คาดค่าธรรมเนียมแบงก์โต9.48%รับอานิสงส์ตลาดตราสารบูม


ผู้จัดการรายวัน(3 เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยแบงก์ปี 49 ขยายตัว 9.48% ลดลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 15.89% ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอมาอยู่ที่ 4-4.5% แต่คาดว่าแนวโน้มจะยังขยายตัวได้ต่อ รับแรงหนุนจากความต้องการหุ้นกู้ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินแนวโน้มการขยายตัวของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในปี 2549 คาดว่าจะอยู่ในระดับ 115,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัว 9.48% ชะลอลงจาก 105,600 ล้านบาทในปี 2548 ที่อัตราการขยายตัว 15.89% ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะชะลอตัวมาอยู่ที่ 4-4.5% โดยธุรกิจที่น่าจะเป็นตัวสำคัญในการเพิ่มรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยใน 1-3 ปีข้างหน้า น่าจะได้แก่ ค่าธรรมเนียมการออก จำหน่าย และค้าตราสารหนี้ ซึ่งได้รับแรงหนุนจากความต้องการหุ้นกู้ ในภาวะที่ดอกเบี้ยอยู่ในขาขึ้น ค่าธรรมเนียมในการออก L/C และรายได้จากการปริวรรตเงินตรา ค่าธรรมเนียม ATM และธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ จากการแนะนำผลิตภัณฑ์และบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆแก่ลูกค้ารายย่อย

รวมไปถึงค่าธรรมเนียมอื่นๆที่คงเร่งปรับตัวขึ้นตอบสนองความพยายามเป็นธนาคารเต็มรูปแบบ(Universal Banking) ซึ่งได้แก่ ค่าธรรมเนียมจากการขายประกัน ค่าธรรมเนียมนายหน้าการขายหน่วยลงทุน รวมไปถึงการพัฒนาการให้บริการอื่นๆ (Facilitators)ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ระบบงานหรือเป็น Back Office ให้แก่ธนาคารพาณิชย์อื่นๆเป็นต้น

ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยของระบบธนาคารในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้แก่ การมุ่งเน้นธุรกิจรายย่อย ที่นำไปสู่การขยายบริการ และผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม ในขณะที่การอนุญาตให้ทำธุรกรรมทางการเงินส่วนใหญ่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมายังคงไม่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอย่างชัดเจนนัก เนื่องจากเป็นช่วงเตรียมการขยายธุรกิจของธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง

โดยข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่า ในปี 2548 รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยของระบบธนาคารมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 30% ของรายได้รวม ซึ่งธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงมีโครงสร้างการดำเนินธุรกิจที่มีรายได้หลักมาจากรายได้ดอกเบี้ย จากสัดส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่ไม่ถึง 30% ในปี 2548 โดยธนาคารพาณิชย์ไทยมีอัตราการขยายตัวของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในช่วงปี 2541-2548 อยู่ที่ 2.11% ในขณะที่สาขาธนาคารต่างประเทศ มีสัดส่วนของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยต่อรายได้ที่ มากกว่า 50% และมีการขยายตัวของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีที่ 8.27% โดยธนาคารพาณิชย์ไทยมีการขยายตัวจากค่าธรรมเนียมโอนเงินเรียกเก็บเงิน ค่าธรรมเนียม ATM และธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ และค่าธรรมเนียมและบริการอื่นๆอยู่ระดับสูง ส่วนสาขาธนาคารต่างประเทศมีการขยายตัวของรายได้จากการปริวรรตเงินตรา ค่าธรรมเนียมการออก L/C และค่าธรรมเนียมและบริการอื่นๆอยู่ในระดับสูง

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างการขยายตัวของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยกับ GDP และการขยายตัวของสินเชื่อ น่าจะยังคงมีทิศทางที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารยังคงเดินหน้ามุ่งหน้าการขายไขว้ และการเสนอผลิตภัณฑ์ในรูปของ Nundled Products ให้แก่ลูกค้าธนาคารต่อไป ในขณะเดียวกันคาดว่า ธนาคารก็คงจะหาช่องทางใหม่ๆในการขายผลิตภัณฑ์ หรือกระตุ้นการทำธุรกรรมของลูกค้ารายใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยทำหน้าที่เสริมรายได้จากดอกเบี้ยได้ดียิ่งขึ้น

นอกเหนือไปจากปัจจัยอื่นๆ ที่จะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ซึ่งได้แก่ การเพิ่มความรู้ความสามารถในการขายของพนักงาน การสร้างความแตกต่างด้านผลิตภัณฑ์ การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเพิ่มช่องทางเพิ่มรายได้แก่ธนาคาร และการสามารถเป็นธนาคารที่นำเสนอบริการทางการเงินได้อย่างครบวงจร


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.