จัดสรรหนีภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ปี48ระดมทุนผ่านหุ้นกู้กว่า2หมื่นล.


ผู้จัดการรายวัน(31 มีนาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ศูนย์ข้อมูลฯชี้แนวโน้มบริษัทอสังหาฯในตลาดหลักทรัพย์ฯหันระดมทุนผ่านหุ้นกู้ หลังแนวโน้มขาขึ้นเริ่มชัดเจน ระบุปี 48 ดูดเงินในระบบไปแล้ว 22,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 50% จับตายอดปล่อยกู้บุคคลทั่วประเทศ ลดลง5.3% คาดแนวโน้มสินเชื่อขยายตัวลดลง ชี้ทาวน์เฮาส์มีการออกใบอนุญาตนำโด่งถึง 20,000 หน่วย

นายพงษ์ศักดิ์ ชิวชรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงผลการจัดเก็บข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ปี 2548 พบว่า ยังคงขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวเล็กน้อย โดยการออกใบอนุญาตจัดสรรในเขตกทม.-ปริมณฑล เพิ่มขึ้นกว่า 12.5% ขณะเดียวกันบ้านใหม่สร้างเสร็จจดทะเบียนขยายตัว 4.4% โดยประเภททาวน์เฮาส์มีจำนวนสูงสุด คือ 20,336 หน่วย ขณะที่การออกใบอนุญาตก่อสร้างทาวน์เฮาส์ในปี 47 มีจำนวน 15,991 หน่วย สำหรับบ้านเดี่ยวมีการออกใบอนุญาตทั้งสิ้น 17, 822 หน่วย เทียบกับปี 47 มีจำนวน 17,719 หน่วย

โดยหากแบ่งโครงการที่ได้รับใบอนุญาตจัดสรรที่ดิน ตามทำเลที่ตั้งโครงการ พบว่า ในพื้นที่เฉพาะกทม.มีจำนวน 18,433 หน่วย จาก 161 โครงการ พื้นที่ปริมณฑลได้รับใบอนุญาต 27,866 หน่วย จาก 147 โครงการ

สำหรับจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในรอบปีที่ผ่านมา มีจำนวนหน่วยเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับจำนวนหน่วยที่ได้รับใบอนุญาตจัดสรร คือ 72,072 หน่วย ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2547 ที่มีจำนวน 69,050 หน่วย ในจำนวนนี้ประกอบด้วยที่อยู่อาศัยสร้างโดยผู้ประกอบการ 35,935 หน่วย ประชาชนสร้างเอง 25,244 หน่วย และอาคารชุด 10,893 หน่วย โดยที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จเป็นบ้านเดี่ยว 46,643 หน่วย เพิ่มขึ้น 5.4% ทาวน์เฮาส์และอาคารพาณิชย์ 13,858 หน่วย ลดลง 10% อาคารชุด 10,893 หน่วย ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 29% และบ้านแฝด 678 หน่วย ลดลง 28.3%

ทั้งนี้ ผลการสำรวจระบุว่า อาคารที่อยู่อาศัยแนวราบมีการออกใบอนุญาตก่อสร้างใน 30 จังหวัดยุทธศาสตร์ รวม 196,303 หน่วย ลดลง 9.7% โดยเขตกทม.-ปริมณฑลลดลงมากที่สุดถึง 33% รองลงมาคือภาคเหนือ ลดลง 10%

การออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยประเภทอาคารสูงใน 30 จังหวัดยุทธศาสตร์ รวม 3,131 อาคาร เพิ่มขึ้น 69% แต่มีพื้นที่ก่อสร้าง 3.903 ล้านตร.ม.ลดลง 38% โดยกทม.-ปริมณฑลลดลงมากที่สุด (พิจารณาตารางประกอบ)

อสังหาฯระดมเงินผ่านหุ้นกู้คาดหนีภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า จากข้อมูลด้านอุปทานหรือจำนวนการก่อสร้างอสังหาฯแต่ละประเภทแล้วความเคลื่อนไหวด้านสินเชื่อผู้ประกอบการปล่อยใหม่ทั่วประเทศในรอบปี 2548 ยังสะท้อนภาพการเคลื่อนไหวการลงทุนในธุรกิจอสังหาฯได้อีกเช่นกัน โดยในปี48 มีการปล่อยสินเชื่อผู้ประกอบการปล่อยใหม่ไปแล้ว 28,587 ล้านบาท ลดลงถึง 38% เมื่อเทียบกับปี 2547 แต่มีการระดมทุนโดยออกหุ้นกู้เป็นตลาดหลักทรัพย์ฯอีก 22,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51% จากปี47 นอกจากนี้ยังเป็นการออกหุ้นกู้ เพื่อพัฒนาโรงแรมอีก 3,540 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 136%

ส่วนสินเชื่อผู้ประกอบการคงค้าง ณ ปี48 มีจำนวนทั้งสิ้น 194,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้น0.4% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปี47 ซึ่งมียอดสินเชื่อคงค้าง 193,839 ล้านบาท

ทั้งนี้ พิจารณาจากมูลค่าสินเชื่อบุคคลทั่วไปปล่อยใหม่ทั่วประเทศ ยอดโดยรวมมีจำนวนทั้งสิ้น 278,828 ล้านบาท ลดลง 5.3% ซึ่งมีการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปปล่อยใหม่ทั่วประเทศ 294,403 ล้านบาท

วอนเอกชนส่งร่วมมือส่งข้อมูล

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวถึงผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาว่า สามารถจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยได้ครอบคลุม 5 ดัชนีหลัก ในขณะข้อมูลด้านอุปทานอสังหาริมทรัพย์ทำได้ถึง 5 ประเภท ประกอบด้วย ที่อยู่อาศัย ,อาคารสำนักงาน ,อาคารเพื่อการพาณิชย์ ,โรงแรม และอาคารเพื่อการอุตสาหกรรมและโรงงาน โดยครอบคลุมพื้นที่ 30 จังหวัด เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 17 จังหวัดยุทธศาสตร์

" เนื่องจากการจัดทำดัชนีอสังหาฯด้านอุปสงค์ ยังขาดความสมบูรณ์ในส่วนของยอดขายและจำนวนหน่วยที่เริ่มก่อสร้าง ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจัดส่งข้อมูลจากภาคเอกชนซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร "

อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์ข้อมูลฯ ได้แก้ปัญหาโดยดำเนินการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยในเขต กทม. - ปริมณฑล และ 11 จังหวัดยุทธศาสตร์ เพื่อจัดเก็บข้อมูลโครงการบ้านจัดสรร, โครงการอาคารชุดพักอาศัย, โครงการเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์และอพาร์ตเมนต์ที่อยู่ระหว่างการขายและเช่าเข้าฐานข้อมูล คาดว่าภายในไตรมาส 2 ปีนี้จะสามารถนำข้อมูลเผยแพร่ต่อประชาชนได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.