สุพงษ์ ใจงามมีความฝันที่จะสร้างเมืองขึ้นที่ปราณบุรี เมื่อผนึกกับวิธีระดมทุนแบบของนิตยา
วิรัชพันธุ์ โครงการจึงวิ่งฉิว แต่ความฝันต้องพังทลาย ปราณบุรีพร๊อพเพอร์ตี้ปิดเงียบมากกว่า
3 เดือน สุรพงษ์ตกเป็นจำเลยร่วมกับนิตยา จริงหรือเงินทั้งหมดมาอยู่ที่โครงการแห่งนี้
เขาอาจบริสุทธิ์และไม่เกี่ยวกับการกระทำของนิตยา เช่นเดียวกับที่แบงก์กรุงเทพไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เกิดขึ้น
แต่โครงการพันไร่ที่ปราณบุรีจะไปข้างหน้าต่ออย่างไร?
สำหรับคนกรุงเทพฯ ชื่อโครงการ "ปราณบุรี พร๊อพเพอร์ตี้ส์" ไม่ค่อยมีคนรู้จักนัก
อีกทั้งชื่อ "สุรพงษ์ ใจงาม" ยิ่งไม่ต้องพูดถึง
แต่หากได้ไปถึงอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และได้สัมผัสกับโครงการปราณบุรี
พร๊อพเพอร์ตี้ส์รับรองได้ว่าทุกคนจะต้องตกตะลึงถึงความยิ่งใหญ่ของโครงการ
ผนวกกับความอื้อฉาวของที่มาของแหล่งเงินทุนยิ่งต้องตกตะลึงและมึนงงยิ่งขึ้น
เชื่อกันว่า เงินส่วนใหญ่ที่มาจากการฉ้อโกงของนิตยามาลงให้กับโครงการนี้
และก็เชื่อด้วยว่า โครงการปราณบุรีพร๊อพเพอร์ตี้นี้ก็ดำเนินไปได้ด้วยเงินจากนิตยาเป็นส่วนใหญ่
!
ชื่อสุรพงษ์ ใจงามก็เป็นชื่อที่โด่งดังและเป็นที่ยอมรับสำหรับคนเมืองปราณฯ
มาก ๆ อีกด้วย
สุรพงษ์ ใจงามหรือ "เสี่ยปุ้ม" เกิดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.
2498 ปัจจุบันอายุ 41 ปี แต่ในบริคณห์สนธิจัดตั้งบริษัท ซึ่งตั้งในปี 2534
ระบุว่าขณะนั้นเขาอายุ 43 ปี ซึ่งเท่ากับว่าในปี 2539 เขาน่าจะมีอายุ 48
ปี
เขาเป็นนักธุรกิจหนุ่มใหญ่ที่พื้นฐานการศึกษาจบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
และสำเร็จปริญญาตรีสาขาวิศวโยธาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาฯ ที่ใช้เวลาเรียน
8 ปีกว่าจะได้รับปริญญาบัตรในปี 2524
แหล่งข่าวอ้างว่า เขาเคยล้มเหลวกับการทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างให้กับการเคหะแห่งชาติ
"ในอดีตสุรพงษ์เป็นนักธุรกิจโนเนมทำธุรกิจไม่ถึงขั้นมีชื่อเสียง เช็คก็มีปัญหาบ้าง
เป็นคนราชบุรีแต่งงานแล้วมีลูกสองคน นิตยาศรัทธารักสุรพงษ์มาก ๆ เหมือนบัญชาจากสวรรค์
แต่เวลาที่เขามาทำธุระที่ชั้น 20 แบงก์กรุงเทพ นิตยาจะไม่แนะนำให้ใครรู้จักสุรพงษ์เท่าไหร่
คงกลัวความลับรั้วไหล" คนใกล้ชิดนิตยาเล่าให้ฟัง
สุรพงษ์เริ่มสนใจที่ดินปากน้ำปราณบุรีที่เขาให้ความเห็นในตอนแรกกับคนใกล้ชิดว่าปากน้ำปราณเป็นพื้นที่ปากน้ำแห่งเดียวที่ยังสมบูรณ์
