"ไชยวรรณ รุ่นที่ 2 ถึงเวลาที่ต้องพิสูจน์ฝีมือ"

โดย เดือนเพ็ญ ลิ้มศรีตระกูล สมสมัย ศักดาวัฒนานนท์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ในไม่ช้า ธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัยจะต้องเผชิญกับการแข่งขันครั้งสำคัญ คู่แข่งหน้าใหม่ที่อาจมีมากถึง 66 รายกำลังเคลื่อนทัพเข้าสู่สนาม สำหรับ "กลุ่มไทยประกันชีวิต" แล้วเหตุการณ์นี้ไม่ใช่เป็นการท้าทายกันทางธุรกิจเท่านั้น แต่เป็นการท้าพิสูจน์ฝีมือของ "ไชยวรรณ รุ่นที่ 2" ด้วยว่าพวกเขาจะสามารถสานต่อธุรกิจที่ "วานิช ไชยวรรณ" สร้างไว้ได้หรือไม่?

ก่อนที่กลุ่มธุรกิจของไทยประกันชีวิตจะกลายเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ดังเช่นทุกวันนี้นั้น วานิช ไชยวรรณ ต้องใช้เวลาก่อร่างสร้างมานาน 40 ปี โดยเริ่มต้นจากการค้าพืชผลเกษตรในชื่อห้างหุ้นส่วน นิววานิช เมื่อปี 2504 ก่อนที่จะถูกชักชวนให้มาทำธุรกิจธนาคาร ด้วยการเป็นกัมประโด (ผู้จัดการสาขาธนาคารพาณิชย์) ของธนาคารไทยพัฒนา (ธนาคารมหานครในปัจจุบัน) กับคำรณ เตชะไพบูลย์หรือโคโร่ เมื่อปี 2511 และในปีเดียวกันนั้นเขาได้ตัดสินใจเทกโอเวอร์บริษัท ไพบูลย์ประกันภัย ซึ่งเป็นการเข้าสู่ธุรกิจประกันภัยครั้งแรกของเขา

ปี 2513 วานิชได้เข้าไปซื้อกิจการของ บริษัท ไทยประกันชีวิต ซึ่งต่อมาเติบใหญ่จนกลายเป็นฐานให้เขาขยายไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ อีกมากมาย

กุมภาพันธ์ 2515 วานิชได้เข้าสู่ธุรกิจสุราด้วยการเข้าไปถือหุ้นในบริษัท สุราแสงโสม ซึ่งนำไปสู่การสว็อปหุ้นจนในที่สุดเขาก็ได้เข้าไปเป็นหุ้นส่วนในสุรามหาราษฎา และกลุ่มสุราทิพย์ นอกเหนือจากก่อตั้งบริษัท สุราสัมพันธ์ ขึ้นเมื่อปี 2526 เพื่อเป็นผู้ขายส่งสุราขาวใน 14 จังหวัดภาคใต้จนถึงปัจจุบัน ก่อนที่จะคิดแตกไลน์มาทำเบียร์ไฮเนเก้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

ในส่วนของกิจการสายการเงินนั้นวานิชเข้าไปซื้อบริษัท บูรพาทรัสต์ จำกัดในปี 2518 โดยเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ธนทรัพย์ ต่อมาก็ซื้อกิจการของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยเม็กซ์และเครดิตฟองซิเอร์ไทยเคหะ

วานิชยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจต่อมาจนกระทั่งปัจจุบันตระกูลไชยวรรณมีกลุ่มธุรกิจที่เข้าไปถือหุ้นใหญ่อยู่ 6 สาย ประกอบไปด้วย สายประกันภัย สายการเงิน สายอุตสาหกรรมและเครื่องดื่ม สายโบรกเกอร์ประกันภัย และสายอสังหาริมทรัพย์ รวม 18 บริษัท คิดเป็นสินทรัพย์รวมเมื่อสิ้นปี 2538 ทั้งสิ้น 64,272 ล้านบาท ซึ่ง 90% เป็นสินทรัพย์ของสายธุรกิจประกันภัยและสายการเงิน

