สำหรับ "แวง เค โฮ" หรือที่รู้จักทั่วไปในนาม "ดับบลิว
เค โฮ" แล้ว วันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา น่าจะเป็นวันที่เขามีความสุขที่สุดวันหนึ่ง
เพราะเป็นวันเปิดอาคาร "จิวเวลรี่เทรดเซ็นเตอร์" อย่างเป็นทางการ
อีกทั้งเป็นวันที่ 3 ตระกูลใหญ่มาพบกันอย่างชื่นมื่นคือ ตระกูลโฮ, จิราธิวัฒน์และโสภณพานิช
โดยมีดับบลิว เค โฮ เป็นศูนย์กลางของงาน
สายสัมพันธ์ของทั้งสามตระกูลนั้นเห็นได้จากอาคารจิวเวอลรี่เทรดเซ็นเตอร์
แต่ลึกไปกว่านั้น สายสัมพันธ์ทั้งสามตระกูลก่อกำเนิดมาจากความรักในรุ่นลูก
นั่นคือ นิสิณี จิราธิวัฒน์ ลูกสาวของสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ที่มาแต่งงานกับเฮนรี่
โฮ ลูกชายของโฮ
ขณะที่ลูกสาวคนหนึ่งของโฮก็แต่งงานกับชาลี โสภณพานิช ลูกชายของชาตรี
โฮจึงเป็นทั้ง "พ่อสามี" ของจิราธิวัฒน์และ "พ่อตา"
ของโสภณพานิช
จิวเวลรี่เทรดเซ็นเตอร์เตอร์ เป็นการร่วมทุนระหว่างกลุ่มบริษัทใหญ่หลายกลุ่ม
ได้แก่ตระกูลโฮ, โสภณพานิช, มาลีนนท์และจิราธิวัฒน์ แต่ความริเริ่มของศูนย์จริง
ๆ เกิดจาก ดับบลิว เค โฮ พ่อค้าอัญมณีผู้กว้างขวางชาวฮ่องกง ซึ่งมีพื้นเพเดิมเป็นคนพม่า
และค้าอัญมณีอยู่ในวงการมากว่า 30 ปีทั้งในไทยและต่างประเทศ ทำให้โฮเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงผู้ค้าอัญมณีในไทย
แม้เขาจะพูดไทยได้ไม่กี่คำ
ในวันเปิดตัวจึงไม่น่าแปลกใจสำหรับแขกผู้เข้ามาในงาน ที่จะเห็นดับบลิว
เค โฮ ยืนรับแขกอยู่อย่างชื่นมื่นหนักหนาบริเวณเคาน์เตอร์หน้างาน บริษัทชั้นบี
2 ของอาคาร ต่างกับผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ที่ดูจะทำตัวเป็นแขกมากเสียกว่าการเป็นแม่งาน
ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับบริหารของแบงก์กรุงเทพ อย่างจินดา จรุงเจริญเวชช์
ที่หลบเรื่องวุ่น ๆ มาเป็นแขกพร้อมกับสั่งเพชรในงานนับ 10 เม็ด วิชัย มาลีนนท์
มาในฐานะของแขกอาวุโสของงาน สุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ จากกลุ่มเซ็นทรัลก็มาในฐานะตัวแทนของวันชัย
จิราธิวัฒน์ ที่ติดงานอยู่ต่างประเทศและกล่าวออกตัวว่า โครงการนี้ผมไม่รู้อะไรเลย
เช่นเดียวกับชาตรี โสภณพานิช ที่ติดเปิดแบงก์กรุงเทพสาขาซัวเถาในวันเดียวกัน
แม้แต่ประธานพิธีในงาน พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็มาล่ากว่ากำหนด 1 ชั่วโมง
เพราะมีภารกิจที่สงขลาในวันเดียวกันก่อนจะบินมาร่วมงาน
