"ปัญหาคาใจ "วิญญาณ ร่างกาย" ญี่ปุ่นจะให้ไทยอย่างไร?

โดย สันทิฎฐ์ สมานฉันท์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

สำหรับฐานการผลิตในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ซึ่งเป็นโรงงานแห่งที่ 4 ของเอ็มเอ็มซี สิทธิผล นั้น กล่าวได้ว่า ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ปิกอัพมาจากมิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น เกือบจะทุกด้าน จะขาดก็เพียงงานวิจัยและพัฒนาเท่านั้น

แต่ส่วนงานที่ยังขาดอยู่นั้น กลับคือหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ก็ว่าได้

"ยินดีที่เอ็มเอ็มซี สิทธิผล ฟันฝ่าอุปสรรคจนทำงานระดับโลกได้ มิตซูบิชิมอเตอร์สตั้งใจให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างเต็มที่ และจะช่วยเหลือในทุก ๆ ด้าน"

คำกล่าวของเรจิโรที่มอบให้ในชั้นนี้ แถมด้วยยาหอมที่ว่า

"การวิจัยและพัฒนานั้นได้ทยอยถ่ายทอดมาไทยอยู่แล้ว และอนาคตอันใกล้นี้ ไทยจะสามารถทำการผลิตและออกแบบรถยนต์ได้เอง"

ทางด้านวัชระก็มั่นใจว่า เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว อนาคตอีกไม่ไกล เอ็มเอ็มซี สิทธิผล จะได้ครบทุกอย่าง

ขณะนี้การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการวิจัยและพัฒนานั้นทางไทยได้พยายามเรียนรู้อยู่ ซึ่งคงต้องใช้เวลา ทั้งนี้ทางญี่ปุ่นเขาพยายามและเต็มใจถ่ายทอดให้อยู่แล้ว แต่คงบอกไม่ได้ว่าภายในกี่ปีเราจึงจะพัฒนาไปถึงขั้นทำทุกอย่างเองได้หมดเกี่ยวกับการผลิตปิกอัพมิตซูบิชิ" วัชระกล่าว

แต่ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไรก็ตาม ถ้ามองถึงบทเรียนในอดีตแล้ว คงกล่าวว่า การทีมิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่นจะยินดีมอบหัวใจให้กับเอ็มเอ็มซี สิทธิผล นั้น เป็นเรื่องที่ต้องตระหนักอย่างที่สุดทีเดียว

มองย้อนไปเมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมา เมื่อครั้งที่มิตซูบิชิมอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ตัดสินใจจะเดินทางนำพาชื่อของมิตซูบิชิออกนอกประเทศญี่ปุ่น แต่การเปิดตัวสู่ตลาดโลกในครั้งนั้น มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น รู้ดีว่า ตนเองยังคงเป็นบริษัทเล็ก ๆ และยากที่จะเข้าต่อในตลาดอย่างยุโรปและอเมริกา ซึ่งล้วนแต่มียักษ์ใหญ่ทั้งเจ้าของพื้นที่ และยักษ์จากญี่ปุ่นเองไม่ว่าจะเป็นโตโยต้า นิสสัน หรือแม้แต่ฮอนด้าเข้าครอบครองพื้นที่ทำกินอย่างเหนียวแน่นไว้แล้ว

การตัดสินใจเข้าสู่ตลาดเอเชียจึงเกิดขึ้น

การเจาะตลาดเอเชีย ซึ่งในยุคนั้นถือว่ายังบริสุทธิ์อยู่มากเป็นไปอย่างที่ยักษ์จากญี่หลาย ๆ ราย ยังไม่มองถึง ประกอบกับอเมริกาได้ถอนทัพกลับไป เนื่องจากทิศทางด้านการเมืองที่ไม่สู้ดีนัก

มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ได้แพ้วทางไว้อย่างสวยหรู กระจายการลงทุนไปทั่วเอเชีย กับนักลงทุนท้องถิ่นในหลายท้องถิ่นในหลายประเทศ ไทยก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง จนเกิด เอ็มเอ็มซี สิทธิผล ขึ้นมา และดูเหมือนว่านโยบายครั้งก่อนนั้นจะสร้างเครือข่ายทำให้มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น เติบโตอย่างรวดเร็วทีเดียว

และแนวนโยบายของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่นที่เกิดขึ้นเอง จึงทำให้ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกหลายรายได้หันมามองเอเชียอีกครั้ง และดำเนินรอยตามนับจากนั้นมา

แต่ภายใต้เส้นทางเดินที่ดูสวยงามนั้น กลับมีอยู่ 2 กรณีที่ชัดเจน ซึ่งนับว่าจะสร้างความชอกช้ำให้กับมิตซูบิชิ มอเตอร์สคอร์ปอเรชั่นไม่ใช่น้อยจนเป็นข้อสงสัยว่าการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสุดยอดให้กับเอ็มเอ็มซี สิทธิผล จะเกิดขึ้นได้จริงหรือ