โดยในส่วนของสายประกันภัยนั้นไทยประกันชีวิต บริษัทประกันชีวิตแห่งแรกของประเทศไทย เป็นบริษัทที่มีสินทรัพย์รวมสูงสุดของกลุ่ม คือ 33,000 ล้านบาทเมื่อปี 2538 ที่ผ่านมา

แน่นอนว่าต้องเป็นเรื่องที่วานิชภูมิใจมาก ๆ เพราะตอนที่เขาซื้อบริษัทนี้มา ไทยประกันชีวิตติดอันดับบ๊วยของบริษัทประกันชีวิตทีเดียว ในขณะที่ปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ในอันดับที่ 2 รองจาก เอ.ไอ.เอ. แม้ว่าสัดส่วนการตลาดจะแตกต่างกันมากคือ ไทยประกันชีวิตมีส่วนแบ่งอยู่ประมาณ 23% ขณะที่ เอ.ไอ.เอ. มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 50%

หากนับรวมสินทรัพย์ของไพบูลย์ประกันภัยและไทยประกันสุขภาพเข้าไปด้วย สายประกันภัยจะมีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 34,012 ล้านบาท สูงที่สุดในบรรดาธุรกิจหลักของไชยวรรณอย่างไม่ต้องสงสัย

สำหรับสายการเงิน ซึ่งประกอบไปด้วยเงินทุนหลักทรัพย์ไทยเม็กซ์ เงินทุนหลักทรัพย์ธนทรัพย์ เครดิตฟองซิเอร์ไทยเคหะ และไทยเม็กซ์ลิสซิ่ง สินทรัพย์รวมทั้ง 4 บริษัท ในปี 2538 ที่ผ่านมามีมูลค่าทั้งสิ้น 24,525 ล้านบาท ดังนั้นแม้ว่าทั้ง 4 บริษัทจะไม่ได้เป็นบริษัทชั้นแนวหน้าในธุรกิจประเภทเงินทุนและหลักทรัพย์หรือสถาบันการเงินก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นสายธุรกิจที่สำคัญเพราะใหญ่เป็นอันดับสองรองจากสายประกันภัย

ส่วนอีก 4 สายธุรกิจที่เหลือ อย่างสายอุตสาหกรรม สายโรงแรม สายโบรกเกอร์ประกันภัยและสายอสังหาริมทรัพย์ (ดูรายละเอียดในตารางประกอบ) ยังเป็นเพียงสายธุรกิจขนาดเล็ก ที่มีสินทรัพย์รวมเพียง 5,735 ล้านบาท แบ่งเป็น1,960 ล้านบาท 1,953 ล้านบาท 104 ล้านบาทและ 1,718 ล้านบาทตามลำดับ

นอกจากสายธุรกิจ 6 สายดังกล่าวแล้ว ตระกูลไชยวรรณยังมีการร่วมทุนในลักษณะเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย โดยส่วนที่ร่วมทุนกับต่างประเทศมี 2 บริษัท คือ บริษัท ไทยเวสต์ แอสเสท แมนเจนเมนท์ จำกัด ดำเนินกิจการที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุน เป็นการร่วมทุนกับประเทศฮ่องกง และบริษัท ทีเอสดี ลิสซิ่ง จำกัด ดำเนินกิจการให้เช่าและเช่าซื้อทรัพย์สินร่วมทุนกับพันธมิตรจากประเทศสิงคโปร์

ส่วนบริษัทที่ร่วมทุนกับพันธมิตรในประเทศ ประกอบไปด้วย บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ธนไทย จำกัด บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ไทยเอเชีย จำกัด บริษัท มหาชัยพัฒนาที่ดิน จำกัด กลุ่มสุราทิพย์ บริษัท สุรามหาราษฎร จำกัด (มหาชน) บริษัท สุราแสงโสม จำกัด โรงแรมฮิลตันอินเตอร์เนชั่นแนล บางกอก ณ ปาร์คนายเลิศ และบริษัท โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส จำกัด

