"อติรุฒน์ โตทวีแสนสุข กับคติประจำใจ "ล่องหนบนหลังคาบ้าน"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ทันทีที่ "ไอทีวี" สถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ของค่ายสยามอินโฟร์เทนเม้นท์ เริ่มทดลองออกอากาศ "สยามแอนโทรนิคส์" ก็เดินเครื่องเปิดตัวปรากฎโฉมออกสู่ตลาดทันที

สยามแอนโทรนิคส์เป็นหนึ่งในบริษัทในเครือของสยามทีวี แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น ซึ่งมีอยู่มากกว่า 30 บริษัท ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับกับธุรกิจทีวีเสรีนี้โดยเฉพาะ

ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่ไอทีวีต้องฟันฝ่า คือการเป็นทีวีช่องใหม่และเป็นช่องเดียวที่ส่งสัญญาณออกอากาศในระบบยูเอชเอฟ เพราะสถานีโทรทัศน์ทั้ง 5 ช่อง คือ 3, 5, 7, 9 และ 11 ล้วนแต่ออกอากาศในระบบวีเอชเอฟ ดังนั้นเสาอากาศทีวีที่วางจำหน่ายอยู่ในตลาด ก็ล้วนแต่เป็นเสาอากาศในระบบวีเอชเอฟทั้งสิ้น ซึ่งไม่สามารถรับสัญญาณระบบยูเอชเอฟได้

นับเป็นภารกิจอย่างหนึ่ง ที่ไอทีวีต้องฟันฝ่าเพื่อให้สามารถดำรงอยู่ภายใต้การแข่งขันกับคู่แข่งที่มีอยู่ทั้ง 5 ช่อง แถมเคเบิลทีวี อีกหลายสิบช่อง คือ ต้องติดตั้งเสาอากาศทีวีระบบยูเอชเอฟบนหลังคาบ้านเรือนให้เร็วที่สุดและมากที่สุด

เพราะหากรายการที่ส่งสัญญาณออกอากาศไปดีเพียงใด แต่ไม่มีคนรับชมรายการได้ก็เปล่าประโยชน์ ทีวีและเสาอากาศจึงเป็นของคู่กันอย่างแยกไม่ออก เปรียบแล้วก็เหมือนกับมีพัดลมแต่ไม่มีไฟฟ้าก็ใช้งานไม่ได้

ภาระหน้าที่ว่ามานี้ตกเป็นของ บริษัทสยามแอนโทรนิคส์ ซึ่งต้องทำหน้าที่เป็นทั้งโรงงานผลิต จำหน่ายและติดตั้งเสาอากาศระบบยูเอชเอฟภายใต้ชื่อสยามแอนเทนน่า ซึ่งเป็นภารกิจที่หนักหน่วงที่ไม่อาจมองข้ามได้เลย

แน่นอนว่าบุคลากรที่เลือกสรรมาดูแลงานในครั้งนี้ก็ควรมีประสบการณ์ หรือ ผ่านงานในสายงานทางด้านนี้มาบ้าง อติรุฒน์ โตทวีแสนสุข จึงเป็นผู้ที่ถูกมอบหมายให้ดูแลงานในครั้งนี้

อติรุฒน์เป็นหนึ่งในผู้บริหารของกลุ่มสามารถที่ย้ายค่ายมาร่วมงานกับกลุ่มสยามทีวี แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น ตามคำชักชวนของฉัตรชัย บุนนาคซึ่งเป็นอดีตมืออาชีพคนสำคัญของกลุ่มสามารถ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการกลุ่มสยามทีวีฯ

อติรุฒน์รู้จักกับฉัตรชัยมาตั้งแต่ในช่วงทำงานอยู่บริษัทคูเปอร์แอนด์ไรแบนด์ บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจระดับโลก ซึ่งฉัตรชัยเคยมาว่าจ้างให้คูเปอร์ทำการศึกษากลุ่มสามารถ ในช่วงกำลังเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ต่อมาอติรุฒน์จึงถูกชักชวนให้มาร่วมงานในกลุ่มสามารถ และได้มอบหมายให้ดูแลกิจการแคมโบเดียสามารถ ให้บริการทางด้านโทรศัพท์มือถือในกัมพูชา เป็นเวลาเกือบ 3 ปีก่อนที่จะมาร่วมงานกับกลุ่มสยามทีวีแอนด์แมเนจเมนท์ รับหน้าที่เป็นกรรมการผู้อำนวยการ สายธุรกิจสายการผลิตสื่อ ซึ่งประกอบไปด้วย การผลิตรายการ เช่น สารคดีพาโนรามาที่กำลังดำเนินการอยู่ ดูแลธุรกิจค้าขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และบริษัทสยามแอนโทรนิคส์

บทบาทของสยามแอนโทรนิคส์ ไม่ใช่แค่การผลิต จำหน่าย และติดตั้งเสาอากาศทีวีระบบยูเอชเอฟเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเสาทีวีระบบวีเอชเอฟ ตลอดจนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิส์ อื่น ๆ เช่น คอมไบน์เนอร์ จานรับสัญญาณระบบไดเร็กคทูโฮมทีวี และผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามสั่ง ซึ่งมีโรงงานอยู่ในเขตอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี โดยอาศัยเทคโนโลยีการผลิตจากบริษัท HILLS INDUSTRIES จากออสเตรเลีย

"เดิมจริง ๆ จะใช้ชื่อสยามแอนเทนน่า แต่ดูจำกัดไป เพราะจริง ๆ แล้ว เราต้องการผลิตอุปกรณ์อย่างอื่นด้วย คุณฉัตรชัยเลยเปลี่ยนชื่อใหม่ เอาคำว่า อิเล็กทรอนิกส์ และแอนเทนน่ามาสมาสรวมกัน ก็เลยกลายเป็นสยามแอนโทรนิคส์" อติรุฒน์ เล่าถึงที่มาของชื่อบริษัท