จากนั้นเขาเริ่มเก็บถ่ายภาพทางอากาศด้วยเครื่องบินเล็ก ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เขาชื่นชอบ
แล้วนำมาวางแผนพลิกสภาพที่ดินเดิมที่เป็นนากุ้งให้กลายเป็นโครงการในฝัน ที่ประกอบด้วยสนามบินและมารีน่า
ตามที่ตนชอบ เพราะสุรพงษ์มีทั้งเครื่องบินและเรือยอช์ทที่ซื้อมาจากบริษัทอัลซิมูด
นอกเหนือจากเรือเร็วที่เป็นของตัวเอง เรียกว่าแผนทำโครงการของเขาเกิดจากความชอบส่วนตัวก็คงไม่ผิด
สุรพงษ์มีสายสัมพันธ์ที่ดีในวงการการบินพลเรือน โดยเฉพาะกับชมรมมูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานแห่งประเทศไทยฯ
ซึ่งถือได้ว่าเป็นชมรมฯ ที่มีส่วนสนับสนุน สุรพงษ์และให้ความร่วมมือในการทำให้เกิดสนามบินในโครงการ
ทั้งสุรพงษ์และชมรมฯ เคยร่วมกันจัดกิจกรรมหลายครั้งที่สนามบินแห่งนี้ เช่นกิจกรรมเมื่อปลายปี
2538 ชมราฯ ได้ร่วมกับโลกความเร็ว และชมรมฯอนุรักษ์การบินพลเรือนหัวหิน-ปราณบุรี
มีเบียร์สิงห์เป็นสปอร์เซอร์จัดงานแข่งรถ "เบียร์สิงห์ปราณบุรีแชมป์เปี้ยนชิพ
95" ขึ้นภายในสนามบินปราณบุรี เพื่อหาเงินเข้าชมรามูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานแห่งประเทศไทยฯ
ที่สุรพงษ์เป็นสมาชิกอยู่
อีกทั้งการออกงานของสุรพงษ์ก็ยังคงคู่ไปกับชมรมที่เขาสังกัด ด้วยการเป็นหนึ่งใน
12 นักบิน ที่ขับเครื่องแทงโก้ (เครื่องบินที่ได้รับการบูรณะและฟื้นฟูสภาพ)
ของชมรมฯ ในงานโชว์การบินของชมรมฯที่เชียงใหม่เมื่อ 19-20 มกราคม 2537
อย่างไรก็ดี แม้สุรพงษ์จะรักและมีความสามารถในด้านการบินจนเป็นที่รู้จักแต่เขาก็ไม่สามารถผ่านหลักสูตรนักบินเอกชน
รุ่น 20 ของสถาบันการบินพลเรือนได้ เพื่อให้มีใบอนุญาตขับเครื่องบิน ความฝันครั้งนั้นไม่ทำให้ชีวิตของสุรพงษ์หมดความสุข
เพราะเขายังใช้สายสัมพันธ์ในวงการการบินขับเครื่องบินเล่นได้สบายใจ
สำหรับการรวบรวมที่ดินในย่านปราณบุรีนั้น ว่ากันว่า สุรพงษ์ค้นข้อมูลเจ้าของที่ดินในบริเวณที่สนใจ
โดยใช้พนักงานแบงก์กรุงเทพสาขาปราณบุรี สืบหาเจ้าของและเข้าหาคนท้องถิ่นเพื่องานต่าง
ๆ ตั้งแต่ เจ้าหน้าที่ที่ดินในการรังวัดเจ้าหน้าที่อำเภอเพื่อการโอนกรรมสิทธิ์
เจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อการจดจำนองที่ดินนับ 1,000 ไร่ที่จะใช้ทำโครงการ พร้อมกับการปั่นราคาที่ดินจากที่ซื้อมาไร่ละ
5 หมื่น-แสนเป็นไร่ละ 2 แสนบาทในการจดจำนอง
เล่ากันว่าครั้งหนึ่งเขาติดปัญหากับป้าแช่ม เจ้าของที่ดินรายใหญ่ที่ไม่ยอมขายที่ให้
