|
ปั่นจักรยาน 'We PCT' วันนี้ไปขี่มอไซค์ 'True Move' วันหน้า
ผู้จัดการรายสัปดาห์(3 มีนาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
- เจาะกลยุทธ์การตลาดแบบเลี้ยงต้อย เล็กๆ หาเงินยังไม่ได้ให้ใช้ 'We PCT' เติบโตเป็น white collar แล้วไซร้ค่อยไป 'True Move'
- การเปลี่ยนแปลงของ True Move นำไปสู่การปรับตัวระลอกใหม่ จาก We PCT สู่สถานะ First Phone อุปกรณ์กดปุ่มเครื่องแรกในชีวิตเมื่อคิดจะสื่อสาร
- ถอดวิธีคิดสินค้ามวลชนสู่สินค้าขายตรงเฉพาะกลุ่ม เมื่อริจับวัยจ๊าบก็ต้องสร้าง new story แบบคิขุ สไตล์ญี่ปุ่น เกาหลีมาเป็นใบเบิกทาง
- "ทุกโอกาสมีปัญหา ทุกปัญหามีโอกาส" กรณีศึกษาวี พีซีที ทำอย่างไรเราถึงจะอยู่ยั้งยืนยง?
"วี พีซีที" ประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ หลังฉีกตัวออกจากตลาดมือถือ กลยุทธ์การเน้นสร้างชุมชนคนก๊วนเดียวกัน ทำให้สินค้าตัวนี้สามารถผ่าทางตันจากการฝังตัวอยู่ในตลาดมือถือ มาเป็นอุปกรณ์สื่อสารที่เปรียบเสมือนเพื่อนสนิท และขวัญใจเด็กมัธยม
การเปลี่ยนแปลงของ "ทีเอ ออร์เรนจ์" มาเป็น "ทรู มูฟ" ในฐานะของบริษัทลูกในเครืออย่างวี พีซีที อีกไม่นานเกินรอนับจากนี้ วี พีซีทีก็จำต้อง rebranding (สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับยี่ห้อสินค้า) ตัวเอง ให้เคลื่อนตัวไปในทิศทางที่สอดคล้องกับบริษัทแม่
และหนึ่งในภารกิจที่สำคัญก็คือ การส่งมอบฐานลูกค้าตัวกะเปี๊ยกเข้าสู่ loop ของทรู มูฟในยามที่เติบโตขึ้น รอยต่อจากนี้ไปจึงเป็นก้าวสำคัญของวี พีซีที ในการเปิดเกมรุกตลาดสินค้าเด็กเต็มตัว
ซื้อจักรยานวี พีซีที แถมมอไซค์ทรู มูฟ
สหรัฐส์ คนองศิลป์ รองผู้อำนวยการ หัวหน้าสายงาน Commercial Management บริษัท เอเซียไวร์เลส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (AWC) ผู้ให้บริการ "วี พีซีที" เปรียบเปรยให้ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ฟังว่า วันนี้กลุ่มเป้าหมายเด็กออกจากบ้านก็ขี่จักรยานยี่ห้อพีซีที พอโตขึ้นบริษัทก็จะส่งมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อ true move มาให้โดยที่ลูกค้าไม่ต้องทำอะไรเลย
