สมาคมรับสร้างโหวต'หยุดลงทุน'ใหม่รับไม่ไหวปัญหาการเมือง-เร่งเยี่ยวยาลูกค้าเก่า


ผู้จัดการรายวัน(5 เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

สมาชิกสมาคมรับสร้างบ้าน รับฉันทามติหยุดการลงทุน หลังเจอมรสุมทางการเมืองที่ยืดเยื้อสมทบจากภาวะอัตราดอกเบี้ย-น้ำมัน ยัน"เบื่อหน่ายการเมือง" พร้อมปรับกลยุทธ์เชื่อมสัมพันธ์ลูกค้าเก่า สร้างความต่างของสินค้า ระบุมูลค่าส่วนแบ่งตลาดรับสร้างบ้านไม่ถึง 7,000 ล้านบาท

นายสิทธิพร สุวรรณสุต เลขาธิการสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า ปัญหาจากสถานการณ์ด้านการเมืองที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคและกำลังซื้อ ชะลอตัวลงในทันที จากเดิมที่คาดว่าในปีนี้ตลาดรับสร้างบ้านจะมาอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 15% หรือมีส่วนแบ่งในตลาดสร้างบ้านเองเพิ่มขึ้นเป็น 8,500 ล้านบาท จากเดิมที่ปี48 ผู้ประกอบการสรับสร้างบ้านมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ประมาณ 7,000 ล้านบาทจากมูลค่าตลาดรวมมูลค่า 30,000 ล้านบาท แต่หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ด้านการเมืองเกิดขึ้น ทำให้ตลาดชะลอตัวอย่างทันทีทันใด ซึ่งจากการชะลอตัวดังกล่าวส่งผลให้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 49 ทำให้กำลังซื้อในตลาดหายไปกว่าครึ่งหรือประมาณ 50% เนื่องจากลูกค้าหวั่นเกรงจะได้รับผลกระทบที่เกิดจากการทรุดตัวลงของเศรษฐกิจและปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อ

" จากการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน ณ เดือน มี.ค. 49 พบว่าผู้ประกอบการต่างเบื่อหน่ายกับสถานการณ์ทางการเมือง และยอมรับว่าได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นเหมือนกันทั้งหมด ซึ่งในส่วนของผู้ประกอบการเอง ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะมีปัจจัยลบทางการเมืองเข้ามากระทบตลาด จนเกิดการชะลอตัวของกำลังซื้อมากเช่นปัจจุบัน ซึ่งเดิมผลกระทบจากแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและราคาน้ำมันที่เกิดขึ้น ก็ส่งผลให้ต้องมีการปรับตัวมากอยู่แล้ว ทั้งนี้ ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นมาซ้ำเติม ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ควรจะหยุดการลงทุนงานใหม่ๆ และหันมาปรับปรุงศักยภาพของบริษัท ทีมงานให้พร้อมก่อน เพื่อรองรับกำลังซื้อในช่วงครึ่งปีหลัง โดยกลุ่มสมาชิกในสมาคม จะร่วมมือกันฝึกอบรม และพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรให้มีขีดความสามารถที่สูงขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากร" เลขาธิการสมาคมฯกล่าวถึงทางออกของปัญหา

นายสิทธิพร กล่าวว่า ปัจจุบันลูกค้าที่ใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้าน ยอมรับว่ามีความคาดหวัง และความต้องการที่สูงขึ้นมาก เมื่อเปรียบเทียบกับอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากในขณะนี้การไหลเลื่อนของข้อมูล และในส่วนของลูกค้าก็มีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น รวมถึงการศึกษา และการหาข้อมูลในการสร้างบ้านสามารถทำได้ง่าย ทำให้ลูกค้าพิจารณาส่วนประกอบในการเลือกสร้างบ้านมากขึ้น ดังนั้น ในปัจจุบันผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและและความรู้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริโภค จึงมีการปรับตัวเพื่อตอบสนองผู้บริโภคให้ครอบคลุมมากขึ้น

ซึ่งจากข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน ทำให้ผู้ประกอบการ ต้องมีการปรับตัวด้านการแข่งขันกับในตลาดมากขึ้น โดยเน้นหลักสำคัญใน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1) การโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคและรู้จักตัวผู้ประกอบการมากขึ้น 2)การพัฒนาสินค้าและบริการให้มีมาตรฐานแตกต่างและสูงขึ้น 3) การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าเก่า ผ่านระบบ(CRM) ซึ่งแต่ละรายก็มีกลยุทธ์ที่หลากหลายและแตกต่างกันไป ซึ่งนับได้ว่าเป็นแนวทางที่ดีในการพัฒนาภาพรวมของธุรกิจรับสร้างบ้านระยะยาว โดยเฉพาะในส่วนของการแข่งขันกันพัฒนาสินค้าและบริการ

สำหรับแนวโน้มตลาดรับสร้างบ้านในปี2549 คาดว่า ในช่วงครึ่งปีหลังความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคจะกลับมา ซึ่งจะสอดคล้องกับกิจกรรมของกลุ่มผู้ประกอบการรับสร้างบ้านวางไว้ ที่จะกระตุ้นตลาดและกำลังซื้อให้คึกคักผ่านสมาคมฯ เหมือนเช่นปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้ สมาคมฯ จะจัดงานแสดงรับสร้างบ้าน 2006 ขึ้นระหว่างวันที่ 16-20 ส.ค. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งในส่วนของผู้ประกอบการทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่เป็นสมาชิก ได้มีการจองพื้นที่ในการออกบูธในโซนรับสร้างบ้านเต็มหมดแล้ว คงเหลือโซนส่วนของวัสดุก่อสร้างอีกเล็กน้อย ในเบื้องต้นประมาณการณ์ว่า ผลการจัดงานดังกล่าวจะมียอดขายประมาณ 400-500ล้านบาท ส่วนตัวเลขมูลค่าในตลาดรับสร้างบ้านโดยรวมทั้งปีคาดว่าจะไม่เกิน 7,000 ล้านบาท

ทั้งนี้แนวโน้มในการพัฒนาธุรกิจรับสร้างบ้านให้มีความยั่งยืนในระยะยาวได้นั้น ผู้ประกอบการจะต้องหันมาร่วมมือกัน พัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพขององค์กร โดยจะผลักดันให้เป็นนโยบายสำคัญของสมาคมฯ เพื่อยกระดับมาตรฐานของผู้ปรักอบการธุรกิจรับสร้างบ้านให้มีระดับมาตรฐานให้สูงขึ้น เช่นการออกผลิตภัณฑ์ หรือการออกแบบบ้านมาตรฐานของบริษัทตัวเองขึ้นมา เพื่อบ่งบอกถึงความเป็นตัวของบริษัทรับสร้างบ้าน และมีความแตกต่างกับผู้รับเหมาและบริษัทออกแบบทั่วไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.