"ผมไม่มีเทคนิคหรือปรัชญาในการทำธุรกิจอะไรมากมาย ผมทำของผมง่าย ๆ พูดไปคนอาจหัวเราะเอาก็ได้ แต่สิ่งที่ผมยึดอยู่ตลอดก็คือ ทำในสิ่งที่ตัวเองรู้และถนัดมากกว่าที่จะไปคิดทำทุกอย่างเพื่อหวังให้มีธุรกิจครบวงจรในมือ ผมว่ามันไม่ถูก เราควรจะแบ่งให้คนอื่นเขากินบ้าง ไม่ใช่คิดจะทำไปหมด เพราะมีเงินอย่างเดียว" นี่เป็นคำตอบของวานิช ไชยวรรณ เมื่อถูก "นิตยสาร ฮู อิส ฮู" ถามถึงกลยุทธ์การทำธุรกิจของเขา

ขณะที่อภิรักษ์ ไทพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด ซึ่งทำงานกับวานิชมาตั้งแต่ปี 2518 ให้ทัศนะกับ "ผู้จัดการ" ว่า

"คุณวานิชมีจุดเด่นคือใช้คนเก่งและค่อนข้างจะติดตามงานมาก ซึ่งเป็นความสามารถเฉพาะตัวที่ทำให้ก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐีระดับหมื่นล้านได้ เพราะคนที่เรียนรู้การทำธุรกิจจากประสบการณ์ของตัวเองจนพลิกผันมาเป็นคนร่ำรวยได้นั้นมีอยู่ไม่กี่คน"

บทบาทของ "ไชยวรรณรุ่นที่ 2"

ณ วันนี้ แม้ว่าวานิชจะวางมือจากการบริหารงานประจำวันแล้ว แต่เขาก็ยังมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นผู้กำหนดนโยบาย และทิศทางการทำธุรกิจให้กับกลุ่มไทยประกันชีวิตอยู่ รวมทั้งยังนั่งเป็นประธานกรรมการควบไปกับการเป็นกรรมการผู้อำนวยการที่บริษัท ไทยประกันชีวิตอีกด้วย นอกเหนือจากการนั่งอยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ อีก 17 บริษัท (ดูรายละเอียดในล้อมกรอบ)

แต่ทุกคนรู้ดีว่าวานิชกำลังอยู่ระหว่างการถ่ายโอนอำนาจให้กับทายาทของเขา ที่จะก้าวขึ้นมาสานต่อธุรกิจของกลุ่มไทยประกันชีวิตให้ก้าวหน้าต่อไป

ยุคนี้จึงอยู่ระหว่างรอยต่อของวานิชกับไชยวรรณรุ่นที่ 2 โดยขณะนี้ทายาทของวานิช 5 คนได้เข้ามาเรียนรู้งานกับบริษัทต่าง ๆ ของไทยประกันชีวิตแล้ว โดยมี 2 คนอยู่ที่ไทยประกันชีวิต และอีก 3 คนกระจายไปดูธุรกิจต่าง ๆ


วานิช ไชยวรรณ มีทายาทชายหญิงทั้งหมด 8 คน เป็นชาย 5 หญิง 3 โดย 6 คนแรกสำเร็จการศึกษาแล้ว เหลือเพียงผู้ชาย 2 คนสุดท้องเท่านั้นที่ยังเรียนหนังสืออยู่

"ไชย ไชยวรรณ" บุตรชายคนโตเป็นคนแรกที่เข้ามาสู่ธุรกิจของตระกูล ปัจจุบันเขาเป็นกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยประกันชีวิต และนั่งเป็นกรรมการผู้จัดการอีก 4 บริษัทคือ บริษัท ไพบูลย์ประกันภัย บริษัท ซี. แลงค์ และ บริษัท โรงแรมริมเพ ระยอง

"ผมเข้ามาทำงานที่ไทยประกันชีวิตตั้งแต่ปี 2525 เริ่มจากตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าส่วนดูแลด้านการลงทุน ก่อนที่จะเข้าไปรับผิดชอบด้านบัญชี ด้านการบริหารงานภายในและสาขาด้วย หลังจากนั้นก็มาดูแลด้านบุคลากร ด้านการอบรมและการตลาด ถ้าพูดในภาพรวมก็คือผมดูด้านการบริหารงานภายในสำนักงานใหญ่ทั้งหมด รวมทั้งระบบกิจการสาขาการอบรมและการสร้างบุคลากรของบริษัท" ไชยเล่าถึงบทบาทหน้าที่ของเขาให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ต่อจากไชย ก็เป็น "วรรณ ไชยวรรณ" ลูกชายคนที่ 2 คนนี้ได้รับมอบหมายจากวานิชให้เป็นผู้ดูแลธุรกิจสุรา ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจดั้งเดิมของวานิชแขนงหนึ่ง นอกเหนือไปจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ปัจจุบันเขามีตำแหน่งที่เป็นทางการของเขาคือ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทพารักษ์ บิสสิเนส จำกัด

