการแข่งขันของธุรกิจวิทยุในปัจจุบัน ที่เน้นการแจกรางวัลมูลค่าสูงๆ วาสนะพงษ์ แสดงความคิดเห็นว่า จะสร้างนิสัยที่ไม่ดีให้กับผู้ฟัง เพราะแนวทางนี้เหมือนเป็นระบบการสร้างภูมิให้กับการทำรีเสิร์ช ที่มีบริษัทต่างประเทศเป็นที่ปรึกษา เรียกว่าเป็นการ buy the listener หรือ การซื้อคนฟัง คนที่อยากได้รถ อยากได้บ้านก็แห่กันมาฟัง อีกคลื่นแจกรถ แจกบ้านบ้าง ก็แห่ไปฟังคลื่นนั้น ความแตกต่างจะอยู่ตรงไหน คาแรคเตอร์ของคลื่นอยู่ตรงไหน รอยัลตี้อยู่ตรงไหน ต่อไปก็จะถูกภาวะขาดทุนคุกคามไปเรื่อย ๆ ถ้ายังปล่อยให้ต้นทุนสูงเกินไป
"วิทยุก็คงจะแข่งกันรุนแรงต่อไป แต่ไม่นานลูกค้าก็คงเบื่อการทำงานแบบเห่อเรตติ้ง เพราะเรตติ้งที่เพิ่มได้มาปีที่แล้ว กับปีนี้ คาดว่าจะคงเรตติ้งอยู่ต่อไปอีกสักพัก แต่ขึ้นอยู่ว่า เมื่อลูกค้าซื้อโฆษณาแล้ว มันตอบสนองความต้องการทางการตลาดได้จริงหรือเปล่า เป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ใช้ได้จริงหรือเปล่า ผมมองว่า มันคงใช้ได้จริงสำหรับคลื่นที่เรตติ้งดี แต่จะดีไปได้นานแค่ไหน ในเมื่อคู่แข่งก็แจกบ้าน แจกรถได้เหมือนกัน คุณเปิดเพลงเยอะ ๆ เขาก็เปิดเพลงเยอะ ๆ เอาโฆษณาไปอยู่ท้าย ๆ ได้เหมือนกันหมด แล้วจะเหลืออะไร ถ้าเรตติ้งเข้าไปใกล้เคียงกันหมด ก็จะเหลือแต่บริการ ครีเอทีฟ ไอเดีย มู๊ดแอนด์โทน นั่นคือสิ่งที่เราถนัด เราจึงอยากให้ตลาดโตถึงวันนั้นเร็ว ๆ" วาสนะพงษ์กล่าว
*จีเอ็มเอ็มมีเดียเกาะรถเมล์ขยายฐานคนฟัง*
ด้านยักษ์ใหญ่ในวงการวิทยุ จีเอ็มเอ็ม มีเดีย หรือที่รู้จักกันในชื่อ เอ-ไทม์ มีเดีย เป็นยักษ์ใหญ่ที่ถูกหลายฝ่ายมองว่าผ่านจุดสูงสุดของธุรกิจไปแล้ว ภาพของความเป็นผู้นำ ธุรกิจที่มีกำไรงดงาม ปัจจุบันเริ่มถูกคู่แข่งรุกไล่ ล่าสุด สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ส่งคลื่น Peak FM 88 เชื่อมโยงเข้ากับวิทยุบนรถเมล์ที่ถูก อาร์.เอ็น.ที เทเลวิชั่น ปัดฝุ่นรื้อมาทำใหม่ ในชื่อ Buzz FM(บัซ เอฟเอ็ม) สามารถรับฟังได้ทั้งทางวิทยุคลื่น 88 MHz เดิม และรับฟังบนรถประจำทางของ ข.ส.ม.ก. โดยเปลี่ยนรูปแบบรายการเพลงวัยรุ่น มาเป็นรายการวิทยุสำหรับการผ่อนคลาย เสนอข่าวสาร ข้อมูลการจราจร และข้อมูลจาก ข.ส.ม.ก.
Buzz FM มีจุดเด่นที่จะเป็นรายการวิทยุรายการแรกที่สามารถวัดจำนวนผู้ฟังได้อย่างแท้จริง เพราะกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมผู้ใช้บริการรถสาธารณะ มีไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคนต่อวัน อีกทั้งยังมีกลุ่มผู้ฟังทางคลื่น 88 MHz ที่มีอยู่หลักแสน ทำให้มีการปรับสปอตวิทยุเพิ่มจาก 4 พันบาทต่อ 30 วินาที เป็น 1.8 หมื่นบาท ต่อ 30 วินาที คาดว่าจะทำรายได้เดือนละราว 20 ล้านบาท
ทั้งนี้รายได้ของเอ-ไทม์ มีเดีย เมื่อปี 2548 ลงลงจากปี 2547 ที่ทำได้ถึง 1,000 ล้านบาท เหลือเพียง 850 ล้านบาท แต่การเข้ามาบริการคลื่น Buzz FM ก็จะส่งผลให้เอ-ไทม์มีเดีย ตั้งเป้าหมายที่จะสร้างตัวเลขรายได้ให้กลับขึ้นไปสู่หลัก 900 ล้านบาทได้ในสิ้นปีนี้ เป็นความตื่นตัวเล็ก ๆ ของคลื่นใหญ่แห่งนี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|