โบรกเกอร์คาดหุ้นทรุดยาวหลังเลือกตั้ง


ผู้จัดการรายวัน(3 เมษายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

วงการโบรกเกอร์ ตลาดหุ้นหลังเลือกตั้งยังทรุดยาว เหตุเป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้ง และไม่แน่ใจว่าจะได้ข้อยุติหลังเลือกตั้งเสร็จสิ้น "มนตรี ศรไพศาล" ชี้ต้องรอจำนวนผู้ใช้สิทธิ จำนวนส.ส. และท่าทีนายกฯคนต่อไป ด้านบล.ไทยพาณิชย์ เชื่อตลอด 1 เดือนหลังเลือกตั้งโอกาสหุ้นซึมยาว โอกาสปรับตัวขึ้นไม่ง่าย ขณะที่บล.นครหลวงไทย แจงหากการเมืองไม่เศรษฐกิจชะลอตัว ส่วน "เกียรตินาคิน" คาดดัชนีไตรมาส 2/49 แกว่งตัวในกรอบ 700-760 จุด

ภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา ปัจจัยหลักที่ถือว่าเป็นปัจจัยลบที่สำคัญซึ่งนักลงทุนจำนวนมากชะลอการลงทุนเพื่อประเมินสถานการณ์ คือ ปัจจัยด้านการเมืองที่ยังไม่มีข้อยุติ แม้ว่าความกังวลที่นักลงทุนไม่แน่ใจเรื่องการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อยังไม่เคยเกิดขึ้นก็ตาม

ทั้งนี้ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. เมื่อวานนี้ (2 เม.ย.) ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนยังคงไม่แน่ใจว่า หลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลงทิศทางตลาดหุ้นจะเป็นไปในทางใด แม้ว่าในช่วงการเลือกตั้ง 2 ครั้งในอดีตที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ มักจะปรับขึ้นได้โดยตลอด แต่ในครั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดทุนกลับไม่กล้าฟันธง โดยให้เหตุผลที่สอดคล้องกันว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่การเลือกตั้งตามปกติ ทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจว่าหลังการเลือกตั้งเหตุการณ์ทุกอย่างจะสงบหรือไม่

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การประเมินสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ภายหลังการเลือกตั้งในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยาก เพราะจะต้องรอความชัดเจนเกี่ยวกับผลการเลือกทั้งในเรื่องคะแนนเสียงของประชาชนที่มาใช้สิทธิ จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองแต่ละพรรค และรวมไปถึงท่าทีของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ว่าจะมีท่าทีอย่างไรต่อสถานการณ์ในบ้านเมือง

ทั้งนี้ เชื่อว่าโอกาสที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นในช่วงหลังการเลือกตั้งเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่ยาก เนื่องจากนักลงทุนยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศอยู่มาก คงจะต้องรอให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากกว่านี้

"มีอีกหลายปัจจัยที่เราต้องรอดูว่าจะเป็นอย่างไร เช่น จำนวนส.ส.ของพรรครัฐบาล จำนวนคนที่ไปใช้สิทธิ จำนวนคนที่เลือกไม่เลือกลงคะแนน และที่สำคัญท่าทีของนายกรัฐมนตรีว่าจะเป็นอย่างไร เราถึงจะประเมินสถานการณ์ได้" นายมนตรี กล่าว

นายอดิพงษ์ ภัทรวิกรม ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า โดยปกติดัชนีตลาดหลักทรัพย์ภายหลังการเลือกตั้งจะปรับตัวขึ้นเสมอ แต่การเลือกตั้งในครั้งนี้แตกต่างออกไปจากทุกครั้ง โดยเชื่อว่าตลอด 1 เดือนหลังจากนี้โอกาสที่ดัชนีจะปรับขึ้นได้เป็นไปได้ค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ ความกังวลต่อสถานการณ์ต่างๆ ในประเทศ และต่างประเทศเป็นเรื่องที่นักลงทุนไม่ชอบ ประกอบกับปัจจุบันปัจจัยทางการเมืองยังไม่มีความชัดเจนตลาดทุนจะกลับมาเป็นปกติอีกครั้งเหมือนก็อย่างเป็นปกติ

นายไพบูลย์ นลินทรางกูล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่ผิดปกติไม่เหมือนกับการเลือกตั้งในอดีต ซึ่งทำให้การประเมินสถานการณ์ในตลาดทุนเป็นไปได้ยากหุ้นขึ้น คือ ไม่สามารถเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นช่วงหลังเลือกตั้งของ 2 ครั้งที่ผ่านมาได้

ทั้งนี้ ในการเลือกตั้ง 2 ครั้งล่าสุด คือ ครั้งแรก เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2545 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปิดการซื้อขายในวันแรกหลังการเลือกตั้ง(7 ม.ค.) ที่ระดับ 317.69 จุด เพิ่มขึ้น1.96 จุด หรือ 0.62% ขณะที่ในช่วง 1 เดือนหลังจากนั้นเมื่อวันที่ 7 ก.พ. ดัชนีปิดที่ 346.77 จุด โดยดัชนีเปิดขึ้น 29.08 จุด หรือ 9.15% จากราคาปิดวันแรกหลังการเลือกตั้ง