ลูกชายคนที่สามคือ ชัช ไชยวรรณ ซึ่งเรียนมาทางด้านคอมพิวเตอร์ เป็นคนเดียวที่ไม่ได้เข้ามาช่วยธุรกิจครอบครัวและได้ข่าวว่าขณะนี้กำลังไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศด้วย

ขณะที่ลูกสาวคนที่ 4 คือ ชัชฎา มาลากุล ณ อยุธยา (ไชยวรรณ) ปัจจุบันเป็นกรรมการรองกรรมการผู้จัดการบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ ไทยเม็กซ์ จำกัด (มหาชน) รับผิดชอบงานฝ่ายคอมพิวเตอร์ ฝ่ายบริหารงานทั่วไป ฝ่ายบัญชีและการเงิน

โดยก่อนหน้านั้นเธอได้หาประสบการณ์จากการเป็นลูกจ้างในช่วงสั้น ๆ ด้วยการเป็นพนักงานฝ่ายสินเชื่อ ของธนาคารไทยทนุ แล้วจึงมาเป็นรองผู้จัดการฝ่ายรับประกันภัย บริษัท ไพบูลย์ประกันภัย จำกัด เป็นกรรมการบริษัท เครดิตฟองซิเอร์ ไทยเคหะ จำกัด และบริษัท โรงแรมริมเพระยอง

คนต่อมา คือ วีณา ไชยวรรณ ซึ่งเข้ามาช่วยธุรกิจครอบครัวเมื่อ 3 ปีที่แล้วหลังจากที่ไปหาประสบการณ์ที่ฝ่ายสินเชื่อโครงการธนาคารทหารไทยและฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ ไทยฟูจิอยู่ช่วงหนึ่ง ก็ถูกพ่อขอร้องให้เข้ามาช่วยทำธุรกิจครอบครัว เริ่มต้นจากฝ่ายพิธีการหลักทรัพย์และพิธีการเช่าซื้อ บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ธนทรัพย์ จำกัด

"ตอนนี้ดิฉันได้รับมอบหมายให้ดูแลในส่วนของริมเพ ระยอง ซึ่งประกอบด้วยโรงแรมโนโวเทล ระยอง โครงการอาพาร์เมนต์ และไอบิสที่กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 6 แห่ง นอกจากนี้ถ้าคุณพ่ออยากให้ช่วยดูอะไรก็จะสั่งมาเป็นเรื่อง ๆ ไป" วีณาเล่าให้ฟัง

คนที่หก คือ วรางค์ เสรฐภักดี (ไชยวรรณ) ปัจจุบันเป็นผู้จัดการสายการเงินและการลงทุน บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด และกรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด

วรางค์เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสไปหาประสบการณ์ทำงานในฐานะลูกจ้างกับบริษัทอื่น เช่นเดียวกับพี่สาวทั้งสองคนก่อนที่จะถูกพ่อขอร้องให้เข้ามาช่วยธุรกิจของครอบครัว

"จบใหม่ ๆ สมัครงานเยอะมาก และก็ได้ไปทำงานด้านคอร์ปอเรท ไฟแนนซ์ ที่ทิสโก้ อยู่ประมาณ 1 ปี 4 เดือน ทำให้มีโอกาสเรียนรู้ระบบงานต่าง ๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานที่ไทยประกันชีวิตได้เยอะ"

อย่างไรก็ดีแม้ว่าวานิชจะพยายามจัดวางลูก ๆ ของเขาให้เข้าไปมีส่วนรับผิดชอบงานในธุรกิจต่าง ๆ ของเขาอย่างครบวงจร โดยพยายามดูความเหมาะสมของแต่ละคนเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าจะพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นว่าลูก ๆ ของเขาจะต้องเข้าไปไต่เต้าแม้ว่าจะเติบโตเร็วกว่าพนักงานทั่ว ๆ ไป อยู่บ้างก็ตาม