"ตอนเด็กใช้งานบนโครงข่ายพีซีที พอโตขึ้นมาก็เปลี่ยนเทคโนโลยีเป็นมือถือซึ่งเป็นธุรกิจในเครือ ด้วยมุมมองแบบนี้เด็กจะไม่ไปซื้อเอไอเอส เด็กจะไม่ไปซื้อดีแทค เราพยายามจะสร้างให้เด็กเสียดายเบอร์ ไม่อยากเปลี่ยนเบอร์ วี พีซีทีเราเสียตรงที่เราทำคุณภาพให้ไปตอบเสียงส่วนใหญ่ไม่ได้ แต่เราสามารถตอบสนองต่อกลุ่มเด็กได้"
ณ วันนี้วี พีซีทีไปได้ด้วยระดับที่เลี้ยงตัวเองไหว แต่ไม่ได้ฟู่ฟ่าสร้างผลกำไรนับพันล้านบาท เขาบอกว่าทุกอย่างที่ทำตอนนี้คือ เอาเงินลงทุนคืนให้กับเครือ ภารกิจถัดต่อมาคือ ลงทุนสร้างฐานลูกค้าให้กับทรู มูฟในอนาคต สร้างกลยุทธ์ในเรื่องของ corporate strategy หรือการบริหารจัดการแบรนด์ "เราจะเป็นขวัญใจของกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพจะไปใช้บริการทรู มูฟได้ในอนาคต"
ก่อนหน้านี้วี พีซีทีเคยใช้หลายแนวคิด ที่จะทำให้สินค้านี้ยืนอยู่ได้ในจุดที่มั่นคง เช่นการใช้เครือข่ายของออร์เรนจ์ (ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อมาเป็นทรู มูฟ) มารองรับการทำงานของวี พีซีที แต่เสียงส่วนใหญ่มองว่าไม่คุ้มค่าใช้จ่ายเพราะเก็บค่าบริการไม่เท่ากัน
"ทำไมต้องเอาเครือข่ายมารองรับด้วย เมื่อเก็บเงินไม่เท่ากัน ตอนนี้คุยง่ายขึ้นเพราะเป็นของเราหมดแล้ว ถ้าขายค่าบริการเป็นออเรนจ์ได้เงินเป็นนาที ขายเป็นวี พีซีที ได้เงินแค่ 3 บาท ถ้าขายทั้งสองข้าง ก็จะได้เงินลูกค้าแค่เพียงคนเดียว ทำให้แนวคิดนี้ถูกยกเลิกไปในยุคของการร่วมทุน"
ขณะที่แนวคิดของการพัฒนาวี พีซีทีให้เป็นไฟต์ติ้งแบรนด์ ก็ทำได้ไม่ง่ายเหมือนสินค้าอุปโภคบริโภค และจะทำให้วี พีซีทีหมดคุณค่าในตัวเองไปทันที การถอยกลับมาตั้งหลักแล้วมองตลาดเด็กซึ่งไม่ค่อยมีธุระปะปังไปไหน จะเป็นการสร้างฐานที่มั่นที่แข็งแรงได้มากกว่า "ผมลงทุนในกรุงเทพฯแล้วได้เงินเต็มที่ ขณะที่มือถือลงทุนทั่วประเทศแล้วต้องแข่งกัน"
อนาคตวี พีซีที เปลี่ยนชื่อใหม่ "First Phone"
ปี 2547 บริษัทเปลี่ยนตำแหน่งทางการตลาด (repositioning) จากพีซีทีมาเป็นวี พีซีที จับกลุ่มเป้าหมายชุมชนที่มีไลฟ์สไตล์เดียวกัน โดยไม่จำกัดขนาดของกลุ่ม ด้วยการเอาโปรโมชั่นโทรฟรีเครือข่ายเดียวกันมาเป็นตัวสร้างแรงจูงใจ ทำให้สามารถดีดฐานลูกค้าจาก 4.4 แสนรายมาเป็น 4.7 แสนรายในปลายปี 2548
