|
อียูเบรกนำเข้า-ห้ามจำหน่ายสินค้าไทยหลังตรวจสอบพบสารปนเปื้อนสารพัด
ผู้จัดการรายวัน(31 มีนาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
สมาชิกอียูตรวจพบสินค้าไทยไม่ได้มาตรฐานเพียบ พบสารปนเปื้อนสารพัด สั่งปฏิเสธนำเข้า ห้ามจำหน่าย และเอาออกจากชั้นวางของทันที
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ตรวจพบสินค้าที่ไม่ปลอดภัยจากไทยหลายรายการ เพราะผลิตไม่ได้ตามมาตรฐานของอียูตามระบบเตือนภัยด้านอาหารและอาหารสัตว์ (RASFF) และได้แจ้งเตือนภัยให้ผู้บริโภคในอียูรับทราบแล้ว รวมถึงปฏิเสธการนำเข้า และห้ามจำหน่ายสินค้าที่เหลือ เพราะหากผู้บริโภคบริโภคเข้าไปอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้
โดยการตรวจสอบพบสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานนั้น เดนมาร์คตรวจพบสารฮิสตามินในปลาทูน่ากระป๋องนำเข้าจากไทยในปริมาณ 50-500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จากกำหนดระดับสูงสุดที่สามารถปนเปื้อนสารดังกล่าวในสินค้าประมงได้ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งการตรวจดังกล่าวสืบเนื่องจากการร้องเรียนของผู้บริโภค ส่งผลให้เดนมาร์คดำเนินมาตรการเรียกสินค้ากลับคืน ขณะเดียวกัน ยังพบการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ Vibrio Cholerae ในกุ้งกุลาดำปอกเปลือกต้มสุกจากไทย หลังจากมีการสุ่มตรวจ ณ ด่านนำเข้า ส่งผลให้ทางการเดนมาร์คดำเนินมาตรการส่งสินค้ากลับ
นอกจากนี้ อิตาลียังได้สุ่มตรวจสินค้าที่นำเข้าจากไทย และได้ตรวจพบเชื้อแบคทีเรีย Yersina Enterocolitica ในปลาหมึกแช่แข็ง ซึ่งเป็นเชื้อที่สามารถก่อให้เกิดอาหารเป็นไข้ ปวดช่องท้อง และท้องเสียได้ และมักจะเกิดขึ้นกับเด็กเล็ก ส่งผลให้ทางการอิตาลีถอนสินค้าจากชั้นวางจำหน่าย ขณะที่เยอรมนีตรวจพบสารปรุงแต่งสีเหลืองต้องห้ามในเส้นบะหมี่เหลืองจากไทย ซึ่งสารดังกล่าวสังเคราะห์จากปิโตรเลียม และนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เมื่อบริโภคแล้วอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ โดยอาจมีอาการผื่นที่ผิวหนัง และระบบทางเดินหายใจขัดข้อง จึงได้สั่งเก็บสินค้าจากชั้นวางจำหน่าย และสินค้าอาจถูกส่งกลับ
ส่วนสหราชอาณาจักร ตรวจพบอัฟลาท็อกซินในถั่วลิสงอบกรอบ ในปริมาณเกินกำหนด โดยสารดังกล่าวเป็นสารอันตราย หากสะสมในร่างกายสามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้ ซึ่งการพบดังกล่าวเป็นการสุ่มตรวจ ณ ด่านนำเข้า จึงได้ปฏิเสธการนำเข้า และห้ามจัดจำหน่ายแล้ว รวมถึงฟินแลนด์ตรวจพบสารกันบูดซัลไฟต์ในลูกอมรสผลไม้รวม และรสสับปะรด ในปริมาณเกินกำหนด และได้สั่งห้ามจำหน่ายแล้ว ขณะที่กรีซตรวจพบโลหะหนักแคดเมียมในปลาหมึกบรรจุกระป๋องนำเข้าจากไทยในปริมาณที่เกินกำหนด ส่งผลให้ปฏิเสธการนำเข้าสินค้าจากไทยแล้ว นับเป็นการตรวจพบแคดเมียมในปลาหมึกบรรจุกระป๋องนำเข้าจากไทยเป็นครั้งที่ 2 ในรอบเดือนนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมาธิการยุโรป ได้จัดพิมพ์รายงานเกี่ยวกับระบบการเตือนภัยสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร ยา และเวชภัณฑ์ (RAPEX) ประจำปี 2548 พบว่า จำนวนสินค้าอันตรายในอียูเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยในปี 2547 มีสินค้าไม่ปลอดภัย 388 รายการ แต่ในปี 2548 เพิ่มเป็น 701 รายการ หรือเกือบ 50% โดยในจำนวนนี้ประมาณ 25% เป็นสินค้าประเภทของเด็กเล่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่มาจากจีน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|