"แม้ว่าคุณวานิชจะให้ลูกเข้ามาช่วยงาน แต่ก็ไม่ได้ให้เข้ามาในฐานะเบอร์หนึ่งหรือเบอร์สอง อย่างคุณไชยเองทุกวันนี้ก็ยังเป็นเบอร์สี่ของไทยประกันชีวิต ต่อจากคุณอภิรักษ์ กรรมการผู้จัดการ คุณไตรมาส แผ้วประยูร และคุณจิตต์ ขลิบเงิน ซึ่งเป็นกรรมการรองผู้จัดการใหญ่" คนใกล้ชิดกับตระกูลไชยวรรณวิเคราะห์ให้ฟัง ทั้งนี้เนื่องจากวานิชไม่ต้องการให้คนมองว่าธุรกิจของเขาเป็นธุรกิจครอบครัวแต่เป็นธุรกิจที่ใช้มืออาชีพในการบริหาร ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทำให้ไทยประกันชีวิตประสบความสำเร็จมาจนทุกวันนี้

ดังนั้นลูก ๆ ของเขาจึงต้องเข้าไปไต่เต้าเหมือนกับพนักงานทั่วไป แต่อีกฐานะหนึ่งก็ต้องคอยให้กำลังใจบรรดามืออาชีพให้ทำงานอย่างเข้มแข็งในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นด้วยเช่นกัน

ไชย ไชยวรรณ

คืออนาคต "ไทยประกันชีวิต"?

อย่างไรก็ดี แม้ว่าตระกูลไชยวรรณ จะทำธุรกิจด้วยการว่าจ้างมืออาชีพให้เข้ามาเป็นผู้บริหารงาน แต่ในอนาคตก็จะต้องมีไชยวรรณรุ่นที่ 2 สักคนเข้าไปเป็นผู้กำหนดนโยบายและทิศทางการขยายธุรกิจของกลุ่มอันเป็นภารกิจสืบเนื่องจากที่วานิช ไชยวรรณได้กระทำมา

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า "ไชย ไชยวรรณ" ในฐานะบุตรชายคนโต จะต้องถูกมอบหมายให้ทำหน้าที่แทนพ่อ ซึ่งดูเหมือนไชยเองก็รู้ตัวดีอยู่ไม่น้อย

แม้เขาจะปฏิเสธว่ายังไม่มีการพูดถึงเรื่องการสืบทอดตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นการสืบทอดในสถานภาพการเป็นผู้ถือหุ้นและในฐานะผู้บริหารงาน อีกทั้งยังไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมานั่งพูดกัน

"ผมคิดว่าถ้าต้องไปนั่งตรงนั้นคงเหนื่อย อีกอย่างเราก็ไม่รู้ใจคุณพ่อ เพราะต่อไปธุรกิจอาจจะมีการจัดสรรให้เปลี่ยนแปลงจากยุคสมัยก่อน ซึ่งพูดตอนนี้คงไม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจมันเปลี่ยนเร็วมาก อย่างสมัยคุณพ่ออาจจะทำแค่บริษัทประกัน และมีเหล้านิดหน่อย แต่ขณะนี้เอาแค่บริษัทไฟแนนซ์เราก็มี 2 บริษัท ยังเครดิตฟองซิเอร์เป็น 3 บริษัท ประกันเรามี 3 บริษัท ไม่รวมโบรกเกอร์ที่เราไปร่วมหุ้นกับเซ็ดจวิค แล้วยังมีเบียร์ ในอนาคตเราก็ยังไม่รู้ว่าเราจะขยายธุรกิจอะไรออกไปอีก ดังนั้นการจะให้ผมมานั่งดูธุรกิจทั้งหมดในกลุ่มที่ 20-30 บริษัท ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้ อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง"