ทั้งหมดไม่ได้เป็นปัญหากับดับบลิว เค โฮ ที่จะต้องยืนรับแขกนานเพิ่มอีก
1 ชั่วโมง ซึ่งโฮยังคงมีสีหน้าสดในอยู่ตลอดงาน รอบกายโฮ นอกเหนือจากแขกเหรื่อในวงการอัญมณี
ทั้ง ไทย จีน ฝรั่ง แขก ที่เข้ามาแสดงความยินดีแล้ว ก็คือ ฮัลปิน โฮ กับเฮนรี่
โฮ ลูกชายทั้งสอง ที่มีบทบาทอยู่ในศูนย์เช่นกัน จึงพิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่า
สายเลือดการค้าอัญมณียังเข้มข้นอยู่ในสกุลโฮไม่จาง แม้ลูกชายของโฮบางคนเลือกไปทำธุรกิจอื่นอย่าง
สันติ โฮ ที่ไปลงทุนทำนิคมอุตสาหกรรมที่เวียดนาม
จิวเวลรี่ เทรด เซ็นเตอร์ ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จอีกขั้นของการค้าอัญมณีในเมืองไทยของโฮ
ที่ควบเอาการพัฒนาที่ดินเข้าไปด้วย และยังมีแขนขาธุรกิจจากสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด
ทั้งจากกลุ่มเซ็นทรัลที่เข้ามาดูในส่วนของพื้นที่ "แกลอเรียพลาซ่า"
ซึ่งเฮนรี่ โฮคงจะประสานการทำงานได้เป็นอย่างดีกับกลุ่มเซ็นทรัล เพราะอย่างน้อยก็ใกล้ชิดกว่าใครในฐานะของเขยของตระกูล
จิราธิวัฒน์
มีกลุ่มแบงก์กรุงเทพ ซึ่งโฮก็มีสายสัมพันธ์ในฐานะพ่อตาของชาลีที่คอยให้การสนับสนุนด้านการเงินและเป็นตัวเสริมให้กับศูนย์ฯ
ในการทำให้เป็นศูนย์การค้าและอัญมณีที่ครบวงจรตามจุดมุ่งหมายในการสร้าง จิวเวลรี่
เทรด เซ็นเตอร์
โครงการจิวเวลรี่ เทรด เซ็นเตอร์ เป็นอาคารสูง 59 ชั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ
9 ไร่ เข้า-ออกได้ทั้งทาง ถ. สีลม ถ. สุรศักดิ์ และตรอกเวทย์ พื้นที่ 5 ชั้นแรกของอาคาร(ชั้นบี1-ชั้น
4) จัดเป็นศูนย์การค้าเดอะแกลเลอเรีย พลาซ่า ที่เน้นความสำคัญที่ระบบการบริหารโดยมีเป้าหมายที่จะสร้างให้เป็นศูนย์การค้าชั้นนำระดับหรู
แต่คงต้องพยายามกันมากและใช้เวลาพอสมควร เพราะเท่าที่ "ผู้จัดการ"
ได้สังเกตในวันเปิดตัววันนี้ ที่นี่ยังไม่ได้แตกต่างไปจากศูนย์การค้าอื่นที่มีเสื้อผ้าและสินค้าแบรนด์เนมต่าง
ๆ ที่เห็นในตลาดเมืองไทยมาเช่าพื้นที่อยู่
ในส่วนอื่น ๆ ของจิวเวลรี่ เทรด เซ็นเตอร์ ประกอบด้วยอาคารหลักอีก 2 ส่วนคือ
นอร์ธทาวเวอร์ สูง 59 ชั้น ชั้นที่ 5-6 ใช้เป็นพื้นที่ของหน่วยงานและองค์กรต่าง
ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอัญมณีอย่างครบวงจร อาทิ หน่วยงานศุลกากร การตรวจสอบอัญมณี
ชั้น 8-16 เป็นพื้นที่ของห้องชุดพักอาศัย ชั้น 17-59 เป็นพื้นที่อาคารสำนักงาน
เซาท์ทาวเวอร์ สูง 17 ชั้น ๆ 11-17 ใช้เป็นอาคารสำนักงานและฟิตเนสคลับ ชั้น
