"พันธุ์เลิศ ใบหยก "ผมไม่เอาแล้ว"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

พันธ์เลิศ ใบหยก เจ้าของโครงการใบหยก 1 และใบหยก 2 เป็นนักพัฒนาที่ดินรายแรกที่มั่นใจในกำลังซื้อของคนในย่านนี้ และได้ตัดสินใจทุบโรงหนังสตาร์ และสเตล่าเพื่อสร้างตึกสูง 2 อาคารขึ้นมา พร้อม ๆ กับกวาดลูกค้าส่งและค้าปลีกกลุ่มแรกขึ้นไปทำการค้าบนตึกสูงแทน

พันธ์เลิศ จบคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรุ่นเดียวกับ ศุภวัฒน์ จงศิริ หรือ "ศุภักษร" นักเขียน และผู้กำกับภาพยนต์ชื่อดัง ถึงแม้เรียนมาทางศิลปเคยทำงานที่บริษัทฟาร์อีสแอสเวอร์ไทซิ่ง และบริษัทแกรมมี่ จำกัด มหาชน แต่เขาก็มีสายเลือดของพ่อค้าเต็มตัว

มองย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 30 กว่าปีที่ผ่านมาบริเวณที่เป็นย่านประตูน้ำในปัจจุบันนั้น คือภาพของชนบทแห่งหนึ่งที่มีผู้คนอาศัยกันอยู่อย่างสุขสงบ และยังชีพด้วยการปลูกผัก ภายใต้ผืนดินของร้านค้าส่ง แผงลอย และตึกสูงลิบอย่างใบหยกนั้น เมื่อก่อนคือร่องผักอันยาวเหยียด

การพัฒนาที่ดินย่านนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อที่ดินแปลงใหญ่แปลงหนึ่งประมาณ 40 ไร่ถูกพระราชทานให้กับชาวต่างชาติผู้หนึ่งต่อมาที่ดินแปลงนี้ได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ และทางธนาคารก็ได้เปิดประมูลให้เอกชนทั่วไปซื้อไป

เล็งเลิศ บิดาของพันธ์เลิศ พ่อค้าคนจีนซึ่งผู้ทำกิจการเกี่ยวกับโรงน้ำแข็งเป็นผู้ประมูลได้ไปในราคาประมาณ 10 ล้านบาทหรือราคาตารางวาละประมาณ 600 บาท ในขณะที่ปัจจุบันราคาประเมินของกรมที่ดินบนถนนราชปรารภ และเพชรบุรีนั้นราคาตารางวาละประมาณ 120,000-250,000 บาท

แต่ราคาซื้อขายจริงนั้นอาจจะสูงกว่าเพราะทุกวันนี้แทบจะไม่มีที่ดินว่างเปล่าบนถนนสายนี้ หากมีการซื้อขายก็คือการทุบตึกแถวเก่า ๆ ซึ่งไม่ได้ปลูกสร้างในที่ดินเช่าทิ้งไปส่วนราคาขายจะเป็นเท่าไหร่นั้นผู้ขายสามารถกำหนดได้ตามใจชอบ

หลังจากประมูลที่มาได้แล้วเล็งเลิศก็ได้จัดตั้งบริษัทขึ้นชื่อ "ภูมิภวัน" ซึ่งเป็นชื่อที่หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช สมัยเมื่อทำงานอยู่ที่ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการเป็นผู้ตั้งให้ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทภูมิภวันนี้ก็คือตระกูลใบหยกและธนาคารกรุงเทพพณิชยการ แต่ปัจจุบันกลุ่มใบหยกได้ซื้อคืนจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นเต็มเกือบ 100%

บริษัทภูมิภวัน เป็นบริษัทพัฒนาที่ดินบริษัทแรกที่มีบทบาทสำคัญในการพลิกโฉมหน้าชุมชนย่านประตูน้ำ โดยมีการวางมาสเตอร์แพลนไว้ว่าจะพัฒนาที่ดินเป็น ตลาด โรงภาพยนต์ ตึกแถวอาคารพาณิชย์ และโรงแรม

ตลาด โรงหนังสตาร์ โรงหนังสเตล่า โรงแรมอินทราเลยเกิดขึ้น เมื่อเริ่มสร้างตลาด ก็มีคนเข้ามาเอาจักรมาตั้งรับจ้างเย็บผ้า ช่วงแรก ๆ อาจมีเพียงไม่กี่ร้านต่อมาได้กลายเป็นศูนย์รวมรับจ้างตัดเสื้อผ้าของกรุงเทพฯ และได้พัฒนาเป็นศูนย์รวมการขายส่งและปลีกของเสื้อผ้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ พร้อมกับการไต่อันดับในอาชีพของคน จากยืนใช้ปากตะโกนหน้ากองสินค้าของตน เป็นเช่าหน้าร้านแทน พร้อม ๆ กับหาลู่ทาง เซ้งตึกแถว หรือซื้อกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย

พร้อม ๆ กับ พรบ. อาคารชุดปี 2522 ที่เกิดขึ้น ใบหยก 1 จึงประสบความสำเร็จในการขายอย่างรวดเร็ว และเป็นชนวนที่สำคัญที่ก่อให้เกิดอาการ "รุมทึ้ง" ลูกค้าในย่านนี้ด้วยการเข้ามาสร้างโครงการใหม่อีกหลายโครงการ

ใครจะเป็นอย่างไรบ้างนั้นต้องติดตาม !



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.