หนึ่งคือการเข้าไปถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับฮุดได ยักษ์ของเกาหลีใต้ จนปัจจุบันเมื่อฮุนไดเติบใหญ่ จนมั่นใจในเทคโนโลยีของตนเอง ความสัมพันธ์ที่มาแต่เก่าก่อนก็เริ่มจืดจางลง แม้ว่าจะยังติดต่อสานธุรกิจเพื่อสร้างผลประโยชน์กันอยู่แต่ก็รู้กันว่าผลประโยชน์ที่มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่นได้รับนั้น นับวันจะยิ่งลดน้อยลง เสมือนว่า วิชาที่ถ่ายทอดให้นับจากอดีตนั้นหมดความขลังลงแล้ว

ยิ่งกรณีที่สองนั้น เจ็บปวดมากยิ่งขึ้น

ในยุคนั้น หลายประเทศในเอเชียต้องการที่จะเติบโตอย่างน่าอัศจรรย์แบบที่ญี่ปุ่นเป็น จึงได้พยายามก้าวตามรอยเท้า มาเลเซียก็เป็นประเทศหนึ่งในจำนวนนั้น

ครั้งนั้น มหาธีร์ โมฮะหมัด นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ได้เรียกร้องให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยตรงให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ ซึ่งขณะนั้น มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น เป็นรายหนึ่งที่พร้อมให้ในทันที ทั้งเงินลงทุนและวิทยาการความรู้

"โปรตอน" คือโครงการอุตสาหกรรมยานยนต์ของมาเลเซีย ที่มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ทุ่มช่วยเหลือ จนปัจจุบันกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าการตลาดถึง 30,000 ล้านบาทต่อปี

ปัจจุบัน โปรตอน ของมาเลเซีย ได้แยกตัวออกจากมิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น อย่างสิ้นเชิง แม้แต่การสั่งซื้อชิ้นส่วนจากทางมิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ก็ยังไม่ใช่เรื่องจำเป็น

มหาธีร์หันไปผูกมิตรกับฝรั่งเศส โดยระบุว่าญี่ปุ่นไม่จริงใจในการถ่ายทอดเทคโนโลยี เมื่อเทียบกับชาติในยุโรปและล่าสุดรถโปรตอนรุ่นแรกที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากซีตรองก็เพิ่งปรากฎโฉมเมื่อเร็ว ๆ นี้

บทเรียนที่เกิดขึ้นย่อมชัดเจน แต่เพราะความซบเซาที่เกิดขึ้นในตลาดรถยนต์ญี่ปุ่น โดยเฉพาะตลาดปิกอัพ บวกกับต้นทุนราคาที่นับวันจะสูงขึ้น จึงทำให้มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น จำกัดต้องกัดฟัน หาเพื่อนรู้ใจที่จะเพิ่มความสัมพันธ์ให้ลึกซึ้งเพิ่มขึ้นไปอีก

เอ็มเอ็มซี สิทธิผล จึงมีวันนี้

"เพราะไว้ใจจึงให้เอ็มเอ็มซี สิทธิผล ผลิตและจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในโลก" คำกล่าวของเรจิโรซึ่งไม่รู้ว่าแอบแฝงความนัยไว้หรือไม่

"วันหนึ่งข้างหน้าญี่ปุ่นจะต้องเข้ามาถือหุ้นมากขึ้น เมื่อย้ายทุกอย่างของการผลิตปิกอัพเข้ามาเมืองไทยแล้วจากปัจจุบันที่โครงสร้างยังเป็นไทยถืออยู่ 52% และญี่ปุ่น 48% เพราะมองไม่เห็นว่าญี่ปุ่นจะได้ประโยชน์จากตรงไหนถ้าให้ทุกอย่างกับ เอ็มเอ็มซี สิทธิผล จนหมด แต่ถ้ากรณี เอ็มเอ็มซี สิทธิผล เป็นผู้รับจ้างคิดโครงการ ออกแบบและผลิตแล้วส่งรถยนต์ปิกอัพให้มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น จำจำหน่ายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง" ผู้ที่อยู่ในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ให้ความเห็น

"ทำไม จะต้องคอยมองว่าญี่ปุ่นจะเข้ามาเทกโอเวอร์" วัชระกล่าวด้วยเสียงค่อนข้างดังต่อ "ผู้จัดการ"

"อนาคตการเปลี่ยนแปลงจะมีหรือไม่ เราไม่รู้ และไม่อาจกล่าวไปถึงตรงนั้น เพียงแต่ขอว่าอย่าไปมองตรงนั้นมาก เพราะทุกวันนี้ผลประโยชน์ที่เขาได้รับจากการย้ายฐานมาเมืองไทยก็มีแล้ว เพราะเขาถือหุ้นที่นี่ถึง 48% การที่ต้องเพิ่มการถือหุ้นอีกหรือไม่นั้น ไม่น่าจะเป็นเรื่องสำคัญ" วัชระกล่าว

อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้ คงกล่าวได้ว่า เอ็มเอ็มซี สิทธิผลยังคงเป็นเพียงโรงงานรับจ้างประกอบเท่านั้นในส่วนของการส่งออก ยังไม่ใช่การประกอบเพื่อจำหน่ายด้วยตัวเอง จนถึงวันที่ทุกอย่างได้รับโอนมายังฐานการผลิตแห่งนี้เสียก่อน โครงสร้างตรงนี้จึงจะต้องพิจารณากันใหม่ และภายใต้เงื่อนไขโครงสร้างการถือหุ้นที่ต้องพูดคุยกันใหม่ด้วย ประเด็นเหล่านี้วัชระไม่อาจกล่าวปฏิเสธได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.