ธปท.ลุ้นการเมืองนิ่ง-ดึงลงทุนกลับ"กรพจน์" จี้เข็นเมกะโปรเจกต์ต่อ


ผู้จัดการรายวัน(6 เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

"หม่อมอุ๋ย"เชื่อสถานการณ์การเมืองเริ่มคลี่คลาย หลังรักษาการนายกฯเว้นวรรคทางการเมือง เชื่อเมื่อทุกฝ่ายมีความสมานฉันท์เรียกความมั่นใจนักลงทุนกลับมาได้ ด้านผอ.ออมสินมั่นใจ ใครเป็นนายกฯก็ทำให้เศรษฐกิจไทยก้าวต่อไปได้ หากมีความพร้อมและมั่นคง แนะรัฐบาลชุดใหม่ไม่ควรชะลอโครงการเมกะโปรเจกต์

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ประกาศความชัดเจนว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยต่อไปว่า ประเด็นของเรื่องดังกล่าวไม่ใช่ว่าจะเว้นวรรคหรือไม่เว้นวรรค แต่ประเด็นคือเริ่มเห็นการปรองดองกันของคนในสังคม ซึ่งเมื่อมีบรรยากาศความปรองดองกันในประเทศนักลงทุนก็จะสบายใจ และส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับคืนมา

ด้านนายกรพจน์ อัศวินวิจิตร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ภายหลัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปนั้น โดยส่วนตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะเป็นบุคคลใดก็ได้ ทั้งนักการเงินหรือนักกฎหมาย ขึ้นอยู่กับการลงมติเลือกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏร ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถบริหารประเทศ ไปสู่ความเจริญได้ เพราะขณะนี้ประเทศต้องการให้มีผู้สานต่อนโยบายต่างๆ โดยเร็ว โดยเฉพาะโครงการลงทุนเมกะโปรเจกต์ ที่ไม่ควรจะล่าช้าไปจากแผนเดิมมากเกินไป เพราะอาจกระทบความสามารถการแข่งขันของประเทศได้

“ผมเองเคารพในดุลยพินิจของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น ไม่ว่าใครได้รับเลือกมาเป็นนายกฯ ผมเองมีความมั่นใจว่าจะนำพาประเทศมาสู่ความเจริญทางเศรษฐกิจ ถึงแม้ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จะมีอาการชะลอลง แต่ถ้า มีความพร้อมและมีความมั่นคง เดินหน้าไปด้วยกัน เชื่อว่าประเทศยังมีความสดใส และทั่วโลกยังมองมาที่ประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศหลักในเอเชีย ที่ทั่วโลกต้องการมาลงทุน ที่เป็นประเทศที่เป็นฐานและมีศักยภาพที่จะเข้ามาลงทุน" นายกรพจน์ กล่าว

สำหรับนโยบายการทำงานของรัฐบาลชุดใหม่ คงต้องใช้เวลาพิจารณาโครงการต่างๆ ที่ยังชะลออยู่ แต่มีหลายโครงการที่ไม่ควรจะชะลอมากนัก หากมีความจำเป็น หากเป็นเรื่องการสร้างขีดความสามารถของประเทศ และเตรียมความพร้อมบนเวทีการค้าโลก เพื่อให้ก้าวทันกระแสโลก เช่น โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ หรือเมกะโปรเจกต์

ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ถือได้ว่าการเมืองของประเทศ มีการพัฒนามากขึ้น แม้แต่ละกลุ่มผู้ชุมนุมจะมีความคิดเห็นต่างกัน แต่ก็เป็นไปอย่างสันติวิธี ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี ที่ทุกฝ่ายมีความสมานฉันท์ ยึดประเทศเป็นหลัก ปัญหาการเมืองจึงไม่กระทบเศรษฐกิจของประเทศมากนัก และเมื่อการเมืองคลี่คลายลง นักลงทุน จะกลับมามีความเชื่อมั่นเช่นเดิม

" ถือเป็นพัฒนาการเมืองไทยที่แม้จะมีความเห็นต่างกัน แต่คนไทยทุกคนก็มีเหตุมีผล และสุดท้ายเมื่อต้องคิดถึงความสมานฉันท์ของประเทศ ทุกฝ่ายก็ร่วมมือกัน อยู่ในกฎระเบียบ ซึ่งเป็นการแสดงให้นักลงทุนทั่วโลก ได้เห็นว่าคนไทยยังสามัคคีอยู่และยังยึดมั่นในเรื่องประเทศชาติเป็นหลัก ดังนั้นนักธุรกิจที่มาลงทุนในไทย แม้จะเห็นความคิดที่ต่างกัน แต่สิ่งเหล่านี้ ไม่ได้ทำให้ไทยแปรเปลี่ยน ความเจริญ ความมั่นคง นักลงทุนยังเชื่อมั่นว่า ไทยยังมีความมั่นคงชัดเจน ในการยึดมั่นในกติกา และระบบประชาธิปไตย " นายกรพจน์ กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.