แต่ก็แก้ปัญหาไปได้ด้วยการเข้าหาขวัญเมือง ลูกเขยนักเลงของป้าแช่มเองที่เขามาช่วยคลี่คลายและถูกเลือกให้เป็นผู้จัดการบริษัท
ปราณบุรี ก่อสร้าง จำกัด เพื่อคุมงานก่อสร้างในโครงการ
แม้สุรพงษ์จะไม่ใช่นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายแรกที่เข้ามาบุกเบิกปากน้ำปราณ
แต่เขากับโครงการปราณบุรีพร๊อพเพอร์ตี้ส์ก็ถือได้ว่าเป็นโครงการใหญ่โครงการแรก
ๆ ในย่านนี้ อีกทั้งเป็นโครงการที่มีสิ่งปลูกสร้างและกิจกรรมที่จะดึงดูดคนกรุงเทพฯ
และนักลงทุนมาที่ปราณบุรีอย่างเป็นจริงเป็นจัง
ครรชิต อร่ามกิจโพธา หรือ "กำนันเม้ง" ผู้กว้างขวางในย่านปากน้ำปราณ
กล่าวถึงสุรพงษ์อย่างชื่นชมว่า เขาเป็นผู้ริเริ่มที่ทำให้ปราณบุรีเป็นที่รู้จัก
จากเดิมที่ อ. ปราณบุรีเป็นเพียงเมืองทหาร เพราะมีค่ายทหารอยู่หลายแห่ง อีกทั้งเป็นเมืองปิดเล็ก
ๆ ปลายปากแม่น้ำเพชรบุรี หรือที่เรียกกันว่าปากน้ำปราณ ที่มีเพียงไร่สับปะรด
และเป็นแหล่งใหญ่ของการจับปลาหมึกซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในเขตอำเภอนี้ และทำให้มีโครงการอื่นเกิดขึ้นตามมา
ความฝันของปราณบุรีน่าจะเป็นจริงโครงการใหญ่ที่สุดในย่านนี้ก็น่าจะเป็นไปได้นิตยาก็น่าจะมีความสุขกับการหมุนเงินต่อไป
รวมทั้งสุรพงษ์ก็น่าจะมีสบายใจกับการขับเครื่องบินส่วนตัวเพื่อขึ้นไปบนฟ้า
และลงมามองดูด้วยความชื่นชมกับโครงการที่เขาเนรมิตขึ้นมา
ถ้านิตยาไม่ถูกจับเสียก่อน !
บริษัทปราณบุรี พร๊อพเพอร์ตี้ส์ จำกัด เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน
2534 มีทุนจดทะเบียนบริษัทเริ่มแรก 5 ล้านบาท มีการเพิ่มทุนเพียงครั้งเดียวเมื่อ
วันที่ 30 กันยายน 2537 จำนวน 45 ล้านบาท รวมของเดิมเป็น 50 ล้านบาท
มีกรรมการทั้งหมด 8 คน คือสุรพงษ์ ใจงาม กรรมการผู้จัดการที่เป็นผู้มีอำนาจลงนามเพียงผู้เดียวของบริษัทถือหุ้นใหญ่จำนวน
17,500 หุ้น นอกจากนี้มีนายพัลลภ องค์เจริญ อายุ 59 ปี พี่ชายของนิตยาถือหุ้น
12,500 หุ้น นายอำพล เรืองธุรกิจ อายุ 39 ปี น้องเขยของสุรพงษ์ ถือหุ้น 2,500
หุ้น นางอรพรรณ เรืองธุรกิจ น้องสาวของสุรพงษ์ ถือหุ้น 10,000 หุ้น เรือตรีวิษณุ
โลหิตคุปต์ จำนวน 1 หุ้น นายนวพร เศวตวงศ์ จำนวน 1,500 หุ้น นายสืบสกุล ประเสริฐ
จำนวน 1 หุ้น นายสุรสิทธิ์ อุดมผลวนิช จำนวน 2,499 หุ้น
จากรายงานการประชุมในการตั้งบริษัทครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2534
ระบุว่า ให้มีการรับรองบัญชีรายชื่อ และฐานะของผู้ถือหุ้น รวมทั้งมีการพิจารณาให้สัตยาบันแก่กิจการที่ผู้เริ่มก่อตั้งบริษัทได้กระทำ
