รื้อโครงสร้างภาษี"อปท."ใหม่ ปิดช่องโหว่คนรวยเสียน้อย


ผู้จัดการรายสัปดาห์(3 มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ภาษีบำรุงท้องที่ กับภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างเป็นรายได้หลักของ อปท.ที่ต้องเก็บได้มาก แต่ปัจจุบันตรงกันข้าม เพราะทุกวันนี้ ภาษีทั้ง 2 ตัวสร้างรายได้แค่เพียงหยิบมือเดียว เป็นผลมาจากการให้อำนาจ อปท. บัญญัติเงื่อนไขให้ผู้มีอันจะกินไม่ต้องเสียภาษี ทำให้ฐานภาษีที่ควรขยายกว้าง กลับจำกัดแคบแค่คนบางกลุ่ม โดยเฉพาะคนจนเสียมากคนรวยเสียน้อย ไร้ความยุติธรรม ภาพของ อปท.เปรียบเป็นแค่ลูกแหง่ที่รัฐต้องป้อนงบประมาณให้ตลอด ด้วยเหตุนี้เองภาษีทั้ง 2 ตัวจึงต้องถูกล้างออกจากระบบและเปลี่ยนมาใช้ "ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทน" ตัดตอนคนรวยเลี่ยงภาษี

ภาษีหลักที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ต้องจัดเก็บในปัจจุบันนั้นมี 2 ส่วน คือภาษีโรงเรือนและที่ดิน กับภาษีบำรุงท้องที่ แต่ที่ผ่านมาการจัดเก็บภาษีของทั้ง 2 ตัวนี้ทำรายได้ ให้อปท.ไม่มากนักทั้งที่ความเป็นจริงไม่ควรเป็นเช่นนั้นนอกจากนี้ยังมีภาษีอีกหลายตัวที่สร้างรายได้ให้ถ้องถิ่น อย่างอากรฆ่าสัตว์ ภาษีป้าย ภาษีค้าปลีกยาสูบ ภาษีค้าปลีกน้ำมัน แต่ก็ไม่ได้ทำรายได้ให้ อปท. มากนัก

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาษีโรงเรือนและที่ดิน กับภาษีบำรุงท้องที่เป็นภาษีหลักจึงอยากอธิบายถึงขอบเขตของภาษีแต่ละตัวว่าครอบคลุมส่วนใดบ้าง อย่างภาษีบำรุงท้องที่นั้นจะครอบคลุมแค่ที่ดินอย่างเดียว ส่วนภาษีโรงเรือนและที่ดินครอบคลุมในส่วนของสิ่งปลูกสร้างและที่ดิน ซึ่งสิ่งปลูกสร้างที่กล่าวถึงไม่ว่าจะเป็นอาคารพาณิชย์ที่ต้องเช่า บ้านเรือนที่อยู่อาศัยหากมีการประกอบธุรกิจก็จะต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน

สมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการการนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เล่าให้ฟังว่า ดังนั้นฐานภาษี โรงเรือนและที่ดินจะเก็บจากค่าเช่าโรงเรือน ส่วนบ้านที่อยู่อาศัยและประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์แม้ไม่ได้เช่าใครแต่ก็ต้องเสียภาษีเช่นกันจากการประเมินค่าเช่า เนื่องจากกรณีนี้ไม่มีราคากำหนดผู้เก็บภาษีจึงต้องประเมินจากค่าเช่าบริเวณพื้นที่ดังกล่าวซึ่งจะถูกหรือแพงแล้วแต่ทำเลที่ตั้งของบ้านที่ทำการเชิงพาณิชย์ด้วย

"เมื่อประเมินหรือได้ค่าเช่าแล้วก็ต้องคูณกับอัตราภาษีที่กำหนดซึ่งอยู่ที่ 12.5% มันเหมือนการเอาเปรียบคนจนที่ทำมาหากินเช้ายันค่ำ แต่กลับต้องมาเสียภาษี โรงเรือนและที่ดินในขณะที่พวกคนรวยมีบ้านราคา 5 ล้านบาทไม่ต้องเสียภาษีในส่วนนี้เลยสักบาทเพราะที่อยู่อาศัยไม่เข้าเกณฑ์ต้องเสียภาษี นี่คือความบกพร่องข้อแรกของภาษีโรงเรือนและที่ดิน"