โดยไชยอธิบายเรื่องการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการถือหุ้น เดิมวานิชเป็นผู้ถือหุ้นคนเดียว แต่ต่อไปก็จะมีเขาและน้อง ๆ เข้ามาถือหุ้นด้วย สำหรับเรื่องการบริหารก็คงจะใช้มืออาชีพมากขึ้นไม่จำเป็นต้องให้ไชยวรรณเข้าไปบริหาร ซึ่งขณะนี้ในหลาย ๆ บริษัทก็เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นไทยเอเชีย-แปซิฟิก บริวเวอรี่ ผู้ผลิต และจำหน่ายเบียร์ไฮเนเก้นก็มีวสันต์ สุริยาอรุณโรจน์ เป็นผู้จัดการทั่วไป ส่วนของโรงแรมก็มีผู้บริหารเป็นชาวต่างประเทศหรือแม้แต่ที่ไทยประกันชีวิตและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยแม็กซ์ ก็มีผู้บริหารมืออาชีพเป็นผู้ดูแล

ยกเว้นกรณีของไพบูลย์ประกันภัยที่เขาต้องไปนั่งเป็นกรรมการผู้จัดการเองซึ่งไชยบอกว่าเป็นเพราะบุคลากรด้านประกันภัยหายาก ส่วนที่โรงแรมริมเพ ระยองและ ซี. แลงค์นั้นเป็นเพราะผู้ร่วมทุนต่างชาติต้องการให้มีคนในตระกูลไชยวรรณเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหาร

ถึงแม้จะมีตำแหน่งบริหารในหลาย ๆ บริษัท แต่ไชยก็จะใช้ 60% ของเวลาทำงานที่ไทยประกันชีวิต ซึ่งเขาต้องดูแลเรื่องบัญชี การเงิน การอบรมสาขา การพนักงาน ประชาสัมพันธ์ จะมียกเว้นก็เฉพาะฝ่ายขายอย่างเดียวที่เขาไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

ไชยยอมรับว่าการทำงานกับบริษัทของตัวเองต้องเหนื่อยกว่าปกติ เพราะถ้าเขาทำไม่ดี คนก็จะมองว่าคุณพ่อทำให้ไว้ดีแล้วทำไมลูกทำไม่ได้ ถ้าทำดีคนก็อาจจะมองว่าเพราะคุณพ่อทำมาให้ดีอยู่แล้วเข้าทำนองสร้างง่าย รักษายาก

"แต่ผมไม่อึดอัดที่มาเป็นไชยวรรณคนโต เพราะบังเอิญผมเป็นคนสนุกกับงานที่ทำ"

แม้แต่งานในไทยประกันชีวิต ที่ไชยบอกว่าเป็นธุรกิจที่เหนื่อย และหากไม่ได้เกิดมาเป็นไชยวรรณ เขาคงไม่เข้ามาทำ

"ถ้าคุณพ่อไม่ได้ทำบริษัทประกันไว้ให้ ผมคงไม่เข้ามาทำธุรกิจนี้ หรือถ้าเข้ามาเป็นลูกจ้างสักพักผมคงลาออก เพราะว่าธุรกิจนี้เหนื่อยกว่าการทำไฟแนนซ์และธุรกิจอื่น ๆ มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหนื่อยในเรื่องของคน เนื่องจากธุรกิจประกันชีวิตบ้านเราต้องอาศัยความไว้วางใจ ความคุ้นเคย ดังนั้นหากไม่ใช่ธุรกิจของตระกูลผมคงเลือกทำอย่างอื่น"

"ถ้าไทยประกันชีวิตเป็นบริษัทเล็ก ๆ ติดอันดับสุดท้ายผมอาจจะไม่สนใจ เพราะหนึ่งเป็นธุรกิจมาร์จินต่ำ สองต้องเหนื่อยกับคนค่อนข้างสูง สาม ไม่สามารถใช้เวลาของตัวเองตามที่ต้องการได้ แต่ตอนนี้เราอยู่อันดับที่ 2 ทำไมผมจะไม่ทำตรงนี้ให้ดีขึ้น"

ไชยพูดถึงการรับมือนโยบายเปิดประกันภัยเสรี ที่จะทำให้มีบริษัทประกันชีวิตใหม่ 35 บริษัท บริษัทประกันวินาศภัยใหม่ 31 บริษัท ซึ่งจะต้องเกิดการแย่งตัวบุคลากรว่า ในส่วนของบุคลากรนั้นตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2538 จนถึงปัจจุบันมีฝ่ายขายในระดับบริหาร คือระดับภาค เขตและศูนย์ ลาออกไปประมาณ 200 คน จากจำนวนพนักงาน 8,000 กว่าคนหรือคิดเป็น 2.5% ถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมากและไม่มีผลกระทบต่อการผลิตผลงานของบริษัท