และการออกค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายในการตั้งบริษัทให้กรรมการออกเงินส่วนตัวคนละ
20,000 บาท และให้กรรมการชำระค่าหุ้นในครั้งแรกหุ้นละ 25 บาท จากมูลค่าที่ตราไว้
100 บาท
รวมแล้วบริษัทปราณบุรีฯ มีเงินเริ่มต้นเพียง 1,250,000 บาท ในการดำเนินงานและพิจารณาให้ตั้งคณะกรรมการชุดแรกได้
3 คน คือสุรพงษ์ ใจงาม อรพรรณ เรืองธุรกิจ และพัลลภ องค์เจริญ ซึ่งสุรพงษ์
ยังคงเป็นผู้เดียวที่มีอำนาจในการลงนามในเอกสารต่าง ๆ ของบริษัท
บริษัทนี้ใช้บ้านเลขที่ 19/262 หมู่ 6 ต. บางเขน เขตดอนเมือง กทม. ซึ่งเป็นบ้านของสุรพงษ์รูปแบบทาวน์เฮาส์
2 ชั้น เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัท
บ้านหลังดังกล่าวจากการสืบค้นของ "ผู้จัดการ" ล่าสุด พบว่าปิดเงียบไม่มีผู้พักอาศัยหรือมีป้ายบ่งบอกใด
ๆ ที่เกี่ยวกับโครงการ โทรศัพท์ก็ไม่มีผู้รับสายปัจจุบันผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายต้องการติดต่อไปก็ไม่สามารถติดต่อกับบริษัทนี้ได้อีกเลย
หายเงียบไปเหมือนกับตัวสุรพงษ์ที่ "ผู้จัดการ" พยายามติดต่อหลายทางแต่ไม่พบตัว
เช่นเดียวกับโครงการปราณบุรี พร๊อพเพอร์ตี้ที่เงียบหายไปพอ ๆ กัน
โครงการปราณบุรี พร๊อพเพอร์ตี้ส์ ไม่ปรากฏในแผนที่หรือป้ายปักทางไปโครงการก็ไม่มีให้เห็นเลยในปราณบุรี
การเดินทางไปจึงต้องคลำทางไปสมควร
หลังจากเลี้ยวเข้าถนนเพชรเกษมเข้าไปทางวนอุทยานแห่งชาติปราณบุรีตรงหลักกิโลเมตรที่
246 "ผู้จัดการ" เริ่มจากการมองหาป้ายบอกทางของโครงการปราณบุรี
พร๊อพเพอร์ตี้ส์ ซึ่งมีหลายคนบอกมาว่าเคยเห็นตั้งป้ายไว้ แต่ป้ายที่พบกับเป็นป้ายของ
"ภัทรมารีน่า" ซึ่งถูกระบุว่าเป็นโครงการที่อยู่ติดกัน "ผู้จัดการ"
จึงเริ่มต้นที่โครงการภัทรมารีน่า
ก่อนถึงทางแยกเข้าภัทรมารีน่าบริเวณเขาเจ้าแม่ ตรงไปเล็กน้อยจะพบป้อมที่สร้างอย่างสวยหรู
หลังคากระเบื้องแดงเหมือนเพิ่งสร้างใหม่ ๆ แต่ไม่มียามหรือผู้ใดอยู่ทั้งสิ้น
ขับตรงไปบนถนนลูกรังสีแดงที่ปรับแต่งอย่างดีไปอีกเล็กน้อย
สิ่งแรกที่เห็นคือประตูที่ปิดตาย และป้ายเขียนบอกชื่อทุกกิจการของสุรพงษ์
ตั้งแต่ป้ายสนามบิน (หัวหิน-ปราณบุรี) ภายใต้ชมรมมูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
PRAN BURI MACHINERY, SANCTUARY VALLEY, ปราณบุรีพร๊อพเพอร์ตี้ส์และ ปราณบุรี
ซิตี้ มารีน่า
เมื่อมองลอดรั้วเหล็ก จะเห็นลานสนามบินสำหรับเครื่องบินขนาดเล็กของเอกชนแล้ว