พอต้นปี 2549 วี พีซีทีก็พยายามประกาศตัวเองให้ชัดขึ้นอีกนิดว่า ต้องการเป็นสินค้าสำหรับเด็ก กอดคอกันแหววกับกลุ่มเป้าหมายเด็กในฐานะเพื่อนพี่ร่วมแก๊งค์เดียวกัน ในปลายปีนี้ก็เร่งเดินเกมกลยุทธ์ให้ชัดขึ้นไปอีก ด้วยการเปลี่ยนชื่อจากวี พีซีที มาเป็นชื่อที่สะท้อนถึงความเป็น First Phone อุปกรณ์สื่อสารเครื่องแรกในชีวิต
"ทางเลือกของการ repositioning จากพีซีทีเป็นวี พีซีที แต่คนยังจำได้ว่าเป็นพีซีที จากนี้ไปก็ต้องเปลี่ยนชื่อใหม่ไปเลย เพื่อสร้างเรื่องใหม่ (new story) ซึ่งการที่เราสร้างเรื่องใหม่ต้องทำทั้งกระบวนการ ตัวเครื่องต้องดีไซน์ใหม่ สร้างภาพลักษณ์ใหม่ ความรู้สึกใหม่ สร้างบนวี พีซีทีเลยมันไม่คุ้ม ต้องปรักลยุทธ์จาก mass marketing (การตลาดสินค้ามวลชน) มาเป็น direct marketing (การตลาดสินค้าเฉพาะกลุ่ม) อาจจะลุยกันเป็นโรงเรียนเลย เป็น handset ไล่กันไปแต่ละสถาบัน"
ทุกวันนี้วี พีซีทียังให้ภาพลักษณ์สินค้าสำหรับคนทั่วไป ซึ่งการสร้างแบรนด์เข้าไปในกลุ่มเด็ก จะใช้แบรนด์เหมือนกับผู้ใหญ่ไม่ได้ สหรัฐส์ยกตัวอย่างว่า แม้แต่เด็กผู้หญิงเวลาซื้อชั้นในยังต้องมี first bra เลย ไหนๆ วี พีซีทีต้องสร้างแบรนด์จับตลาดเด็กวัยกิ๊กอยู่แล้ว ก็จำต้องแต่งองค์ทรงเครื่องให้เด็กเลิกร้องยี้
"เวลาพูดถึงวี พีซีทีเด็กบางคนยังร้องยี้เลย เพราะมันเป็นชื่อเก่า ถ้าเราตั้งหลักก่อนต้องทำให้ผู้ใหญ่ในเครือเห็นว่า จากที่เราเคยตก ถ้าคงรายได้ให้เท่ากัน 2 ปี เขาก็จะกลับมาเชื่อเราว่าอยู่ได้จริงๆ ไม่โม้ ปีนี้ขอดูอีกปีถ้าผลประกอบการถ้าทำได้ 1.8 พันล้านบาท ปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าเปลี่ยนชื่อเลย
คอนเซ็ปต์ก็ประมาณ kid phone อะไรแบบนี้ พอเราทำแบรนด์ใหม่ก็จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่หมด ตัวเครื่อง ดีไซน์ถ้าไม่ญี่ปุ่นก็เกาหลี สองแนวนี้สำหรับจับเด็ก ถ้าเราทำให้เด็กรู้สึกว่าเขามีแบรนด์ของเขา มีร้านบริการของเขาเอง มีอะไรเป็นของเขาเอง ผมว่าไปได้ อยู่ได้นานสุดของวี พีซีทีต้องเท่าอายุของโครงข่าย 15 ปี และอาจจะต่อยอดไปพัฒนากับเทคโนโลยีตัวอื่นได้ อย่างไวไฟก็มองว่าน่าจะไปด้วยกันได้ดี"