"ทั้งนี้เนื่องจากเราพยายามทำให้พนักงานอยู่ได้อย่างสบายใจ ในความหมายของไทยประกันชีวิตก็คือ การจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานสากล การสร้างวัฒนธรรมเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน เรามีการพบปะพูดคุยกับพนักงานเสมอ ๆ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมไทยที่คนต่างชาติไม่เข้าใจ"

ที่สำคัญไชยย้ำว่า ไทยประกันชีวิตจะยังคงเป็นบริษัทคนไทยตลอดไป จะไม่ดึงต่างชาติมาร่วมทุนเด็ดขาด ยกเว้นจะเป็นลักษณะของพันธมิตรเพื่อแลกเปลี่ยนเทคนิคอลโนว์ฮาว

"เราเป็นบริษัทประกันที่เข้มแข็งในธุรกิจประกันเสรีไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน เงินทุน เทคโนโลยีการจัดการ และความน่าเชื่อถือของสินค้า" ไชยประกาศ

สำหรับแนวทางในการขยายธุรกิจของกลุ่มไทยประกันชีวิตในอนาคตนั้น ไชยกล่าวว่า จะเน้นในสิ่งที่บริษัทมีความถนัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของธุรกิจประกันชีวิต และธุรกิจไฟแนนซ์

"ทุกอย่างที่เรามีอยู่ในขณะนี้ เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราจะทำสิ่งที่มีอยู่ให้ดีต่อไป ดีกว่าที่จะขยายธุรกิจไปเรื่อย ๆ ผมเชื่อว่าคนเรามีขีดความสามารถและความชำนาญเฉพาะอย่าง การที่เราขยายธุรกิจใหม่และสนุกกับมันโดยไม่กลับมามองถึงธุรกิจที่เป็นฐาน เป็นต้นกำเนิดของเรา บางครั้งจะทำให้เราผิดพลาดได้"

นี่ถือเป็นสไตล์การบริหารงานของไชยวรรณ ที่ไชยยอมรับว่า ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ขณะเดียวกันก็มีความแอคเกรสซีฟแฝงอยู่ด้วย แต่ไม่ OFFENSIVE จะเป็นลักษณะแอคเกรสซีฟแบบคอนเซอร์เวทีฟมากกว่า คือจะทำก็ต่อเมื่อมีคนมาทำงานให้โดยที่คนคนนั้นจะต้องเป็นคนดีมีความสามารถ เพราะแม้ว่าจะเป็นธุรกิจที่มีกำไรดี แต่ถ้าไม่มีคนทำให้ก็ไม่ทำ

"เราจะไม่รุกแบบไม่สนใจ คุณพ่อเป็นคนค่อนข้างระมัดระวังในการขยายธุรกิจหรือทำธุรกิจ ซึ่งเท่าที่ได้เรียนรู้จากคุณพ่อผมมองว่ามันเป็นเรื่องจริง เพราะว่าเรามีของที่ดีอยู่แล้ว ถ้าทำให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ แค่นี้ก็เหนื่อยพอแล้ว ขณะเดียวกันถ้าเราจะขยายธุรกิจเราต้องระมัดระวังมากกว่า คือไม่ใช่แค่ขยายแต่จะขยายอย่างระมัดระวัง"

ธุรกิจที่พอจะถือได้ว่าเป็นผลงานสร้างในยุคที่ไชยเข้ามาทำงานให้กับกลุ่มธุรกิจไทยประกันชีวิตมีอยู่ 2 ส่วนหลัก

ธุรกิจแรก คือ โรงแรม แม้ว่าเดิมวานิชจะเข้าไปถือหุ้นอยู่ในฮิลตันอินเตอร์ เนชั่นแนล บางกอก ณ ปาร์คนายเลิศ อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้เข้าไปมีส่วนในการบริหารแต่อย่างใด จนกระทั่งเมื่อปี 2531 กลุ่มไทยประกันชีวิตจึงได้เข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้อย่างเป็นงานเป็นการ แม้ว่าจะค่อนข้างบังเอิญก็ตามที