มีกลุ่มบ้านสไตล์แคลิฟอร์เนียอยู่ลิบ ๆ ซึ่งมีแม่น้ำเพชรบุรีไหลผ่าน
ความตั้งใจจะเข้าไปชมโครงการได้รับการปฏิเสธจากยามเฝ้าประตู ที่ไม่ยอมให้บุคคลภายนอกเข้าออกในโครงการทั้งสิ้น
โดยอ้างคำเดียวว่า "นายสั่ง" เมื่อทุกคนถามถึงเหตุผลก็ไม่ได้เหตุผลดีเพิ่มเติมมากไปกว่านั้น
จากประตูฟากหนึ่งที่ติดภูเขาเจ้าแม่ ออกสู่ถนนใหญ่วิ่งอ้อมเป็นวงกลมรัศมีขนาดใหญ่กินอาณาบริเวณเกือบพันไร่
"ผู้จัดการ" พบเส้นทางที่ไปสู่ปากน้ำปราณฯ ซึ่งเป็นเส้นทางเดียวกับที่ไปโรงแรมคลับ
อัลเดียน่า
ที่นี่มีประตูสำหรับเข้าโครงการปราณบุรี พร๊อพเพอร์ตี้ส์อีกประตูหนึ่ง
ซึ่งน่าจะถือได้ว่าเป็นประตูใหญ่ แต่ประตูด้านนี้ปิดตายเหมือนกัน และยามที่นี่ปฏิเสธไม่ให้
"ผู้จัดการ" เข้าไปเช่นกัน
ประตูทั้งสองด้านปิดตายมาเกือบ 3 เดือนแล้ว
หลังจากเข้าโครงการทางถนนไม่สำเร็จ "ผู้จัดการ" ตัดสินใจลองใช้เส้นทางแม่น้ำเพื่อจะเข้าไปให้ถึงในโครงการปราณบุรีพร๊อพเพอร์ตี้ส์
โดยเริ่มจากปากน้ำปราณฯ โดยใช้เรือหางยาว
หลังจากใช้เวลาล่องเรือทวนแม่น้ำขึ้นไปเกือบ 1 ชั่วโมง ระยะทางประมาณ 5
กิโลเมตร และผ่านโค้งน้ำหลายสิบโค้ง ก็เข้าเขตของโครงการปราณบุรีพร๊อพเพอร์ตี้ส์
โดยสังเกตจากอาคารสีส้มยอดแหลมเป็นรูปจั่วอยู่หนึ่งหลัง ที่ในอนาคตจะเป็นปราณบุรีซิตี้มารีน่า
หรืออู่จอดเรือของโครงการ
ผ่านไปอีก 4-5 โค้ง ล่องเข้าไปตรงทางแคบเล็กน้อย ก็ปรากฏอ่าวเล็ก ๆ ตีโอบ
2 ด้าน โดยมีคลับเฮ้าส์พร้อมท่าเทียบเรือโดดเด่นเป็นสง่า เป็นจุดศูนย์กลางของโครงการ
คลับเฮ้าส์ที่นี่เพิ่งสร้างเสร็จหมาด ๆ เป็นอาคารชั้นเดียว 2 หลัง สร้างอย่างดี
คอมเพรสเซอร์แอร์ยังอยู่ครบ เดินตรงไปพบโรงเก็บเครื่องบินเล็ก ซึ่งยังมีเครื่องบินจอดอยู่
4 ลำด้านซ้ายเป็นโรงเก็บรถโกคาร์ท สระว่ายน้ำที่น้ำเริ่มมีตะไคร่ขึ้นเขียว
และหอสูง
ทางด้านขวาคือรันเวย์สนามบิน และมองออกไปลิบ ๆ คือ บ้านพักอาศัยสไตล์แคลิฟอเนียที่ก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ
ภูมิทัศน์ที่นี่ดีมาก ๆ เพราะบริเวณโครงการเป็นจุดรับลมที่ดีเหมาะกับการพักอาศัย
ทิวทัศน์ที่มีภูเขาล้อมรอบ ต่างจากบริเวณคุ้งน้ำที่แล่นเรือมาที่เป็นจุดอับลม
หากโครงการทั้งหมดสร้างเสร็จ จะเป็นโครงการที่สมบูรณ์และสวยงามมากเหมาะสำหรับเศรษฐีชาวกรุงเทพฯ
ที่จะขับเครื่องบินเล็กมาลงที่นี่ พักอยู่ในบ้านส่วนตัว และขับเรือยอซท์มากินลมเล่นที่ปากแม่น้ำปราณฯ
เป็นความฝันและความสุขในจินตนาการของสุรพงษ์ ใจงามอย่างขนานแท้ !