บี 2 - บี 3 และชั้น 5-10 ใช้เป็นพื้นที่จอดรถที่รองรับรถหมุนเวียนได้ 1,100
คันต่อวัน
การเปิดตัวของจิวเวลรี่เทรดเซ็นเตอร์ถือได้ว่าฮือฮาที่สุดในบรรดาอาคารที่พยายามจะเป็นศูนย์ค้าอัญมณีทั้งหลาย
โดยในช่วง 5-6 ปีก่อนนั้น บรรดาอาคารเหล่านี้ต่างแข่งกันมากมายแห่งเพื่อรองรับกับความเติบโตของธุรกิจค้าอัญมณีในประเทศไทย
ซึ่งเคยวางเป้าหมายว่า น่าจะมีมูลค่าส่งออกถึง 1 แสนล้าน
แต่จนบัดนี้เป้าดังกล่าวก็ยังไม่ถึง แถมเจอมรสุมทั้งการเมือง เศรษฐกิจ
สงครามอ่าวเปอร์เซีย รสช. อีกหลายระรอก รวมทั้งจำนวนพื้นที่ที่มากเกินไปทำให้บรรดาศูนย์ค้าอัญมณีทั้งหลายไม่กระฉับกระเฉงเหมือนก่อน
หรือไม่ก็ไม่กล้าประกาศตัวเป็นศูนย์อัญมณีเต็มตัว เพื่อรับลูกค้าได้หลากหลายมากขึ้น
อาคารข้างเคียงกับจิวเวลรี่เทรดเซ็นเตอร์ บนถนนสีลมที่ดูจะมีบารมีใกล้เคียงทั้งในแง่การลงทุนและตัวผู้ลงทุน
เห็นจะไม่พ้น "สีลม พรีเชียส ทาวเวอร์" ซึ่งในอดีตเป็นของ "รังสรรค์
ต่อสุวรรณ" ที่ในช่วงแรกร่วมกับบริษัทควอลิตี้ คัลเลอร์ ผู้ค้าอัญมณีรายใหญ่
แต่เมื่อรังสรรค์ต้องหลุดจากวงโคจรไป โครงการดังกล่าวชะงักงันและต้องมาอยู่ในมือของ
"ราศี บัวเลิศ" ซึ่งเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น "รอยัลเจริญกรุง"
ว่ากันว่า ผู้ค้าอัญมณีหลายรายรู้สึกดีใจที่โครงการล่าช้าออกไป แถมการส่งผ่อนค่างวดก็ชะลอไปได้หลายเดือน
เพราะทุกคนยอมรับสภาพว่าถ้ายังดึงดันที่จะเปิดศูนย์ในช่วงธุรกิจซบเซา ก็เท่ากับเอาเงินไปจมเสียเปล่า
ๆ แต่ไม่นานทั้ง 2 ตึกก็ต้องเผชิญหน้ากัน
ผลจะเป็นอย่างไรก็ต้องขึ้นอยู่กับการดำเนินงานของทั้งสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งอาจจะได้เปรียบในการเปิดตัวเป็นศูนย์ครบวงจรก่อนแห่งแรก
แต่อีกฝ่ายก็อาจจะใช้ภาษิตที่ว่าช้า ๆ ได้พร้าเล่มงามมาได้เหมือนกัน
แต่สำหรับโฮ เขากล่าวว่า ดีใจมากที่สำหรับการเปิดตัวศูนย์ฯ ในวันนั้นและไม่คิดกลัวหากจะมีศูนย์อื่น
ๆ ตามมา ซึ่งคงจะไม่เป็นคู่แข่ง แต่กลับจะทำให้การค้าอัญมณีคึกคักขึ้น ก็แป็นผลดีกับทุกฝ่าย
แต่ที่สำคัญคงจะต้องทำให้ต่างจากศูนย์การค้าทั่วไป เพราะสำหรับจิวเวลรี่เทรด
เซ็นเตอร์ จะเน้นให้ศูนย์ที่พัฒนาให้ครบวงจรสำหรับการค้าอัญมณีจริง ๆ
ที่แน่ ๆ สำหรับดับบลิว เค โฮ เฉพาะวันเปิดอาคารก็สร้างความสุขใจเพียงพอแล้ว
พร้อม ๆ กับบารมีที่เปล่งประกายและสูงสว่างพอ ๆ กับตัวอาคาร "จิวเวลรี่
เทรดเซ็นเตอร์" ทีเดียว