เขาบอกว่า ณ วันที่ทรู มูฟขยับตัว ถ้าวี พีซีทีไม่ขยับตาม ผลกระทบย่อมเกิดกับชาวเราพีซีทีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะกลุ่มเป้าหมายแรกที่ยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงก็คือ พ่อแม่ที่ต้องควักกระเป๋าจ่าย เมื่อทรู มูฟคิดค่าบริการในอัตราที่ใกล้เคียงกับวี พีซีที ไหนๆ ก็ต้องเสียเดือนละ 3 ร้อยบาทอยู่แล้ว การรับรู้ของกลุ่มเป้าหมายก็จะสวิสช์โดยอัตโนมัติ
แต่ถ้าวี พีซีที ประกาศจุดยืนเด่นชัดว่า เป็นมือถือหรืออุปกรณ์สื่อสารเครื่องแรกสำหรับเด็กเล็ก และเป็นอีกทางเลือกที่ดูดี น่าสนใจ และปลอดภัยมากกว่าเมื่อเทียบกับมือถือ การสร้างการยอมรับแบบแข็งแรงแน่นหนาก็จะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก
"หลักการทำตลาดของวีพีซีที ถือว่ายังแข็งแรงและมีแกนยึดเหนียวแน่น วันนี้ตัวเครื่องของเราดูดีกว่า หลักยืนของเรายังปึ๊กกว่า เราพยายามจะสร้างคุณค่าให้กับบริการ โดยการที่ rebranding อาจจะเป็นหนึ่งในโซลูชั่นส์ ที่ทำให้เรามุ่งไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงขึ้น"
ย้อนความสำเร็จ WE ต่อไอเดีย "ทรังค์ โมบาย"
3 ปีที่แล้วสหรัฐส์พยายามพลิกสถานการณ์ย่ำแย่ของพีซีที ที่ใกล้จะถึงกาลอวสานแบบเดียวกับเพจเจอร์ ด้วยการสื่อสารกับทีมงานและผู้บริหารระดับสูงว่า ในเมื่อทุกปัญหายังมีโอกาส และมีสินค้าหลายตัวที่ด้อยกว่าพีซีทีตั้งเยอะ ทำไมกลับยังได้รับความนิยมและใช้กันอย่างแพร่หลาย
อย่างเช่น ทรังค์โมบายหรือวิทยุแบบสื่อสารทางเดียวของบรรดาแท็กซี่ที่ใช้เรียกผ่านศูนย์ หรือวิทยุสมัครเล่นก็ยังมีคนแห่กันไปสมัครกับกรมไปรษณีย์ไม่ว่างเว้นแต่ละปี นั่นหมายความว่า ทุกสินค้าถ้าสามารถวางจุดยืนทางการตลาดให้คนเข้าใจ มีเอกลักษณ์ มีจุดขาย ก็จะมีตลาดเกิดขึ้นได้ด้วยตัวของมันเอง
"คนใช้ walky talky เพื่ออะไร? เพราะเขาไม่อยากเสียค่าโทร ถ้าใช้ในวงแคบๆ วิทยุสมัครเล่นก็เหมือนกัน เครือข่ายมือถืออาจจะไม่เหมาะกับการที่เราจะสื่อสารกับคนมากๆ แต่ถ้าใช้ walky talky พูดทีนึงคนฟังเป็นแสนคน จริงๆ แล้วถ้าเราดัน core value ของการให้บริการออกมาขาย แล้วทำให้มีจุดยืนที่ชัดเจนน่าจะเป็นจุดที่ทำให้คนมองพีซีทีแตกต่างจากการมองโทรศัพท์มือถือ แล้วอะไรล่ะ? ทำให้พีซีทีมีจุดขายที่ไม่เหมือนกับโทรศัพท์มือถือ
จุดหนึ่งที่เราเริ่มมองก็คือ โครงข่ายพีซีทีเราติดตั้งลูกข่ายไปเยอะแยะเลย เราก็มีช่องสัญญาณในอากาศเป็นจำนวนมาก เราพยายามที่จะทำให้รองรับลูกค้าได้ 1 ล้านคน แต่ ณ วันที่เราพูดถึง เรามีลูกค้าอยู่ 4 แสนกว่าคน เราพบว่าเรายังมีช่องสัญญาณในอากาศเหลือมากมายเต็มไปหมด