เขาลือกันว่าโครงการนี้ล้มละลายไปแล้ว พวกเพื่อนกันที่ทำงานอยู่ไม่ได้รับเงินเดือนมา
3 เดือนแล้ว เดือนหนึ่งก็ประมาณ 6-7 พันบาท เห็นบอกว่าผลัดว่าไปนอกแล้วจะกลับมาจ่าย
ก็ไม่จ่ายคนก็เลยออกกันหมด ส่วนใหญ่ก็เปลี่ยนไปทำงานที่ภัทรมารีน่า ชาวบ้านย่านนั้นเล่าให้
"ผู้จัดการ" ฟัง
บัญชา จันทโนทัย ลูกชายพลเรือโทบริสุทธิ์ จันทโนทัย เจ้าของอู่ต่อเรือซิลค์ไลน์
อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ไปปักหลักอยู่ที่ปราณบุรีหลายปีแล้ว และเป็นหนึ่งในผู้เคยได้พบปะกินข้าวกับสุรพงษ์และรู้จักกันมา
5 ปี นับแต่ที่สุรพงษ์เข้ามาลงทุนพัฒนาโครงการปราณบุรีที่นี่ ทั้งยังมีอู่ตั้งอยู่ติดกับส่วนปราณบุรี
ซิตี้ มารีน่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการปราณบุรีพร๊อพเพอร์ตี้ส์ เล่าว่า
เขาติดต่อสุรพงษ์ไม่ได้เลย
"คุณสุรพงษ์เขาไม่ค่อยสนิทกับใคร ผมรู้จักตั้งแต่ตอนที่เขาเข้ามาที่นี่จนป่านนี้ก็ยังไม่สนิท
ไม่รู้ว่าเขาชอบอะไร แม้เขาก็เป็นลูกค้าผมเอาเรือมาซ่อม เป็นพวกเรือเร็ว
ตอนนี้ก็ยังมีที่ซ่อมค้างอยู่บ้างมูลค่านิดหน่อยซึ่งก็พอรับไหว ส่วนมารีน่าที่ติดกันกับอู่ก็ยังไม่ได้ทำอะไรมาก
เพราะเดี๋ยวนี้เขาไม่มาแล้ว สำนักงานที่กรุงเทพฯ แถววิภาวดี ผมโทรศัพท์ไปเบอร์เดิมเดี๋ยวนี้ก็ไม่มีแล้ว"
บัญชาเล่าให้ฟังถึงความสัมพันธ์กับสุรพงษ์ในฐานะคนบ้านใกล้เรือนเคียงที่มีอู่ติดกับโครงการ
บัญชากล่าวด้วยว่า สุรพงษ์มีแผนจะโปรโมตตลาดโครงการในส่วนของ ปราณบุรี
ซิตี้ มารีน่า ให้เป็นที่ที่เรือและรถสามารถเข้าจอดได้ถึงหน้าบ้าน โดยนำเรือล่องเข้าไปตามทางปากน้ำปราณเป็นระยะทาง
5 กิโลเมตร ตามเส้นทางที่ "ผู้จัดการ" ใช้เดินทางเข้าไปสำรวจในโครงการซึ่งบัญชายืนยันว่าเรือยอชท์สามารถแล่นผ่านแม่น้ำที่คิดกันว่าตื้นเขินนั้นเข้าไปได้
เพราะครั้งหนึ่งชาตรี โสภณพานิช ก็เคยนำเรือยอช์ทขนาด 40 ฟุต ล่องเข้ามาชมโครงการนี้แล้วครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับโครงการภัทรมารีน่าแล้ว โครงการของสุรพงษ์ค่อนข้างอยู่ลึกกว่ามาก