สมชัย กล่าวต่อว่า ในส่วนภาษีบำรุงท้องที่ นี้เก็บเฉพาะที่ดินเพียงอย่างเดียว และสำหรับผู้ที่เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินก็ไม้ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ เนื่องจากภาษีที่ดินได้ถูกประเมินไปในส่วนของภาษีโรงเรือนและที่ดินแล้วจึงไม่ต้องจ่ายซ้ำซ้อน

"แต่ข้อบกพร่องของภาษีบำรุงท้องที่คือเมื่อให้อำนาจท้องถิ่นจัดเก็บเอง ทำให้เกิดช่องโหว่เพื่อการช่วยเหลือคนรวยได้ เพราะ อปท.สามารถออกบัญญัติยกเว้นการจัดเก็บภาษีหากที่ดินดังกล่าวไม่ถึงตารางวาที่กำหนดไว้ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นก็จะมีอำนาจในการกำหนดแตกต่างกันไป เช่น ที่ดินไม่เกิน 50 ตารางวาก็ไม่ต้องเสียภาษี บางถ้องถิ่นก็ให้ถึง 100-200 ตารางวา ทำให้ฐานภาษีแคบลง เมื่อแคบก็เก็บได้น้อย"

อีกทั้งการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ยังเป็นการเก็บในอัตราที่ถดถอย ซึ่งหมายความว่า ยิ่งมีที่ดินมากย่างเสียภาษีน้อย เช่น ที่ดิน 1 ไร่เสีย 5 บาท ถ้ามากกว่า 1ไร่ ก็จะเสียน้อยลง ตรงข้ามถ้ามีน้อยกว่า 1 ไร่ ก็จะเสียมากขึ้น ซึ่งอัตราภาษีในส่วนนี้มีมากกว่า 30 อัตราขึ้นอยู่กับขนาดของที่ดิน มิหนำซ้ำอัตราที่ใช้ในการประเมินที่ดินยังเก่าคร่ำครึ มาตั้งแต่สมัย 2524 ขณะที่ปัจจุบัน ราคาที่ดินแต่ละพื้นที่กลับเปลี่ยนไปเพิ่มมากไม่รู้ว่ากี่ร้อยเท่าแล้วยังจะใช้อัตราประเมินเดินที่แสนจะโบราณอีก

ถ้าจะถามว่าเหตุใดจึงต้องบัญญัติออกมาเช่นนี้ คำตอบที่ดูเหมาะสมที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องการรักษาฐานเสียงเพื่อการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้กลับเข้ามาออมอกของอปท.อีกสมัยหนึ่ง

สมชัย ย้ำว่า ภาษี โรงเรือนและที่ดิน กับภาษีบำรุงท้องที่คือข้อบกพร่อง ที่ทำให้ อปท.ไม่โตสักที ไม่ยุติธรรมเพราะเอาใจแค่คนบางกลุ่ม ดังนั้นจากการศึกษาของสศค. เห็นควรยกเลิกภาษีบำรุงท้องที่ กับภาษีโรงเรือนและที่ดิน โดยมารวมเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพราะเป็นการจัดเก็บจากทรัพย์สินที่มีอยู่จริง ไม่ใช่มาจากค่าเช่า หรือการยกเว้นอภิสิทธิ์ให้คนบางกลุ่มที่มีที่ดินไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด

ทำให้ต่อจากนี้ไปคนในท้องถิ่นหรือในท้องที่ทุกคนจะตองเสียภาษีหมด คนมีบ้านที่อยู่อาศัยไม่ประกอบธุรกิจเชิงพาณิชก็ต้องเสีย เรียกว่าเสียกันถ้วนหน้า ไม่มีการยกเว้นให้คนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด กระนั้นก็ตามอัตราภาษีที่กำหนดไว้ก็ไม่ได้สูงมาก เช่นบ้านราคา 1-2ล้านบาท ก็เสียภาษีประมาณ 200-300 บาทต่อปี ส่วนภาษีใหม่นี้จะบังคับเมื่อไรนั้นอยู่ที่ภาครัฐ ตอนนี้ก็คงได้แต่เฝ้ารอจนกว่าการเมืองจะสงบและความชัดเจนเกิดขึ้น

สมชัย เล่าอีกว่า กระนั้นก็ตาม รัฐไม่ได้เข้าไปบังคับให้แต่ละท้องถิ่นต้องเสียภาษีในอัตราที่กำหนดเป็นฐานเดียวกัน รัฐเพียงแต่กำหนดอัตราขั้นต่ำและขั้นสูงไว้เท่านั้นเพื่อให้แต่ละท้องถิ่นนำไปปรับให้เหมาสมกับพื้นที่ของตัวเอง ดังนั้นถ้าพื้นที่ไหนห่วงแต่ฐานเสียง อัตราการจัดเก็บก็ต่ำเกินและไม่เหมาะสมกับท้องถิ่นที่เจริญ

"ซึ่งหมายความว่า ถ้าจัดเก็บได้ต่ำการพัฒนาพื้นที่หรือท้องถิ่นก็ทำได้ยาก ความเจริญไม่เกิด หวังของบจากรัฐก็ใช่ว่าจะได้ง่าย ๆ เพราะรัฐเองก็ต้องใช้งบเพื่อนำไปพัฒนาประเทศ และเชื่อว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งคนในท้องถิ่นที่เสียภาษีทุกคนไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงหรือพื้นที่ได้รับการพัฒนา ความสนใจในสิทธิประโยชน์ของตนในฐานะผู้เสียภาษีย่อยเกิดขึ้น นั่นหมายถึงประชาชนจะให้ความใส่ใจในการบริหารของอปท.มากขึ้น"

สมชัย ถึงกับกล่าวว่า "การที่คนในท้องที่ไม่สนใจการบริหารงานของ อปท. เพราะไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวดเพราะพวกเขาเหล่านี้ไม่ได้เสียภาษีให้อปท. แต่เมื่อต้องเสียเสียภาษีให้แล้ว ความเจ็บปวดจะเกิดขึ้น เพราะถ้า อปท.ไม่ได้ทำอะไรให้กับท้องถิ่นตนเองความน่าสงสัยเคลือบแคลงใจว่าภาษีที่จ่ายไปนั้นตกหล่นอยู่ที่ไหน นำไปใช้อะไร ทำให้มีการตรวจสอบและเกิดความโปร่งใส และใสใจกับการจัดทำงบประมาณส่วนท้องถิ่น"

ที่สำคัญเหมือนเป็นการสนับสนุนให้เกิดประชาธิปไตยขึ้นในท้องถิ่นให้คนในพื้นที่สนใจการเมืองมากระดับท้องถิ่นมากขึ้น ขณะเดียวกันเงินที่เก็บไปหากประชาชนไม่เห็นการพัฒนา ผลที่เกิดสะท้อนกลับไปสู่ผู้ลงเลือกตั้ง อปท. ซึ่งหมายถึงถ้าทำดีก็ได้เข้ามาบริหารต่อ แต่ถ้าไม่พัฒนาเลยเก็บเงินไปก็ไม่เห็นผลงาน เสียงของประชาชนที่สนับสนุนย่อมน้อยลง

อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่ารัฐจะไม่ให้ความช่วยเหลือท้องถิ่นอีกเลย เนื่องจากในแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกันบางพื้นที่ยังต้องการความช่วยเหลือจากรัฐเนื่องจากเป็นท้องถิ่นที่ยังไม่เจริญ แต่อย่าง กรุงเทพฯ หรือเทศบาลเชียงใหม่ ในส่วนนี้ควรจะเก็บภาษีและดูแลตัวเองได้โดยพึ่งงบของรัฐให้น้อย