เหมือนถนนที่ยังไม่มีรถไปวิ่ง ถ้าทางด่วนยังมีที่ว่างๆ แต่ไม่มีรถไปวิ่ง แล้วยังเก็บค่าทางด่วนแพงๆ รถอย่างไรก็ไม่ขึ้น ก็เลยเริ่มคิดว่า ถ้าอย่างนั้นลูกค้าเคยจ่ายอยู่เท่าไหร่? เราบอกไปเลยว่า คุณสามารถโทรคุยกันในเครือข่ายพีซีทีฟรีเลย เพื่อให้เห็นว่าพีซีทีไม่ใช่มือถือ และคุณอาจจะเรียกมันว่าเป็นอุปกรณ์สื่อสารภายในกลุ่มของคุณเอง"
วี พีซีทีพยายามก๊อปปี้ทรังค์โมบายในแง่ของ marketing idea ว่า ในตลาดโทรศัพท์ที่เป็น walky talky ทำไมยังอยู่ได้ แม้ว่าโทรศัพท์มือถือเข้ามาทดแทนเทคโนโลยีประเภทนี้ไปเรียบร้อยโรงเรียนจีนแล้ว แสดงว่าถ้าเป็นสินค้าที่มีจุดขายของตัวเอง และเริ่มจากกลุ่มที่มีความต้องการใช้ค่อยๆ ขยายตัวขึ้น น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีกว่าที่จะทำเป็น mass marketing หรือการตลาดมวลชน ด้วยการไปยัดเยียดพีซีทีให้กับใครก็ไม่รู้ พอไปใช้แล้วกลับไม่ใช่อย่างที่ลูกค้าต้องการ
"พอไม่ใช่ปุ๊ป ลูกค้าก็จะยกเลิก เกิดความไม่ประทับใจแล้วเวลาเจอใครก็จะบอกต่อ อย่าไปใช้เลยไม่ดี เวลาวี พีซีทีจะทำตลาดจึงเริ่มจากกลุ่มเล็กๆ ก่อน สามารถขยายๆ จนเกิดเป็นความรู้สึกว่าวี พีซีทีสามารถมีตลาดของตัวเองได้หนึ่งตลาด
เราจึงเปลี่ยนเป้าหมายธุรกิจว่า แทนที่เราจะดันลูกค้าไปให้ถึง 1 ล้านคน เราน่าจะมีความสามารถที่จะสร้างฐานลูกค้าอยู่ที่ 5 แสนราย น่าจะเป็นตัวเลขที่พอดีกับวี พีซีที จากวี พีซีทีที่เป็นสินค้าทั่วไปจึงแปลงสภาพเป็น community phone concept คือกลุ่มคนไม่จำกัดขนาด ถ้าหยิบวี พีซีทีโทรหากันฟรีเลย เราใช้เทคโนโลยีของเราโทรหากันในกลุ่มได้ฟรีเลย
พอเราเริ่มวางคอนเซ็ปต์ตรงนี้เราก็ดูกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก เราคิดว่าถ้าวางกลุ่มเป้าหมายไว้ที่ผู้ใหญ่ น่าจะเป็นจุดอ่อนของการให้บริการวี พีซีที เพราะว่าผู้ใหญ่เวลาใช้โทรศัพท์จะมีความต้องการจากการใช้สูงกว่ากลุ่มเด็ก"
ถึงวันนี้ความพยายามของวี พีซีทีกำลังออกดอกผล จากการปักธงความคิดที่ true ตั้งแต่แรก เรื่องของ false ก็เลยห่างไกล มีแต่เรื่องชิดใกล้ของวี พีซีทีกับเด็กๆ เข้ามาแทนที่...