และแม่น้ำก็คดเคี้ยวกว่าจะมาถึงปากแม่น้ำ ซึ่งชาวบ้านเล่าว่าทางโครงการกำลังให้ลูกจ้างเตรียมขุดทางลัดออกปากแม่น้ำ
ระยะทาง 2 กิโลเมตรระหว่างแม่น้ำที่ผ่านภายในโครงการซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก
และต้องผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นพิเศษเพราะเท่ากับเป็นการเปลี่ยนทิศทางของแม่น้ำทีเดียว
ในส่วนของปราณบุรี ซิตี้ ยอชท์ คลับที่เตรียมค้างไว้ยังไม่คืบหน้าไปมากกว่าการมีอาคารเพียงหนึ่งหลัง
กับร่องน้ำที่เตรียมขุดไว้สำหรับเป็นทางล่องเรือเข้าไปที่ยังไม่มีการขยายหรือจะกลบใหม่เพื่อปรับพื้นที่
และบริเวณรอบอาคาร นอกจากสระที่ขุดไว้ก็คือป่าโกงกางที่บางตา
แต่เมื่อโครงการชะงักไปเสียก่อนไม่เพียงส่วนของปราณบุรี ซิตี้ มารีน่า
ที่ค้างเติ่งอยู่แล้วนั้น สนามบินเล็กและคลับเฮาส์ที่เสร็จสมบูรณ์ ก็ถูกปิดสนิทพร้อมกับตัดน้ำตัดไฟ
พร้อมกับเครื่องบินเล็ก 4 ลำ กับรถโกคาร์ทที่จอดเงียบอยู่ด้านหลังคลับเฮาส์
ทิวแถวบ้านที่สวยงามสไตล์แคลิฟอร์เนีย พื้นที่ดินที่เตรียมไว้สำหรับบ้านพักอาศัยในส่วนของแซงชัวรี่
วัลเล่ย์ รวมทั้งศาลเจ้าพ่อหัวสะพาน ที่คงจะเตรียมสร้างไว้เป็นที่พึ่งทางใจ
ก็ถูกทิ้งไว้เหมือนกันทุกอย่าง
หลังนิตยาถูกจับกุม ความฝันของนิตยาและสุรพงษ์ที่มีแผนจะเปิดตัวโครงการปราณบุรี
พร๊อพเพอร์ตี้ส์ ปลายปี 2539 นี้ พร้อมกับการเตรียมย้ายสำนักงานบริษัทจากทาวน์เฮาส์ที่บางเขน
มาอยู่ที่อาคารภัทรคอมเพล็กซ์ บนถนนรัชดาภิเษก ซึ่งหรูหรา ภูมิฐานและน่าเชื่อถือกว่ามาก
และได้มัดจำไว้หลายสิบล้านกับทางภัทรเรียลเอสเตทแล้ว ก็คงต้องล่มตามกันไป
ส่วนตัวสุรพงษ์หายตัวไป โชคดีที่เขายังไม่ถูกแจ้งจับร่วมกับนิตยา เพราะยังไม่มีหลักฐานว่าสุรพงษ์ร่วมมือหรือรับรู้การกระทำของนิตยา
เพียงแต่ตกเป็นจำเลยที่ 15 ในข้อหาฉ้อโกงที่ลูกค้าฟ้องแบงก์กับนิตยาเท่านั้น
โครงการปราณบุรี พร๊อพเพอร์ตี้ส์จึงกลายเป็นโครงการในฝันที่ค้างเติ่ง และถ้าไม่มีใครมาสานต่อโครงการแห่งนี้ก็อาจเป็นเพียงอนุสรณ์แห่งสายสัมพันธ์ระหว่างนิตยาและสุรพงษ์ที่ลือลั่นเท่านั้น
!