ขณะที่ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2548 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปิดการซื้อขายในวันแรกหลังการเลือกตั้ง (7 ก.พ.) ที่ระดับ 725.76 จุด เพิ่มขึ้น 6.66 จุด หรือ 0.93% ขณะที่ในช่วง1 เดือนหลังจากนั้นเมื่อวันที่ 7 มี.ค. ดัชนีปิดที่ 737.42 จุด โดยดัชนีเปิดขึ้น 29.08 จุด หรือ 9.15% จากราคาปิดวันแรกหลังการเลือกตั้ง 11.66 จุด หรือ 1.60% จากราคาปิดวันแรกหลังการเลือกตั้ง

***การเมืองไม่จบกระทบเศรษฐกิจ**

นางสาววิริยา ลาภพรหมรัตน ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคิน จำกัด กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2 ปี 2549 ประเด็นที่จะต้องมีการติดตามประเด็น คือ ปัจจัยทางการเมืองหลายหลังการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายนนี้ ว่าจะสามารถมีข้อมูลใหม่ที่จะทำให้ปัจจัยทางการเมืองมีความผ่อนคลาย และสามารถหาข้อยุติความขัดแย้งทางความคิดได้หรือไม่

ทั้งนี้ หากปัจจัยทางการเมืองมีความยืดเยื้อต่อไปอีก 3 เดือน ก็จะมีผลทำให้นักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนภายในประเทศมีการชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นไทย แต่ส่วนตัวมองว่าหากปัจจัยการเมืองมีความยืดเยื้อ แต่ไม่มีความรุนแรง ก็เชื่อว่านักลงทุนต่างประเทศก็ยังคงลงทุนในตลาดหุ้นไทยอยู่ เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนก็ยังคงเติบโต และตลาดหุ้นไทยมีค่า P/E ต่ำ มีการจ่ายเงินปันผลที่ดี จึงทำให้นักลงทุนต่างประเทศยังไม่ขายหุ้นไทยทิ้ง

ส่วนประประเด็นอัตราดอกเบี้ย ที่มีแนวโน้มการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และราคาน้ำมันที่มีการทรงตัวและมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในปลายเดือนมีนาคมนั้น บริษัทจดทะเบียนจะต้องมีการควบคุมต้นทุนในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยและราคาน้ำมันที่จะมีผลกระทบต่อการดำเนินงานได้ รวมถึงจะต้องมีการติดตามในเรื่องผลประกอบการในไตรมาส1/49ของบริษัทจดทะเบียนที่จะมีการประกาศออกมาในไตรมาส2/49 ซึ่งจะทำให้มีการเก็งกำไรหุ้นเป็นรายตัวที่มีผลประกอบการที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ โดยคาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2/49 จะแกว่งตัวในกรอบ 700-760 จุด

นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ นครหลวงไทย จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2/49 ซึ่งหากปัจจัยภายทางการเมืองยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จะมีผลกระทบทำให้เศรษฐกิจของไทยมีการชะลอตัว รวมถึงกดดันอุตสาหกรรมการบริโภคของประชาชน

ส่วนปัจจัยภายนอกประเทศนั้นมองว่ายังเป็นทิศทางที่ดีเนื่องจาก ค่าเงินในเอเซียมีการแข็งค่าขึ้น ค่าเงินดอลล่าร์มีการอ่อนตัวลง ดังนั้นจึงทำให้เม็ดเงินต่างประเทศยังคงไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นในเอเซียรวมถึงตลาดหุ้นไทย ซึ่งมูลค่าจะเท่าไรนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในประเทศ แต่ในด้านปัจจัยพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจไทยยังคงดีอยู่

สำหรับราคาน้ำมันคาดว่ายังคงทรงตัวในระดับที่สูง เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันยังคง รวมถึงสถานการณ์ในต่างประเทศซึ่งยังไม่สามารถยุติได้ ส่วนในเรื่องอัตราดอกเบี้ยก็อยู่ในช่วงขาขึ้นจากสหรัฐอเมริกามีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าดัชนีฯจะมีการปรับตัวลดลงมากที่สุด ที่ 715 จุด หากกำไรของบริษัทจดทะเบียนในไม่ขึ้น โดยมีค่า P/E ที่ 8-9เท่า และหากภาวะต่างๆปรับตัวเพิ่มขึ้นดัชนีฯ มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ถึง 760 จุด

นายสุกิจ กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 1/49 ถือว่ามีการปรับตัวดีขึ้นกว่าในไตรมาส1/48 เนื่องจาก ในไตรมาส 1/48 นั้น ถือว่าเป็นช่วงที่ไม่ดี จากค่าเงินบาทที่อ่อนตัว มีการลอยตัวราคาน้ำมันทำให้ราคาน้ำมันมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง รวมถึงมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด อัตราเงินเฟ้อมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น

ส่วนในช่วงไตรมาส1/49 นั้น ดัชนีฯไม่ได้มีการปรับตัวลดลงแต่จะเป็นลักษณะซึมๆ จากนักลงทุนมีความกังวลในปัจจัยทางการเมือง ซึ่งดุลบัญชีเดินสะพัด อัตราเงินเฟ้อก็มีการปรับตัวลดลง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.