วี พีซีที : We'll survivor
"วี พีซีทีเริ่มเปลี่ยนชื่อในช่วงปลายปี 2547 จากที่ฐานลูกค้าเริ่มลดลง ทยอยออกไปเรื่อยๆ เห็นกราฟเริ่มตก เราจึงปรับจุดยืนใหม่ โทรหากันฟรี ทุกบาทที่จ่ายไปคือโทรออกหามือถือ พอเสนอแนวคิดนี้ออกไป ปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดีเกินคาด เกิดคอนเซ็ปต์ว่าลูกค้าเดิมที่ใช้ไม่คิดยกเลิก ยังมีคนเดินมายกเลิกอยู่ แต่บางส่วนเริ่มเปลี่ยนแนวคิดว่า ถ้าไม่ใช้เองเปลี่ยนให้ลูกหลานที่บ้านใช้ดีกว่า เพราะรูปแบบนี้เหมาะสำหรับเด็ก ทำให้ผู้ปกครองประหยัด
เราเริ่มทำการตลาดเชิงกลยุทธ์ไปที่กลุ่มเด็ก ให้เด็กรู้สึกว่าการใช้วี พีซีทีก็ไม่ได้น่าอับอาย เด็กโตมาอยากได้มือถือ พีซีทีไม่เอา แต่พอใช้บอกต่อกันว่าคุยกันทั้งคืนไม่เสียตังค์ ไม่เหมือนเติมเงินเดี๋ยวก็หมด เวลาฮิตอะไรเด็กจะลืมเหตุและผล เกิดเป็นฟีเวอร์ เรามองว่าถ้ามีความจำเป็นต้องสื่อสารกับครอบครัวและเพื่อน วี พีซีทีเป็นหนึ่งทางเลือกที่ทำให้พ่อแม่สบายใจ
เริ่มสอนให้เด็กโต กว่าเด็กจะขับรถได้ต้องขี่จักรยานก่อน ไม่มีใครโตมาแล้วขี่มอเตอร์ไซด์เลย แต่ต้องพัฒนาไปตั้งแต่การคลาน เดิน แล้วก็วิ่ง เราพยายามก๊อปปี้คอนเซ็ปต์นี้ ถ้าพูดกับพ่อแม่เราจะพูดความจำเป็นที่น่าจะต้องพิจารณา คือเรื่องของคลื่นกำลังส่งต่ำ
อย่างไรก็ดี ยังมีข้อจำกัดเรื่องคลื่นขาดๆ หายๆ แต่เด็กให้ความสำคัญกับจุดนี้น้อยกว่าผู้ใหญ่ ก่อนหน้านี้ เสียงบ่นว่าสัญญาณไม่ดีออกมาเยอะ เพราะเราได้กลุ่มลูกค้าที่เป็นเคลื่อนที่ เดิมรูปแบบปัญหาบอกว่าโทรไม่ดี แต่ตอนนี้บอกว่าอยากโทรแต่โทรออกไม่ได้ แสดงว่าลูกค้าเริ่มรับได้และเริ่มมีความต้องการใช้พีซีทีมากขึ้น
มองว่าเป็น happy problem ถ้าลูกค้ายังอยากได้แต่โทรออกไม่ได้ ดีกว่าบอกว่าเลิกใช้แล้วต่อให้โทรออกได้ก็ไม่ใช้แล้ว ยิ่งเป็นปัญหาอีก และพอเราไปจับกลุ่มเด็กนักเรียนมัธยม ถือเป็นกลุ่มเฉพาะตัว การดูแลเครือข่ายจะง่ายกว่าลูกค้าที่คละกัน
วันนี้เราจำเป็นต้องเลือกกลุ่มลูกค้า ถ้าเราต้องการโตแบบ mass แปลว่าต้องใช้เงินเพิ่มมาทำเครือข่ายที่ดี แต่พอทำให้ดีดีอย่างไรก็คงไม่เท่ากับมือถือ พีซีทีวันนี้มันตายด้วยเรื่องคุณภาพการให้บริการ เป็นด้วยนโยบายธุรกิจด้วย เทคโนโลยีพีเอสเอชด้วย เราไปเลือกค่ายที่เน้นขายมือถือเมื่อพัฒนาไประดับหนึ่งแล้วคิดว่าไม่คุ้มเขาหยุดเลย แล้วเราไปซื้อมา