การปรับโครงสร้างภาษีให้องค์กรปกครองท้องถิ่นจัดเก็บภาษีได้มากขึ้นไม่เพียงแค่ลดภาระภาครัฐเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการกระจายอำนาจของภาครัฐไม่สู่ชุมชนและท้องถิ่น เพื่อให้แต่ละพื้นที่ได้มีโอกาสพัฒนาท้องที่ของตัวเองด้วยการสร้างโครงการดี ๆ โดยไม่ต้องนั่งรอเงินจากรัฐป้อน

สมชัย เล่าเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนถึงการจัดเก็บภาษีในส่วนของอปท.ว่า ถ้าเทียบการจัดเก็บ 100% อปท.สามารถจัดเก็บภาษีท้องถิ่นได้เพียง 10% เท่านั้น ที่เหลือ 90% เป็นเงินที่จัดสรรมาจากงบประมาณของภาครัฐทั้งนั้น และยังมีในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ที่เก็บในอัตรา 7% โดย 0.7% ต้องแบ่งให้ อปท.

ตามกฎหมายนั้นเงินที่ต้องจัดสรรลงท้องถิ่นอจะอยู่ในสัดส่วน 35% แต่ทังหมดไม่ได้มาจากงบประมาณเพียงอย่างเดียว กระนั้นก็ตามโดยเฉลี่ยที่รัฐต้องจ่ายอุดหนุนงบประมาณให้แต่ละปีสูงถึง 80,000 -100,000 ล้านบาท ยัไม่รวมภาษีVAT ที่แบ่งให้ 0.7% ด้วยซ้ำ

จึงไม่อาจปฏิเสธถึงความบกพร่องและการขาดประสิทธิภาพของ อปท. ต่อการจัดเก็บภาษี จนทำให้รัฐต้องเข้ามารับผิดชอบดูแลและจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งให้ ซึ่งถ้าเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาแล้ว ภาษีท้องถิ่นสามารถจัดเก็บได้สูงถึง 90% อย่างนิวซีแลนด์ หรือแม้แต่ประเทศเพื่อบ้านที่กำลังพัฒนาอย่างมาเลเซีย บทบาท อปท. ก็มีมากกว่าประเทศไทยด้วยซ้ำ และถ้า อปท.ทำได้มากขนาดนั้นก็เป็นการลดภาระของภาครัฐในการจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งลงท้องถิ่น และได้นำงบประมาณไปใช้ในส่วนอื่นที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

อย่างไรก็ตามคงมีภาษีอีกหลายตัวที่ต้องปรับใหม่ เพื่อให้ อปท.สามารถยืนอยู่ด้วยขาของตัวเอง โดยพึ่งเงินงยประมาณจากภาครัฐน้อยที่สุด

ช่องโหว่ของ อปท.ที่ถูกที่ให้สิทธิประโยชน์คนบางกลุ่ม และการจัดเก็บภาษีที่ขาดประสิทธิภาพกำลังถูกปิดด้วยโครงสร้างภาษีตัวใหม่ "ภาษีทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้าง"จะเพิ่มความเท่าเทียมให้คนในท้องถิ่นต้องเสียภาษีกันถ้วนหน้าไม่ยกเว้นใคร แต่กระนั้นก็ตามแม้ช่วงโหว่จะถูกปิดแล้วแต่ก็ยังไม่มิด ด้วยอัตราภาษีที่ไม่ได้กำหนดตายตัวให้ทุกท้องถิ่นต้องจ่ายเท่ากันหมด อาจยังสร้างผลกระโยชน์ให้กับคนบางกลุ่มได้อยู่

เพราะรัฐกำหนดอัตราภาษีมาแค่ขั้นต่ำสุดและสูงสุดเท่านั้นไม่ได้กำหนดอัตราเดียว ทำให้อปท.มีอำนาจในการกำหนดว่า อัตราภาษีทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้าง ที่นำมาใช้ในแต่ละท้องถิ่นจะใช้ที่ระดับไหน จะต่ำหรือสูงขึ้นอยู่ที่ความพอใจ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.