เพราะเดิมไทยประกันชีวิตวางแผนจะสร้างศูนย์ฝึกอบรมพนักงานและตัวแทนขายประกันขึ้นที่ระยอง แต่เมื่อมาพิจารณาอีกครั้งพบว่า การสร้างศูนย์ฝึกอบรมที่ใดที่หนึ่งประโยชน์ใช้สอยจะน้อยและการไปอบรมที่ใดที่หนึ่งเพียงที่เดียวพนักงานก็จะเบื่อ เลยเปลี่ยนมาเป็นการสร้างโรงแรมแทน ซึ่งนอกจากจะใช้เป็นที่ฝึกอบรมได้แล้ว ยังสามารถขายบริการได้อีกด้วย การเกิดขึ้นของบริษัท โรงแรมริมเพ ระยอง จึงดูอาจจะเป็นกรณีที่ผิดปกติ

"แต่เมื่อตัดสินใจทำ เราก็มองหาเชนที่จะเข้ามาบริหารให้ เพราะเราไม่มีประสบการณ์เรื่องนี้มาก่อน ในที่สุดก็เซ็นสัญญาให้กลุ่มแอคคอร์มาบริหารให้"

ปัจจุบันนอกจากโนโวเทล ริมเพ ระยองแล้ว ยังขยายเครือข่ายไปที่โนโวเทลสมุย รีสอร์ และกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงแรมระดับ 3 ดาวที่จะใช้ชื่อไอบิสอีก 6 สาขาในต่างจังหวัด

อีกธุรกิจหนึ่งคือ เบียร์ไฮเนเก้นซึ่งดำเนินการโดยบริษัท ไทยเอเชีย-แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด อันเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่มไทยประกันชีวิต บริษัท เอเชียแปซิฟิค เบฟเวอร์เรจ สิงคโปร์ ไทยน้ำทิพย์ และธนาคารทหารไทย

"หลังจากเราทำเหล้ามานาน เราก็มองว่าน่าจะขยายไปสู่ธุรกิจเบียร์ เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค แต่ในช่วงแรกทำไม่ได้เพราะไม่มีใบอนุญาต เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้วเราก็ไม่ได้ทำเอง แต่เลือกไฮเนเก้น ซึ่งเป็นผู้ส่งออกเบียร์อันดับหนึ่งของโลกเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการ"

ว่ากันว่าไชยเป็นผู้เจรจาในเรื่องการร่วมทุนครั้งนี้ด้วยตัวเองอย่างใกล้ชิดทีเดียว

นี่อาจจะทำให้คนใกล้ชิดมองว่า งานหลัก ๆ ของไชยตอนนี้ นอกจากการนั่งบริหารที่ไทยประกันชีวิตแล้ว คือ การเป็นตัวเชื่อมระหว่างวานิชกับธุรกิจอื่น ๆ ที่จะเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม เบียร์ไฮเนเก้น

"สำหรับที่ไทยประกันคุณไชยจะไม่ขึ้นมาในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ แต่จะขึ้นในตำแหน่งที่ไม่เกี่ยวกับการจัดการโดยตรง เช่น ขึ้นมาในตำแหน่งคุณวานิช โดยจะปล่อยให้แต่ละฝ่ายตัดสินใจในการบริหารงานกันไป มีปัญหาบอกจะไม่ก้าวก่าย แต่จะวางแนวไว้ว่าแต่ละธุรกิจควรเดินไปในทิศทางใด" คนใกล้ชิดไชยวิเคราะห์ให้ฟัง

ส่วนถ้ามองในแง่บารมีแล้ว แน่นอนที่วานิชย่อมมีมากกว่า แต่มองในมุมกลับคนรุ่นที่ทำงานกับวานิชมาก็ต้องโรยราไปตามยุคกันไป ขณะเดียวกันคนที่ทำงานร่วมรุ่นกับไชย ซึ่งขณะนี้อยู่ในระดับสายงานก็ต้องโตตามมาสนับสนุนเขาแน่นอน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.