ฉะนั้นการปรับเปลี่ยนของอีกค่ายหนึ่งเท่ากับเราต้องปิดแล้วซื้อใหม่ ญี่ปุ่นมีอีกค่ายพัฒนาอย่างดี เรามองว่าถ้าเราจะไปกลุ่มลูกค้าแบบกว้างให้ได้ดีต้องลงทุนใหม่ คำถามคือของเก่ายังไม่คืนทุนเลยจะเอาอีกเหรอ? เราเลยหยุดและเริ่มใช้หลักของการตลาดบอกว่า ถ้าวันนี้เราไม่เน้นลูกค้าแบบกว้างแล้วหันมาเลือกเฉพาะกลุ่ม เราอาจจะไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเครือข่าย ถ้าเราเลือกกลุ่มขึ้นมามีโอกาสเหมือนกันที่เราจะโตขึ้น แข็งแรงขึ้น คืนทุนได้
เราเน้นสื่อสารตรงไปตรงมา เวลาลูกค้าถาม ก็ตอบว่าอาจจะใช้ได้ไม่ดีหรอกครับ แต่ก็อาจจะมีบางที่ ลูกค้าส่วนหนึ่งเสียความรู้สึกไปแล้ว เราไม่อยากให้เขาเสียความรู้สึกซ้ำสองซ้ำสาม สู้เริ่มจากฐานเด็กแล้วค่อยขยายตัว แล้วให้ลูกค้าบางส่วนกลับมา สิ่งสำคัญคือเรารู้แล้วว่าวันนี้เราทำได้ดี
เราพยายามจะคงที่ เพราะเราพ้นช่วงแนะนำ ผ่านช่วงโตไปแล้ว ผ่านการตกต่ำ เราเชื่อว่าตอนนี้เราอยู่ตัว เริ่มทิ้งตัว ถ้าไปผิดทิศทางจะหายไปเลย เราไม่ไปโตตลาดเดิม เราพยายามอยู่ให้คงที่
เราไม่กลัว 3จี เพราะถ้าความต้องการใช้ของคนไม่เปลี่ยน ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเครื่อง ต้นทุนเครื่อง 3จี 8 หมื่นบาท เอามาทำอะไร พูดฮัลโหลๆ แล้วส่ง sms เหมือนเดิม เครื่องเก่าก็ทำได้ ผมมองว่ายังไม่ถึงขนาดที่ทุกคนต้องถือโน้ตบุ๊คแล้วเล่นอินเตอร์เน็ต ผมไม่เชื่อว่าชีวิตคนส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น
วี พีซีทีมีรายได้เดือนละ 150 ล้านบาท ไม่มีเหตุผลที่จะต้องปิดกิจการ เราเหมือนเครื่องเล่นวีซีดี ต่อให้เคเอฟซีขายดี หมูเกาหลีก็ยังขายได้ เพราะคนละตลาดกัน เพียงแต่ว่าปริมาณลดลง เซเว่นฯ โตไม่รู้กี่พันสาขา ร้านโชว์ห่วยก็อยู่ได้แต่ลดขนาดลง เราเชื่อว่าถ้าไม่มีใครสั่งยกเลิก อย่างไรก็ไม่ตาย เพียงแต่ว่าถ้าไม่ปรับตัวหาตลาด ไอ้ที่มันเล็กลง ลดลง อาจจะไม่พอที่จะไปเลี้ยงพนักงาน
วันนี้เวลาคิดถึงวี พีซีที คนจะนึกถึงโทรครั้งละ 3 บาท ตอนนี้จะเริ่มนึกถึงคุณค่าคุ้มค่าเงิน แล้วอะไรอีก? โทรในกลุ่มไม่จำกัด พอโทรหากันฟรีถือว่าสุดสุดแล้ว เพราะไม่มีสินค้าตัวไหนให้ได้มากขนาดนี้อีก"
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|