แม้ว่ามีภารกิจผลิตและติดตั้งเสาไอทีวีให้ถึงมือผู้ใช้ให้เร็วที่สุด ซึ่งเป็นผลโดยตรงต่อธุรกิจทีวี แต่สยามแอนโทรนิคส์ ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการแข่งขันภายในธุรกิจ โดยเฉพาะคู่แข่งตัวฉกาจอย่างกลุ่มสามารถ ซึ่งเติบโตมาจากธุรกิจผลิตเสาทีวี ยังเป็นที่มาของรายได้หลักของกลุ่มสามารถ

แน่นอนว่า งานนี้คงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่ต้องประชันหน้ากันโดยตรงแม้ว่าตลอดเวลาการสนทนา อติรุฒน์จะยืนยันว่าไม่ต้องการแข่งขันกับกลุ่มสามารถโดยตรงก็ตาม

หากประเมินดูตลาดเสาทีวีในปัจจุบัน เสาทีวีของสามารถครอบครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ประมาณ 60-70% บริษัทไทยวาโก้ ครองตลาดอยู่ 20% ที่เหลือเป็นรายย่อย

อติรุฒน์เล่าว่า ตลาดเสาอากาศทีวีจะเป็นลักษณะของความคุ้นเคย ดังนั้นวิธีที่สยามแอนเทนน่าจะเข้าไปแทรกตัวอยู่ในตลาดได้ คือ การทำตลาดจะต้องแตกต่างไปจากรายเดิม ทีมติดตั้ง คือ สองส่วนที่จะต้องเน้นพิเศษ

ข้อแตกต่างที่ว่า เริ่มตั้งแต่การออกแบบเสาทีวี ซึ่งเป็นแบบกิ่งรับสัญญาณ 2 ชั้น ซึ่งอติรุฒน์ระบุว่าจะรับสัญญาณได้ชัดเจน รวมถึงความแข็งแรงทนทาน ซึ่งเขาลงทุนขว้างลงกับพื้นปูพรมในห้องทำงานเพื่อพิสูจน์ความแข็งแกร่ง

"ที่สำคัญเราออกแบบไม่ให้ทำลายทัศนียภาพ สโลแกนของเราคือถ้ามองเห็นหลังคา แต่ไม่เห็นเสา นั่นแหละคือเสาสยามแอนเทนน่า" อติรุฒน์ชี้แจง

แน่นอนว่า หากจะเน้นคุณภาพราคาย่อมสูงตามไปด้วย ดังนั้นหากใครต้องการดูไอทีวี ใช้เสาสยามแอนเทนน่า ต้องควักกระเป๋า 900 บาท ซึ่งเป็นราคาเสาทีวี รวมค่าติดตั้ง ในขณะที่ยี่ห้ออื่นอาจที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด สนนราคาที่ 400-500 บาท

"เราต้องการให้ลูกค้าที่ต้องการดูไอทีวีเจาะจงใช้เสาของสยามแทนเทนน่า แม้จะมีราคาแพงกว่า แต่บริการติดตั้ง ซึ่งเป็นส่วนที่เราเน้นเป็นพิเศษจะดีกว่า เพราะเราไม่ต้องการให้ช่างแถวบ้าน ที่ไม่มีความรู้มาให้บริการกับลูกค้า"

ศูนย์บริการสยามแอนโทรนิคส์ถูกจัดตั้งขึ้น มีไว้เพื่อรับบริการติดตั้งเสาทีวี บริการ ติดต่อสอบถามให้คำแนะนำแก้ปัญหา อติรุฒน์ยืนยันว่ามีคนโทรมาใช้บริการฮอตไลน์ถึง 2 พันรายต่อวัน ซึ่งจะกลายเป็นข้อมูลสำคัญอย่างหนึ่งของธุรกิจทีวีต่อไป

ในการติดตั้งนั้น อติรุฒน์ เล่าว่าใช้วิธีว่าจ้างบริษัทรับเหมาช่วง (SUB CONTRACT) จำนวน 15 บริษัท พร้อมกับทีมช่วงติดตั้งที่เป็นร้านค้าทั่วไปประมาณพันคนมาอบรมตามหลักสูตรที่วางไว้ และจะได้รับป้ายสยามแอนเทนน่าติดไว้

เว้นแต่ลูกค้าระดับวีไอพี ซึ่งเป็นลูกค้าสำคัญของทางกลุ่ม จึงจะมีช่างพิเศษของบริษัทคอยดูแล

อติรุฒน์เล่าว่า เสาทีวี แม้เสาทีวีระบบยูเอชเอฟ จะเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องติดตั้งให้เร็วที่สุด และมากที่สุดแต่หาใช่ส่วนที่จะเป็นตัวทำรายได้หลักให้กับบริษัท แต่กลับเป็นเสาระบบวีเอชเอฟ ซึ่งยังเป็นตลาดเดิมที่ยังใหญ่มาก และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ ซึ่งจะมีการผลิตเพิ่มขึ้นตามมา

แน่นอนว่านับจากนี้ บนหลังคาบ้านพักอาศัยในเขตกรุงเทพฯ คงจะมีเสาอากาศ ชื่อสยามแอน
เทนน่าติดตั้งอยู่ แต่ก็อาจเห็นไม่ชัดเจนนัก เพราะสโลแกนของเขาคือ มองบนหลังคาไม่เห็นเสาทีวี คือ สยามแอนเทนน่า



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.